‘ม้าลำพอง’เปิดสองรุ่นพิเศษ ปรับเครื่องV12ใหม่ ไม่มีอัดอากาศ แรงทะลุ 830 แรงม้า (คลิป)

812 COMPETIZIONE และ 812 COMPETIZIONE A : สองนิยามแห่งจิตวิญญาณจากสนามแข่งของเฟอร์รารี่

 

เฟอร์รารี่เผยโฉมขุมพลัง V12 รุ่นพิเศษ ที่พัฒนามาจาก 812 Superfast   งานเปิดตัวถูกจัดขึ้นแบบถ่ายทอดสดผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ของเฟอร์รารี่  รุ่นคูเป้ ขนาบข้างด้วยรุ่น Targa สุดพิเศษ  กิจกรรมจัดขึ้นที่ GT Sporting Activities Department แห่งใหม่ใกล้สนามแข่ง Fiorano

 

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟอร์รารี่ เปิดตัวยนตกรรมรุ่นล่าสุด คือ  812 Competizione ในซีรีส์พิเศษจำนวนจำกัด โดยรถดังกล่าว พัฒนามาจากรุ่น 812 Superfast ได้เปิดตัวต่อสื่อมวลชน, ลูกค้า และสาวกของเฟอร์รารี่ พร้อมกันทั่วโลก อีเว้นท์ซึ่งถ่ายทอดสดผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ของเฟอร์รารี่นี้ ยังรวมถึงการเผยโฉมรุ่น 812 Competizione A ซึ่งผลิตจำนวนจำกัดเช่นกัน มาพร้อมกับตัวถังแบบ Targa-top ที่เป็นดั่งตัวแทนแห่งความรุ่งโรจน์ของยนตรกรรมเปิดประทุนจากม้าลำพอง

งานเปิดตัวครั้งนี้ถูกจัดขึ้นที่ GT Sporting Activities Department สถานที่สุดพิเศษที่เพิ่งเปิดใหม่ ตั้งอยู่ใกล้สนามแข่ง Fiorano ที่เผยให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งจนไม่อาจแยกจากกันระหว่างสปอร์ตคาร์แห่งมาราเนลโล และ DNA ที่ส่งตรงมาจากความสำเร็จในสนามแข่งที่ไม่มีใครเทียบเคียงได้ตลอด 7 ทศวรรษที่ผ่านมา

โดยเริ่มเปิดงานด้วยรุ่น 812 Competizione ที่วิ่งโชว์ในสนามแข่งเพื่อเผยให้ผู้ชมได้เห็นถึงบริบทของรถทั้งในด้านของประสิทธิภาพและสมรรถนะสูงสุด รวมถึงรับฟังเสียงคำรามอันไพเราะไร้ที่ติของขุมพลังเฟอร์รารี่ V12 แบบไม่มีระบบอัดอากาศ หลังจากนั้น Enrico Galliera ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดและการขายของเฟอร์รารี่ กล่าวแนะนำรถอย่างเป็นทางการ และต่อด้วยการเปิดตัวรุ่น 812 Competizione A

Advertisement

รถทั้งสองรุ่นนี้ผลิตขึ้นเป็นพิเศษเพื่อเหล่านักสะสมและผู้หลงใหลในความเป็นเอกลักษณ์ของเฟอร์รารี่ที่มุ่งเน้นไปยังประสิทธิภาพซึ่งหาใครมาเทียบเคียงไม่ได้ มีการนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาใช้กับทั้งเครื่องยนต์, ระบบไดนามิกส์ของรถ และอากาศพลศาสตร์ เพื่อยกระดับสมรรถนะของรถให้สูงขึ้นอีกขั้น

ผู้ขับจะรู้สึกราวกับเป็นหนึ่งเดียวกับรถเมื่ออยู่หลังพวงมาลัยของทั้ง 812 Competizione และ 812 Competizione A ไม่ว่าจะบนถนนหรือในสนามแข่ง รับประกันได้ว่ารถจะตอบสนองต่อทุกการควบคุมอย่างฉับพลันแม้ในการขับขี่ที่จริงจังในสนามแข่งก็ตาม มั่นใจได้ว่าผู้ขับจะได้รับขีดสุดแห่งความสนุกขณะขับขี่ในทุกย่านความเร็วด้วยระบบเลี้ยวอิสระสี่ล้อ ที่ให้ความคล่องตัวและแม่นยำเป็นพิเศษขณะเข้าโค้ง

