มาสด้าชู’คาร์เลิฟเวอร์’ ผงาด’เบอร์3’อาเซียน

ระหว่างวันที่ 24-28 กรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำคณะสื่อมวลชนกว่า 20 คนเดินทางไปยังจังหวัดยามากูจิ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อร่วมทดสอบเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของ มาสด้า จี-วิคเตอริ่ง คอนโทรล หรือ GVC ณ สนามทดสอบมิเนะ เซอร์กิต (Mine Circuit) รวมทั้งเยี่ยมชมเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ที่โรงงานโฮฟู (Hofu) และปิดท้ายด้วยการรับฟังบรรยายสรุปจากผู้บริหารระดับสูงของทางมาสด้าถึงแผนดำเนินการธุรกิจในกลุ่มประเทศอาเซียน

เทคโนโลยี จี-วิคเตอริ่ง คอนโทรล (G-Vectoring Control – GVC) ที่ทางมาสด้านำมาให้ทดสอบ ณ สนามทดสอบมิเนะ เซอร์กิต จ.ยามากูจิครั้งนี้นับเป็นเทคโนโลยี สกายแอคทีฟ-วีฮิเคิล ไดนามิกส์ พัฒนาต่อยอดขึ้นในรูปแบบซอฟต์แวร์ติดตั้งมาพร้อมกับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของมาสด้ารุ่นใหม่ทุกคัน เพื่อช่วยเสริมสมรรถนะให้แก่ผู้ขับขี่รู้สึกเป็นหนึ่งกับตัวรถมากยิ่งขึ้น ภายใต้ปรัชญาจินบะ-อิตไตของมาสด้า

หลักการทำงานของ GVC
หลักการทำงานของ GVC

GVC จะเข้าไปเสริมสมรรถนะของยางรถยนต์ให้ถึงขีดสุดด้วยการรับน้ำหนักในแนวดิ่งของยางแต่ละเส้น เมื่อผู้ขับเริ่มบังคับพวงมาลัยเพื่อเข้าโค้ง GVC จะควบคุมแรงบิดเครื่องยนต์เพื่อให้เกิดแรงจีในการชะลอความเร็วลง ทำให้การรับน้ำหนักถูกผ่องถ่ายไปที่ล้อหน้า เป็นการเพิ่มพื้นที่การสัมผัสของหน้ายางกับถนน ช่วยให้ล้อหน้าเกาะถนนได้ดียิ่งขึ้น และรถจะตอบสนองได้ดียิ่งขึ้นในขณะเข้าโค้ง

หลังจากนั้น เมื่อผู้ขับขี่รักษาองศาของพวงมาลัยขณะอยู่ในโค้ง GVC ก็จะคืนแรงบิดของเครื่องยนต์ทันที ช่วยให้มีการผ่องถ่ายน้ำหนักไปที่ล้อหลัง ทำให้รถมีความมั่นคงขึ้น การถ่ายน้ำหนักนี้ช่วยเพิ่มการเกาะถนนของทั้ง 4 ล้อ ส่งผลให้รถมีการตอบสนองที่ดีขึ้นดั่งใจผู้ขับ และช่วยเพิ่มความมั่นใจในการขับยิ่งขึ้น

Advertisement

แม้ว่าจะเป็นผู้ขับมือใหม่ก็ตาม เนื่องจากผู้ขับสามารถปรับแรงบิดของเครื่องยนต์ให้แปรผันตามการสั่งการจากพวงมาลัย แม้เพียงขยับเล็กน้อย และสามารถตอบสนองตามการควบคุมได้อย่างแม่นยำ เพิ่มความมั่นคงในการยึดเกาะถนนที่ลื่น มีฝน หรือมีพื้นผิวขรุขระ ช่วยให้ผู้ขับขี่ควบคุมรถได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น และลดความเหนื่อยล้าสะสมจากการขับในระยะทางไกล รวมทั้งการเปลี่ยนผ่านของแรงจีราบรื่นขึ้นจะช่วยลดการเหวี่ยง ส่งผลให้การขับขี่สบายขึ้น พร้อมยังช่วยลดการโคลงไปมาของศีรษะและร่างกายของผู้โดยสารในขณะโดยสาร ลดเวียนหัวและอาการเมารถ ทำให้นั่งรถได้สบายขึ้น

