มติกก.โรคติดต่อฯ อนุมัติวัคซีน พาสปอร์ต ออนไลน์ ลดวันกักตัว-แก้นิยามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกลุ่มนั่งเครื่องบิน

มติกก.โรคติดต่อฯ อนุมัติวัคซีน พาสปอร์ต ออนไลน์ ลดวันกักตัว-แก้นิยามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกลุ่มนั่งเครื่องบิน

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงผลการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 10/2564 ที่มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. เป็นประธานการประชุม ว่า วันนี้มีผลการประชุมสำคัญ 6 เรื่อง ได้แก่ 1.เห็นชอบประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อฯ เรื่องการออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กรณีโควิด-19 ซึ่งกำหนดให้รูปแบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเติมขึ้น รวมถึงปรับกระบวนการออกหนังสือรับรองให้ง่ายยิ่งขึ้น โดยให้กรมควบคุมโรคเข้าถึงข้อมูลผู้ฉีดวัคซีนจากระบบ MOPH-IC หรือ “หมอพร้อม” ซึ่งจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะช่วยให้ประชาชนขอหนังสือรับรองการฉีดวัคซีนในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และแบบเอกสารได้ง่าย สะดวกขึ้น

ทั้งนี้ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่องการออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 พ.ศ. … เป็นฉบับปรับปรุงแก้ไขจากประกาศเดิมที่กำหนดรูปแบบเป็นเอกสารเล่ม โดยฉบับนี้จะเพิ่มในส่วนของวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือดิจิทัล เรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการออกหนังสือรับรองในอัตรา 50 บาทต่อเล่มหรือต่อครั้ง มีผลบังคับใช้วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนการออกหนังสือรับรองการฉีดวัคซีนนั้น ขณะนี้มีหน่วยงานให้บริการออกหนังสือรับรอง 102 แห่ง ได้แก่ กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค , สถาบันบำราศนราดูร สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กทม. สำนักงานป้องกันควบคุมโรค 7 แห่ง (เชียงใหม่ สระบุรี ราชบุรี ชลบุรี ขอนแก่น อุดรธานี และสงขลา) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป รวม 92 แห่ง มีผู้รับบริการแล้วกว่า 4 หมื่นคน โดยภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 จะเริ่มให้บริการหนังสือรับรองในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Certificate) ในบางสถานที่นำร่องก่อนขยายทั่วประเทศต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า 2.เห็นชอบกรอบการดำเนินงานรองรับการเปิดประเทศ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ด้านสาธารณสุขใน 4 เป้าหมาย ได้แก่ สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน สร้างความมั่นคงในระบบสาธารณสุข ฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของประเทศ และสร้างสังคมนิว นอร์มอล (New normal) ตามกลยุทธ์สำคัญ คือ 1.เปิดประเทศปลอดภัย 2.ควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ 3.แผนรองรับการดูแลรักษา 4.ระบบสื่อสารข้อมูล ระบบไอที และ 5.ด้านบริหารจัดการ ทั้งนี้ มีตัวชี้วัด 6 ด้าน ได้แก่ กิจกรรมโควิด ฟรี เซ็ตติ้ง (Covid-19 free settings) วัคซีนควบคุมโรคระดับจังหวัด ความสามารถในการรองรับทางการแพทย์ จีดีพี และการป้องกันโรคขั้นสูงสุด หรือครอบจักรวาล (University Prevention)

Advertisement

นพ.โอภาส กล่าวว่า 3.เห็นชอบกรอบดำเนินงานแผนรองรับเปิดประเทศ โดยเฉพาะด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยจะแจ้งให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร จัดทำแผน โดยให้ผู้เกี่ยวข้องติดตามกำกับต่อไป 4.เห็นชอบตามที่คณะกรรมการวิชาการเสนอ เรื่องการลดวันกักตัวในผู้สัมผัสเสี่ยงสูง กรณีการเดินทางโดยเครื่องบิน ลดจาก 14 เหลือ 10 วัน และเปลี่ยนนิยามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงใหม่

