ก.แรงงาน ยันผึ้งไม่แตกรัง ชี้ผู้ประกอบการต้องพึ่งตนเองด้วย เจียดเงินช่วยเหลือคนงาน

ก.แรงงาน ยันผึ้งไม่แตกรัง ชี้ผู้ประกอบการต้องพึ่งพาตนเองด้วย เจียดเงินช่วยเหลือคนงาน – นายกฯ ไม่เลื่อนคนละครึ่งเฟส 3

กรณีข่าวรัฐบาลประกาศปิดแคมป์คนงานแบบปัจจุบันทันด่วน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 จนหลายฝ่ายกังวลใจว่าจะสร้างความเดือดร้อนให้ผู้ใช้แรงงาน จนเกิดเหตุการณ์ “ผึ้งแตกรัง” เดินทางกลับภูมิลำเนาหนีการกักตัวหรือเปล่า

รายการโหนกระแสวันที่ 28 มิ.ย. 64 “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 สัมภาษณ์ “สุรชัย ชัยตระกูลทอง” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงานถึงเรื่องดังกล่าว

ประกาศแบบปัจจุบันทันด่วน ทำให้มีเวลาเตรียมตัวน้อย แรงงานส่วนหนึ่งซึ่งอยู่ในแคมป์เหมือนผึ้งแตกรัง กลับไปท้องถิ่นเขาเอง แบบนี้ยิ่งทำให้กระจายเชื้อไปหรือเปล่า?

สุรชัย : ถ้าเรามีการตรียมการล่วงหน้า การกระจายหรือเคลื่อนย้ายก็จะมากกว่านี้อีก เป็นเหตุที่ รัฐบาลจำเป็นต้องประกาศในช่วงเวลาสั้นๆ เข้าควบคุมแรงงานต่างด้าว หรือ แรงงานที่อยู่แคมป์คนงานที่มีการแพร่ระบาดโรคโควิดอย่างรุนแรง สิ่งหนึ่งที่จะบอกคือเรามีการประชุมที่กระทรวงแรงงาน เราประกาศวันที่ 25 วันที่ 26 คือวันเสาร์ กระทรวงแรงงานก็เชิญท่านปลัด อธิบดีทุกส่วนเข้ามาประชุมกัน แล้ววันที่ 27 เราก็เชิญนายกสมาคมก่อสร้างไทยมาประชุมเพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อน รวมทั้งกระทรวงแรงงานเราจะเยียวยาอะไรให้เขาเป็นข้อๆ ที่กฎหมายรองรับและทำได้ สิ่งที่เราได้คุยกับอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย โดยสมาชิกที่มา เราได้พบว่าหลายๆ ผู้ประกอบการก่อสร้างยังไม่เข้าใจ ยังเข้าใจคำว่าปิดแคมป์คนงานเพราะสื่อเราส่งไปแบบนี้

Advertisement

 

แล้วต้องใช้คำไหน?

สุรชัย : ที่เราเข้าใจคือแคมป์ที่พักของคนงาน แต่กฎหมายบอกมาว่าเราจะปิดสถานที่ก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอน หรืออาคารใหญ่พิเศษ อาคารสูงเราจะปิดไซต์งานด้วย เราจะปิดที่พักชั่วคราวของคนงาน อันนี้รวมอยู่ในนั้น

Advertisement

 

สถานที่พักก็คือแคมป์?

สุรชัย : ถูกต้องและไซต์งานด้วย

 

ที่ประกาศคือปิดแคมป์คนงาน ปิดไซต์งานที่มีการก่อสร้าง แล้วกระทรวงแรงงานเข้ามาดูแลยังไง?

