รอลุ้นเลย! ชง ครม.จ่ายรอบสอง ‘ม.33’ พรุ่งนี้-1 ต.ค.คุมเข้ม ห้าง-โควิดฟรีเซตติ้ง

รอลุ้นเลย! ชง ครม.จ่ายรอบสอง ‘ม.33’ พรุ่งนี้-1 ต.ค.คุมเข้ม ห้าง-โควิดฟรีเซตติ้ง

เมื่อวันที่ 6 กันยายน น.ส.ลัดดา แซ่ลี้ โฆษกสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 5 กันยายน ที่ผ่านมาว่า วันที่ 7 กันยายน กระทรวงแรงงานจะนำเสนอการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่สีแดงเข้ม 13 จังหวัด รอบที่ 2 เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติกรอบวงเงินให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 อีกคนละ 2,500 บาท หลังจากจ่ายงวดแรกไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 คนละ 2,500 บาท ในรอบที่ 2 จะได้รับเฉพาะ 13 จังหวัดพื้นที่สีแดงตามประกาศ ศบค.เท่านั้น เนื่องจากทั้ง 13 จังหวัดถูกสั่งปิดกิจการ/กิจกรรมตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เป็นเวลาประมาณ 2 เดือน ดังนั้น ในส่วนของผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่ 16 จังหวัดสีแดงเข้ม ที่เพิ่งถูกสั่งปิดกิจการ/กิจกรรมในช่วงเดือนสิงหาคม จึงไม่ได้สิทธิรับเงินเยียวยาในรอบที่ 2

ทั้งนี้ ในการจ่ายเยียวยาให้กับผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 คนละ 5,000 บาท ก็จะใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ หลังจาก ครม.มีมติเห็นชอบแล้ว กรมบัญชีกลางจะโอนเงินเข้าไปที่ สปส.เพื่อจ่ายให้กับผู้ประกันตนที่มีสิทธิโดยเร็วที่สุด แต่ไม่เกินเดือนกันยายนนี้แน่นอน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการโอนเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 ในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด ว่า สปส.รายงานว่าได้โอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์เลขบัตรประชาชน ให้ผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 คนละ 5,000 บาทไปแล้ว จำนวน 5,848,254 คน โอนสำเร็จจำนวน 5,595,813 คน คิดเป็นเงินจำนวน 27,979,065,000 บาท และพบว่าโอนไม่สำเร็จจำนวน 252,441 คน ส่วนใหญ่เกิดจากยังไม่ผูกพร้อมเพย์เลขบัตรประชาชน ซึ่งนายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการ สปส. จะเร่งประชาสัมพันธ์ไปยังผู้ประกันตนที่ตกหล่นในการโอนเงิน หากตรวจสอบแล้วว่าเงินยังไม่เข้าบัญชี ให้รีบไปติดต่อธนาคารโดยด่วน

Advertisement

“ท่านที่ไม่ได้รับเงินโอนเนื่องจากสาเหตุอื่นๆ เช่น บัญชีปิด หรือยังไม่เปิดบัญชี ก็ให้รีบไปติดต่อธนาคารและดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ทั้งนี้ นายจ้างและผู้ประกันตนทุกมาตรา ทั้งมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ที่ https://www.sso.go.th/eform_news/” นายสุชาติกล่าว

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากการออกข้อกำหนดผ่อนผัน ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ในพื้นที่สีแดงเข้มกลับมาเปิดให้บริการได้นั้น แต่เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีคนรวมตัวกันค่อนข้างสูง จึงขอความร่วมมือกลุ่มธุรกิจดังกล่าวต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ดังนี้

1.ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมและห้องน้ำทุก 1-2 ชั่วโมง 2.ส่งเสริมให้ชำระเงินแบบออนไลน์ 3.ทำสัญลักษณ์เว้นระยะห่างบริเวณทางเข้าและจุดต่อคิว 4.จัดระบบจัดคิวจำกัดจำนวนคนไม่เกิน 1 คนต่อ 4 ตารางเมตร 5.จัดให้มีฉากกั้นระหว่างพนักงาน (แคชเชียร์) และลูกค้า 6.เดินระบบจ่ายอากาศสะอาดหรือเปิดประตู หน้าต่างอย่างน้อย 30 นาที ก่อนเปิดและหลังปิดระบบปรับอากาศ ขอความร่วมมือให้ประเมินและรับรองตนเองผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop COVID Plus และแสดงใบรับรอง

Advertisement

นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า สำหรับมาตรการที่จะบังคับใช้ในอนาคตตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป คือการใช้มาตรการโควิด ฟรี เซตติ้ง (COVID Free Setting) ได้แก่

1.ด้านสิ่งแวดล้อมปลอดภัย (COVID Free Environment) อาทิ การทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมทุก 1-2 ชั่วโมง ทำความสะอาดระบบปรับอากาศทุก 3 เดือน เข้มงวดเรื่องมาตรการห้ามการรวมตัวกันจุดใดจุดหนึ่งด้วย

2.ด้านพนักงานปลอดภัย (COVID Free Personnel) พนักงานทุกคนต้องฉีดวัคซีนครบโดส หรือเคยมีประวัติการติดเชื้อโควิดมาก่อนอยู่ในช่วง 1-3 เดือน และให้มีการคัดกรองความเสี่ยงพนักงานทุกวันด้วยระบบไทยเซฟไทย รวมถึงจัดหาเอทีเคให้พนักงาน เพื่อทําการตรวจทุก 7 วัน กำชับให้งดรวมกลุ่มขณะปฏิบัติงาน ระหว่างพัก และงดกินอาหารร่วมกัน และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention)

3.ด้านผู้ใช้บริการปลอดภัย (COVID Free Customer) ให้คัดกรองความเสี่ยงก่อนเข้าร้านด้วยแพลตฟอร์ม ไทยเซฟไทย หรือแอพพลิเคชั่นอื่นที่กำหนด หากจะใช้บริการในกิจการเสี่ยง ได้แก่ ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย ตัดผม ต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนครบโดส หรือประวัติการติดเชื้อมาก่อนในช่วง 1-3 เดือน หรือตรวจเอทีเคผลเป็นลบ ระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image