“เนื่องจากมีข้อมูลเพิ่มเติมกรณีการนั่งเครื่องบิน เดิมผู้สัมผัสเสี่ยงสูงระบุเป็น 2 แถวหน้า 2 แถวหลัง แต่ที่ผ่านมา พบว่าการติดเชื้อบนเครื่องบินต่ำมาก เนื่องจากมีมาตรการป้องกันโรคที่ดีคือ การสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา จึงเปลี่ยนนิยามผู้สัมผัสเป็น ผู้นั่งติดกันด้านซ้ายและขวา ที่ประชุมเห็นชอบ และให้แนวทางนี้กับผู้เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป” นพ.โอภาส กล่าวและว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์โควิด-19 ที่การระบาดมีแนวโน้มลดลง แต่ยังมีบางจังหวัดที่ระบาดอยู่ เช่น 4 จังหวัดชายแดนใต้ แนวโน้มระบาดทรงตัว ส่วนบางจังหวัดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จะให้ความสำคัญมากขึ้น รวมถึงการติดเชื้อที่มีความสัมพันธ์กับกิจกรรมบางอย่าง จึงขอให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเข้มงวดมากขึ้น

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ส่วนแผนการเปิดประเทศ และแนวทางการปฏิบัติของผู้เดินทางเข้ามาสู่ราชอาณาจักรไทย ขณะนี้มีการกำหนดประเทศที่ไม่ต้องกักตัว 45 ประเทศ และ 1 เขตปกครองพิเศษ 1.ต้องฉีดวัคซีนครบโดส 2.มีการตรวจหาเชื้อ 1 ครั้ง ก่อนเดินทางไปพื้นที่อื่น (Test and go) ดังนั้น หากฉีดวัคซีนครบ ผลตรวจไม่พบเชื้อ ก็สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ และที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าด้านการฉีดวัคซีน ที่ฉีดได้สะสม 72 ล้านโดส ซึ่งเกินเป้าหมายแล้ว คาดว่าสิ้นเดือนตุลาคมนี้ จะฉีดได้ถึง 75 ล้านโดส ขณะเดียวกัน ฉีดวัคซีนในเด็กนักเรียนก็ฉีดไปแล้วกว่า 2 ล้านโดส ไม่พบปัญหาที่รุนแรงจากวัคซีน พบผลข้างเคียงด้านกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบบ้าง แต่ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง จึงทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนมีความมั่นใจ ทำให้มีความประสงค์ฉีดวัคซีนเพิ่มเติมอย่างต่ำ 5 แสนโดส หลังจากนี้จะต้องประสานกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต่อไป

Advertisement

ส่วนการออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในการฉีดวัคซีน หรือ วัคซีน พาสปอร์ต (Vaccine passport) ขณะนี้ออกไปแล้ว 4 หมื่นกว่าราย ซึ่งกรมควบคุมโรควางระบบให้มีการจองผ่านระบบออนไลน์ และนัดหมายไปรับใบรับรอง ซึ่งจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นพบว่า 1.ผู้ที่ไม่ได้จองล่วงหน้า รวมถึงไม่ได้ส่งข้อมูลมาก่อน ก็จะเกิดปัญหาติดขัดเนื่องจากเอกสารไม่ครบ 2.กรณีพบบ่อยที่สุด คือ โรงพยาบาล (รพ.) เอกชน บางแห่งในกรุงเทพฯ ข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่สามารถออกหนังสือรับรองได้ โดยจะประสานตัวแทนกรุงเทพมหานคร (กทม.) ดำเนินการเรื่องดังกล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า ที่ประชุมยังรับทราบการเฝ้าระวังโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า พลัส ซึ่งที่พบในไทยแตกต่างจากเดลต้า พลัสอังกฤษ ทั้งนี้ การกลายพันธุ์เป็นเรื่องปกติ ไม่ได้มีแนวโน้มระบาดง่ายขึ้นหรือรุนแรงขึ้น 5.แผนจัดการยาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่ง คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้นำเข้าได้ และ 6.แนวปฏิบัติบุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสผู้ป่วยยืนยันฉบับปรับปรุง เพราะบุคลากรทางการแพทย์มีการฉีดวัคซีนจำนวนมาก แนวโน้มติดเชื้อป่วยรุนแรงน้อยลง จึงปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image