นายกสมาคมย้ำ ลงทะเบียนจองฉีดวัคซีน รพ.เอกชน ไม่ใช่เรื่องจริง ผิด กม.แจงยิบ ค่ารักษาโควิดเกือบล้าน

นายกสมาคมฯ ยัน! ลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนของ รพ.เอกชน ไม่ใช่เรื่องจริง! ผิดกฎหมาย แต่วัคซีนทางเลือก ‘โมเดอร์นา’ เข้าไทยแน่ แจงเรื่องค่ารักษาโควิดเกือบล้าน

รายการโหนกระแสวันที่ 6 พ.ค. 64 “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 สัมภาษณ์ “ผศ. นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล” อาจารย์พิเศษ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องโควิด-19 สรุปการฉีดซิโนแวคเข้าไปมีประเด็นจริงหรือไม่

อาจารย์เป็นอาจารย์แพทย์ที่สอนเรื่องยาโดยเฉพาะ วัคซีนด้วยมั้ย?
นพ.พิสนธิ์ : วัคซีนจัดเป็นยาชนิดนึงครับ

เมื่อวานอาจารย์เป็นหนึ่งในทีมที่ไปประเมินเรื่องการแจกจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์กับทาง กทม. สรุปคือต้องแจกหรือไม่แจกยังไงกันแน่ที่คลองเตย?
นพ.พิสนธิ์ : คือทาง กทม.มีแนวคิดว่าหากคนไข้มาที่ รพ.สนาม ปุ๊บ โดยยังไม่ต้องมีอาการใดๆ เขาอยากให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสทันที เป็นจุดประสงค์ดี มองว่าน่าจะดีนะ แต่เมื่อเรามองการใช้ยาอย่างสมเหตุผล หากเราทำเช่นนั้น เราก็จะใช้ยากับคนจำนวนมากมาย ซึ่งอาจเกินความจำเป็นไปได้ และอาจส่งผลเสียในอนาคตได้ เรื่องการดื้อยา

Advertisement

หากไวรัสโคโรนาซึ่งเป็นต้นเหตุโควิดเกิดดื้อยาฟาวิพิราเวียร์ขึ้นมา ทุกคนเกือบทั้งประเทศจะเดือดร้อนกันหมด เพราะประสิทธิภาพยาจะลดลง ดังนั้น สรุปว่าในผู้ที่ยังไม่มีอาการ ให้เป็นวิจารณญาณของแพทย์ที่จะพิจารณาว่าสมควรมั้ย และทำภายใต้งานวิจัย มีราชวิทยาลัย สถาบันจุฬาภรณ์ที่เข้ามาช่วยจุดนี้ เพื่อให้การใช้ยาเป็นไปอย่างเหมาะสม

ตอนนี้ไม่เห็นสมควรว่าต้องให้ยา โดยที่เป็นคนไข้สีเขียว?
นพ.พิสนธิ์ : ใช่ครับ

ต้องมีอาการออกแล้วถึงให้?
นพ.พิสนธิ์ : ตอนนี้แนวทางการรักษาโรคของกรมควบคุมโรคพูดไว้ และเปิดช่องให้ใช้ยาง่ายมาก เขาเขียนว่าผู้ใดเริ่มมีอาการ เขาไม่ได้บอกอาการ ก ข ค ง นะ ถ้าคุณหมอเห็นว่าคนนี้เริ่มมีอาการก็ให้ยาได้อยู่แล้ว ถ้าทำตามแนวทางปฏิบัติที่มีอยู่ในปัจจุบัน ผู้ป่วยจะได้รับยาอย่างรวดเร็วอยู่แล้ว

Advertisement

แต่ทาง กทม.จะเขยิบไปอีกขั้นนึงเลย ไม่ต้องรอ อาการนิดๆ หน่อยๆ ก็ไม่เอา ขอให้เข้ามาก็จ่ายเลย ตอนนี้จึงได้ชะลอ เรื่องแจกจ่ายทุกคนคงไม่ใช่แบบนั้น

