สธ.ตรวจเข้มโควิด-19 ที่ อ.แม่สอด พบพนง.ขับรถชาวเมียนมา ติดเชื้ออีก 1 ราย

สธ.ขยายผลตรวจเข้มโควิด-19 ที่ อ.แม่สอด พบพนง.ขับรถชาวเมียนมา ติดเชื้ออีก 1 ราย

เมื่อเวลา 13.00 น.วันนี้ (11 ตุลาคม 2563) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายธนิตพล ไชยนันท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยการ สธ. พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาการอธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป  แถลงด่วนกรณีมีรายงานการตรวจพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 บริเวณชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งดำเนินการตามมาตราการเฝ้าระวังและคัดกรองกลุ่มเสี่ยงของ สธ.

นพ.โสภณ แถลงว่า เนื่องจากสถานการณ์ของประเทศเมียนมา ที่มีการระบาดของโควิด-19 ส่วนหนึ่งพบผู้ป่วยติดเชื้ออยู่ใน อ.เมียวดี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ตรงข้ามกับ อ.แม่สอด จ.ตาก ดังนั้น โรงพยาบาล (รพ.) แม่สอด จึงร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ตาก หน่วยงานฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายปกครอง จึงได้ทำการคัดกรองผู้ขับรถระหว่างชายแดน 2 ประเทศ

นพ.โสภณ กล่าวว่า ไทม์ไลน์ของการตรวจคัดกรองเชิงรุกในกลุ่มพนักงานขับรถรับจ้างใน อ.แม่สอด ผลการตรวจคัดกรองในระหว่างวันที่ 8-10 ตุลาคม 2563 โดยเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ทำการคัดกรอง 55 ราย ผลตรวจไม่พบเชื้อทุกราย เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม คัดกรอง 60 ราย พบชาวเมียนมา 2 ราย อาชีพขับรถรับจ้าง ผลการตรวจพบเชื้อโควิด-19 แต่ไม่มีอาการ หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ทีมสอบสวนโรคได้ลงพื้นที่ที่ผู้ป่วยทำงานขนส่งสินค้า เป็นโกดัง 2 แห่ง คือ โกดังอารี และ โกดังสิงห์รุ่งเรือง และทำการเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจ RT-PCR ในโพรงจมูกของผู้ใช้แรงงานในโกดัง รวม 74 ราย ผลการตรวจพบว่า มี 1 ราย ให้ผลเป็นบวก โดยเป็นชาวเมียนมา อาชีพขับรถรับจ้าง

Advertisement

“สรุปการตรวจคัดกรองเชิงรุกของของทีมสอบสวนโรค พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวม 3 ราย เป็นชาวเมียนมาทั้งหมด และได้ส่งตัวกลับไปรักษาที่ รพ.ในเมียวดี ประเทศเมียนมา แล้ว และทางการเมียนมาก็ได้ให้ผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อเข้าสู่สถานกักกันของเมียนมาแล้ว ส่วนคนในพื้นที่ก็ได้รับคำแนะนำว่าจะต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ และเว้นระยะห่าง” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า ในช่วงเช้าของวันนี้ กรมควบคุมโรคได้สนับสนุนการตรวจคัดกรองคนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการพบผู้ติดเชื้อ ได้แก่ รถพระราชทานตรวจหาเชื้อชีวนิรภัย จำนวน 3 คัน ที่จะไปจอดให้บริการประชาชนบริเวณโกดังทั้ง 2 แห่ง ซึ่งขอความร่วมมือผู้ประกอบในการปิดทำการชั่วคราวเป็นเวลา 7 วัน เพื่อการควบคุมและป้องกันโรค และอีก 1 คัน จะให้ส่วนจังหวัดเป็นผู้พิจารณาว่าจะนำไปจอดที่ใด การสนับสนุนชุดตรวจ RT-PCR ไปแล้วจำนวนหนึ่ง ซึ่งทางจังหวัดขอร้องเพิ่มอีก 1,000 ชุด ชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 อย่างเร็ว หรือ แรบบิทเทสต์ 2,000 ชุด พร้อมทั้งส่งทีมสอบสวนโรคลงพื้นที่

ด้าน นพ.ธนิตพล กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการ สธ. และ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. ให้ความสำคัญของการระบาดของโควิด-19 ในประเทศเพื่อนบ้าน สั่งการให้ตนเข้าไปในพื้นที่ อ.แม่สอด ตั้งแต่ช่วงแรกของการระบาดในรัฐยะไข่ ได้เห็นการเตรียมความพร้อมทั้งฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายปกครองและตำรวจ มีการป้องกันการลักลอบเข้าประเทศอย่างหนาแน่น โดย สสจ.ตาก และ รพ.แม่สอด เตรียมความพร้อมด้านอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ ห้องปฏิบัติการ (แล็บ) สามารถรองรับได้ราว 20-30 รายต่อวัน ทั้งยังมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ มี่มีผู้ทรงคุณวุฒิด้านระบาดวิทยาเฉพาะชายแดน ลงไปให้คำปรึกษาในพื้นที่ ที่สำคัญคือ กรมควบคุมโรคกำชับให้ทีมควบคุมโรคเขตพื้นที่มีความพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่