สุรชัย : สถานการณ์เรามีการประกาศแบบฉุกเฉินขึ้นมา แล้วกระทรวงแรงงานทำงานภายใน 3 วันจึงได้แนวทางออกมา ในส่วนกระทรวงแรงงานที่เราทำร่วมกันศูนย์บริหารโควิดคือศบค. ยังมีกระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย ที่ร่วมดูด้วยกัน แต่บทบาทก้าวแรก กระทรวงแรงงานต้องไปให้เร็วที่สุด และรีบไปดูแลให้ได้มากที่สุด ส่วนที่เราดูแลไม่ได้ ในแง่กฎหมายไม่เปิดให้เราดูแล ก็ต้องอาศัยมหาดไทย สาธารณสุข กรุงเทพมหานครเข้าไปช่วยเยียวยาต่อ  ในบทบาทการดูแลของกระทรวงแรงงานเราก็ได้คุยกับนายกสมาคม อาจจะเจ็บแต่เราจบ

 

มันจะไม่ทันได้เจ็บแต่จะตาย?

สุรชัย : ยังไม่ตายๆ ในการแพร่ระบาดโควิด มันมีหลายระลอก กระทบการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร แต่วันนี้เพิ่งมาอุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่เราเรียนคืออุตสาหกรรมก่อสร้างได้ทำบับเบิ้ลและซีลคือการควบคุมโรคโดยกระทรวงสาธารณสุข ซีลคือล็อกคนงานให้อยู่ในแคมป์ในไซต์อย่าไปเพ่นพ่านข้างนอก บับเบิ้ลคือคนที่ทำงานโดยเฉพาะชายไทย เข้ามาในไซต์งานแล้วออกไปที่พัก มีบ้าน คอนโด หอพัก อะไรก็แล้วแต่ สุดท้ายการทำบับเบิ้ลและซีลก็ยังเอาไม่อยู่ เพราะเราเชื่อว่ามีแรงงานเคลื่อนย้ายจากแคมป์หนึ่งไปแคมป์หนึ่ง และเป็นพาหะนำโควิดไปติดที่แคมป์ต่อไป จะเห็นได้จากตัวเลขหลังๆ มีการแพร่ระบาดเยอะ ออกจากแคมป์คนงานแล้วเมื่อมีการประกาศของศบค.ออกมา กระทรวงแรงงานเลยมีมาตรการ 4 ขั้นตอน หนึ่งตามกฎหมายกระทรวงแรงงาน ต้องจ่ายชดเชย 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อมีการหยุดงานฉุกเฉินซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัย

 

ให้ผู้ประกันตน?

สุรชัย : ให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 นี่เป็นเหตุสุดวิสัย 50 เปอร์เซ็นต์ของฐานค่าจ้างไม่เกิน 1 หมื่นบาท เท่ากับจ่าย 7,500 บาท สอง เราเองรู้ว่าแคมป์คนงาน ในการทานอาหาร 3 มื้อเราดูแล แต่ในกฎหมายไม่ได้เขียนไว้ให้เราดูแล เราได้ประชุมกับนายกอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยว่ารัฐบาลเองโดยกระทรวงแรงงาน ได้มีเงินช่วยเหลือไปส่วนนึงแล้ว คือคนงานไม่ได้ทำงานแต่ได้รับเงินไปครึ่งนึง ฉะนั้นตรงนี้ ต้องเป็นเรื่องการแบ่งปัน ช่วยเหลือร่วมกัน จิตอาสานะ โดยกระทรวงแรงงานได้รับการติดต่อจากภาคเอกชนหลายบริษัท ส่งไข่ไก่ อาหารเข้ามาที่กระทรวงแรงงาน เราก็จะลำเลียงส่งให้คนงานต่อไป แล้วยังบอกนายจ้างด้วยว่า ท่านต้องพึ่งพาตัวท่านเองด้วยนะครับ เพราะการที่มีคนงานอยู่ไซต์งานของท่าน ทุกคนมีฝีมือ มีความสำคัญในการก่อสร้าง ฉะนั้นท่านต้องรักษาคนงานของท่านไว้ ท่านต้องเจียดเงินบางส่วนมาดูแลเหมือนกัน

คือผู้ประกอบการต้องช่วยเหลือคนงานด้วย แล้วผู้ประกอบการเขาจะตายอยู่แล้ว?