ยาตัวนี้เป็นตัวเดียวเหรอที่จะรักษาโควิด มีพัฒนาตัวอื่นอีกมั้ย?
นพ.พิสนธิ์ : ฟาวิพิราเวียร์ เดิมเขาขึ้นทะเบียนเพื่อใช้กับไข้หวัดใหญ่ ยาตัวนี้เป็นลักษณะที่เรียกว่าบรอดสเปคตรัม คือมันสามารถออกฤทธิ์ต่อไวรัสอื่นๆ ได้ด้วย อย่างชิกุนคุนย่าก็ออกฤทธิ์ได้ ซึ่งเป็นโรคที่ยุงกัดแล้วปวดข้อ ซึ่งไม่ใช่ให้ปุ๊บหายปั๊บ แต่อาจไปช่วยลดปริมาณให้อาการที่เริ่มลุกลามใหญ่โตถูกสยบไปได้

ถามว่ามีตัวเดียวมั้ย มันก็ยังมียาต้านไวรัสอื่น ชื่อโมลนูพิราเวียร์

โมลนูพิราเวียร์ จะช่วยเรื่องการสยบโควิดได้อีกตัวนึง?
นพ.พิสนธิ์ : ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน เพียงแต่ว่างานศึกษาบอกว่าได้ผลดี ก็เป็นความหวังในอนาคต และไม่รู้ราคาเท่าไหร่ ถ้าเกิดเม็ดละพันบาท ต้องใช้คนนึงสัก 50 เม็ด ก็ลำบากอีกนะ เราก็ไม่รู้ ยาต้านไวรัสเรามีจำกัดมาก คือฟาวิพิราเวียร์นี่แหละ เมื่อเราต้องใช้ตัวนี้เป็นตัวหลักเราก็รักษามันไว้ เหมือนเป็นหมัดเด็ดที่เอามาใช้เรื่อยๆ คู่ต่อสู้เราจะรู้ทางไปหมด คำว่ารู้ทางคือมันดื้อยานั่นเอง

เรื่องยา จำเป็นมั้ยติดโควิดปุ๊บต้องได้รับยาทันที เพื่อกันมันลงปอด หรือต้องลงปอดก่อนแล้วถึงให้ยา?
นพ.พิสนธิ์ : อันนี้กลางๆ นะ ไม่ใช่ต้องลงปอดก่อน ไกด์ไลน์บอกว่าเพียงเรามีอาการ เช่น น้ำมูกไหล ถ้าหมอบอกคุณมีอาการแล้ว คำว่าอาการในทีนี้คงทำนองอาการทางเดินหายใจเป็นหลัก แต่โควิดก็แสดงอาการได้มากมาย ตาแดงก็ได้ ท้องเสียก็ได้ ถ้ามีอาการแบบนี้แล้วให้ยาเลย ก็เป็นดุลพินิจของหมอ เขาเปิดช่องไว้เช่นนั้น

ไม่ต้องรอลงปอดนะ เขาไม่ได้บอกว่าอาการหนักแล้วให้ยา ไม่ใช่ ไม่ต้องมาก แค่มีอาการ ต้องหมอสั่งให้นะ ตามดุลพินิจของหมอ

มีบางคนเขาบอกได้รับยาช้าเกินไป เลยทำให้มีประเด็นเกิดขึ้นพอมันลงปอด?
นพ.พิสนธิ์ : ใช่ครับ อันนี้แหละที่พูดในที่ประชุมว่าทางกรมควบคุมโรค ท่านอธิบดีได้บอกชัดเจนว่าไม่ได้มีการให้ยาช้า การบอกว่าให้ยาเร็วๆ โดยไม่มีอาการก็ให้ อาจไม่ใช่ประเด็นนัก แต่ประเด็นคือหนึ่งคนไข้ได้รับยาช้า สองคนไข้กว่าจะได้รับการวินิจฉัยก็ช้า ซึ่งคำว่าได้รับยาช้า ไม่ใช่หมายความว่าเข้าสู่สถานพยาบาลแล้วหมอให้ยาช้า แต่เพราะมีกระบวนการบางอย่างติดขัดอยู่ตรงนี้