Advertisement

“ในครั้งนี้ เหมือนเทสต์ (ทดสอบ) ระบบ ที่พบว่าเมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว กรมควบคุมโรคใช้เวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงในการเข้าไปยังพื้นที่ ต้องยอมรับว่า บางครั้งมาตรการด้านสาธารณสุขจะขัดกับหลักเศรษฐกิจบ้าง เราไม่สามารถเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ซึ่งหน้าที่ของ สธ.คือ สร้างสมดุลระหว่าง 2 อย่างนี้ และขอให้คนไทยการ์ดไม่ตก ยกหน้ากากอนามัยจากที่ตกไปอยู่ใต้คาง ให้ยกหน้ากากขึ้นมาไว้ปิดจมูกและปาก เพื่อป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ และขอให้เข้มงวดมากขึ้นในช่วงของเทศกาลบุญกฐิน ลอยกระทง สามารถดำเนินการได้ แต่ขอให้เข้มในมาตรการสวมหน้ากาก หมั่นล้างมือ และเว้นระยะห่าง” นายธนิตพล กล่าว

นายธนิตพล กล่าวถึงการเข้าออกเมืองในพื้นที่ชายแดนว่า อนุญาตให้เดินทางเฉพาะรถขนส่งสินค้าที่จำเป็นเท่านั้น เมื่อเข้ามาแล้ว จะต้องแจ้งจุดหมายปลายทางให้กับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ที่ด่านควบคุมโรค แจ้งประวัติการเดินทาง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานกลุ่มเดิม และเมื่อเข้ามาแล้วจะต้องอยู่ในหน้าที่การขับรถเท่านั้น เพื่อลดการสัมผัสกับผู้อื่น

“ขณะนี้ พื้นที่ อ.แม่สอด รายงานว่ายังไม่มีการปิดด่านข้ามแดนดังกล่าว เพราะมีความละเอียดอ่อนในพื้นที่ และเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบที่รุนแรง ยังไม่มีการปิดด่าน แต่เราหารือกันว่า จะขอเขาได้หรือไม่ว่า ขอเวลาเซ็ตระบบใหม่ซัก 5-7 วัน เพื่อความปลอดภัยของทั้ง 2 ประเทศ เพราะในการขนส่งสินค้าจะเป็นเครื่องอุปโภคจำเป็น ที่จะมีการแลกเปลี่ยนระหว่างไทยและเมียนมา เขาเองก็มีการระบาด เกิดความขาดแคลนเหมือนที่ช่วงประเทศไทยระบาด” นายธนิตพล กล่าว

นายธนิตพล กล่าวว่า พื้นที่ที่เป็นจุดแลกเปลี่ยนสินค้า จำเป็นบริเวณพื้นที่โล่งกว้างขวาง ได้รับการสนับสนุนจากกรมทางหลวง มีห้องสุขา ห้องอาบน้ำไว้ให้บริการพนักงานขนส่ง เพื่อไม่ให้มีการข้ามเข้ามาในประเทศไทย เมื่อมาถึงจุดแลกเปลี่ยนของแล้ว พนักงานขนของจะนำของมาวางไว้ตรงกลาง ทำความสะอาดฆ่าเชื้อตามมาตรการสาธารณสุข ก่อนที่จะยกของขึ้นรถ ดังนั้น จึงเป็นการลดการสัมผัสระหว่างบุคคลได้

ผู้สื่อข่าวถามถึงการกักตัวคนในฝั่งประเทศไทยที่เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อทั้ง 3 ราย นพ.โสภณ กล่าวว่า การตรวจหาเชื้อในแรงงานภายในโกดังทั้ง 2 แห่ง จำนวน 74 ราย ขณะนี้ผลการตรวจออกมากว่า 60 รายแล้วยังไม่มีการรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม ส่วนจำนวนผู้ที่ต้องเข้าเฝ้าระวังสังเกตอาการ 14 วัน ต้องรอให้หน่วยงานในพื้นที่สรุปข้อมูลที่ได้จากการสอบสวนโรค ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนเป็นหลักร้อย

ต่อข้อคำถามว่า ผู้ติดเชื้อทั้ง 3 ราย มีพฤติกรรมสุขภาพอย่างไรบ้าง นพ.โสภณ กล่าวว่า ตามข้อตกลงระหว่าง 2 ประเทศ จึงมีการอนุญาตให้เฉพาะรถขนส่งสินค้าสามารถเดินทางข้ามประเทศได้ โดยจะใช้เวลาไม่เกิน 7 ชั่วโมง ต่อ 1 รอบขนส่ง และจะต้องดำเนินการตามมาตราของประเทศไทยคือ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่างจากผู้อื่น และพบว่าผู้ติดเชื้อชาวเมียนมา 2 ราย กลับออกไปตามกำหนดเวลา และโอกาสแพร่เชื้อไม่มาก เนื่องจากไม่มีอาการป่วยและไม่ได้สัมผัสกับผู้อื่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image