สุรชัย : ไม่เป็นแบบนั้นครับ อุตสาหกรรมมีตั้งแต่รายเล็กจนถึงรายใหญ่ รายใหญ่อย่างที่สร้างสะพาน คอนโด ตึกสูง 40-50 ชั้น กลุ่มนี้เราอยากให้ช่วยเหลือตัวเองให้เต็มที่ก่อน แต่ถ้ารายเล็ก เดี๋ยวเราจะเข้าไปตรวจสอบดู ถ้าเขาไม่ไหว เราจะเอาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่กล่าวไป เข้าไปช่วย

 

ขอทำความเข้าใจให้ชัดๆ ให้นายจ้างไปเยียวยาคนงานด้วย ช่วยกระทรวงแรงงาน แต่กระทรวงแรงงานบอกว่าบางคนมีเงินอยู่แล้ว ถ้าผมเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง มีลูกน้อง 500 คน ผมไปรับงานท่านเอาไว้ และต้องส่งงานให้ท่านภายใน 1 ปี วันนี้โดนแบบนี้ไปงานผมชะงักลูกน้องก็ต้องหยุดงาน ตัวผมไม่สามารถสร้างได้ภายใน 1 ปี ส่งงานไม่ทัน ถูกปรับอีก ใครช่วย?

สุรชัย : ในก่อสร้างขนาดใหญ่ ในสัญญาสากล จะมีอยู่หนึ่งข้อ ด้วยเหตุสุดวิสัย การแพร่ระบาด เกิดภัยพิบัติ การเมือง การประท้วงทุกเรื่องจะไม่มีการปรับกัน อันนี้ก็เหมือนกันอยู่ในสัญญาขนาดใหญ่ มีหมด เหตุการณ์โรคระบาดครั้งนี้ ถ้าย้อนหลังกลับไปโรงแรมก็เจอเหตุการณ์นี้เหมือนกัน ผมพูดถึงนายกสมาคมว่าหนึ่งท่านต้องไปจัดประชุมกับผู้ประกอบการ และคัดแยกผู้ประกอบการ มีรายเล็ก รายกลาง รายใหญ่ รายใหญ่ที่พึ่งพาตัวเองได้ก็ให้พึ่งพาไปก่อน รายเล็กพึ่งพาตัวเองไม่ได้ ทำบัญชีมา

 

เอาในมุมคนจน หรือผู้รับเหมารายย่อย กระทรวงแรงงานจะเข้าไปคุย?

สุรชัย : เราเยียวยาค่าจ้างขั้นต่ำ 50 เปอร์เซ็นต์ก่อนของฐานค่าจ้าง 1 หมื่นบาท สองอาหารการกิน การใช้จ่ายดำรงชีวิตเราจะเข้าไปดูแลต่อ อันนี้กฎหมายไม่ได้เปิดไว้ เราต้องไปหางบประมาณ ไปหาผู้มีจิตศรัทธา ใจบุญแล้วส่งต่อ สองเราคุยกับนายจ้างว่าสถานการณ์แบบนี้ ท่านก็ต้องดูแลลูกน้องของท่านด้วย  ในขั้นที่สาม อย่างที่ทราบเรามีการตรวจคัดกรองโควิดเชิงรุกในสถานประกอบการ ดังนั้นเราจะเอารพ.ที่สังกัดในเครือข่ายประกันสังคมหรือรพ.ภาคเอกชนเข้าตรวจคัดกรองโควิดเชิงรุกโดยการสว็อป ดูว่าใน 7 วันมีใครติดเชื้อโควิดจะได้คัดแยก ใครติดเชื้อเอาไปรักษา ใครไม่ติดเชื้อซีลอยู่ในแคมป์คนงานอย่าให้ออกไปไหน สี่จากนี้เสร็จทางรมต.กระทรวงแรงงานกำลังขอร้องไปทางครม. ท่านนายกฯ สาธารณสุขว่าอยากให้เจียดวัคซีนจำเพาะกรณีนี้ขึ้นมาเพื่อให้รพ.ในเครือข่ายประกันสังคมให้วัคซีนผู้ประกอบการคนงานในการก่อสร้าง ถ้าทำตามครบ 4 ขั้นตอนที่วางไว้ การเป็นจำเลยสังคมที่บอกว่าการระบาดโควิดอยู่ในแคมป์คนงานเยอะ เมื่อคนงานเหล่านี้ได้วัคซีนครบถ้วน การแพร่ระบาดจะยุติลง เราจะประเมินทุก 15 วัน ถ้าใน 15 วัน สถานประกอบการใด ผ่านเกณฑ์ ปลอดภัยแล้ว เราอาจทำเรื่องเข้าครม. แก้ไขกฤษฎีกาให้ผู้ประกอบการบางส่วนได้ออกมาดำเนินการต่อไป