อาจไปรับมาช้า หรือหา รพ.ไม่ได้ ก็เลยทำให้ได้รับยาช้า?
นพ.พิสนธิ์ : ถูกต้องครับ ไม่ได้เกี่ยวข้องว่าคนไข้มาถึง รพ.แล้วหมอให้ยาช้า ไม่เคยเกิดขึ้นตรงนี้

ประเด็นวัคซีนซิโนแวค บางคนบอกฉีดว่าแล้วเส้นเลือดหดเกร็งตัว พยาบาลบางคนบอกเส้นเลือดตรงสมองเกร็งตัว ต้องไปกินแอสไพริน อีก 3-4 วันถึงหายไป ต่างๆ นานา ล่าสุดชายคนนึงไปฉีดวัคซีนได้ 2 วันแล้วเสียชีวิต สุดท้ายคืออะไรกันแน่?
นพ.พิสนธิ์ : แก้นิดนึงที่บอกว่าถ้ามีเส้นเลือดหดตัว หมอจะใช้ยาขยายหลอดเลือดนะ ซึ่งไม่ใช่แอสไพริน ที่พูดมาเราเรียกได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามหลังการฉีดวัคซีน ซึ่งมี 5 ประเด็นด้วยกันที่องค์การอนามัยโลกได้บอกไว้ 3 ประเด็นแรกเกี่ยวข้องกับวัคซีนโดยตรง

ประเด็นที่ 1 คือเรารู้อยู่แล้ว ฉีดวัคซีนไปจะเจ็บแขน เป็นต้น อันนี้ถือว่าเป็นผลจากวัคซีนโดยตรง สองขึ้นอยู่กับวิธีการให้วัคซีนนั้น สามเกี่ยวข้องกับการมีข้อบกพร่องของตัววัคซีนซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในบางล็อต เช่น วัคซีนปกติใสๆ ทำไมมีตะกอน เป็นต้น หรืออะไรก็ตามที่เป็นความบกพร่องของกระบวนการผลิต

รวมถึงการเก็บรักษาที่ไม่ดี รวมถึงการฉีดยาผิดชนิด ผิดคน ก็ยังเคยเกิดขึ้น ส่วนอันที่ 4 อันที่เราน่ามาคุยกันเยอะๆ คือที่องค์การอนามัยโลกได้ทำคู่มือมาฉบับหนึ่งเลย ภาษาอังกฤษคือ Immunization Stress Related Response คือปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นตามหลังการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นผลมาจากสเตรท ซึ่งสเตรทแปลได้หลายความหมาย หมายถึงแรงกดดัน ความเครียด ความกังวล ความกลัว จิปาถะ เราเรียกว่าสเตรท

เหมือนคำว่าอุปาทานหมู่มั้ย?
นพ.พิสนธิ์ : ไม่อยากให้เรียกว่าอุปาทาน เพราะคนไทยฟังคำว่าอุปาทานจะเหมือนว่าเขาคิดไปเอง แต่อันนี้ไม่ได้คิดเอง แต่เป็นอาการที่เกิดขึ้นจริง ยืนยันว่าเขาไม่ได้คิดเอง เขาเป็นจริง แต่การเป็นจริงๆ ต้องขีดเส้นใต้ว่าเมื่อคุณหมอไปตามหาสาเหตุ เราบอกเส้นเลือดหดตัว ไปตรวจสมอให้ละเอียด วัดทางแล็บ ถ้าหาไม่เจอก็จัดอยู่ในหมวดนี้