มาสด้าเตรียมนำเทคโนโลยี GVC มาให้ผู้ขับขี่ชาวไทยได้สัมผัสพร้อมกันทั่วประเทศในมาสด้า 3 เจเนอเรชั่นใหม่ จะเปิดจองอย่างเป็นทางการครั้งแรกในงานมหกรรมยานยนต์ ครั้ง 33 ระหว่างวันที่ 1-12 ธันวาคม 2559 ที่อิมแพค ชาลเลนเจอร์ 1-3 เมืองทองธานี

นอกจากนี้ มาสด้ายังได้พาคณะสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมโรงงานโฮฟู ตั้งอยู่ใน จ.ยามากูจิ โรงงานผลิตรถยนต์ของมาสด้าใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากโรงงานที่ฮิโรชิม่า โรงงานผลิตรถยนต์ที่โฮฟูนี้ประกอบด้วยโรงงาน 2 แห่ง บนเนื้อที่ประมาณ 8 แสน ตร.ม.

Advertisement
กระบวนการประกอบรถยนต์ด้วยแรงงานฝีมือบนสายพานลำเลียง
กระบวนการประกอบรถยนต์ด้วยแรงงานฝีมือบนสายพานลำเลียง

โรงงานแห่งแรกจะผลิตรถยนต์มาสด้า 2 และมาสด้า 3 ส่วนโรงงานแห่งที่ 2 จะผลิตมาสด้า 6 ในปี 2558 ที่ผ่านมา โรงงาน 2 แห่งสามารถผลิตรถได้ประมาณ 4.1 แสนคัน แบ่งสัดส่วนเป็นมาสด้า 3 47% มาสด้า 6 35% และมาสด้า 2 18% รถยนต์ที่ผลิตได้ส่วนใหญ่จะส่งออกไปยังต่างประเทศประมาณ 74% ส่วนการจำหน่ายในประเทศจะอยู่แค่เพียง 26% เท่านั้น

สำหรับกระบวนการผลิตรถยนต์ของมาสด้า จะเริ่มจากการขึ้นรูปโลหะด้วยการหลอมเหล็กด้วยอุณหภูมิสูง จากนั้นจะเข้าสู่ประกอบโครงของรถยนต์ ด้วยหุ่นยนต์ทั้งหมด

โรงงานที่ 1 จะใช้ระยะเวลา 1.04 นาที/ยูนิต ส่วนโรงงานที่ 2 จะใช้เวลาน้อยกว่าเล็กน้อย 1.02 นาที/ยูนิต ต่อจากนั้นจะเข้าสู่การพ่นสีโครงรถ ด้วยหุ่นยนต์ทั้งหมดเช่นกัน โรงงานที่ 1 จะใช้ระยะเวลา 1.04 นาที/ยูนิต ส่วนโรงงานที่ 2 จะใช้เวลาน้อยกว่าเล็กน้อย 1.02 นาที/ยูนิต หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการประกอบรถยนต์ บนสายพานลำเลียง จะใช้แรงงานฝีมือควบคู่กับหุ่นยนต์ในการประกอบ โรงงานที่ 1 จะมีรถยนต์ประกอบเสร็จทุกๆ 1.04 นาที ส่วนโรงงานที่ 2 จะมีรถยนต์ประกอบเสร็จทุกๆ 1.02 นาที

จากนั้นรถทุกคันจะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบทั้งคุณภาพสี คุณภาพเครื่องยนต์ และศูนย์ถ่วงล้อ ก่อนนำไปจำหน่ายและส่งออกไปยังต่างประเทศต่อไป

พร้อมกันนี้ นายฮิโรชิ อิโนอุเอะ เจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มตลาด Emerging Markets บริษัท มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ยังได้บรรยายสรุปภาพรวมของธุรกิจในกลุ่มประเทศอาเซียน และแผนในอนาคตของมาสด้า ระบุว่า

