สธ.เร่งสอบโรคย่านคลองเตย หลังผู้ป่วยติดเตียงวัย 95 ติดโควิด พร้อมแรงงานเมียนมาที่ดูแล 4 ราย

สธ.เร่งสอบโรคย่านคลองเตย หลังพบผู้ป่วยติดเตียงวัย 95 ปี ติดโควิด พร้อมแรงงานเมียนมาที่ดูแลอีก 4 ราย

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงรายงานสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) จำแนกเขตตามที่ตั้งของโรงพยาบาล (รพ.) แต่อาจไม่ใช่แหล่งที่พบโรค พบว่า มี 2 เขต ที่ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อ ส่วนที่ยังมีผู้ติดเชื้อรายงานอยู่ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา มี 10 เขต ในฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ จึงยังต้องมีการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกอยู่ ทั้งนี้มี 6 เขตที่ต้องเฝ้าระวังคือ บางแค ภาษีเจริญ หนองแขม จอมทอง บางบอน และบางขุนเทียน

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า จากการรายงานล่าสุดพบว่า มีที่พักแห่งหนึ่งย่านคลองเตย พบผู้ป่วยติดเตียง เพศหญิง อายุ 95 ปี โรคประจำตัว คือ โรคไต ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน ซึ่งอาศัยอยู่กับลูกสาวกับหลาน โดยได้จ้างแรงงานชาวเมียนมา 4 คน เพื่อผลัดกันดูแลผู้ป่วยติดเตียง ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนโรคว่าแรงงานดังกล่าวพักอาศัยอยู่ในลักษณะใด ต่อมา เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ผู้ป่วยติดเตียง เริ่มมีอาการไข้ขึ้น ลูกสาวจึงพาไปรพ.จุฬาลงกรณ์ เพื่อตรวจหาเชื้อ และผลตรวจยืนยันติดเชื้อเมื่อวันที่ 3 ก.พ. โดยหลังจากนั้นผลการตรวจหาเชื้อในแรงงานทั้ง 4 คน ก็ติดเชื้อเช่นกัน ส่วนลูกสาวและหลาน อยู่ในระหว่างการรอผลตรวจ

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า แรงงานชาวเมียนมาให้ข้อมูลมาไม่ได้ไปไหน แต่มี 2 ราย ให้ประวัติว่าไปตลาดคลองเตย จึงคาดว่าเป็นต้นเหตุของกรณีนี้ เนื่องจากเมื่อประมาณ 2-3 สัปดาห์ก่อน จากการสุ่มตรวจหาเชื้อเชิงรุกในแต่ละเขตของกทม. พบว่า เขตคลองเตยมีติดเชื้อ 1-2 ราย อย่างไรก็ตาม จะต้องติดตามการสอบสวนโรคต่อ

ทั้งนี้ ครอบครัวใดที่จ้างแรงงานต่างด้าวมาดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ แนะนำนายจ้างพาแรงงานไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 นอกจากนี้ยังต้องแนะนำให้แรงงานปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จากเดิมที่มักจะไปรวมตัวกันในวันหยุด ไปวัด จ่ายตลาด รับประทานอาหารร่วมกัน การรับประทานหมาก ที่มีการแบ่งปันหมากพลูหรือถ่มน้ำลาย รวมถึงแรงงานที่ไปกลับ จะต้องปรับพฤติกรรมส่วนนี้ เพราะหากตรวจหาเชื้อแล้ว แต่ยังไม่ปรับพฤติกรรม ก็ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้เช่นกัน

Advertisement

นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า คำแนะนำของครอบครัวที่ผู้ป่วย ผู้สูงอายุที่ต้องดูแลใกล้ชิด ก็ขอให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง และป้องกันตัวเองจากการนำเชื้อภายนอกเข้ามาในบ้าน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีน ที่มีทั้งวันเที่ยวและวันไหว้ ขอให้ผู้ที่ไปตลาดซื้อของ ป้องกันตัวเองอย่างดี

ไม่แนะนำให้ผู้สูงอายุออกไปตลาดเอง รวมถึงการแจกอังเปา ให้เปลี่ยนเป็นระบบออนไลน์ เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัส ขณะที่ การรวมญาติ รับประทานอาหารร่วมกัน ขอให้เว้นระยะห่าง กินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือ และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้ขาดการครองสติ ทำให้พูดคุยเสียงดัง ซึ่งเป็นสาเหตุการติดเชื้อ

ส่วนการไปเที่ยวในสถานที่ต่างๆ เช่น วัด ศาลเจ้า ขอให้ศึกษาสถานที่ที่จะไป หากมีคนหนาแน่น ก็ให้เว้นช่วงเวลาก่อนหรือทยอยเข้าไป และจะต้องเว้นระยะห่าง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ทั้งนี้ สถานที่ต่างๆ จะต้องมีระบบในการป้องกันควบคุมโรคด้วยเช่นกัน เพื่อเตรียมความพร้อมให้บริการผู้ที่จะเข้าไปในช่วงตรุษจีนนี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image