 

ย้อนไปก่อน กรณีที่ท่านบอกมีการประกาศ 3 วัน ก.แรงงานรีบเร่งในการจัดการ แสดงว่าเพิ่งทราบเหมือนกันว่าจะมีการประกาศปิด ไม่ได้คุยกันมาก่อนเหรอว่าจะปิดจะได้มีมาตรการมาก่อน?

สุรชัย :  กระทรวงแรงงาน ไม่ได้อยู่ใน ศบค.

 

เรารู้พร้อมๆ กันเหรอ?

สุรชัย : ใช่ครับ เราก็รีบดำเนินงาน

 

ก่อนมีการประกาศปิด เขามองว่าศบค. น่าจะหารือกับแรงงานก่อน แต่แรงงานเหมือนรู้ทีหลัง เหมือนผึ้งแตกรัง กระเจิงหรือเปล่า?

สุรชัย : ถ้าผึ้งแตกรัง ถ้าดูไม่ค่อยมีนะ แรงงานเราคัดกรอง สกรีน คัดแยกแรงงานผิดกฎหมายออกจากระบบเยอะที่สุดแล้ว ดังนั้นแรงงานที่อยู่ในแคมป์คนงานตอนนี้ มีจำนวนมาก ที่ทำงานอย่างถูกกฎหมาย คนพวกนี้ไม่ได้แตกรังไปไหน ยังอยู่ แต่เชื่อว่าที่เล็ดลอดออกไป อาจมีผิดกฎหมายปนอยู่บ้าง หรืออาจมีอะไรไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะเขารู้อยู่ว่าในการที่กระทรวงแรงงานจะเข้ามาเยียวยา ต้องมีการตรวจตราว่าปริมาณแรงงาน ที่อยู่ในแคมป์คนงาน มีเท่าไหร่

 

มาตรการในการช่วยเหลือ ในการจ่าย 50 เปอร์เซ็นต์ คนเหล่านี้เป็นผู้ประกันตน ถ้าไม่ได้เป็นผู้ประกันตนล่ะ?

สุรชัย : เราดูสองแบบ ต้องคุยกับนายจ้าง เนื่องจากคุณยังขึ้นทะเบียนประกันสังคมไม่ได้ การเยียวยาช่วยเหลือก็ต้องให้นายจ้างดูแลคนงานเหล่านั้นไปก่อน

 

ถ้าเขาไม่ไหวเหมือนกัน?

สุรชัย : จริงๆ เขาน่าจะไหวนะ เพราะแรงงานงานก่อสร้างทั้งหมดส่วนใหญ่เป็นต่างด้าว มี 3 สัญชาติ เมียนมาร์ กัมพูชา ลาว ในแรงงานที่ขึ้นทะเบียนไม่ครบ เพิ่งมาขึ้นปลายปี 63 ช่วงนั้นอยู่อีกแสนกว่าคน ที่ยังไม่ตรวจอัตลักษณ์

แคมป์คนงานในกรุงเทพฯ เท่าไหร่?

สุรชัย : 575 แห่ง คนงานทั้งหมด 83,325 คน แรงงานต่างด้าว 70 เปอร์เซ็นต์

 

นอกเหนือจากช่วยเหลือแคมป์คนงาน เรื่องผู้ประกอบการร้านอาหารเข้าไปดูแลมั้ย?

สุรชัย : ก็ดูแล จ่ายให้ 50 เปอร์เซ็นต์เหมือนกัน เยียวยาหมด ก่อนหน้านี้เยียวยาไปรอบนึงแล้ว รอบนี้เยียวยาอีกไม่มีปัญหาอะไร เยียวยาตามปกติ”

 

เงินที่นำมาเยียวยาเป็นเงินประกันตน หรือเงินรัฐบาล?

