หมอชนบท ตอบชัดๆ คนอ้างหาไม่เจอ ชี้ ATK มาตรฐาน WHO มี 4 รายการ

หมอชนบท ตอบคำถามคนอ้างหาไม่เจอ ชี้ชัดๆ ATK มาตรฐาน WHO มี 4 รายการ

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม เพจเฟซบุ๊กชมรมแพทย์ชนบท เขียนข้อความทางเฟซบุ๊กเรื่อง ความเข้าใจพื้นฐานเรื่อ​ง​ ATK ตอนที่1 ATK​ ที่องค์การอนามัยโลกรับรองมี 4 รายการ​ ระบุว่า

ภาษาสากลสำหรับ​ ATK​ ทั่วโลกใช้คำว่า​ RDT​ Rapid Diagnostic Test. ไม่ได้ใช้​ ATK ซึ่งน่าจะสถาปนาศัพท์โดยประเทศไทยกระมัง​ หากไปค้นจะพบว่า​ WHO​ รับรองไว้​ 4 รายการ

คำว่าองค์การอนามัยโลกรับรองนั้น ภาษาทางการใช้คำว่า Emergency Use Listing หรือ​ EUL ซึ่งหมายถึงรายการที่องค์การอนามัยโลกอนุญาตให้ใช้ กรณีฉุกเฉินเร่งด่วน ซึ่งถือเป็นรายการที่องค์การอนามัยโลกรับรองมาตรฐานให้องค์การระหว่างประเทศซื้อจากหน่วยจากบริษัทเหล่านี้ เนื่องจากได้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานจากห้องปฏิบัติการของ WHO​และภาคสนามแล้ว

Advertisement

ดังนั้น ที่หลายคนบอกว่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลก หรือ WHO Standard ไม่มี หาไม่เจอ​ ก็ต้องไปหาจากคำว่า Emergency Use Listing ครับ​ จึงจะเจอ​ ซึ่งมี 4 รายการของ​ ATK​ ที่มาตรฐานระดับสากลและองค์การอนามัยโลกรับรอง

อ้างอิง https://extranet.who.int/pqweb/sites/default/files/documents/210430_EUL_SARS-CoV-2_product_list.pdf

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ชมรมแพทย์ชนบทโพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ข่าวลือมาดังมาก มีการวิ่งเต้นกดดันของฝ่ายการเมือง ถึงขั้นขู่ถอนตัวเพื่อกลับมติ ครม.เรื่องการจัดหา ATK อ้างเอกสารผิดพลาดทางเทคนิคเพื่อไม่ต้องใช้ ATK มาตรฐาน WHO ตามที่มติ ครม.ที่มีมติ 17 สิงหาคมไปแล้วจริงเท็จประการใด ต้องติดตามต่อไป

Advertisement

ต่อมา แพทย์ชนบท ได้เผยแพร่ข้อมูลเรื่อง ความเข้าใจพื้นฐานเรื่อง ATK ตอนที่ 2 ATK Home use VS Professional use โดยว่า

ชุดตรวจหาเชื้อโควิดที่เรียกว่า ATK ในระดับการรับรองขององค์การอนามัยโลกที่เรียกว่า EUL (Emergency Use Listing) นั้น ไม่มีการแยกว่าเป็น home use (ใช้ตรวจเองที่บ้าน)หรือ professional use (ใช้ตรวจโดยบุคลากรทางการแพทย์) เขารับรองให้ใช้ได้ทั้ง 2 กรณี 2 in 1

คำถามสำคัญคือ Home use กับ Professional use มีความต่างอย่างไร คำตอบคือ โดยตัวแผ่นตรวจนั้นควรต้องมีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน แต่ต่างกันข้อปลีกย่อยที่ 3 อย่างคือ 1. ขนาดความยาวของไม้ swab ที่ยาวไม่เท่ากัน (professional use จะยาวกว่า ไปถึง nasopharynge หรือช่องหลังโพรงจมูก ) เก็บเชื้อได้แม่นยำกว่า 2. สารละลาย buffer ที่แยกใช้สำหรับชุดเดียว (professional use บางยี่ห้ออาจมีสารละลายขวดเดียวสำหรับ 25 test) และ 3. กล่องที่พิมพ์ว่า home use หรือ professional use

โดยสรุปคือ ATK ที่มีมาตรฐานนั้น สิ่งเดียวที่แตกต่างกันคือ ความยาวของไม้ swab เท่านั้น นอกจากนั้นคุณภาพอื่นต้องเหมือนกันทั้งหมด ในมาตรฐานองค์การอนามัยโลกจึงไม่ได้แยกว่าเป็น home use หรือ professional use นั้นคือไม่ว่าใช้โดยใคร ที่บ้านหรือสถานพยาบาลก็ต้องมีมาตรฐานในระดับสูงสุดเหมือนกัน จะแหย่จมูกตื้นหรือลึกก็แล้วแต่กรณี

ความจริง อย.ไทยก็เข้าใจเรื่องนี้ดี เพราะในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV-2 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง ซึ่งลงนามโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ในข้อ 10 สามารถสรุปความได้ว่า สามารถนำชุดตรวจ professional use มาใช้กับ home use ได้

รวมทั้งองค์การเภสัชกรรมก็เข้าใจเรื่องนี้ดีเช่นกัน เพราะในประกาศ TOR ที่ AJ23-845/2564 ขององค์การเภสัชกรรมนั้น ชัดเจนในข้อ 3.3 ว่า สามารถใช้ตรวจเป็น nasal swab หรือตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องชุดตรวจ ATK (คือ nasopharyngeal swab ก็ได้)

อ้างอิง http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/155/T_0019.PDF

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image