ปคบ.ร่วม อย.ทลาย รง.ผลิตยาฟ้าทะลายโจรปลอม ขยายผลจับกุมแม่ลูกตัวการ

ปคบ.ร่วม อย.ทลาย รง.ผลิตยาฟ้าทะลายโจรปลอม ขยายผลจับกุมแม่ลูกตัวการ

วันที่ 23 สิงหาคม 2564 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) โดย พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.สำเริง อำพรรทอง, พ.ต.อ.ศารุติ แขวงโสภา, พ.ต.อ.ศรีศักดิ์ คัมภีรญาณ, พ.ต.อ.ชนันนัทธ์ สารถวัลย์แพศย์ รอง ผบก.ปคบ. และ พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข รักษาการรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติ กรณีบุกตรวจค้นโรงงานลักลอบผลิตยาฟ้าทะลายโจรโดยไม่ได้รับอนุญาต มูลค่าของกลางกว่า 200,000 บาท พร้อมขยายผลเตรียมจับแม่ลูกเจ้าของโรงงานที่ลักลอบผลิตยาฟ้าทะลายโจรปลอม

สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (กก.4 บก.ปคบ.) ได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอให้ตรวจสอบจับกุม กรณีร้องเรียนพบการลักลอบผลิตและขายฟ้าทะลายโจรปลอม โดยผู้ร้องเรียนแจ้งว่าตนได้สั่งซื้อยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร เพื่อจะนำไปถวายแก่พระภิกษุที่อาพาธจากโรคโควิด-19 โดยได้ดูโฆษณาผู้ค้าในเพจเฟซบุ๊ก “ฟ้าทลายโจรยาสมุนไพรไทย ต้านไวรัส” มีการโฆษณาสรรพคุณ “ซื้อกินเองไว้ก่อน รอฉีด เสริมภูมิ ช่วยได้ด่วนก่อนขาดตลาด สำรวจร้านขายยา พบฟ้าทะลายโจรขาดตลาดแล้ว หลังจากแห่ซื้อ ป้องกันได้ คุ้มตกเม็ดละ 1 บาท 1 กระปุก 450 เม็ด #ส่งฟรีปลายทาง” จึงได้สั่งซื้อยาฟ้าทะลายโจรดังกล่าวและนำไปถวายแก่พระภิกษุ ซึ่งยาฟ้าทะลายโจรดังกล่าวเป็นยาเม็ดแคปซูลสีเขียวบรรจุในขวดพลาสติกสีขาว ฉลากสีเขียวขาว ยี่ห้อ “ฟ้าทะลายโจร” ตรวจสอบภายในแคปซูลเป็นผงสมุนไพรสีน้ำตาลอมเขียว เมื่อพระภิกษุได้ลองทดสอบดูปรากฏว่า ไม่มีรสขม ซึ่งผิดปกติเนื่องจากฟ้าทะลายโจรจะมีรสขม คล้ายกับนำพืชอื่นมาผสมแทนฟ้าทะลายโจร จึงดูที่ฉลากพบระบุสถานที่ผลิตคือ “ผลิตโดย วิสาหกิจชุมชนบ้านคลอง เลขทะเบียน 03/1-20024 ควบคุมสูตรโดยแพทย์แผนไทย” แต่ไม่พบเลขการจดแจ้งผลิตภัณฑ์สมุนไพร จึงไม่สามารถตรวจสอบผู้ได้รับอนุญาตหรือผู้ผลิตที่แท้จริงได้ เชื่อว่ายาฟ้าทะลายโจรดังกล่าวน่าจะเป็นของปลอม

ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ อย. ทำการสืบสวนจนพบผู้ที่โพสต์ขายยาฟ้าทะลายโจร เพจเฟซบุ๊ก “ฟ้าทลายโจร ยาสมุนไพรไทย ต้านไวรัส” บุคคลดังกล่าวรับว่าเป็นผู้ประกาศขายสินค้าดังกล่าวจริง แต่ไม่ทราบว่าเป็นสินค้าปลอม โดยสินค้าดังกล่าวมาจากโรงงานแห่งหนึ่งใน จ.พระนครศรีอยุธยา จึงได้ทำการสืบสวนรวบรวมหลักฐานจนพบว่า สถานที่ผลิตยาฟ้าทะลายโจรปลอม ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา

Advertisement

จากนั้นเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำหมายค้นของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้าค้นอาคารพาณิชย์ 3 คูหา ในพื้นที่ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ตรวจพบของกลางจำนวนหลายรายการ เช่น ยาฟ้าทะลายโจรชนิดแคปซูลบรรจุในกระปุกๆ ละ 450 เม็ด ติดฉลากตรา “ฟ้าทะลายโจร” ไม่ระบุเลขจดแจ้งผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ชนิดเดียวกับที่ผู้ร้องร้องเรียน) จำนวน 43 กระปุก, ผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรผสมถั่งเช่า กระปุกละ 50 เม็ด จำนวน 130 กระปุก, ยาเม็ดแคปซูลภายในบรรจุผงไม่ทราบชนิด ซึ่งยังไม่ได้บรรจุลงขวด 182,500 เม็ด, ฉลากสินค้าระบุตราสินค้า “ฟ้าทะลายโจร”, ขวดพลาสติกสีขาวเปล่าจำนวนหลายพันขวด และพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง จึงตรวจยึดไว้เป็นของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รวบรวมพยานหลักฐานจนทราบว่า โรงงานดังกล่าวรับวัตถุดิบเป็นผงสมุนไพรมาจากแหล่งอื่น จากนั้นได้นำมาบรรจุลงแคปซูลเพื่อนำออกจำหน่ายให้กับประชาชน โดยมีนางสาวเอ (นามสมมุติ) เป็นเจ้าของโรงงาน และ นางบี (นามสมมุติ) เป็นผู้จัดการดูแลการบรรจุ ซึ่งทั้งสองเกี่ยวพันเป็นแม่ลูกกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ดำเนินคดีกับบุคคลทั้งสองรวมถึงขยายผลจับกุมโรงงานที่จัดส่งวัตถุดิบในการผลิตยาสมุนไพรปลอมครั้งนี้ ตามกฎหมายต่อไป

การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 ฐาน “ร่วมกันผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม” มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท, ฐาน “ร่วมกันผลิตหรือขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต” มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, ฐาน “ร่วมกันขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม” มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท

พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ. ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชน อย่าเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตามคำโฆษณา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ควรเลือกซื้อจากร้านขายยา หรือร้านค้าที่เชื่อถือได้ และขอแจ้งเตือนให้ผู้ที่กำลังกระทำความผิด ลักลอบผลิตยาสมุนไพรที่ไม่ได้รับอนุญาต ให้หยุดการกระทำดังกล่าวทันที ถ้าตรวจพบจะดำเนินคดีถึงที่สุด หากพี่น้องประชาชนพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค

Advertisement

ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข รักษาการรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวในตอนท้ายว่า อย. ได้เฝ้าระวังและตรวจสอบร้องเรียนเกี่ยวกับการขายและการโฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพรฟ้าทะลายโจร ทั้งทางเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ยูทูป ร้านขายยา แอพพลิเคชั่นไลน์ ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม และแพลตฟอร์มต่างๆ พบผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรผิดกฎหมายแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. หรือพบการใช้วัตถุดิบอื่นแทนฟ้าทะลายโจร เช่น ผงบอระเพ็ด 2) ผลิตภัณฑ์ปลอมโดยสวมเลข อย. ของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและอ้างว่ามีฟ้าทะลายโจรเป็นส่วนประกอบ ซึ่ง อย.ไม่เคยอนุญาตให้ใช้ฟ้าทะลายโจรในผลิตภัณฑ์อาหาร เนื่องจากมีฤทธิ์ทางยา

และ 3) ผลิตภัณฑ์ปลอมโดยสวมเลขทะเบียนตำรับยาของผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่น จึงขอเตือนไปยังกลุ่มบุคคลที่ลักลอบกระทำความผิด อย. และ บก.ปคบ.จะดำเนินการให้ถึงที่สุด และขอให้ประชาชนระมัดระวังในการซื้อผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจร โดยผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจร จัดเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ฉลากต้องมีเลขทะเบียนตำรับสมุนไพร ขึ้นต้นด้วย อักษร “G” แนะนำว่าก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ ขอให้ตรวจสอบอย่างละเอียด เพื่อจะได้ไม่เสี่ยงกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คุณภาพ มาตรฐาน หรือผลิตภัณฑ์ปลอม โดยสามารถตรวจสอบได้ที่ www.fda.moph.go.th หัวข้อ ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ หรือ Oryor Smart Application และหากพบผลิตภัณฑ์ที่สงสัยว่าจะผิดกฎหมาย สามารถ แจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรืออีเมล์ [email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image