สุรชัย : เงินประกันตน กองทุนประกันสังคม ที่มีตัวเลขอยู่ 2 ล้านล้านได้  ไม่ได้ใช้เงินจากรัฐบาล เพราะเงินผู้ประกันตน เมื่อเขาได้รับผลกระทบ เงินที่ส่งมาสะสมทุกเดือน กองทุนจะเอาเงินตรงนี้ไปคุ้มครองเขา บรรเทาความเดือดร้อน

 

จะมีผลปลายทางมั้ย?

สุรชัย : ไม่หรอกครับ ไม่กระทบ เพราะเงินเข้ามาจำนวนเพียงพอกับที่จ่ายออกไป

 

ยืมก่อน?

สุรชัย : ไม่ได้ยืมครับ เป็นเงินคุ้มครอง ทั้งว่างงาน เจ็บไข้ได้ป่วย ชราภาพ เรามีอยู่ในนั้นหมด

 

คนไม่มีประกันตน ต้องเป็นทางผู้ประกอบการไปดูแล?

สุรชัย : ครับ ตรงนี้ก็อยากเชิญชวนให้เข้าประกันตนด้วย บางครั้งผู้ประกอบการ แค่คุณมีลูกจ้าง  1 คนก็เข้าได้แล้ว แต่บางครั้งไม่เข้า เจ็บไข้ได้ป่วยไปใช้บัตรทอง หรือเข้าใช้บริการของสาธารณสุข แต่ถ้าเข้าประกันสังคม ว่างงาน ชราภาพ การหยุดงานสุดวิสัยแบบนี้ ก็ได้รับเงินช่วยเหลือจากประกันสังคมด้วย

 

มองว่าแรงงานที่ติดอยู่ในไซต์งานหรือแคมป์คนงาน คิดว่าเขาได้รับเงินวันนี้ เขาโอเคเหรอ?

สุรชัย : โอเคสิครับ เพราะว่าเขาได้เงินครึ่งนึงโดยไม่ต้องทำงาน แล้วอาหารการกินก็ให้ดูแลกันไป แล้วซีลควบคุมโรค ให้อยู่ในไซต์งาน มันเป็นวิธีควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดได้ดี กระทรวงแรงงานเคยเข้าไปช่วยตอนสมุทรสาคร ตอนแพร่ระบาดตลาดกลางกุ้ง มีแรงงานพม่าจำนวนมาก เราคัดแยกคนงานทั้งหมด ตรวจโควิดให้หมด คนไหนติดเชื้อก็เอาไปรักษา คนไม่ติดให้อยู่ในพื้นที่นี้ ก็ทำจนจบได้

 

แต่เคยถามคนงานที่เป็นผึ้งแตกรัง ถามว่าทำไมถึงออกไป เขาบอกว่าเขารู้ว่าต้องได้เงิน แต่อยู่ไม่ได้ ให้ลองไปอยู่แคมป์คนงาน เช้าออกไปทำงาน แล้วค่ำมานอนได้เพราะไม่ร้อน แต่ถ้าอยู่ตอนกลางวันทั้งวัน หลังคาสังกะสีแดดลง เขาอยู่เหมือนอบอยู่ในถังแล้วร่างจะสุก เขาอยู่ไม่ได้ ถ้าให้กักอยู่ในนั้นมันลำบาก?

สุรชัย : อันนี้ไม่เป็นไร เป็นสเต็ปต่อไป การดูแลสุขอนามัย ความเป็นอยู่เหมาะสมเดี๋ยวไปดูแลกันต่อ การแก้ปัญหามันจะไปทีละสเต็ป เมื่อแก้เสร็จมีผลกระทบข้างเคียงตามมาอีก เราก็แก้ต่อ ขอให้คุณอยู่ในแคมป์ เมื่อมีความร้อนอากาศอบอ้าว ก็ต้องไปหาวิธีการทำให้เกิดการระบายของอากาศ อย่าให้อบอ้าวเกินไป

ทุกอย่างดูง่ายไปหมด?

