ผงะ! พบโควิดสายพันธุ์ใหม่ แพร่ระบาด-ต้านทานวัคซีน-กลายพันธุ์มากกว่าทุกสายพันธุ์

ผงะ! พบโควิดสายพันธุ์ใหม่ แพร่ระบาด-ต้านทานวัคซีน-กลายพันธุ์มากกว่าทุกสายพันธุ์

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม เพจเฟซบุ๊ก ‘หมอแล็บแพนด้า’ ของ ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ หัวหน้างานตรวจโรคติดเชื้อทางโลหิตวิธีอณูชีววิทยาศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โพสต์ข้อความระบุว่า พบโควิดสายพันธุ์ใหม่ C.1.2 กลายพันธุ์มากสุด ผู้เชี่ยวชาญระบุแพร่ระบาดได้มากกว่าและอาจต้านทานวัคซีนได้มากกว่าทุกสายพันธุ์

ขณะเดียวกัน น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว “ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย” โดยมีข้อความว่า ค้นพบไวรัสก่อโรคโควิดใหม่ล่าสุด กลายพันธุ์มากกว่าทุกสายพันธุ์เกือบ 2 เท่าตัว

Advertisement

หมอเฉลิมชัย ระบุว่า จากที่ไวรัสโคโรนาลำดับที่ 7 ซึ่งก่อให้เกิดโรคโควิด-19 เป็นไวรัสสารพันธุกรรมเดี่ยว (RNA) จึงมีการกลายพันธุ์ง่ายและบ่อยเป็นธรรมชาติ

การที่โลกเราประสบปัญหามากมาย  ในการควบคุมการระบาด และในการวิจัยพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด ก็มีสาเหตุมาจากไวรัสก่อโรคโควิดที่กลายพันธุ์ง่ายและรวดเร็วนี่เอง

ในขณะนี้ไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา กลายเป็นสายพันธุ์เด่นของโลก ระบาดครอบคลุมไปเกือบทุกประเทศ และทำให้ประสิทธิผลของวัคซีนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

Advertisement

วงการแพทย์และวิทยาศาสตร์ต้องเร่งวิจัยพัฒนาวัคซีนรุ่นที่สองเป็นการใหญ่ เพื่อที่จะรับมือกับไวรัสเดลต้า รวมทั้งไวรัสสายพันธุ์ใหม่อื่นๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

การติดตามในแวดวงวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อคอยเฝ้าจับตาไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ ที่อาจดุร้ายหรือรุนแรงกว่าไวรัสสายพันธุ์เดลตา จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง และหน่วยงานที่เรียกว่า GISAID ก็ได้ทำหน้าที่นี้มาโดยตลอด

ขณะนี้ได้มีไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ เกิดขึ้นในแอฟริกาใต้ ตั้งชื่อว่า C.1.2 ซึ่งมีลักษณะเด่นพิเศษคือ มีอัตราความเร็วในการกลายพันธุ์ ( Mutation rate ) มากเป็น 1.7-1.8 เท่าของไวรัสกลายพันธุ์ทุกสายพันธุ์ที่มีอยู่ในขณะนี้

ทำให้มีการคาดการณ์ว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ อาจมีความสามารถในการแพร่ระบาดโรคได้กว้างขวางและรวดเร็วขึ้น มีความสามารถในการต่อต้านกับวัคซีน ทำให้มีประสิทธิผลลดลง และอาจทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการป่วยที่รุนแรงมากขึ้น

เพราะตำแหน่งของการกลายพันธุ์ มีมากมายหลายตำแหน่ง  (190,215,484,501,655,859) ซึ่งอาจไปเกิดการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่ทำให้เกิดผลดังกล่าวได้

โดยมีรายละเอียดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ดังนี้
สถาบันแห่งชาติทางด้านโรคติดต่อของแอฟริกาใต้ (NICD : National Institute for Communicable Diseases) ได้ค้นพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ( C.1.2 ) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ในระหว่างเกิดการระบาดระลอกที่สามของประเทศ
โดยมีการกลายพันธุ์มากมายหลายตำแหน่ง แตกต่างจากไวรัสสายพันธุ์ C.1 และการกลายพันธุ์นั้นก็เพิ่มเติมและห่างไกลจากไวรัสสายพันธุ์หลักเดิมของอู่ฮั่น และไวรัสทุกสายพันธุ์ทั้งในกลุ่ม VOC และ VOI
โดยการกลายพันธุ์นั้นมีอัตรา 41.8 ตำแหน่งต่อปี หรือเกือบสองเท่าของไวรัสสายพันธุ์อื่นที่มีการกลายพันธุ์กัน

ขณะนี้พบในประเทศแอฟริกาใต้กว่าครึ่งประเทศ และแพร่ไปประเทศต่างๆอีกเจ็ดประเทศประกอบด้วย อังกฤษ จีน นิวซีแลนด์ โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ คองโก และมอริเชียส

การกลายพันธุ์ในกลุ่มไวรัสที่น่าเป็นห่วง (VOC) 4 สายพันธุ์คือ อัลฟา เบต้า แกมม่า และเดลตานั้น มีตำแหน่งของการกลายพันธุ์น้อยกว่าของไวรัสสายพันธุ์ใหม่เกือบหนึ่งเท่าตัว จึงต้องติดตามการกลายพันธุ์ของไวรัสชนิดนี้ต่อไปว่า
1.จะมีความสามารถในการแพร่ระบาดที่รวดเร็วกว้างขวาง จนสามารถเอาชนะไวรัสสายพันธุ์เดลต้าได้หรือไม่อย่างไร
2.การกลายพันธุ์นั้น จะพัฒนาออกไปนอกตำแหน่งปุ่มหนาม ( Spike region) หรือไม่

เพราะถ้าพัฒนาออกไปนอกปุ่มหนาม จะทำให้วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีเน้นเฉพาะการป้องกันที่ปุ่มหนามแทนที่จะเป็นไวรัสทั้งตัว เช่น mRNA และ Viral vector ก็จะได้รับผลกระทบต่อประสิทธิผลที่จะลดลงเป็นอย่างมาก
ส่วนสถานการร์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยวันที่ 31 สิงหาคม 64 นั้น “ฐานเศรษฐกิจ” ติดตามรายงานจากศูนย์ข้อมูล โควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า
มีการติดเชื้อเพิ่ม 14,666 ราย
ติดเชื้อในเรือนจำ 304 ราย
สะสมระลอกที่สาม 1,175,866 รายสะสมทั้งหมด 1,204,729 ราย
หายกลับบ้านได้ 19,245 ราย
สะสม 994,346 ราย
เสียชีวิต 190 ราย
สะสมระลอกสาม 11,495 ราย
สะสมทั้งหมด 11,589 ราย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image