เสียชีวิตโควิดทุบสถิติ ‘ศบค.’ ชี้ บางจว.สะสมยอดหลายวัน แย้ม กทม.ป่วยหนักชะลอ ผลระดมฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง

เสียชีวิตโควิดทุบสถิติ ‘ศบค.’ ชี้ บางจว.สะสมยอดหลายวัน แย้ม กทม.ป่วยหนักชะลอ ผลระดมฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง เร่งเป้าหมายใหม่ คนท้อง-เด็ก หลังติดพุ่ง

วันที่ 18 สิงหาคม พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อ 20,515 ราย และจำนวนผู้หายป่วย 22,682 รายงานผู้เสียชีวิต 312 คน มีผู้ที่รักษาตัวในโรงพยาบาลทุกประเภท 207,553 ราย ดยในจำนวนนี้มีผู้ที่มีอาการหนัก 5,458 ราย ใสเครื่องช่วยหายใจ 1,155 ราย โดยรายงานวันนี้ยังไม่รวมการตรวจเชิงรุกด้วย แอนติเจน เทสต์ คิท หรือ เอทีเค โดยมีรายงานเข้ามาอีก จำนวน 7,210 ราย ซึ่งต้องรอการยืนยันตรวจอีกครั้ง

โดย กรุงเทพมหานคร มีการการายงานผู้ติดเชื้อจำนวน 4-5 พันต่อวัน และในจำนวนนี้การตรวจคัดกรองเชิงรุก ใน กทม. อยู่ที่ 13.96% และยังมีการการค้นเชิงรุกในชุมชน พื้นที่เสี่ยง เช่น แคมป์คนงาน สถานประกอบการ ที่นังมีการค้นหาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เห็นตัวเลขของ เอทีเค เพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง กทม. และปริมณฑล กับ ทุกจังหวัดทั่วประเทศ จะเห็นว่า อัตราเพิ่มขึ้นของ กทม.และ ปริมณฑล ไม่ถึง 1 หมื่น โดยเป็น พื้นที่ กทม. 4-5 พัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยังคงที่อยู่

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า รายละเอียดของรายงานผู้เสียชีวิต จำนวน 312 คน ถือเป็นตัวเลขที่สูงที่สุด เท่าที่มีการรายงาน กทม.ยังเป็นพื้นที่ที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด คือ 78 คน และพื้นที่ปริมณฑล รวมกัน อีก 70 คน รวมทั้งมีบางจังหวัดที่เป็นรายงานตัวเลขสะสม หลายวัน เช่น ลพบุรี 25 คน ชลบุรี 20 คน จากการสอบถามไปยังจังหวัด พบว่าเมื่อพบการเสียชีวิต ก็ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ และบางราย เสียชีวิตโดยที่ยังไม่มีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เลย ทำให้กระบวนการรายงานล่าช้าไป 2-3 วัน

Advertisement

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ กราฟ แสดงแนวโน้มผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตโควิด-19 ของ กทม. ระหว่าง เดือน กรกฎาคม – 14 สิงหาคม 2564 จะเห็นได้ว่าในช่วงต้นเดือนสิงหาคม มีแนวโน้มผู้เสียชีวิตที่ค่อนข้างชะลอตัว เนื่องจากผลของการเน้นการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ และ กลุ่มที่มีโรคประจำตัว 7 โรค โดยมีรายงานการฉีควัคซีนในพื้นที่ กทม. จากหน่วยฉีดในทุกสังกัด ตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา ถ้าดูจากเป้าหมาย กลุ่มผู้สูงอายุ 1,041,828 ราย ฉีดแล้วแล้ว 971,523 ราย คิดเป็น 93.25% และกลุ่มโรคประจำตัว 7 โรค 710,776 ราย ฉีดแล้ว 683,972 คิดเป็น 96.23% จึงเป็นไปได้ว่าเห็นผลในเรื่องของการชะลอของการเจ็บป่วยหนัก และลดการเสียชีวิตลง นอกจากนี้จะมีการเก็บข้อมูลในพื้นที่จังหวัดอื่น ในลำดับต่อไป โดยสรุปผลการฉีดวัคซีนในกทม. ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 17 สิงหาคม ฉีดได้ 70,189 โดยเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นวันละเป็น 7 หมื่น ส่วนยอดสะสมการฉีดวัคซีนทั้งหมด จำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 มี 6,082,706 ราย ผู้ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 1,350,467 ราย และ เข็มที่ 3 จำนวน 130,734 ราย

กลุ่มเป้าหมายที่มีการหารือในที่ประชุม และหลังจากนี้จะมีสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม คือ กลุ่มเด็ก ซึ่งกรมควบคุมโรครายงานว่า มีเด็กที่ติดเชื้อทั้งหมด 4 หมื่นกว่าราย โดยในช่วงเดือนสิงหาคม มีผู้ติดเชื้อ 1.5 หมื่นราย มีอัตราการเสียชีวิตที่ 8 คน จากข้อมูล อายุ 0-20 ปี พบว่าอัตราตาย 19 ราย คิดเป็น 0.12 ต่อประชากร 1 แสนราย หรือใน 1 หมื่นราย เสียชีวิต 4 คน (0.04:100) ค่ากล่างของกลุ่ม คือ 14 ปี ปัจจัยสำคัญคือเป็นการสัมผัสจากผู้ติดเชื้อยืนยันที่เป็นคนในครอบครัว และพบว่าเด็กที่เสียชีวิต 80% นั้นมีโรคประจำตัว ดังนั้น จะมีการระดมฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ และเด็ก

Advertisement

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สรุปการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ วันที่ 17 สิงหาคม เพิ่มขึ้น 518,118 ราย เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 355,408 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 153,519 ราย และ เข็มที่ 3 จำนวน 9,191 ราย โดยยังเน้นย้ำที่เป้าหมาย ฉีดวัควีน 100 ล้านโดส ภายในปี 2564 นี้ ซึ่งต้องครอบคลุมประชากร 50 ล้านราย และมีการกำหนดเป้าหมายตามข้อมูลของทะเบียนราษฎร์ 67 ล้านคน แบ่งเป็นประชากร อายุน้อยกว่า 18 ปี 12 ล้านคน และประชากรอายุ 18 ปี ขึ้นไป 55 ล้านคน อย่างไรก็ตาม หากรวมประชากรแฝง ก็จะเป็น 71 ล้านคน เพราะฉะนั้น เพื่อให้ได้ตามเป้าหมาย 70% จึงคิดจากข้อมูล 71 ล้านคน ทำให้ได้เป้าหมาย 50 ล้านคน และเกิดเป็นนโยบายวัคซีน 100 ล้านโดส ภายในปีนี้ อัตราการฉีด 15 ล้านโดสต่อเดือน และจัดหาวัคซีนให้ได้ 10 โดสต่อเดือน รวมทั้งระดมฉีด 5 แสนโดสต่อวัน โดยในขณะนี้ยอดการฉีดรายวันเป็นไปตามแผน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image