กทม.ประเมินโควิดในกรุง ส.ค.ยังพีค แย้มสั่งซื้อ ‘ซิโนฟาร์ม-โมเดอร์นา’ คืบ

กทม.ประเมินโควิดในกรุง ส.ค.ยังพีค เร่งค้นผู้ป่วย/ติดเชื้อรักษา เจาะบ้านมีรั้ว แย้มสั่งซื้อซิโนฟาร์ม-โมเดอร์นาคืบ

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ที่ศาลาว่าการ กทม. ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย ร่วมแถลงสรุปการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผ่านระบบ Webex Meet

ร.ต.อ.พงศกรกล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ช่วงเดือนสิงหาคมนี้ ใกล้เคียงกับฉากทัศน์ที่ฝ่ายวิชาการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เคยนำมาเผยแพร่ โดยตัวเลขจะสูงสุดช่วงกลางเดือนสิงหาคม พิจารณาจากปัจจัยการล็อกดาวน์ และปริมาณการฉีดวัคซีน โดยกรุงเทพฯมีผู้ป่วยติดเชื้อทรงตัวประมาณ 2,000-3,000 ราย และวันนี้ 4,000 ราย ซึ่งค่อนข้างสูง โดยเป็นตัวเลขที่ได้จากการตรวจเชิงรุกทั้งตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (เอทีเค) และด้วยวิธีอาร์ที- พีซีอาร์ (RT-PCR) ดังนั้น ช่วงเดือนนี้อาจยังพบผู้ป่วยอีกค่อนข้างมาก

“สิ่งที่ กทม.ต้องทำ คือ 1.ลดอัตราการเคลื่อนไหว โดยออกมาตรการปิดสถานที่สำคัญ ห้ามเคลื่อนย้ายคน และให้อยู่บ้านมากขึ้น 2.ขณะนี้ผู้ติดเชื้อค่อนข้างสูง จึงเพิ่มศักยภาพของสถานพยาบาล โดยทุกโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัด กทม.ต้องรับผู้ป่วยกลุ่มเหลือง และสีแดงทั้งหมด ส่วนผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวให้ไปทำโฮม/คอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น หรือทำศูนย์พักคอยกึ่ง รพ.สนาม 3.การฉีดวัคซีนใน 25 ศูนย์ฉีดในโครงการไทยร่วมใจ ซึ่งจะเริ่มอีกครั้งในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ เนื่องจากจะมีการทยอยส่งมอบวัคซีนเข้ามาในเดือนนี้รวม 7.5 แสนโดส อีกทั้งมีการกระจายกำลังลงพื้นที่ชุมชนตั้งแต่วันที่ 7-10 สิงหาคม เพื่อจัดฉีดให้ได้วันละ 40,000 โดส และยังเน้นฉีดในกลุ่มผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เป็นหลัก โดยในส่วนของผู้สูงอายุนั้น ได้เปิดสายด่วน 0-2790-2855 ศูนย์ประสานงานฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ ไทยพีบีเอส เพื่อให้โทรเข้าไปแจ้งความประสงค์ด้วย” ร.ต.อ.พงศกรกล่าว

Advertisement

ร.ต.อ.พงศกรกล่าวถึงการเปิดศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อผู้ป่วยของ กทม.ว่า ขณะนี้เปิดแล้ว 65 แห่ง รับผู้ป่วยได้ 8,625 เตียง และในจำนวนนี้ยกระดับเป็นศูนย์พักคอยฯ ที่สามารถดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง 7 แห่ง รวม 1,036 เตียง นอกจากนี้ ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนเปิดศูนย์พักคอยฯ ในลักษณะเซมิคอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น ในชุมชนขนาด 6-50 เตียง นำร่องแล้ว 19 แห่ง รวม 452 เตียง และยังใช้โรงเรียนอีกหลายแห่งทำเป็นศูนย์พักคอยฯ ด้วย เช่น โรงเรียนวัดสุวรรณาราม โรงเรียนวัดบางยี่ขัน เป็นต้น เพื่อรองรับผู้ป่วยที่กักตัวเองในบ้านไม่ได้

“กรณีโฮม/คอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น นั้น มีความจำเป็นมาก เพราะขณะนี้สถานการณ์การระบาดรุนแรง ศักยภาพของ รพ.ไม่สามารถรองรับได้ทั้งหมด และไม่เพียงพอ ขยายเท่าไรก็ไม่พอ จำเป็นต้องมี เพื่อต้องการให้ประชาชนรักษาตัวเองที่บ้านได้ อีกอย่างถ้าบ้านที่อยู่กันแออัด ก็ยังมีคอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น เพื่อดูแลกันให้ทั่วถึง ซึ่งหากใครมีความจำเป็นให้โทรไปสายด่วน 1330 ที่ใช้ร่วมกันในกรุงเทพฯและปริมณฑล แต่หากยังติดต่อไม่ได้ กทม.ได้มีการเพิ่มสายด่วนประจำเขตทั้ง 50 เขต รองรับด้วย ซึ่งยอมรับว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ กทม.ทำงานหนัก และมีภาระงานเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ขอบคุณที่ทุกฝ่ายเสียสละ และร่วมมือกันอย่างเต็มที่ เพราะผู้ป่วยเฉลี่ย 50-80 รายต่อเขตต่อวัน” โฆษก กทม.กล่าว และว่า ล่าสุด กทม.ลงพื้นที่แล้ว 2,271 ชุมชน ดูแลแล้วกว่า 180,000 ราย และกำลังจะเจาะไปตามบ้านมีรั้ว (บ้านเดี่ยว หมู่บ้าน) บ้างแล้ว

