‘อนุทิน’ แจงไทยจัดหาแพกซ์โลวิด-โมลนูพิราเวียร์ เสริมรักษาโควิด มั่นใจ ทำงานเพื่อ ปชช. ไม่มีช้า

‘อนุทิน’ แจงไทยจัดหาแพกซ์โลวิด-โมลนูพิราเวียร์ ใช้เป็นยาเสริมรักษาโควิด มั่นใจ ทำงานเพื่อประโยชน์ ปชช. ไม่มีช้า

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีประเทศไทย ไม่อยู่ใน 95 ประเทศที่ได้รับการถ่ายทอดสูตรการผลิตยารักษาโรคโควิด-19 แพกซ์โลวิด (Paxlovid) จากบริษัท ไฟเซอร์ ว่า การที่จะจัดว่าประเทศในจะได้รับสิทธิบัตรการผลิตยา ทางบริษัทฯ มีเกณฑ์การตัดสินใจอยู่แล้ว เราทำอะไรไม่ได้ แต่ให้ความมั่นใจว่า สธ.มีแผนจัดเตรียมยา เวชภัณฑ์สำหรับการป้องกันดูแลรักษาโรคโควิด-19 มีการวางแผนสำรอง เช่น วัคซีนโควิด-19 ที่เราเตรียมไว้แล้ว ขณะที่ยาฟาวิพิราเวียร์ ที่เรามีอยู่ก็มีสรรพคุณดูแลรักษาผู้ติดเชื้อได้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับยาตั้งแต่เริ่มติดเชื้อแรก ๆ จะใช้เวลาการรักษาที่สั้นลง

“การที่เรามีแผนจัดหายาแพกซ์โลวิด หรือยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ก็เป็นการอะเลิร์ท (Alert) ต่อสถานการณ์โควิด-19 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเอามาเป็นยาหลัก แต่เอามาเสริมความมั่นทางยา เตรียมความพร้อมเพื่อให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ยา เป็นทางเลือก แต่ไม่ได้หมายความว่ายาที่เรามีอยู่ใช้ไม่ได้ เพียงแต่ยา 2 ตัวนี้เป็นอีกแนวหนึ่ง” นายอนุทิน กล่าวและว่า ขณะนี้ยาแพกซ์โลวิด ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย ซึ่งผู้ผลิตกำลังยื่นขอขึ้นทะเบียนกับทางสหรัฐอเมริกาอยู่เช่นกัน

ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณีดังกล่าว มีความเชื่อมโยงเรื่องการเมืองหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวถามสั้นๆ ว่า ใคร ตนไม่ได้ยิน และไม่ได้อ่าน ตนเชื่อแพทย์ของ สธ.ที่มีประสบการณ์โควิด-19 กว่า 2 ปี เป็นผู้ปฏิบัติงาน เป็นผู้ใช้ยาจริง และเห็นวิธีการรักษาคนไข้ว่าแนวทางเมีประสิทธิผลในการรักษาผู้ป่วย และยาใดได้ผล มีประสิทธิภาพในการรักษา อย่างที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค รายงานว่า การใช้วัคซีนสูตรไขว้ซิโนแวค ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าของไทย มีการศึกษาพบว่า สร้างภูมิคุ้มกันมากกว่าที่เราคาดไว้ วันนี้เรามีแต่ข้อมูลดีๆ เพื่อเป็นฐานในการพิจารณาดำเนินการ ให้ประชาชนใช้ชีวิตได้ปกติที่สุด

Advertisement

“ขอให้พวกเราได้ทำงาน เน้นว่าประโยชน์ของประชาชนเป็นเป้าหมายอยู่แล้ว ไม่มีช้า ไม่มีทำอะไรที่เกินอำนาจหน้าที่ และไม่มีทำอะไรที่ไม่เป็นประโยชน์หรือผิดกฎหมาย” นายอนุทิน กล่าว

เมื่อถามถึงการผลักดันให้สูตรไขว้ในประเทศไทยได้รับการยอมรับในต่างประเทศหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เรามีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับสถาบันต่างๆ อยู่แล้ว ซึ่งเหมือนกับที่เราดูข้อมูลต่างประเทศ หากพบว่ามีประโยชน์เราก็ติดต่อเพื่อขอข้อมูลเหล่านั้นมา หาวิธีทำให้เกิดผลที่ดีที่สุด

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ไทยไม่ได้อยู่เกณฑ์ที่บริษัท ไฟเซอร์ จะให้สูตรผลิตยาแพกซ์โลวิด ใน 95 ประเทศ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง-สูง

Advertisement

“บริษัท ไฟเซอร์ ได้มีการแจ้งมาแล้วว่า ไทยไม่ได้อยู่ใน 95 ประเทศ แต่บริษัท ไฟเซอร์ ไม่ได้บอกว่ามีประเทศอะไรบ้าง อย่างไรก็ตาม ไทยมีความพยายามเจรจาต่อรองเรื่องการขอสูตรผลิตยาแพลกซ์โลวิด แต่ต้องเป็นการเจรจาในระดับประเทศ ส่วนความคืบหน้ายาโมลนูพิราเวียร์ ตอนนี้การสัญญาการจัดซื้อดังกล่าว ถูกส่งให้กรมบัญชีกลางพิจารณา ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (18 พ.ย.64) กรมบัญชีกลางจะมีการประชุม แล้วแจ้งกลับมาที่กรมการแพทย์ คาดว่าจะได้เซ็นสัญญาอย่างช้าสัปดาห์หน้า อย่างไรก็ตาม 95 ประเทศ จะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจะได้ยาไม่เร็ว เนื่องจากเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต เพื่อให้ไปผลิตยากันเอง แต่ไทยจะได้ยาค่อนข้างเร็ว เนื่องจากมีการเจรจากับทางบริษัท ไฟเซอร์ มาโดยตลอด แต่ในส่วนของราคาและจำนวนยังไม่สามารถบอกได้” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image