8วัน ลงทะเบียน T&G แล้ว 1.2 แสนคน สธ.ยันตรวจ PCR 3 ครั้ง สกัดคลัสเตอร์โควิด

8วัน ลงทะเบียน T&G แล้ว 1.2 แสนคน สธ.ยันตรวจ PCR 3 ครั้ง สกัดคลัสเตอร์โควิด

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงรายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ประจำวัน ว่า ตามข้อมูลที่ได้บันทึกเอาไว้ วันนี้ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกทะลุ 403,552,588 ราย ในขณะที่วันนี้วันเดียวรายงานผู้ติดเชื้อใหม่มี 2,401,113 ราย และเสียชีวิต 11,464 ราย ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 1.44 เป็นอีก 1 วัน ที่สหรัฐอเมริกา และภาคพื้นยุโรปมีผู้ติดเชื้อสูง ถึงแม้ว่าจะเริ่มลดลงแล้ว ในส่วนของประเทศทางเอเชีย มีการรายงานผู้ติดเชื้อจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น อินเดีย พบรายงานผู้ติดเชื้อใหม่ 65,146 ราย เสียชีวิต 1,241 ราย อินโดนิเซีย และสิงคโปร์ ยังพบว่าติดเชื้อสูงอยู่เช่นกัน และญี่ปุ่นที่ขึ้นไปเกือบแสนราย และเสียชีวิตค่อนข้างสูง

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ขณะนี้อยากให้ประชาชนใส่ใจกับตัวเลขของผู้ป่วยอาการหนัก และผู้เสียชีวิต โดยในวันนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยที่อาการอาการหนักจำนวน 563 ราย และที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจอีกจำนวน 114 ราย หากดูตามกราฟ จะเห็นว่าสถานการณ์จะยังขึ้นเมื่อเทียบจากเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ที่มีตัวเลขสูงสุดของประเทศไทย ซึ่งมีการติดเชื้อ 20,000 กว่ารายต่อวัน ทั้งนี้ สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 20 ราย ในวันนี้ พบว่า เป็นประชากรกลุ่ม 608 หรือ ประชากรที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงทั้งหมด (ร้อยละ 100) และมีเพียง 1 ราย ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส) แต่ได้รับมาเพียงแค่ 13-14 วัน จึงนับว่าผู้เสียชีวิตรับวัคซีนแค่ 2 เข็ม เป็นหลัก

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ต้องใช้วิธีการติดตามดูสถานการณ์ข้อมูลรายวันแบบเฉลี่ย 7 วัน เพื่อดูสถานการณ์การติดเชื้อ โดยวันนี้หากดูเป็นค่าเฉลี่ยจะพบว่า มีผู้ติดเชื้อ 11,450 ราย และติดเชื้อจากต่างประเทศ 191 ราย แต่แม้จะเป็นค่าเฉลี่ย แนวโน้มทางกราฟก็ยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน และในช่วงนี้ พบคลัสเตอร์การระบาดอยู่พอสมควรในหลายๆ จังหวัด ขอให้พยายามป้องกันตัวเองอย่างสูงสุดด้วยหลัก Universal Prevention สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา หลีกเลี่ยงคนเยอะ และการรับประทานอาหารกับครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ก็คงจะต้องเว้นระยะห่างมากขึ้น ซึ่งการติดเชื้อส่วนมากมาจากการสัมผัสกันภายในครอบครัว

“สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน ขณะนี้ค่อนข้างคงตัว และเริ่มมีการผ่อนคลายมากขึ้น จะเห็นว่าตัวเลขเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว ก็อยากให้ร่วมด้วยช่วยกันในการลดการเข้าไปในที่ที่มีความเสี่ยงสูง รวมถึงการรับประทานอาหาร ลดการพูดคุยเพื่อไม่ให้การแพร่ระบาดเกิดขึ้นอย่างเร็ว ส่วนผู้เสียชีวิตก็ยังอยู่ในเส้นคงตัว ทั้งนี้ จะต้องรณรงค์ฉีดวัคซีนให้ครบ โดยเข็มแรกฉีดไปแล้วร้อยละ 75.6 เหลืออีกประมาณร้อยละ 25 และในขณะนี้สามารถฉีดในเด็กได้แล้ว จึงอยากเชิญชวนให้ไปฉีดวัคซีนกัน ทั้งเด็กและกลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันการป่วยรุนแรง” นพ.จักรรัฐ กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า สำหรับมาตรการเทสต์ แอนด์ โก มีประชาชนสงสัยว่าเหตุใดต้องมีการตรวจ RT-PCR ถึง 2 รอบ เนื่องจากการตรวจเพียงรอบเดียวก็น่าจะเพียงพอแล้ว นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ในช่วงตั้งแต่วันที่ 1-8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำหรับระบบเทสต์ แอนด์ โก มีผู้ลงทะเบียนมาค่อนข้างมาก 8 วัน ลงทะเบียนมาแล้วกว่า 120,000 ราย ซึ่งประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายของแต่ละประเทศที่ต่างชาติยังสนใจ ดังนั้น ระบบดังกล่าว ที่ได้มีการชะลอไปก่อนหน้า เนื่องจากในต่างประเทศมีอัตราการติดเชื้อที่ค่อนข้างสูง เช่น สหรัฐที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ดังนั้น มีโอกาสที่จะนำเชื้อมาติดคนในประเทศได้

“ดังนั้น การตรวจหาเชื้อ RT-PCR ทั้งหมด 3 ครั้ง โดยครั้งแรกก่อน ที่จะเดินทางเข้ามา 1 ครั้ง อย่างน้อย 72 ชั่วโมง และวันที่เดินทางเข้าประเทศไทย 1 ครั้ง แต่เนื่องจากระยะฝักตัวของเชื้อดังกล่าวอยู่ที่ 5-7 วัน ก็ยังเป็นประเด็นว่าหากตรวจวันแรกอาจจะยังไม่เจอเชื้อ จึงจะต้องตรวจ 4-5 วันถัดมา และหลังจากที่พบว่า ไม่ติดเชื้อก็จะสามารถเดินทางไปไหนก็ได้แต่ก็ยังคงมีระบบติดตามตัว และที่เราต้องตรวจย้ำ เพราะเราพบว่าก่อนหน้านี้ เราตรวจเพียงครั้งเดียว และพบการแพร่ระบาดหลังจากนั้น และทำให้เกิดเป็นคลัสเตอร์ตามมา” นพ.จักรรัฐ กล่าว

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image