กรมอนามัย กำชับตลาดสด-ร้านอาหาร ป้องกันโควิด เผยคนไทยใส่แมสก์มากขึ้น หลังระบาดสมุทรสาคร

กรมอนามัย กำชับตลาดสด-ร้านอาหาร ป้องกันโควิด เผยคนไทยใส่หน้ากากมากขึ้น หลังพบระบาดสมุทรสาคร

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เวลา 12.30 น. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริยชัย อธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วย นายธนาชัย ทวีเกษม ประธานภาคีเครือข่ายชมรมตลาดสดน่าซื้อ กลุ่มภาคกลางตะวันตก กล่าวถึงมาตรการยกระดับตอบโต้การระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 และการดูแลความสะอาดภายในพื้นที่ตลาดสด

นพ.สุวรรณชักล่าวว่า การระบาดใหม่ครั้งนี้มีความสำคัญ เนื่องจากสัมพันธ์กับตลาด สถานการณ์หลักอยู่ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ที่พบผู้ป่วยที่เชื่อมโยงกับจังหวัด ขณะเดียวกันยังมีเมืองใหญ่ พื้นที่ชายแดน ที่ได้ยกระดับมาตรการเฝ้าระวังเพื่อป้องกันแล้ว กรมอนามัยได้ดำเนินการ 1-2 เดือนที่ผ่านมา สำรวจอนามัยโพล ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 9-13 พฤศจิกายน พบว่า เมื่อประชาชนออกนอกบ้าน สวมหน้ากากอนามัยร้อยละ 85.3 แต่ก็พบว่าในหลายสถานที่มีพฤติกรรมสวมหน้ากากที่ค่อนข้างต่ำ เช่น เมื่อไปตลาด สวมหน้ากากเพียงร้อยละ 69, ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 23-27 พฤศจิกายน ประชาชนออกนอกบ้าน สวมหน้ากากอนามัยร้อยละ 81.21 เมื่อไปตลาดร้อยละ 64.57 กระทั่งเมื่อมีเหตุการณ์ จ.สมุทรสาคร การสำรวจในวันที่ 21 ธันวาคม ภาพรวมการสวมหน้ากากอนามัยของทั้งประเทศ เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 90.89 ในพื้นที่ตลาด เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 74.12 ทั้งนี้ จะต้องรณรงค์ประชาชนและผู้ให้บริการในตลาดต้องสวมหน้ากากอนามัยให้ได้ 100%

นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า การยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 ในตลาด 4 มาตรการ ได้แก่ มาตรการที่ 1 อาหารทะเลหรือวัตถุดิบ ต้องถูกสุขาภิบาล ล้างมือ ปรุงสุก เนื่องจากสามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ และรับประทานอาหารร้อน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว ใช้อุปกรณ์จับคีบที่ไม่สัมผัสวัตถุดิบ มาตรการที่ 2 ผู้ประกอบการ ดำเนินการตามมาตรฐานสุขาภิบาลของกรมอนามัย เน้นทำความสะอาดสถานที่ ผู้สัมผัสอาหาร จะต้องรักษาความสะอาดของตนเองอย่างเคร่งครัด เน้นเรื่องการเก็บรักษา บรรจุและขนส่งต้องไปตามมาตรฐาน โดยจะต้องเพิ่มเติมในการเฝ้าระวังคนงานโดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง ด้วยการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และไม่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ มาตรการที่ 3 ประชาชน สามารถตื่นตัวได้ ตระหนักและรู้เท่าทันในการเลือกซื้อ บริโภคอาหารได้อย่างปลอดภัย ปลอดโรค โดยการสังเกต ตรวจสอบ หรือสอบถามไปยังหน่วยงานท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และกรมอนามัย และมาตรการที่ 4 ตลาดและร้านอาหาร ให้ยกระดับและปฏิบัติเข้มข้นให้เป็นตามมาตรฐาน

Advertisement


“ในระดับบุคคล ประชาชนยังต้องระมัดระวังและให้ความสำคัญกับการที่การ์ดไม่ตก ทั้งในเรื่องของการอยู่ห่างกันเข้าไว้ การสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน การล้างมือให้มากขึ้น ไม่อยู่ในที่แออัด ช่วยกันทำความสะอาดพื้นผิว โดยที่สำคัญที่สุดคือการลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่นไทยชนะ ในส่วนผู้ที่มีประวัติเข้าพื้นที่เสี่ยง ขอให้สังเกตอาการตนเอง หากพบข้อสงสัยให้ติดต่อที่สถานพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็ว”
นพ.สุวรรณชัยกล่าว

อธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่า การจัดการในตลาด ขอเน้นย้ำผู้ประกอบการและผู้ขายของ ให้ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่, สวมอุปกรณ์ป้องกัน อาทิ หน้ากากอนามัย ผ้ากันเปื้อน ให้ได้ 100%, อาหารปรุงสำเร็จ จะต้องปกปิด ใช้อุปกรณ์หยิบจับ, หากเจ็บป่วยให้หยุดปฏิบัติงานทันที, มีจุดบริการล้างมือให้ผู้ใช้บริการ, ทำความสะอาดและล้างแผงจำหน่ายทุกวัน, ทำความสะอาดและล้างพื้นตลาดทุกวัน, กำจัดขยะทุกวัน และทำความสะอาดห้องน้ำ ห้องส้วม โดยเฉพาะจุดที่สัมผัสร่วมกันเป็นประจำทุก 2 ชั่วโมง ทั้งนี้ มีการพบผู้ติดเชื้อในร้านอาหารที่นำวัตถุดิบอาหารทะเลมาจำหน่าย เช่น ร้านปิ้งย่าง บุฟเฟ่ต์ จึงต้องมีมาตรการให้ผู้ประกอบกิจการจัดจุดคัดกรอง จุดบริการล้างมิ และให้ผู้ใช้บริการสวมหน้ากากอนามัยทุกคน และมีภาชนะส่วนตัว จัดระบบชำระเงินที่ลดการสัมผัสระหว่างกัน เว้นระยะห่าง ลดความแออัด รวมถึงต้องมีฝาปิดถังขยะที่มิดชิด