ยกตัวอย่าง ปี 2010 มีทหารอเมริกัน 201 คน ถูกฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ปรากฏว่า 14 คน ไม่มีแรง ไม่ค่อยมีกำลัง พอเขาไปตรวจดูเรื่องการทำงานของเส้นประสาท ปกติหมดเลยทุกคน อย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นเรื่องของที่กล่าวไปเมื่อกี้ ISRR บันทึกไว้เป็นหลักฐาน และบันทึกไว้หลายประเทศทั่วโลก

ตอนนี้คนไทยที่มีการฉีดวัคซีนที่มีอาการ เป็นตัวนี้เหรอ?
นพ.พิสนธิ์ : ผมไม่ได้บอกว่าทั้งหมดนะ ผมกำลังไล่ว่าผลที่เกิดตามหลังการฉีดวัคซีน 5 ข้อ สามข้อแรกเราบอกได้ว่าเกิดจากวัคซีน ข้อที่สี่คือเรื่องที่ผมพูดถึง ข้อที่ 5 คือเหตุบังเอิญเมื่อครู่ที่คุณหนุ่มยกตัวอย่างผู้ที่เสียชีวิต การเสียชีวิตของคนในแต่ละวันเราเจออยู่แล้ว

สมมุติคนคนนั้นเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองอยู่แล้ว บังเอิญเกิดเหตุการณ์กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หลอดเลือดสมองแตกเฉียบพลัน เขาก็จะเสียชีวิตตรงนี้ อย่างนี้เรียกว่าเหตุที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญที่มันต้องเกิด แต่บังเอิญเราไปฉีดวัคซีน กระบวนการตรงนี้ต้องมีผู้เชี่ยวชาญ คณะทำงานของกระทรวงสาธารณสุข เอาเหตุแต่ละเหตุมาวินิจฉัย หน้าที่ของประชาชนและสื่อมวลชนคือฟังเฉยๆ อย่าเพิ่งไปบอกว่ามันเป็นเหตุให้เกิดจากวัคซีน ต้องมีการสอบสวนก่อน อันนี้สำคัญมาก

ยกตัวอย่าง มีคนนึงถูกกล่าวหาเป็นผู้ร้าย ฆ่าคนตาย สิ่งแวดล้อมเหมือนจะใช่คนนี้จริงๆ เราก็ยังให้โอกาสเขา บอกว่าคนนี้เป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา ดังนั้น เขาต้องผ่านกระบวกการ ตร. ผ่านนิติวิทยาศาสตร์ ผ่านอัยการ ผ่านศาล จนกว่าตัดสิน นี่คือกระบวนการที่ถูกเช่น

เช่นเดียวกับวัคซีน วัคซีนถูกกล่าวหาเป็นผู้ร้ายโดยยังไม่ได้รับการพิสูจน์ ถ้ากล่าวหาไปแล้ว แล้วคนเกิดความกังวล ข้อที่สี่ที่เรียกว่า ISRR จะเกิดมากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะปัจจัยเสี่ยงสำคัญของ ISRR คือประสบการณ์บุคคลที่ได้ยินได้ฟังเรื่อยๆ เกี่ยวกับผลร้ายของวัคซีน มันก็จะฝังอยู่ในกระบวนการความคิด

เปรียบเทียบกับอาการคิดและเกิดอย่างนั้นจริงๆ ในร่างกายเหรอ?
นพ.พิสนธิ์ : ใช่ครับ คือเหตุที่เกิดกับคนเหล่านั้นเกิดขึ้นจริงๆ เช่น อาการชา เขาไม่ได้อุปาทานว่าเขาชา เขาชาจริงๆ

ใกล้เคียงแพนิค?
นพ.พิสนธิ์ : กลไกการเกิด ISRR คล้ายๆ แพนิคก็ได้ หรือไม่ใช่แพนิคก็ได้ เช่น กระบวนการที่มาจากระบบประสาทสองระบบ ระบบหนึ่งเราเจอเหตุการณ์ปุ๊บเราสู้หรือเปล่า ก็จะมีอาการหัวใจเต้นเร็ว ความดันขึ้นสูงจู๊ดเลย อีกระบบ ตรงกันข้าม หัวใจเต้นช้า ความดันตก เป็นลมวูบหมด และมีอื่นๆ อีกหลายประการมาก ก็เป็นเช่นนี้ และยังมีอื่นๆ อีกหลายประการมาก

