อนุทิน นั่งหัวโต๊ะถก 3 กระทรวง รับมือเปิดประเทศ เล็งใช้สปา-สนามกอล์ฟกักตัว

อนุทิน นั่งหัวโต๊ะคณะทำงานร่วม 3 กระทรวง รับมือเปิดประเทศ เล็งใช้สปา-สนามกอล์ฟกักตัว

วันนี้ (2 ตุลาคม 2563) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. และ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (นโยบาย Medical Hub)

นายอนุทิน กล่าวว่า มีโอกาสได้ดูแล 3 กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 คือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงคมนาคม จึงจัดตั้งคณะทำงานร่วม 3 กระทรวงภายใต้คณะกรรมการอำนวยการฯ ชุดนี้ และจะเป็นประธานในคณะกรรมการอำนวยการฯ ชุดนี้เอง โดยมีคณะกรรมการร่วม คือ ปลัด สธ.และ อธิบดี

“คณะกรรมการอำนวยการฯ จะพิจารณาข้อเสนอที่แม่นยำ และเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการหาข้อสรุป หลักการ ก่อนนำเสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)(ศบค.)” รัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าว

นายอนุทิน กล่าวถึงการลดวันกักตัวในสถานกักกันโรคว่า นอกจากลดค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่จะต้องเข้ามากักตัวแล้ว ยังเพื่อลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการจัดสถานกักกันฯ เป้าหมายของประเทศคือ การเดินทางเข้าประเทศ เพื่อสร้างรายได้ ดังนั้น สธ.มีหน้าที่หาวิธีลดการกักตัวให้ได้มากที่สุด

Advertisement

“ผมไม่ได้กำหนดระยะเวลา เพราะขอให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด หากจะเปิดบ้านแล้ว ต้องมากักตัว 14 วัน คงเป็นไปไม่ได้ จึงเป็นหน้าที่ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมควบคุมโรค ไปหาวิธีเพื่อทำการทดสอบผู้เดินทางเข้าประเทศว่าจะลดลงได้หรือไม่ สธ.เป็นแกนหลักที่จะนำข้อมูลต่างๆ ไปเสนอว่าหากพบติดเชื้อแล้วจะรักษาได้ จะรักษากี่วันแล้วจะหาย ต้องเร่งหาข้อสรุปไปยืนยัน” นายอนุทิน กล่าว

ทั้งนี้ นายอนุทิน กล่าวว่า ส่วนความกังวลว่าคนไทยสวมหน้ากากอนามัยน้อยลง จะกระทบต่อการขับเคลื่อนเรื่องนี้ ขอเน้นย้ำว่าให้ประชาชนตั้งการ์ดขึ้นมาใหม่ สธ.ยังไม่ลดราวาศอกเรื่องนี้ ตรงข้ามยังคงเน้นย้ำให้มีการสวมหน้ากากอนามัยเสมออย่างที่ปฏิบัติกันมา

ด้าน นพ.ธเรศ กล่าวว่า ได้หารือใน 4 ประเด็น คือ 1.ข้อเสนอให้อนุมัติเปิดสนามบินนานาชาติจาก 2 แห่ง เพิ่มอีก 4 แห่ง คือ สนามบินนานาชาติภูเก็ต เกาะสมุย เชียงใหม่ และอู่ตะเภา และเพิ่มด่านทางบกและทางน้ำด่านละ 2 แห่ง 2.ตนเสนอให้มีการทำแพ็กเกจพิเศษ ช็อปปิ้งออนไลน์ สำหรับผู้ที่เข้ามากักกันตัวในสถานพยาบาล (AHQ) เป็นโปรแกรมเสริมสำหรับผู้ป่วยที่มารักษาโรค ญาติที่มาดูแลผู้ป่วย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยจะทำเรื่องไปถึงกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอทอป) กลุ่มพัฒนาชุมชน สมาคมผู้ค้าปลีก เพื่อจัดทำรายการสินค้า (แคตตาล็อก) เพื่อซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ และมีความหวังว่าจะนำร่องในกลุ่มสถานกักกันตัวในสถานพยาบาล หากได้ผลสำเร็จก็จะขยายไปในกลุ่มกักโรคอื่นๆ เช่น สถานกักกันโรคทางเลือก สถานกักกันโรคของรัฐ เพื่อสร้างรายได้มูลค่าเพิ่ม