กระบวนการประกอบโครงรถยนต์ด้วยหุ่นยนต์ทั้งหมด
กระบวนการประกอบโครงรถยนต์ด้วยหุ่นยนต์ทั้งหมด

 

การทำการตลาดอาเซียนของมาสด้าตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา มาสด้าเลือกใช้กลยุทธ์โกลบอล มาสด้า ทาร์เก็ท (Global Mazda Target – GMT) ในการสร้างความเข้มแข็งของแบรนด์ เจาะตลาดกลุ่มผู้ขับขี่ชื่นชอบรถยนต์ (คาร์เลิฟเวอร์) มีความสนใจในเทคโนโลยีรถยนต์ ความปลอดภัย และสมรรถนะรถยนต์

คาดว่าจะมีประชากรในกลุ่มนี้ประมาณ 1.5 พันล้านคนทั่วโลก แม้ว่าประชากรจะน้อยกว่ากลุ่มตลาดรถยนต์ราคาถูก (Low Cost Car) คาดว่าจะมีประชากรประมาณ 1.9 พันล้านคนทั่วโลก ค่ายรถยนต์สามารถทำตลาดและเน้นปริมาณยอดขายได้ง่ายกว่าด้วยการเน้นรถยนต์ราคาถูกและจำนวนผู้ซื้อในตลาดมากกว่า แต่มาสด้าก็เลือกเน้นการสร้างแบรนด์และมุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีเป็นหลัก

ตลอดจนการใช้กลยุทธ์อาเซียน ฟุตปรินท์ (ASEAN Footprint) เน้นการเชื่อมโยงโรงงานผลิตรถยนต์ของมาสด้าภายใต้มาตรฐานเดียวทั่วโลกเข้าด้วยกัน โรงงาน 3 แห่งในภูมิภาค ประกอบด้วยประเทศไทยถูกวางให้เป็นฐานการผลิตและส่งออกมาสด้า 2 มาสด้า CX-3 ไปประเทศอื่นๆในภูมิภาค ส่วนมาเลเซียถูกวางให้เป็นผู้ผลิตและส่งออก มาสด้า CX-5 และโรงงานที่เวียดนามก็สามารถผลิตมาสด้า 2 มาสด้า 3 มาสด้า 6 และมาสด้า CX-5 (2012) ได้เช่นกัน

กลยุทธ์ดังกล่าวช่วยให้มาสด้าสามารถเพิ่มกำลังการผลิตในอาเซียนได้เพิ่มขึ้น จากเดิมในปี 2554 มีกำลังการผลิตเพียง1.1 แสนคัน เป็น 1.8 แสนคัน ในปี 2558 รวมทั้งยังมีการเพิ่มการผลิตรถรุ่นใหม่มากขึ้นจาก 3 รุ่น เป็น 6 รุ่นอีกด้วย

ขณะเดียวกันมาสด้ายังให้ความสำคัญในการเปิดตลาดใหม่ๆ จนครบทุกประเทศอาเซียน ในปี 2556 และมีการขยายตัวแทนจำหน่าย (ดีลเลอร์) อย่างต่อเนื่อง ในปี 2557 มาสด้ามีดีลเลอร์เพิ่มขึ้นเป็น 290 รายทั่วทั้งอาเซียน และคาดว่าสิ้นปีงบประมาณ 2559 มาสด้าจะมีดีลเลอร์เพิ่มขึ้นเป็น 330 ราย

