ไทยพบโควิดเดลต้า 93% สธ.จับตามิว ตั้งเป้า 4 เดือน สุ่มตรวจหมื่นคน เน้นที่เกาะภูเก็ต

ไทยพบโควิดเดลต้า 93% สธ.จับตามิว ตั้งเป้า 4 เดือน สุ่มตรวจหมื่นคน เน้นที่เกาะภูเก็ต

เมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงสถานการณ์การเฝ้าระวังการกลายพันธุ์เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ในประเทศไทย โดยเปิดเผยข้อมูลการจำแนกตามสายพันธุ์ที่เฝ้าระวังและการกลายพันธุ์ของเชื้อ ว่า เดิมทีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ในประเทศไทยนั้น มี 3 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์อังกฤษหรือแอลฟา (Alpha) สายพันธุ์อินเดีย หรือ เดลต้า (Delta) และแอฟริกาใต้ หรือเบต้า (Beta) และในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการตรวจไปกว่า 1,500 ราย พบว่าเป็นสายพันธุ์อัลฟ่า 75 ราย เดลต้า 1,417 ราย และเบต้า ซึ่งพบเจอในจังหวัดทางภาคใต้ 31 ราย

นพ.ศุภกิจกล่าวต่อว่า ในภาพรวมการระบาดของประเทศไทย ที่มีจำนวนตัวอย่าง 1,523 ตัวอย่าง กว่าร้อยละ 93 ยังเป็นสายพันธุ์เดลต้า รองลงมาเป็นสายพันธุ์อัลฟ่า และเบต้าซึ่งมีอัตราการระบาด คิดเป็นร้อยละ 2 เท่านั้น

“ในกรุงเทพมหานคร มีการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าคิดเป็นร้อยละ 97.6 และสายพันธุ์อัลฟ่า ร้อยละ 2.4 จากจำนวนตัวอย่าง 976 ตัวอย่าง และในระดับภูมิภาค พบว่า สายพันธุ์เดลต้า มีอัตราการระบาดคิดเป็นร้อยละ 84.8 สายพันธุ์อัลฟ่า ร้อยละ 9.5 และสายพันธุ์เบต้า ร้อยละ 5.7 จากจำนวน 547 ตัวอย่าง” นพ.ศุภกิจกล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 เมื่อปี 2563 จนถึงปัจจุบันได้มีการตรวจไปแล้วกว่า 13 ล้านตัวอย่าง ซึ่งเป็นการตรวจแบบมาตรฐาน หรืออาร์ที-พีซีอาร์ (RT-PCR) ซึ่งในจำนวน 13 ล้านตัวอย่างนั้น อาจมีบางตัวอย่างที่ไม่ได้ทำการรายงานเข้าระบบอยู่จำนวนหนึ่ง และในเชิงสายพันธุ์ เริ่มตั้งแต่สายพันธุ์อู่ฮั่น (Wuhan) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในประเทศจีน และเป็นสายพันธุ์ที่วัคซีนทุกเจ้านำมาพัฒนาวัคซีนอยู่ในปัจจุบัน และสายพันธุ์จี (G) ซึ่งพบครั้งแรกที่สนามมวย และสายพันธุ์บี (B.1.36.16) เป็นสายพันธุ์ที่พัฒนามาจากสายพันธุ์จี ซึ่งถูกพบครั้งแรกที่ จ.สมุทรสาคร และสายพันธุ์อังกฤษ หรืออัลฟ่า ที่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถมาแทนที่สายพันธุ์อื่นๆ และในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ก็พบสายพันธุ์อินเดีย หรือเดลต้า จากแคมป์คนงาน และกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดกลุ่มของการกลายพันธุ์ของไวรัสเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่น่ากังวล หรือ VOC (Variants of Concern) ซึ่งมีไวรัสอยู่ 4 ตัว คือ อัลฟ่า เบต้า แกรมมา (บราซิลเดิม) และเดลต้า และกลุ่มที่อยู่ในความสนใจ หรือ VOI (Variants of Interest) ซึ่งไวรัสมิว (MU) ได้ถูกจัดกลุ่มให้อยู่ในกลุ่มของไวรัสกลายพันธุ์ที่น่าสนใจนี้ด้วย

นอกจากนี้ นพ.ศุภกิจ ยังกล่าวถึง ไวรัสสายพันธุ์ C.1.2 ว่า ถึงแม้จะยังไม่ได้มีการจัดกลุ่มอยู่ในไวรัสกลายพันธุ์ที่น่าสนใจ แต่นักวิทยาศาสตร์มีการค้นพบว่า สายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่ง สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ ทำให้ไวรัสสามารถแพร่กระจายได้เร็วและง่ายขึ้นกว่าสายพันธุ์อื่น ซึ่งพบเจอในประเทศแถบแอฟริกาใต้กว่าร้อยละ 85 จาก 117 ตัวอย่าง แต่มีเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น ที่ระบาดแอฟริกาใต้ สายพันธุ์ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเดลต้า และยังไม่พบในประเทศไทย

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ในส่วนของสายพันธุ์มิว (B.1.621) นั้น มิวที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มไวรัสกลายพันธุ์ที่น่าสนใจ เป็นไวรัสกลายพันธุ์ที่สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ ทำให้ไวรัสแพร่กระจายได้ไวขึ้น เหมือนสายพันธุ์ c.1.2 ปัจจุบันพบแล้วในกว่า 39 ประเทศ แต่จะพบมากในประเทศโคลัมเบีย จนระบาดเป็นสายพันธุ์หลักและมีผู้ติดเชื้อสูงถึง 4,911,082 ราย และเสียชีวิต 125,016 ราย โดยปัจจุบันยังไม่มีหลักฐาน หรือข้อมูลยืนยันว่า ผู้ที่หายป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้ว จะกลับมาติดเชื้อซ้ำในสายพันธุ์นี้หรือไม่

“ซึ่งในปัจจุบัน กรมวิทยาศาสตร์ฯ ได้มีแนวทางการเฝ้าระวังและสอบสวนโรคโควิด-19 ต่อเนื่อง โดยกรมควบคุมโรคกำลังปรับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้รองรับกับการพบเจอเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โดยตั้งเป้าหมายตั้งแต่เดือนกันยายน-ธันวาคม สุ่มตรวจจำนวน 10,000 ตัวอย่าง เป็นการสุ่มตรวจ เฉลี่ยเป็นสัปดาห์ละอย่างน้อย 384 ตัวอย่าง โดยให้ศูนย์ตรวจทั้ง 15 แห่ง ทำการสุ่มตรวจเอง โดยเน้นตรวจที่ จ.ภูเก็ต เนื่องจาก จ.ภูเก็ต อยู่ระหว่างทำการวิจัยประสิทธิผลวัคซีนป้องกันโควิด-19 ด้วย โดยจะสามารถรวบรวมสัดส่วนของสายพันธุ์ต่างๆ มาแสดงเป็นข้อมูลในการพัฒนาประสิทธิภาพวัคซีนได้ในอนาคต” นพ.ศุภกิจกล่าว

ข่าวน่าสนใจอื่น : 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image