Advertisement

ทั้งนี้ นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า ยันยืนว่ายังคงรับประทานอหารทะเลได้ แต่ที่สำคัญคือ การเตรียมวัตดุดิบทุกขั้นตอนที่ต้องคำนึงถึงความสะอาด และปลอดภัย เมื่อไปที่ร้านอาหารหรือซื้อกลับมาปรุง การสัมผัสอาหารเป็นเรื่องสำคัญ จึงต้องล้างมือทุกครั้ง เลี่ยงการสัมผัสอาหารและมาจับบริเวณใบหน้า เน้นในเรื่องการปรุงสุก รับประทานอาหารร้อน เนื่องจากไวรัสสามารถถูกทำลายได้เมื่ออยู่ในน้ำเดือดอุณภูมิมากกว่า 70 องศา เป็นเวลามากกว่า 5 นาที ส่วนอาหารปิ้งย่างควรจะให้สุกทั่วและใช้อุปกรณ์คีบจับแทนการใช้มือโดยตรง

“วัคซีนที่ดีที่สุดของประเทศนี้ ไม่ใช่วัคซีนฉีด แต่เป็นการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ ใช้ช้อนกลางส่วนตัวและกินอาหารปรุงสุกใหม่ จะเป็นวัคซีนคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยและปลอดโรค ทั้งนี้จะต้องดูแลสุขภาพของตนเอง เมื่อได้รับเชื้อก็จะมีอาการไม่รุนแรง ช่วยกันเป็นหูเป็นตา หากพบแรงงานที่ผิดกฎหมายหรือบุคคลเสี่ยง ไม่ใช่การไปตีตรา แต่ให้แจ้งไปยังเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเหมาะสม” นพ.สุวรรณชัยกล่าว

ด้านนายธนาชัยกล่าวว่า มาตรการตลาดสดน่าซื้อตามสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม 40 ข้อ อาหารปลอดภัย 6 ข้อและการคุ้มครองผู้บริโภค 3 ข้อ ที่มีการดำเนินการอยู่แล้ว และได้เพิ่มเกณฑ์ให้มีความเข้มงวดขึ้น ด้วยคำนึงถึงการมีส่วนร่วม จัดทำอุปกรณ์กันเองทำให้ใช้งบประมาณน้อย อาทิ การเพิ่มจุดคัดกรอง การล้างมือด้วยเจลแอลกอฮออล์ กำหนดจุดเข้าออก แจกหน้ากากอนามัย ตรวจวัดอุณหภูมิ เว้นระยะห่าง ส่วนราชการจะทำการล้างตลาดทุก 15 วัน และผู้เข้าใช้บริการจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาในการเข้าตลาด ไปจนถึงการใช้ระบบแอพพลิเคชั่นไทยชนะ

นายธนาชัยกล่าวอีกว่า มาตรการที่ดำเนินการตลอดหลายเดือนได้เห็นประโยชน์ชัดเจนในคราวที่พบผู้ป่วย เป็นหญิงไทย อาชีพแม่ค้าตลาดนัด ใน อ.นครชัยศรี โดยมีประวัติเข้าไปซื้อสินค้าในตลาดแพกุ้งในตลาดมหาชัย โดยในไทม์ไลน์ระบุว่า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ได้ไปตลาดสดไฟฟ้า อ.นครชัยศรี ภาพจากกล้องวงจรปิดพบว่า ก่อนเข้าตลาด ผู้ป่วยรายดังกล่าวไม่สวมหน้ากากอนามัย เจ้าหน้าที่จึงให้ผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ซึ่งจากเหตุการณ์นี้เป็นประโยชน์ที่ได้จากการดำเนินงานร่วมกันจากทุกภาคส่วน

“ขอให้ประชาชนทั่วประเทศทราบว่าไม่ต้องตื่นตระหนก ขอให้มีสติเข้าไว้และต้องนึกถึงปลอดภัยไว้ก่อนเป็นอันดับแรก ตลาดเป็นสถานที่เสี่ยงเพราะมีคนมาใช้จำนวนมาก และตอนนี้ยังไม่มีวัคซีน ดังนั้น การสวมหน้ากากอนามัยเป็นวัคซีนที่ดีที่สุด ด้วยวิธีที่ถูกต้อง ไม่นำไปไว้ใต้จมูกหรือคาง ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ 20 วินาที เว้นระยะห่าง ไม่เข้าพื้นที่มีคนเยอะๆ และต้องวางแผนว่าจะเข้าไปซื้ออะไร เมื่อซื้อเสร็จก็ให้รีบกลับ ไม่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง” นายธนาชัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image