ตรงนี้เราเลยไม่ได้บอกว่าเขาอุปทานหรือคิดไปเอง แต่ร่างกายเราตอบสนองต่อสเตรทด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน ซึ่งเขาก็บอกแล้วว่าเกี่ยวข้องกับเพศ เกี่ยวข้องกับอายุ วัยของคนนั้น เกี่ยวข้องกับการรับรู้เรื่องราวของวัคซีน เป็นต้น

ยังไงวัคซีนเราก็ควรต้องฉีด?
นพ.พิสนธิ์ : แน่นอนครับ วัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่เราได้รับเร็วที่สุด และเป็นวัคซีนที่ผ่านการอนุมัติโดย อย.แล้ว ถือได้ว่ามีประสิทธิภาพที่เราต้องการแล้ว เช่น ป้องกันไม่ให้เรามีอาการหนักเข้าไอซียู ป้องกันไม่ให้เราเสียชีวิตได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นต้องรีบไปลงทะเบียน จะได้รู้ว่าวันใดเราจะได้รับการฉีดวัคซีน

“ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์” ในฐานะเป็นนายกสมาคม รพ.เอกชน ดูแล รพ.เอกชนทั้งหมด ตอนนี้มีประเด็นข่าวออกมา เป็นบิลออกมาของ รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง บอกว่าค่ารักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ นานา ในการรักษาโควิดคนๆ นึง 9 แสนกว่าบาท ตรงนี้มันยังไง?
นพ.เฉลิม : ปกติรัฐบาลได้ประกาศไปแล้ว กรณีมี 2 ประเด็น กรณีที่ผู้ป่วยเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงมาตรวจโควิด สกรีนนิ่ง พีซีอาร์ ฟรีอยู่แล้ว สองถ้าเป็นโควิดแล้วบวก จำเป็นต้องอยู่ รพ.สามารถเบิกจ่ายได้ที่ สปสช.ขึ้นอยู่กับเครือข่ายต่างๆ ที่เขาเซ็ตเอาไว้อย่างไร

ทางสมาคม รพ.เอกชนขอร้องให้ รพ.ทุกโรงช่วยเปิดฮอสพิเทล เช่น ห้องละ 2 คน ถ้านอนแล้วไปเบิกโควิดจาก สปสช. ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ถ้าบางกรณี ผู้ป่วยสีเขียวในฮอสพิเทลก่อนนะครับ กรณีคนไข้ติดสุรา มีพื้นฐานต้องอยู่คนเดียว อาจต้องเสียเพิ่มนิดหน่อย ในเรื่องค่าห้องเท่านั้นเอง ค่ารักษาเบิกได้หมด

นิดหน่อยคือ 9.8 แสนนี่หรือเปล่า?
นพ.เฉลิม : ไม่ใช่ครับ (หัวเราะ)

แล้ว 17 วัน 9.8 แสนที่เขาโชว์ คืออะไร?
นพ.เฉลิม : ผมเห็นข่าวตั้งแต่เมื่อวานแล้ว ผมไม่แน่ใจว่าโดยพื้นฐานเขาสามารถเบิกได้อยู่แล้วครับ ผมเห็นข่าวนี้ตั้งแต่เมื่อวานแล้ว

เป็นไปได้มั้ย คนป่วยเขาอัพเกรดไปอยู่ห้องพิเศษ หรือรักษาตามขั้นตอนพิเศษ มีมั้ย?
นพ.เฉลิม : จริงๆ แล้วของภาครัฐบาลคัฟเวอร์ในเรื่องการรักษาสีเขียว สีเหลือง สีแดง อยู่แล้ว ส่วนที่จะมีเพิ่ม ไปอัพเกรดอยู่ห้องอะไรก็อาจจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งครับ