สุรชัย : ไม่ง่ายนะ วันนี้กระทรวงแรงงานเราทำงานหนักเป็นสองเท่า ทุกคนมุ่งมั่นแก้ปัญหาให้ มุมร้านอาหารก็เหมือนกัน

 

เจ้าของร้านเปิดไม่ได้แล้วจะเอาเงินไปช่วยเหรอ?

สุรชัย : เขาก็ต้องดูว่าบุคลากรของเขา ลูกจ้าง เขาควรเก็บไว้หรือเปล่า บางคนเลิกกิจการไปก็เยอะ เช่นร้านอาหารหรือโรงแรม เหตุการณ์ระลอก 1 2 3 เขาปิดแล้วปิดอีก มี 40 เปอร์เซ็นต์ ปิดแล้วไม่ได้เปิด ร้านอาหารก็เหมือนกัน พอไม่ได้เปิดก็แยกย้ายกันไป มันเป็นความเจ็บปวดนะ ผู้ประกอบการมีทุนน้อย ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย โควิดกระทบทุกภาคส่วน บางภาคก็ไม่ได้รับความรุนแรงอย่างอุตสาหกรรมส่งออกไม่กระทบสักเท่าไหร่

 

หาโรงแรมที่ปิดไปแล้ว หรือสถานที่อพาร์ทเมนต์สักที่ ให้คนงานไปอยู่ กักตัวไม่ให้ออกไปไหน จะมีโอกาสมั้ย?

สุรชัย : เดี๋ยวเราต้องหารือ เรื่องสภาพแวดล้อมอบอ้าว ไม่เหมาะสม เรารับรู้อยู่แล้ว เราลงไปตรวจ

 

คนรากหญ้ารู้สึกเยอะ เขาบอกใครอยู่ได้อยากให้ลงไปอยู่หน่อย?

สุรชัย : ครับ (หัวเราะ) เดี๋ยวเรารับไปจะช่วยดูแลให้ดีขึ้น

 

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกศบศ. อยู่ในสาย เพิ่งประชุม ?

ธนกร : ใช่ครับ วันนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เรียกประชุมในเรื่องมาตรการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ตาม 6 จังหวัด ในที่ประชุมได้บอกมาตรการมา 2-3 มาตรการ อันแรกในส่วนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบประกันสังคม ในส่วนนายจ้างรัฐบาลก็จะจ่ายในระบบประกันสังคมตามจำนวนลูกจ้าง 3 พันบาทต่อหัว แต่ไม่เกิน 200 คน นี่ในส่วนลูกจ้างกระทรวงแรงงานจะช่วยเหลือเยียวยากิจการ 3 หมวด ก่อสร้าง ที่พักอาศัย  บริการด้านอาหาร ศิลปะ บันเทิง และนันทนาการ สำหรับลูกจ้างที่มีการจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 เดือนอยู่ในประกันสังคม ก็จะจ่ายให้ 50 เปอร์เซ็นต์ แต่สูงสุดไม่เกิน 7500 บาท นอกจากนั้นรัฐบาลจะจ่ายเพิ่มเติมให้ลูกจ้างในระบบประกันสังคมที่เป็นสัญชาติไทยอีก 2000 บาทต่อคน ส่วนที่อยู่นอกประกันสังคม รัฐบาลและกระทรวงแรงงาน ให้ไปขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม ภายในระยะเวลา 1 เดือน โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินช่วยเหลือในส่วนนายจ้างจะได้รับเงินช่วยเหลือ 3 พันบาท ต่อหัวลูกจ้าง ลูกจ้างสัญชาติไทยได้รับ 2 พันบาทต่อคน  ส่วนกรณีไม่มีลูกจ้าง พวกพ่อค้าหาบเร่แผงลอย ต่างๆ รัฐบาลจะให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ไปขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม และให้ไปขึ้นทะเบียนผ่านถุงเงิน ผ่านโครงการคนละครึ่งภายในระยะเวลาหนึ่งเดือน  ตรงนี้ก็จะมีผู้ประกอบการร้านอาหารเครื่องดื่ม โครงการคนละครึ่ง ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคมจะได้รับอีก 3 พันบาท  เป็นการช่วยเหลือเบื้องต้น

 

ส่วนผู้ประกอบการ?

