โควิดพุ่ง 17,970 ราย ศบค.เผย ป่วยต่างจังหวัด นำกทม.-ปริมณฑล พบอีก 7 คลัสเตอร์ โผล่ 6 จังหวัด

โควิดพุ่ง 17,970 ราย ศบค.เผย ป่วยต่างจังหวัด นำกทม.-ปริมณฑล พบอีก 7 คลัสเตอร์ โผล่ 6 จังหวัด ‘ตลาดโกลเด้นเกต’ อ.อรัญประเทศ ติดเชื้อสูงถึง 231 ราย

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. แถลงรายงานสถานการณ์ประจำวันว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 17,970 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศ 17,784 ราย ติดเชื้อจากการเดินทางจากต่างประเทศ 11 ราย คัดกรองในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 175 ราย ผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 604,421 ราย รวมผู้ป่วยติดเชื้อสะสมตั้งแต่ปี 63 จำนวน 633,284 ราย ผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้าน 13,919 ราย หายป่วยสะสม 391,815 ราย หายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 63 จำนวน 419,241 ราย ผู้เสียชีวิตรายใหม่ 178 คน เสียชีวิตสะสม 5,074 คน เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 63 จำนวน 5,168 คน ผู้ป่วยรักษาอยู่ 208,875 ราย รักษาตัวอยู่โรงพยาบาล 75,705 ราย โรงพยาบาลสนาม 133,170 ราย อาการหนัก 4,768 ราย ใช้เครื่องช่วยหัวใจ 1,028 ราย ส่วนความคืบหน้าการฉีดวัคซีนวัคซีนทั่วประเทศ รวม 17,866,526 โดส โดยจำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 13,955,087 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 3,911,439 ราย

พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ 17,970 ราย แบ่งเป็น ติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ไม่รวมเรือนจำ 6,604 ราย 4 จังหวัดภาคใต้ 988 ราย จังหวัดอื่นๆ ( 67 จังหวัด) 10,192 ราย และเรือนจำ/ที่ต้องขัง 175 ราย ซึ่งจะเห็นได้ว่าถ้าเทียบตัวเลขกทม.ปริมณฑลกับจังหวัดอื่นๆจะเห็นว่ามีการกระจายการติดเชื้อเป็นกลุ่มๆ ส่วนผู้เสียชีวิต 178 ราย แบ่งเป็น ชาย 84 คน หญิง 94 คน เป็นคนไทย 171 คน จีน 2 คน และเมียนมา 5 คน กทม.ยังสูงสุด 68 คน และกระจายตามจังหวัดต่างๆเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ พบว่าจากการรายงานผู้ติดเชื้อต่างจังหวัดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ตัวเลขการเสียชีวิตของต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นอย่างตลอดเช่นกัน โดยยังอยู่ในกลุ่มของผู้สูงอายุ ที่อายุเกิน 60 ปี และ 48 % ที่เสียชีวิตหลังทราบผลว่าติดเชื้อเพียง 6 วัน และพบว่ามีการเสียชีวิตที่บ้านถึง 5 คน อย่างไรก็ตาม จากกราฟแสดงตัวเลขผู้ติดเชื้อจะพบว่ากทม.และปริมณฑล มีทิศทางหัวกราฟปักลงแต่ยังวางใจไม่ได้ คิดเป็น 39 % แต่เมื่อเทียบกับต่างจังหวัดพบว่ามีจำนวนสูงขึ้น คิดเป็น 61 %

พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่า ทางกรมควบคุมโรค ได้จัดทำข้อมูลรายงานผู้ติดเชื้อแยกการติดเชื้อแบบนำเข้าเชื้อมา และติดเชื้อในพื้นที่ ยกตัวอย่าง เขต 10 จ.อุบลราชธานี ศรีษะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และมุกดาหาร จะเป็นการรายงานผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้ติดภายในจังหวัดเป็นการรายงานจากคนที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง เช่น กทม.และปริมณฑล เช่นเดียวกับเขต 7 จ.มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ทั้งนี้ เมื่อจังหวัดค้นหาผู้ป่วย ทำประวัติผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ทำให้นำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบอย่างเป็นรูปธรรม จำกัดวงระบาดให้อยู่เฉพาะกลุ่ม ทำให้หลายจังหวัดในภาคอีสานตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง

Advertisement

พญ.อภิสมัย กล่าวต่ออีกว่า สำหรับ10 อันดับจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด ในประเทศรายใหม่สูงสุด พบว่า
1.กรุงเทพมหานคร 3,144 ราย 2.สมุทรสาคร 1,252 ราย 3.ชลบุรี 1,141 ราย 4.สมุทรปราการ 872 ราย
5.นนทบุรี 743 ราย 6.สระบุรี 486 ราย 7.ฉะเชิงเทรา 465 ราย 8.นครราชสีมา 457 ราย 9.ปทุมธานี 454 ราย 10.ระยอง 403 ราย ขณะที่คลัสเตอร์ใหม่พบจำนวน 7 คลัสเตอร์ 6 จังหวัด คือ 1.จ.สมุทรสาคร พบโรงงานแม่พิมพ์พลาสติกและบริษัทรถยก2. จ.นนทบุรี แคมป์ก่อสร้างที่อ.ปากเกร็ด 3. จ.ฉะเชิงเทรา พบที่โรงงานบริษัทขึ้นรูป 4. จ.สระแก้ว ที่ตลาดโกลเด้นเกตอ.อรัญประเทศ พบผู้ติดเชื้อสูงถึง 231 ราย 5. จ.ปราจีนบุรี ที่บริษัทชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ และ 6. จ.ชุมพร ที่แผงผลไม้พื้นที่หลังสวน

“สะท้อนให้เห็นว่าจากการปรับมาตรการยกระดับการป้องกันโรคนำไปสู่การปรับพื้นที่สีเพิ่ม 16 จังหวัด ตามรายงานการระบาด นำมาสู่ที่ประชุมมีข้อสรุปการยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคในสถานประกอบกิจการ โรงงาน แคมป์แรงงาน บริษัท และการจัดกิจการที่มีคนรวมกลุ่มจำนวนมาก เป้าหมายคือป้องกันในพื้นที่เฉพาะหรือบับเบิลแอนด์ซีล โดยจะไม่เฉพาะกิจการหรือสถานประกอบการที่มีรายงานการติดเชื้อ แต่บางโรงงาน สถานประกอบกิจการที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อหรือการระบาดจะต้องได้รับข้อมูลจากจังหวัดเพื่อจัดการมาตรการบับเบิลแอนด์ซีลอย่างเข้มงวดด้วย ”

พญ.อภิสมัย กล่าวต่ออีกว่า สำหรับมาตรการบับเบิลแอนด์ซีลมีความสำคัญเพื่อตรวจเฝ้าระวังลดการติดเชื้อในโรงงาน และหากมีการติดเชื้อในโรงงานสามารถค้นหาได้เร็วและลดการแพร่ระบาดออกไปยังชุมชน โดยพยายามให้บริษัทหรือสถานประกอบการ โรงงาน เปิดกิจการได้ แต่ต้องเปิดแบบมีเงื่อนไข ยกตัวอย่าง หากโรงงานมีหลายฝ่าย ขอให้มีการจัดกลุ่ม บุคลากรที่อยู่ฝ่ายต่างๆจะไม่ให้มารวมกลุ่มปะปนกัน แยกพื้นที่กิจกรรมหรือรับประทานอาหาร ป้องกันการติดเชื้อและแพร่ระบาดไปยังฝ่ายอื่นๆทั่วโรงงาน ส่วนคุมไว คือ หากพบมีผู้ติดเชื้อ ผู้ต้องสงสัยสัมผัส มาตรการที่ต้องทำจะมีอะไรบ้าง หลักสำคัญจะแยกกลุ่มของสถานประกอบการที่สามารถจัดหาที่พักที่อยู่ในสถานประกอบการได้ก็จะใช้มาตรการซีล แต่บางโรงงานที่พนักงานต้องเดินทางข้ามจังหวัด คู่มือจะระบุรายละเอียดมาตรการไว้ชัดเจน

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วงว่าบางบริษัท โรงงาน ดูข้อปฏิบัติแล้วมีความลำบากใจ เพราะบางแห่งมีบุคลากรที่ทำงานจำนวนมาก เช่น 5,000 คน การจัดพื้นที่ให้อยู่พักอาศัยหรือจัดรถขนส่งไป-กลับ จะยากลำบาก ขอให้ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานพื้นที่ทั้งผู้ว่าราชการราชการจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือสภาอุตสากรรม หอการค้า ทุกฝ่ายพร้อมที่จะสนับสนุน ส่วนการจัดหาที่พัก ทางสธ.เน้นย้ำเรื่องการจัดอาหารและเครื่องอุปโภค บริโภค เพื่อให้ 14 วันนับจากนี้ แรงงานที่อยู่ในสถานประกอบการเหล่านี้จะไม่เดินทางไปยังพื้นที่ชุมชน ถ้าแต่ละโรงงานมีบริบทที่แตกต่างขอให้ปรึกษากับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อสามารถปรับมาตรการตามความเหมาะสมของโรงงาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image