รพ.เอกชนรู้สึกไม่คุ้มหรือเปล่าถ้าไปรับกับรัฐบาล ต้องกั๊กเตียงให้แขกวีไอพี เป็นไปได้มั้ย?
นพ.เฉลิม : จริงๆ ภาพนี้มันเคยเกิด คุณหนุ่มจำได้มั้ย คนไข้ตกสำรวจ ติดเชื้อโควิดอยู่ที่บ้าน 1,400 กว่าคน ตอนนั้นเราต้องประชุมด่วนและขอร้องให้ทุก รพ.ที่ตรวจโควิดสกรีนนิง ตรวจเชื้อไม่ว่าจะเป็นไดรฟ์ทรูหรือใดๆ ก็ตาม ถ้าตรวจแล้วเชื้อบวก ให้ รพ.ช่วยกรุณารับคนไข้พวกนั้นไปทั้งหมด

ถ้าเตียงท่านเต็ม ช่วยไปเปิดฮอสพิเทล อย่างที่เรียน ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมสี่ดาว ห้าดาว ก็แล้วแต่ แต่ถ้าอยู่คนเดียวอาจมีส่วนต่างเพิ่มนิดหน่อย แทนที่เขาเสียเตียงไปเตียงนึงเนอะ แต่ใน รพ. โดยธรรมชาติ สิ่งที่เกิดขึ้น เราก็ถูกตำหนิมาว่ากันเตียงให้คนไข้มีเงินหรือเปล่า แต่ตอนหลังทำความเข้าใจทั้งระบบแล้วว่าคนไข้มา 3 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นคนไข้อยู่ในโครงการต่างๆ ของรัฐ เขาก็มีสิทธิ เขาก็เบิกได้ ส่วนคนที่เป็นประกันก็เบิกจากประกันได้ แม้กระทั่งนอนในฮอสพิเทล ประกันเขาก็ออกมาแล้ว อีกส่วนหนึ่งเคสหนักใน รพ.ก็เบิกโควิดยูเซ็พได้

คนลือกันว่าเวลาไปติดต่อ รพ.เอกชน ถ้าไปจะบอกเลยว่าเขารับคนมีประกัน สองต้องมีเงินสดให้เขา จริงมั้ย?
นพ.เฉลิม : ปกติแนวปฏิบัติการคงเป็นอย่างที่คุณหมอเรียนคุณหนุ่ม กรณีท่านตรวจเอง สกรีนสิทธิต่างๆ ผมเข้าใจ แต่ไม่ใช่สกรีนเพื่อจะเอาเงินสด ยังไงท่านก็ถูกรับผิดชอบ ถ้าท่านตรวจเองแล้วบวกไม่รับผิดชอบจะมีความผิดทางกฎหมาย

จะมีรูปธรรมให้เห็นชัดเจนมั้ย ตอนนี้พูดกันเยอะมาก อาจารย์คงได้ยินเหมือนกัน?
นพ.เฉลิม : ได้ยินตลอดหลายๆ เรื่อง เรื่องนี้กับเรื่องลงทะเบียนจองวัคซีน (หัวเราะ) ซึ่งไม่จริง ไม่มีใครมีวัคซีนสักคน เดี๋ยวจะประชุมกันและเอาเรื่องนี้เข้าที่ประชุม เพราะกรอบที่เราวางไว้เป็นอย่างนั้น