โฆษก กทม.กล่าวถึงการจัดสรรวัคซีนให้พื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ล่าสุด ศบค.มีสั่งแยกยอดให้ 25 ศูนย์ฉีดในโครงการไทยร่วมใจ ยอดเดือนสิงหาคมนี้ รวม 7.5 แสนโดส นัดหมายทยอยส่งมอบทุกวันจันทร์ของสัปดาห์ จนกว่าจะได้ครบตามยอด 4 สัปดาห์ ดังนี้ ครั้งที่ 1 จำนวน 175,000 โดส ครั้งที่ 2 จำนวน 175,000 โดส ครั้งที่ 3 จำนวน 175,000 โดส และครั้งที่ 4 จำนวน 225,000 โดส และอีกยอด คือ 5 แสนโดส ให้บริหารจัดการในพื้นที่เสี่ยง คือ ระบบหมอพร้อม 174,000 โดส กลุ่มรับเข็มที่สอง 57,000 โดส และควบคุมการระบาด 269,000 โดส ในกลุ่มเสี่ยง 608 ทั้งนี้ กทม.มีศักยภาพฉีดวัคซีนได้วันละ 7-8 หมื่นโดส แต่ขณะนี้ยังมีปัญหาที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนมาจำนวนจำกัด

Advertisement

ด้าน พญ.ป่านฤดีกล่าวว่า ขณะนี้การทำงานเป็นการเรียนรู้เรื่องใหม่ทุกวัน และปรับปรุงตามสถานการณ์และประสบการณ์ ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังเร่งทำงาน มีทั้งตรวจเชิงรุกด้วยทีมซีซีอาร์ที เพื่อคัดกรอง และฉีดวัคซีน ถ้าตรวจเอทีเค ผลบวก และทำอาร์ที-พีซีอาร์ ต่อ แล้วรับยา แต่ถ้าใครต้องเข้า รพ.ก็ต้องจัดการต่อไป พร้อมให้ความรู้แก่ประชาชน เพราะยังต้องอยู่กับโรคนี้ไปอีกนาน ทั้งนี้ หลังจาก กทม.มีทีมซีซีอาร์ที เข้าไปทำงาน ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนดีขึ้นมาก ทำให้ประชาชนได้ยาเร็วขึ้น มีการติดตามอาการผู้ป่วยต่อเนื่อง

พญ.ป่านฤดียังกล่าวถึงการฉีดวัคซีนว่า ถ้าพุ่งเป้าให้คนเข้าฉีดได้มากที่สุด ก็ต้องดูที่ความพยายามของ รพ.ทุกสังกัด ที่ส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยงานฉีดโดยไม่คิดค่าบริการใดๆ ที่ผ่านมา ส่งวัคซีนให้ รพ.ทั้งหมด และเป็นการบริหารจัดการปกติ

“ตอนนี้กำลังรอรับการร้องขอจากประชาชน เพื่อเราจะได้นำไปฉีดให้ถึงบ้าน เช่น นำไปฉีดให้คนอายุ 104 ปี ถ้าท่านออกมาไม่ได้ ให้แจ้งไปที่สำนักงานเขตนั้นๆ เพื่อเราจะนำไปฉีดให้ท่าน” ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าว

พญ.ป่านฤดีกล่าวถึงวัคซีนไฟเซอร์ที่ สธ.จัดสรรให้ฉีดในกลุ่มบุคลากรแพทย์และด่านหน้า ว่า ในส่วนของ กทม.ได้มาครบตามยอด และ รพ.ในสังกัดทยอยรับไปแล้ว ทั้งนี้ สธ.มีบันทึกว่าให้บุคลากรแพทย์ที่ฉีดครบ 2 เข็ม และสมัครใจรับเข็มที่ 3 แต่อย่างไรก็ตาม ในการบริหารวัคซีนไฟเซอร์นั้นค่อนข้างยาก ทั้งในเรื่องการเก็บที่ต้องอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม และเป็นวัคซีนที่คนอยากได้ จึงได้กำชับทุก รพ.ว่าอย่านำคนนอกกลุ่มมาฉีดเด็ดขาด เพราะมีหลักเกณฑ์มาแล้ว และทุก รพ.ต้องนำไปบริหารจัดการ

ด้าน นพ.สุขสันต์กล่าวว่า ล่าสุด กรมควบคุมโรค สธ.ส่งวัคซีนไฟเซอร์แล้ว 7,660 โดส ครบและเป็นไปตามยอด โดยเบื้องต้นเน้นกลุ่มบุคลากรที่ได้ซิโนแวค 2 เข็ม ในช่วงแรก แต่ล่าสุดมีการปรับเกณฑ์ใหม่ด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจ ทั้งนี้ รพ.กทม.มีบุคลากรทางการแพทย์กว่า 7,000 คน แต่ถ้ารวมส่วนอื่นด้วย ประมาณ 1 หมื่นคน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของวัคซีนทางเลือกอื่นที่ กทม.ระบุว่าอยู่ระหว่างจัดซื้อ ขั้นตอนไปถึงไหน พญ.ป่านฤดีกล่าวว่า ในส่วนของวัคซีนซิโนฟาร์มมีความคืบหน้า ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนสั่งซื้อตามแนวทางของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เร็วๆ นี้ จะแล้วเสร็จ และตั้งเป้าฉีดให้กลุ่มเปราะบาง

ขณะที่ ร.ต.อ.พงศกรกล่าวเสริมว่า ในส่วนของวัคซีนทางเลือกทั้งวัคซีนโมเดอร์นาและซิโนฟาร์ม กทม.มีความพร้อมในการจัดซื้อ แต่ยังไม่สามารถระบุจำนวนที่ชัดเจนได้ เพราะทุกอย่างยังอยู่ในขั้นตอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image