หมอยง ชี้โอมิครอน BA.4/BA.5 แค่เตือน ไม่น่ากังวล ขออย่าด้อยค่าวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็มแรก

แฟ้มภาพ

หมอยง ชี้โอมิครอน BA.4/BA.5 แค่เตือน ไม่น่ากังวล ขออย่าด้อยค่าวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็มแรก

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวบรรยายผ่านระบบออนไลน์ถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 และวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ว่าช่วง 3 สัปดาห์ของเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ศูนย์ได้ถอดรหัสพันธุกรรมผู้ป่วยโควิด-19 ในกรุงเทพมหานคร 206 ราย พบว่ายังเป็นสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.2 แต่ข้อมูลทั่วโลกพบ BA.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เฉลี่ยเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ร้อยละ 3.7 เพิ่มขึ้นเดือนมิถุนายน เป็นร้อยละ 30 ประเทศไทยพบรายงานการเพิ่มขึ้นของ BA.5 ในเดือนพฤษภาคม จากร้อยละ 1.6 เป็นร้อยละ 8 ในเดือนมิถุนายน เป็นสัญญาณเตือนเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ต้องกลัว เพราะยังไม่มีหลักฐานความรุนแรง รวมถึงการเสียชีวิตที่เพิ่ม อีกทั้งการถอดรหัสพันธุกรรมในหลายประเทศมีแนวโน้มลดลง ความถูกต้องแม่นยำก็น้อยลง

ศ.นพ.ยงกล่าวว่า ในเด็กติดเชื้อโอกาสเสียชีวิตต่ำมาก ข้อมูลเดือนมกราคม-เมษายน 2565 ช่วงการระบาดของเชื้อโอมิครอน เด็กอายุ 0-14 ปี ที่ติดเชื้อ 2.3 แสนราย พบเสียชีวิต 41 ราย ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ความกังวลในเด็กไม่ได้อยู่ที่ภาวะโรค แต่เด็กจะเป็นตัวแพร่เชื้อไปสู่คนในครอบครัว จากการศึกษาวิจัยเด็ก 5-6 ปี ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน จำนวน 350 ราย โดยเจาะเลือดตรวจพบว่าช่วงสายพันธุ์โอมิครอนมีเด็กติดเชื้อร้อยละ 27 หรือประมาณ 1 ใน 4 เทียบกับช่วงสายพันธุ์เดลต้า มีเด็กติดเชื้อร้อยละ 7-8 เมื่อซักประวัติพบว่าครึ่งหนึ่งไม่แสดงอาการ ดังนั้น เด็กเหล่านี้ที่ติดเชื้อแล้วไม่แสดงอาการ หรือมีอาการน้อยมาก จึงมีความเสี่ยงจะแพร่เชื้อที่โรงเรียนและนำไปสู่ครอบครัว

เดือนกรกฎาคมคาดว่าจะเห็นยอดติดเชื้อที่สูงขึ้นจนถึงเดือนสิงหาคม ต้องเตรียมรับมือ จากนั้นจะค่อยๆ ลดลงไปต่ำสุดช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน เพราะเป็นช่วงปิดเทอม และจะกลับสูงอีกทีช่วงเปิดเทอม เดือนมกราคม เป็นลักษณะจำเพาะของโรคทางเดินหายใจในเด็ก ส่วนอาการลองโควิดที่พูดกันมาก สำหรับผมรู้สึกเฉยๆ เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้หลังติดเชื้อช่วง 3-6 เดือน อาการหลักๆ ที่เห็นคือเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย สมองมึนตื้อ หายใจไม่สะดวก ช่วงการระบาดของเชื้อเดลต้าจะพบลองโควิดมากกว่าเชื้อโอมิครอน คาดว่าปีหน้าก็จะลดลง” ศ.นพ.ยงกล่าว

ศ.นพ.ยงกล่าวถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ว่าผู้ได้รับวัคซีนไป 3 เข็มแล้วติดเชื้อ การติดเชื้อถือเป็นการรับวัคซีนเข็มที่ 4 เป็นภูมิคุ้มกันลูกผสมที่ดี จึงไม่จำเป็นต้องฉีดเข็มที่ 4 หากจะฉีดขอให้รอไปหลัง 6 เดือน ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีน ซิโนแวค หรือ ซิโนฟาร์ม ซึ่งเป็นเชื้อตายไป 2 เข็มแรก จากนั้นรับแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม จำเป็นต้องฉีดเข็มที่ 5 หรือไม่ เนื่องจากมีการพูดว่าไม่ควรนับรวมเชื้อตายนั้น ส่วนตัวไม่อยากให้ด้อยค่าวัคซีนเชื้อตาย เพราะมีผลวิจัยยืนยันเชื้อตายเป็นตัวปูพื้น ทำให้ร่างกายจำลองการติดเชื้อได้ดี ควรนับรวม หากจะกระตุ้นเข็มที่ 5 ควรให้ห่างนาน 4-6 เดือน หรือมีอะไรเปลี่ยนแปลงค่อยว่ากัน สำหรับการติดเชื้อซ้ำครั้งที่ 2 แม้ว่าจะฉีดวัคซีนแล้วมีโอกาสเกิดได้แต่น้อย ดังนั้น จึงยังต้องป้องกันและระวังตัว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image