Advertisement

“ล่าสุดได้หารือกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ว่าเขาจัดทำโปรแกรมไว้แล้ว เราก็จะนำเอาเข้ามาใช้ร่วมกับของเรา โดยกระทรวงท่องเที่ยวฯ เสนอต่อว่าจะทำเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่เป็นพื้นที่ชัดเจน เช่น เมื่อครบ 14 วันแล้ว ออกมาก็จัดทำโปรแกรมเที่ยว มีบริษัทนำเที่ยวที่แนะนำ เพื่อเป็นการต่อยอดการท่องเที่ยวในพื้นที่ด้วย” นพ.ธเรศ กล่าว

นพ.ธเรศ กล่าวว่า 3.เรื่องของโมเดลพื้นที่ท่องเที่ยว ที่นำเสนอมาจะเป็นภูเก็ตโมเดล จัดทำในรูปแบบศูนย์ เมดิคัล ฮับ (Medical Hub) ที่เป็นนานาชาติ ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้จัดสรรงบประมาณ ก็จะมีส่วนที่ต้องเข้าไปสนับสนุนและขออนุมัติอีกหลายอย่างเพื่อให้ตอบโจทย์ภาพใหม่ของประเทศไทย และ 4.การเปิด Wellness Program ที่เป็นสถานกักกันโรคภายในพื้นที่กำหนดในรูปแบบของร้านนวดสปาและสถานบริการเพื่อสุขภาพ ที่ ศบค.ชุดเล็กเห็นชอบหลักการแล้ว การคาดประมาณรายได้ แบ่งเป็น Wellness Resort ประมาณนักท่องเที่ยว 4,000 ราย ประมาณรายได้ 120 ล้านบาท เฉลี่ย 30,000-50,000 บาท/ราย/ทริป และ ส่วนของ Long-Term Care สำหรับผู้สูงอายุ ประมาณนักท่องเที่ยว 1,000 ราย ประมาณรายได้ 75 ล้านบาท เฉลี่ย 75,000 บาท/ราย/เดือน สรุปประมาณการนักท่องเที่ยวทั้งสิ้น 5,000 ราย ประมาณการรายได้ ทั้งสิ้น 195 ล้านบาท

“ในส่วนของกระทรวงท่องเที่ยวฯ มีการนำเสนอให้กีฬากอล์ฟ เป็นเหมือนสถานกักกันโรคภายในพื้นที่กำหนดในรูปแบบของ Wellness Golf Quarantine เนื่องจากมีกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีความต้องการเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งจะต้องหารือกันต่อ” นพ.ธเรศ กล่าว

ทั้งนี้ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานการจัดทำสถานกักกันโรคในโรงพยาบาล (Alternative Hospital Quarantine: AHQ) ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการผ่อนปรนผู้เดินทางเข้าประเทศ สำหรับกลุ่มผู้ป่วยชาวไทยและชาวต่างชาติ เข้ามารักษาโรค (Medical Program) เป็นอาการป่วยที่ไม่ใช่โควิด-19 ในประเทศไทย โดยปฏิบัติตามหลักการของ ศบค. เช่น สามารถนำผู้ติดตามมาไม่เกิน 3 ราย โดยทุกรายจะต้องเข้าสถานกักกันโรคในสถานพยาบาลเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน ต้องมีใบรับรองแพทย์ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง เอกสารการเงินประกอบการรักษาพยาบาล กรมธรรม์ที่ครอบคลุมโควิด-19 วงเงินไม่น้อยกว่า 100,000 เหรียญสหรัฐ เป็นต้น

นพ.ธเรศ กล่าวว่า ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม – วันที่ 2 ตุลาคม 2563 มีผู้เดินทางเข้าประเทศไทยทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติรวมผู้เดินทางสะสม 1,149 ราย ในจำนวนนี้อยู่ในระหว่างการรักษาโรคในสถานพยาบาล 1,120 ราย สร้างรายได้รวม 114,523,800 บาท ที่จะเดินทางเข้ามาอีก 3,535 ราย ประมาณรายได้ 360,704,200 บาท รวมรายได้จาก Medical Program ทั้งสิ้น 475,228,000 บาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image