ธนกร : รัฐบาลช่วยเหลือนายจ้าง โดยการจ่ายเงินผ่านประกันสังคม มีสองส่วน นายจ้างได้รับเงิน 3 พันบาทต่อหัวลูกจ้าง แต่ไม่เกิน 200 คน

 

เดี๋ยวจะมีการประกาศเรื่องนี้?

ธนกร : ใช่ครับ ส่วนคนละครึ่งเฟส 3 กับโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่จะดำเนินการในวันที่ 1 ก.ค.จะเลื่อนหรือไม่ ตรงนี้ยืนยันว่าท่านนายกฯ ยืนยันชัดเจนว่าจะไม่เลื่อน จะดำเนินการตามที่กำหนดไว้ครับ

 

ตอนคลัสเตอร์สมุทรสาคร มีการตรวจแบบปูพรม กรุงเทพฯ กระทรวงแรงงานไปตรวจมั้ย?

สุรชัย : เราทำนะ เช่นศูนย์กีฬาไทยญี่ปุ่นดินแดง ที่ดินแดง ช่วงนึงมีคนงานก่อสร้างติดโควิด 70-800 คน  3 แสนกว่าคนทั่วประเทศ เราตรวจประมาณ 2 แสน แล้วก็ไปรักษา คลัสคนงานเราก็ไปตรวจแล้ว แต่ไม่ขอเอ่ยชื่อบริษัท เดี๋ยวเขาจะได้รับผลกระทบ ตรวจไปเยอะบริษัทใหญ่ๆ ทั้งนั้น ตรวจฟรีด้วย รักษาก็ฟรี เราดูแลทุกอย่าง อันนี้กระทรวงแรงงาน ประกันสังคมเป็นผู้ทำ ถ้ามาตรา 33 ก็งบประกันสังคม ถ้าเป็นบุคคลทั่วไป ค่าตรวจให้ไปเบิกกับสาธารณสุข

 

สรุปแล้ว ยืนยันว่า 50 เปอร์เซ็นต์จ่ายให้ผู้ประกันตน 7500 บาท จ่ายเป็นรายวันมั้ย?

สุรชัย : ถ้าวงการก่อสร้าง 5 วันจ่ายครั้งนึงเพื่อควบคุม ซีลไม่ให้คนงานเคลื่อนย้ายออกไป แต่ถ้าเป็นร้านค้า อะไรต่างๆ ที่เขามีระบบอยู่แล้ว เราไม่ได้ลงไปตรวจขนาดนั้น อันนั้นอาจจ่ายเป็นเดือน เพราะผู้ประกันตนเมื่อนายจ้างยื่นจ่ายเบี้ยประกันสังคมทุกเดือน เรารับเสร็จก็ส่งคืนให้เขาไปเหมือนกัน

 

หนักที่ผู้ประกอบการ?

สุรชัย : ผู้ประกอบการลำบากมาเยอะแล้ว อย่างร้านอาหาร  ลำบากจนน้ำตาหมดแล้วหมดอีก โรงแรมก็ลำบากมาก ปิดแล้วปิดอีก

 

ต้องแก้ไขกันยังไง?

สุรชัย : อดีตกระทรวงแรงงานเป็นภาคสังคม แต่วันนี้เราถูกยกขึ้นมาให้ทำงานด้านเศรษฐกิจด้วย ฉะนั้นเวลาประเทศเกิดการระบาดอะไรก็แล้วแต่ ภาคสังคมต้องรีบไปเยียวยา แต่กลไกเศรษฐกิจ อย่างที่ โฆษกศบศ. ได้แจงไปเมื่อสักครู่ อันนั้นเงินที่ได้มาส่วนหนึ่งมาจากกระทรวงการคลัง  เป็นงบกลางของนายกรัฐมนตรี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image