สธ.สั่งบับเบิล แอนด์ ซีล โรงงานแปรรูปไก่สด โคราช คุมโควิด 28 วัน

สธ.สั่งบับเบิล แอนด์ ซีล โรงงานแปรรูปไก่สด โคราช คุมโควิด 28 วัน

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงกรณีพบการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แบบกลุ่มก้อน หรือ คลัสเตอร์ ที่โรงงานแปรรูปไก่สด ตั้งอยู่ในย่าน อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2564 ว่า จ.นครราชสีมา เป็นพื้นที่ 1 ใน 29 จังหวัดควบคุมสูงสุดเข้มงวด จากกรณีพบการระบาดที่โรงงานดังกล่าว กรมควบคุมโรคได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 จ.นครราชสีมา ส่งเจ้าหน้าที่ลงทำการสอบสวนโรคร่วมกับทีมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครราชสีมา และทีมสาธารณสุขอำเภอโชคชัย เพื่อป้องกันควบคุมโรคตามมาตรการการดำเนินการในพื้นที่เฉพาะ หรือที่เรียกว่า บับเบิล แอนด์ ซีล (Bubble and Seal) เพื่อให้สถานประกอบกิจการสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยไม่ต้องปิดดำเนินการระหว่างที่มีพนักงานติดเชื้อโควิด-19 ทั้งนี้ เพื่อควบคุมจำกัดวงไม่ให้โรคแพร่ระบาดในวงกว้างและป้องกันการแพร่เชื้อสู่ชุมชนโดยเร็วที่สุด

ทางด้าน นพ.ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 จ.นครราชสีมา กล่าวว่า จากการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสอบสวนโรคภายในโรงงานแห่งนี้ ร่วมกับ สสจ.นครราชสีมา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ได้รับความร่วมมือจากโรงงานเป็นอย่างดี โดยตรวจพบผู้ติดเชื้อยืนยันจำนวน 1,055 คน ประเมินสถานการณ์แล้วพบว่ามีการติดเชื้ออยู่ระดับมาก โดยมีอัตราการติดเชื้อมากกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนพนักงานที่ปฏิบัติงานทั้งหมด และพบการติดเชื้อเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลา 14 วัน จึงได้ร่วมกันกำหนดให้ผู้ประกอบการดำเนินการตามมาตรการบับเบิล แอนด์ ซีล เป็นระยะเวลา 28 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2564 – วันที่ 23 กันยายน 2564 เพื่อจัดการดูแลรักษาพนักงานที่ติดเชื้อป้องกันการเสียชีวิตและควบคุมโรคไม่ให้เชื้อแพร่กระจายในโรงงานและป้องกันการแพร่ออกสู่ชุมชน ส่วนโรงงานนั้น ยังคงดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

Advertisement

นพ.ธีรวัฒน์ กล่าวว่า ได้กำหนดการดำเนินการควบคุมป้องกันโรคของโรงงาน 3 มาตรการ ดังนี้ 1.มาตรการชะลอไม่ให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเกินกำลังที่จะกระจายเข้าสู่กระบวนการรักษาในโรงพยาบาล โดยดำเนินการทำบับเบิล แอนด์ ซีล ทั้งในโรงงาน ที่พักของพนักงานทั้งภายในและภายนอกโรงงาน จนถึงการจัดรถรับส่งพนักงาน (Sealed Route) จากที่พักภายนอกเพื่อควบคุมระหว่างการเดินทางไป-กลับของพนักงานอย่างเข้มงวด โดยไม่ให้ปะปนกับคนอื่น เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อสู่ชุมชน 2.มาตรการป้องกันการแพร่เชื้อสู่ชุมชน จัดระบบเฝ้าระวังแบบเข้มงวด โดยการจำกัดไม่ให้พนักงานคาร์กิลล์ ออกจากบริเวณที่พักที่จัดให้ ในส่วนพนักงานโรงแรม ซึ่งอาจจะเป็นจุดเสี่ยงที่จะนำเชื้อออกไป ได้ทำการเฝ้าระวังตรวจหาเชื้อในพนักงานโรงแรมทุก 7 วัน และ 3.มาตรการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยทำความสะอาดฆ่าเชื้อภายในโรงงาน และที่พักพนักงานทุกคน โดยในวันที่ 31 ส.ค.- 1 ก.ย.64 จะดำเนินการขยายผลเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในกลุ่มพนักงานเพิ่มเติมที่พักของพนักงานโรงงานดังกล่าว ซึ่งอยู่ในเขต อ.เมือง จ.นครราชสีมาด้วย ตั้งเป้าหมาย 50 ราย

“นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน (30 สิงหาคม 2564) ดำเนินการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกที่บริษัทผลิตแป้งมัน ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.หนองบัว อ.เมืองจ.นครราชสีมา กลุ่มเป้าหมาย 200 คน เพื่อประเมินสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 และช่วงวันที่ 4-5 ก.ย. 64 จะดำเนินการตรวจค้นหาเชิงรุกในชุมชนที่เป็นพื้นที่ระบาดในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ กลุ่มเป้าหมาย 500 ราย ด้วย สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 ซึ่งประกอบด้วย 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ล่าสุด (29 สิงหาคม 2564) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 965 ราย มากที่สุดที่ จ.นครราชสีมา จำนวน 452 ราย รองลงมาคือ บุรีรัมย์ 243 ราย สุรินทร์ 168 ราย และ ชัยภูมิ 102 ราย รวมจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทั้งเขตสุขภาพที่ 9 มีจำนวนรวม 50,195 ราย วันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 7 ราย มากที่สุดที่ จ.ชัยภูมิ 3 ราย นครราชสีมา และ บุรีรัมย์ จังหวัดละ 2 ราย เสียชีวิตสะสมทั้งเขตรวม 278 ราย ส่วนผลการฉีดวัคซีนวันนี้มีผู้รับการฉีด 8,063 คน รวมฉีดสะสม 2,119,781 คน ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายร้อยละ 24.84 จะเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนเข้ารับบริการฉีดมากขึ้น เพื่อให้มีภูมิต้านทาน ลดการป่วยหนักและเสียชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงคือผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป” นพ.ธีรวัฒน์ กล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image