ศบค.เผย ผู้ป่วยเข้า ‘โฮมไอโซเรชั่น’ ใน กทม.แสนกว่าคนแล้ว ยัน ‘ฟาวิพิราเวียร์’ เพียงพอ

ศบค.เผย ผู้ป่วยเข้า ‘โฮมไอโซเรชั่น’ ใน กทม.แสนกว่าคนแล้ว ยัน ‘ฟาวิพิราเวียร์’ เพียงพอ

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าวตอนหนึ่ง ว่า ที่ประชุมศปก.ศบค.ได้รับทราบความคืบหน้าความร่วมมือของเทคฟอร์ไทยแลนด์ ที่ได้รวบรวมสถานที่จุดตรวจ โควิด-19 ที่เปิดให้บริการใน Koncovid.com ซึ่งแสดงที่ปักหมุดตรวจให้ทุกคนสามารถตรวจหาได้ ซึ่งวันนี้มีการเพิ่มเติมให้แล้วว่าถ้าใครต้องการตรวจเฉพาะ ที่รับตรวจ พีซีอาร์ หรือ เคทีเค ก็สามารถเลือกดูได้ และยังมีการเพิ่มปักหมุด คอมมูนิตี้ไอโซเรชั่น หรือศูนย์พักคอย หรือศูนย์แยกกักในชุมชน ให้แล้วดังนั้นถ้าใครต้องการค้นหาก็สามารถค้นได้ โดยการใส่รหัสไปรษณีย์ ของพื้นที่ที่ต้องการค้นหา ก็สามารถค้นหาคอมมูนิตี้ไอโซเรชั่นได้ทันที ซึ่งเป็นข้อมูลที่อัพเดทรายวัน จากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังเป็น ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นหลัก แต่ภายในสัปดาห์นี้ทีมงานจะปักหมุดเพิ่มคอมมูนิตี้ไอโซเรชั่นให้กับทั่วประเทศด้วย ทั้งนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขยังแจ้งด้วยว่าคอมมูนิตี้ไอโซเรชั่น ที่มีความพร้อมแต่ยังไม่มีโรงพยาบาลพี่เลี้ยง สามารถแจ้งเข้ามาที่กรม สนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ให้ช่วยจัดหาโรงพยาบาลพี่เลี้ยงให้ดูแลได้

นอกจากนี้ โทรศัพท์ทุกเขตในกรุงเทพมหานคร 50 หมายเลขๆ ละ 20 คู่สาย นั้น ตอนนี้ประชาชนใช้บริการเกินวันละ 5,000 จึงจะมีการจ้างพนักงานเพิ่ม เพื่อให้การบริการมีความสะดวกมากขึ้น รวดเร็วมากขึ้น ทั้งเรื่องการรับผู้ป่วยเข้าบริการ และโฮมไอโซเรชั่น การส่งอุปกรณ์ก็มีการรับสมัครไรเดอร์ เพื่อจัดส่งยาส่งอาหารให้กับผู้ป่วยที่บ้าน ซึ่งขณะนี้ในกรุงเทพมหานครมีคนเข้าโฮมไอโซเรชั่นไปแล้ว 100,000 กว่าคนแล้ว

Advertisement

ทั้งนี้ ที่ประชุม ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) หารือถึงการตั้งโฮมไอโซเรชั่นในกลุ่มพิเศษ อาทิ กลุ่มผู้ป่วยจิตเวช ที่อาจมีประวัติใช้สารเสพติด หรือกลุ่มเด็กพิเศษ ซึ่งกรมสุขภาพจิต และสถาบันราชานุกูล จะเข้ามาเป็นโรงพยาบาลพี่เลี้ยงเพื่อให้การดูแลได้อย่างครบถ้วนสำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีความต้องการพิเศษนี้ด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุม ศปก.ศบค.ได้มีการยืนยันเรื่องยาฟาวิพิราเวียร์ ว่าสต๊อกยาโดยองค์การเภสัชมีการนำเข้าอย่างเพียงพอในวันที่ 7 สิงหาคมเข้ามาอีก 2.5 ล้านแคปซูล แต่ก็น้อมรับข้อร้องเรียนของผู้ป่วย ญาติ สถานบริการ ขนาดเล็กที่อาจจะได้รับยา ไม่ทันท่วงที ซึ่งเกิดจากการกระจายซึ่งตอนนี้ทีมบริหารจัดการพยายามเร่งแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า การทำงานของทีม CCRT ของ แพทย์ชนบทที่เดินเท้าเข้าชุมชนช่วยประชาชนทุกซอกทุกซอย ช่วยทั้งผู้ป่วยติดเตียง คนท้อง คนน้ำหนักเยอะ ซึ่งได้รับความชื่นชม จากประชาชน ซึ่งทีม CCRT จะรับสมัครอาสาสมัครเพิ่มเติม โดยจะมีนักศึกษาแพทย์เข้าร่วมทีมในสัปดาห์นี้อีก 200 คน ซึ่งต้องขอขอบคุณและทีมอาสาสมัครเหล่านี้จะได้รับการจัดสรรวัคซีนด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image