การทดสอบรถในสนามมิเนะ เซอร์กิต 2
การทดสอบรถในสนามมิเนะ เซอร์กิต 2

รวมทั้งยังได้ตอกย้ำความเป็นหุ้นส่วนในภูมิภาคด้วยการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 มาสด้าได้ทุ่มงบลงทุนกว่า 2.6 หมื่นล้านเยน เปิดโรงงานผลิตเกียร์อัตโนมัติสกายแอคทีฟ-ไดรฟ์ ที่ จ.ชลบุรี คาดว่าจะผลิตเกียร์ได้ประมาณปีละ 400,000 ชุด ทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นทันทีกว่า 500 ตำแหน่ง และยังได้ทุ่มงบลงทุนกว่า 4.6 พันล้านเยนเปิดโรงงานผลิตเครื่องยนต์ มีการจ้างงานกว่า 60 ตำแหน่ง มาสด้ายังคงเดินหน้าการลงทุน เพิ่มกำลังการผลิต เพิ่มรุ่นรถยนต์ และการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง

จากการดำเนินกลยุทธ์ในช่วงที่ผ่านมาก็ได้ส่งผลให้ยอดขายของมาสด้าในอาเซียนเพิ่มขึ้นจาก 8 หมื่นคันในปี 2556 เป็น 1 แสนคันในปี 2558 หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 23% เมื่อเทียบกับปี 2557 แม้ว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมรถยนต์จะติดลบถึง 8.6% แต่มาสด้าก็จะเติบโตได้เหนือตลาด สะท้อนให้เห็นว่า กลยุทธ์ที่มาสด้าได้เลือกเดินมาถูกทาง และยังเป็นการพิสูจน์ว่า ในภูมิภาคอาเซียนยังมีผู้หลงใหลในรถยนต์ มีความสนใจในเรื่องของเทคโนโลยี สมรรถนะ และความปลอดภัยของรถยนต์ ตลอดจนความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอยู่เป็นจำนวนมาก

ฮิโรชิ อิโนอุเอะ
ฮิโรชิ อิโนอุเอะ

ขณะนี้มาสด้ากำลังทยอยปรับลุคโชว์รูมใหม่ในประเทศต่างๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า ได้ปรับปรุงโชว์รูมไปแล้วในประเทศสิงคโปร์ หรือแม้แต่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างเวียดนาม พนมเปญ มาสด้าก็จะใช้มาตรฐานภาพลักษณ์ใหม่เดียวกันหมด ส่วนของโชว์รูมในประเทศไทยจะเริ่มทยอยเห็นภาพลักษณ์ใหม่ตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป

นอกจากนี้ มาสด้ายังได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรด้านการขาย คุณภาพการให้บริการทั้งก่อนและหลังการขาย การดูแลลูกค้า การพัฒนาดีลเลอร์ เครือข่ายผู้จำหน่าย โดยตั้งประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาบุคลากร หรือพีเพิล เทรนนิ่ง (People Training) ระดับอาเซียน เพื่อให้มาสด้าเป็นแบรนด์อยู่ในใจผู้บริโภค เป็นที่ยอมรับ ตั้งเป้าให้มาสด้าเป็นแบรนด์รถยนต์อันดับ 3 ของ 5 ประเทศชั้นนำในอาเซียน (ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย) และยอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 แสนคัน หรือมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 6.2% ของยอดขายมาสด้ารวมทั้งหมดทั่วโลกในปี 2557 เป็นสัดส่วน 9.1% ในปี 2561

หรืออาจพูดง่ายๆ ว่า มาสด้าตั้งใจจะให้ปี 2561 มีแฟนมาสด้าเพิ่มขึ้นอีก 1.5 แสนคน แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มาสด้าก็จะเร่งเดินหน้า

“แม้ว่าเป้ายอดขายดังกล่าวจะเป็นตัวเลขที่สูง แต่มาสด้าก็พร้อมเดินหน้าเต็มที่ ภายใต้ภารกิจหลักขององค์กรในฐานะผู้หลงใหลรถยนต์จะต้องพัฒนารถยนต์ให้มีคุณภาพ มีคุณค่า เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเติมเต็มชีวิต ทั้งผู้ผลิต คนมาสด้า และลูกค้าของเรา” นายฮิโรชิกล่าว

คณะสื่อมวลชนไทยถ่ายภาพเป็นที่ระลึก
คณะสื่อมวลชนไทยถ่ายภาพเป็นที่ระลึก
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image