ตกลง รพ.เอกชนจะมีวัคซีนออกมาให้ประชาชนไปฉีดมั้ย?
นพ.เฉลิม : วัคซีนขณะนี้ในประเทศไทยมีแต่วัคซีนของรัฐ ส่วนที่ว่ามีคณะกรรมการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ผมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ เราบอกบริบทของประเทศไทยต้องมีไม่ต่ำกว่า 100 ล้านโดส ฉีดให้คนทั้งไทยและเทศที่อยู่ในประเทศไทย 50 ล้านคน ขณะนี้รัฐบาลมี 2 วัคซีน คือซิโนแวค กับแอสตร้าเซนเนก้า รัฐบาลแสวงหาเพื่อให้เป็นวัคซีนของรัฐบาลคือไฟเซอร์ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน กับสปุตนิก ส่วนโมเดอร์นาที่เป็นข่าว จะเป็นวัคซีนทางเลือกของเอกชน โดยการซื้อผ่านองค์การเภสัช ปริมาณบอกได้ แต่เมื่อไหร่จะเข้ามาบอกไม่ได้ครับ

สรุปคือตอนนี้ภาครัฐจะเอาเข้ามาอีก 3 ตัว คือไฟเซอร์ สปุตนิก จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ส่วนเอกชนจะเป็นโมเดอร์นา?
นพ.เฉลิม : โมเดอร์นาหรือวัคซีนอื่นๆ ที่ทางภาคเอกชน ติดต่อประเทศต้นทางและนำเข้าได้แล้ว ตอนนี้ข้อดีคือพอมีคณะกรรมการชุดนี้ คอขวดในการนำเข้าวัคซีนอยู่ที่จุดไหน ทางภาครัฐบาลให้ความร่วมมือเต็มที่ แต่วัคซีนทั้งโลกอยู่ในเฟสที่ 3 บางตัวของบริษัทใหญ่ๆ ค่ายอเมริกัน ไฟเซอร์ จอห์นสันฯ โมเดอร์นา ยังไงต้องผ่านทางหน่วยงานของรัฐ คือองค์การเภสัช แล้วจึงมาสู่ รพ.เอกชน

โมเดอร์นาเอาเข้ามาเมื่อไหร่ เห็น รพ.เอกชน เริ่มให้ลงทะเบียนจองแล้ว ข้อเท็จจริงเป็นยังไง?
นพ.เฉลิม : ต้องเรียนว่าจริงๆ แล้วไม่มีสิทธิที่จะลงเว็บให้เขาจอง เพราะท่านยังไม่มีวัคซีนใน รพ.ของท่านอย่างแท้จริง มีความผิดกับกระทรวงดีอีนะครับ ผมได้เรียนไปทุกโรง ให้เขาถอนให้หมด และพอถามไปแล้ว เป็นเฟคนิวส์ครับ

อีกนานมั้ยกว่าจะมา?
นพ.เฉลิม : เขารับปากเราว่าปีนี้จะนำเข้ามา แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าวันเดือนปีเมื่อไหร่ แต่บริษัทแม่จะพยายามเอาเข้ามาในประเทศไทยให้เร็วที่สุด

เปิดจองจริงมั้ย?
นพ.เฉลิม : ไม่จริงครับ อันนั้นผิดกฎหมายนะครับ ผมได้บอกไปหมดแล้วนะครับ

เมื่อวานผมเพิ่งลงทะเบียนจอง แล้วเหมือนเป็นลิงค์ส่งเข้ามาให้จองฉีดวัคซีนได้ ของ รพ.เอกชนด้วย ขอเลขที่บัตรประชาชนด้วย ผมใส่ไปด้วย ผมจะบันเทิงมั้ย?
นพ.เฉลิม : เพื่อไม่ให้สับสน ถ้าลงทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีนทางเลือกยังทำไม่ได้ เพราะท่านยังไม่รู้ว่าวัคซีนจะเข้ามาเมื่อไหร่ แล้วจะไปพูดเรื่องเงินทองไม่ได้ อีกอันนึงให้ระวัง ที่เราบอกว่าลงทะเบียนฉีดวัคซีนของภาครัฐอย่างโน้นอย่างนี้ เราก็บอกว่าอย่าทำเลย เพราะ รพ.มีฐานคนไข้ในลิสต์หมอพร้อมอยู่แล้ว

