แพทย์ชี้กักตัวนักท่องเที่ยว 7 วัน ไม่สำคัญเท่าจัดระบบคุมโควิด-19

แพทย์ชี้กักตัวนักท่องเที่ยว 7 วัน ไม่สำคัญเท่าจัดระบบคุมโควิด-19

กรณีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) ระบุถึงแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างจำกัด ในรูปแบบของวีซ่านักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (Special Tourist VISA: STV) ที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบลองสเตย์ (Long Stay) กลุ่มแรกในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ จำนวน 300 คน หากไม่พบการติดเชื้อ ก็จะอนุญาตให้กลุ่มที่ 2 อีก 300 คน เข้าประเทศในวันที่ 21 ตุลาคม ติดตามผลดำเนินงาน หากไร้ปัญหาจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ลดเวลาการกักกันโรคจาก 14 วัน เหลือ 7 วัน และตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 จำนวน 2 ครั้ง นั้น

วันนี้ (25 กันยายน 2563) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สธ.และ กก.ได้หารือกันมา 2-3 ครั้งแล้ว ส่วนของการนำชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยนั้น ตนเข้าใจว่าจะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยว ซึ่งจะต้องเข้ามาตามมาตรการสูงสุดในการควบคุมโรคเหมือนกลุ่มอื่นๆ เช่น 1.ต้องได้รับการตรวจว่าปลอดเชื้อโควิด-19 จากประเทศต้นทางภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง 2.เลือกประเทศในการอนุญาตเดินทาง 3.เข้ากักกันโรคในสถานกักกันที่กำหนดอย่างน้อย 14 วัน 4.ผู้เดินทางจะต้องมีประกันสุขภาพตามวงเงินประกันที่กำหนด 5.ผู้เดินทางต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด เป็นต้น

“การนำนักท่องเที่ยวเข้ามา ก็เหมือนการนำคนไทยกลับมา หลักการเหมือนกัน ทางเรากับท่องเที่ยวได้คุยกันมา 2-3 ครั้งแล้ว เขาเข้าใจว่าเราต้องการอะไร เราต้องการอะไร ถ้าไม่หลุดจากที่คุยกันไว้ ก็ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล และหากดำเนินการตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคได้อย่างดี โอกาสแพร่เชื้อจะน้อยมาก ผมมั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหา” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะต้องกำหนดประเทศที่อนุญาตให้เดินทางเข้ามาหรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า จะต้องมีการกำหนดประเทศต้นทางอยู่แล้ว ซึ่งอยู่ในรายละเอียดของการกำหนดหลักการ

Advertisement

เมื่อถามถึงข้อเสนอว่า หากกลุ่มนักท่องเที่ยวในเดือนตุลาคม เข้ามาแล้วไม่เกิดการติดเชื้อ ไม่พบปัญหา จะมีการเสนอให้ลดระยะเวลาการกักกันโรค เหลือ 7 วัน ตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่ายังไม่ทราบในรายละเอียดของเรื่องนี้ ต้องหารือกันเพิ่มเติม แต่ส่วนความเห็นของตนแล้ว การที่จะทำเรื่องที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ต้องพิจารณาหลายเรื่องมาก ไม่ใช่แค่เรื่องเวลาในการกักกันโรค แต่ต้องดูภาพรวมของระบบ สิ่งที่นำเสนอต่างๆ

“ยกตัวอย่าง การกักกันโรคในโรงแรมติดชายหาด เป็นระบบปิด มีบริเวณหาดส่วนตัวที่ผู้กักตัวสามารถเดินเล่นได้ โดยไม่ได้สัมผัสกับคนไทยหรือผู้อื่นๆ สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ก็จะปลอดภัย” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

นพ.ธนรักษ์ กล่าวต่อไปว่า หากจะมีการลดเวลาในการกักกันโรค ก็จะต้องมีข้อกำหนด ตัวอย่างเช่น ประเทศที่ไม่พบผู้ป่วยในพื้นที่เลย นานต่อเนื่องกัน 100 วัน กำหนดมาตรฐานจัดการควบคุมโรคที่ดีทั้งก่อนเดินทางมาและระหว่างอยู่ในสถานกักกันโรค ความเสี่ยงก็จะไม่สูงมาก

Advertisement

“เหมือนบางประเทศที่อนุญาตให้คนไทยเดินทางเข้าประเทศเขาได้ โดยไม่ต้องกักตัวก็มี เพราะว่าประเทศเราปลอดภัย เขามั่นใจว่า คนไทยไม่เอาเชื้อไปติดให้คนในประเทศเขา ดังนั้นจะบอกว่าลดการกักกันโรคให้น้อยกว่า 10 วันแล้วจะเสี่ยงเพิ่มขึ้นมากหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับภาพรวมหลายอย่าง” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image