ถ้าเราบอกว่าไม่ควรกระทำ คุณหนุ่มอย่าไปลงนะครับ ไม่มีวัคซีนครับ ร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องรอให้วัคซีนเข้ามาจริง ตอนนี้วัคซีนของรัฐต้องจองในหมอพร้อมอย่างเดียว ส่วนภาคเอกชนผมได้คุยกับทุกเครือข่ายที่มีเว็บหลุดออกมา เขาก็ได้มีคำประกาศออกมาแล้ว จาก รพ.ประกาศหมดแล้วว่าไม่ใช่เว็บของเขา เป็นเว็บปลอมครับ

แล้วอย่างที่ผมลงไป เป็นฟอร์มเขาเลย?
นพ.พิสนธิ์ : เขาบอกว่าเป็นการสำรวจความต้องการ

แต่หน้าลิงค์บอกว่าเป็นการจองวัคซีนทางเลือก มีค่าใช้จ่าย จะรู้ราคาเมื่อวัคซีนมาถึง ?
นพ.เฉลิม : อันนี้ผมโทรกับเครือข่ายที่เห็นในเว็บพวกนี้หมดแล้ว และบอกให้ผู้บริหารออกแมสเซสออกมา ทุกค่ายออกแมสเซสออกมาหมดแล้ว ที่ทำมีอยู่ 4-5 ค่ายครับ

ให้เอาเลขที่บัตรประชาชนผมคืนมาด้วย?
นพ.เฉลิม : (หัวเราะ) อย่าไปลงนะคับ ไม่ควรจะลง เราไม่รู้ว่าคืออะไร แต่ทาง รพ.ได้ออกหนังสือประกาศของฝ่ายบริหาร รพ.พวกนั้นออกมาหมดแล้ว

 

อาจารย์ตกลงยังไง?
นพ.พิสนธิ์ : เรื่องการจองก็เป็นไปตามที่คุณหมอบอกทุกประการ ไม่มีวัคซีนจองไม่ได้ ผิดกฎหมาย ดังนั้น เขาจึงใช้คำว่าสำรวจความต้องการ

เป็นไปได้มั้ยประชาชนส่วนหนึ่งกระเสือกกระสนหาวัคซีนมาป้องกันโควิด-19 เพราะไม่พอจริงๆ อยากให้เป็นทางเลือกที่เขาเลือกได้?
นพ.พิสนธิ์ : วัคซีนทางเลือกตอนนี้มียี่ห้อเดียวเท่านั้น ผมได้บอกซ้ำว่าวัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่เราได้รับเร็วที่สุด ไม่ใช่วัคซีนที่เราคิดว่าดีที่สุด แต่จะมาเมื่อไหร่ไม่รู้

เมื่อกี้ได้ยินแล้วว่าตอบไม่ได้ว่าวัคซีนที่ท่านรอจะมาเมื่อไหร่ ระหว่างที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ก็เหมือนท่านขี่มอเตอร์ไซค์แล้วไม่ใส่หมวกกันน็อก มันมีโอกาสที่ท่านจะได้รับอุบัติเหตุร้ายแรงตลอดเวลา และบอกไม่ได้ด้วยว่าจะมาเมื่อไหร่ เดี๋ยวเรารอซื้อหมวกกันน็อก แต่คนอื่นเอาหมวกกันน็อกที่ได้รับการรับรอง ได้มาตรฐาน เขาเอามาใส่ก็ปลอดภัย

ดังนั้น อย่ารอเลยครับ ตอนนี้ลงหมอพร้อมทุกคนก่อน เพื่อจะได้วันเวลา เมื่อวัคซีนมาแล้วจะเปลี่ยนใจภายหลังก็อีกเรื่องนึงครับ

สิ้นเดือนนี้แอสตร้าเซนเนก้ามาอีกหลายล้าน?
นพ.พิสนธิ์ : แน่นอนครับ อันนั้นจะได้สบายใจว่าจะได้ฉีดกันถ้วนหน้าเลยครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image