POWERTRAIN 

812 Competizione และ 812 Competizione A มาพร้อมกับขุมพลัง V12 ที่เร้าใจที่สุดในวงการยานยนต์ พัฒนาต่อยอดมาจากเครื่องยนต์ที่คว้ารางวัลมามากมายรุ่นเดียวกับที่ใช้ใน 812 Superfast จนได้ผลลัพธ์เป็นขุมพลัง V12 แบบไม่มีระบบอัดอากาศที่ทำกำลังสูงสุดได้ถึง 830 แรงม้า มอบความทรงพลังร่วมด้วยความตื่นเต้นเร้าอารมณ์ และเสียงคำรามตามแบบฉบับของเฟอร์รารี่ V12 อันเป็นที่รู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี การเพิ่มกำลังให้กับเครื่องยนต์ซึ่งมีความจุกระบอกสูบเท่าเดิมที่ 6.5 ลิตร เช่นเดียวกับใน 812 Superfast หลายชิ้นส่วนจึงได้รับการปรับเปลี่ยนทางวิศวกรรมใหม่ เพื่อให้ได้มาซึ่งเรดไลน์ที่สูงขึ้นจนทำสถิติใหม่ ร่วมด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของระบบไอดีและห้องเผาไหม้ ตลอดจนลดความเสียดทานภายในเครื่องยนต์ให้น้อยลง

รอบเครื่องสูงสุดทำได้ถึง 9,500 รอบ/นาที เมื่อรวมกับแรงบิดที่เพิ่มขึ้นจึงสร้างอรรถรสได้อย่างไร้ขีดจำกัดทั้งในด้านของพลังและอัตราเร่ง ผลลัพธ์เหล่านี้ได้มาจากการออกแบบองค์ประกอบหลักของเครื่องยนต์ใหม่ อาทิ ก้านสูบ, ลูกสูบ และเพลาข้อเหวี่ยง เป็นต้น ก้านสูบไททาเนียมมีน้ำหนักเบากว่าแบบที่ทำจากเหล็กถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ทำให้ความแข็งแรงทนทานในระดับเดียวกัน สลักลูกสูบเคลือบด้วย DLC (Diamond-like Carbon – ฟิล์มเคลือบผิวด้วยคาร์บอนที่มีคุณสมบัติคล้ายเพชร) เพื่อลดค่าแรงเสียดทาน จึงช่วยเพิ่มสมรรถนะ, ลดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง และลดการสึกหรอ การปรับแต่งยังรวมไปถึงการใช้เพลาข้อเหวี่ยงซึ่งเบากว่าเดิม 3% ที่ได้รับการปรับสมดุลใหม่ 

จุดที่ถูกพัฒนามากที่สุดคือฝาสูบที่ออกแบบใหม่หมด แคมชาฟต์ (ซึ่งเคลือบด้วย DLC) จะทำการ เปิด-ปิด ผ่านชุดกระเดื่องกดวาล์วเคลือบ DLC ซึ่งพัฒนามาจากรถแข่ง F1 ของเฟอร์รารี่ และปรับใช้กับเครื่องยนต์นี้โดยเฉพาะ โดยใช้ระยะยกแคมชาฟต์ที่สูงขึ้นกว่าเดิม

เพื่อให้แน่ใจว่าเครื่องยนต์จะได้รับปริมาณอากาศที่ถูกต้องในทุกความเร็วรอบเครื่อง ระบบไอดีจึงได้รับการออกแบบใหม่ทั้งหมด ท่อร่วมไอดีและท่อนำอากาศมีขนาดกะทัดรัดขึ้นเพื่อลดความยาวโดยรวมของระบบ ทั้งยังได้พละกำลังมากขึ้นที่รอบสูงๆ ในขณะที่แรงบิดจะเพิ่มสูงขึ้นในทุกย่านความเร็วรอบจากการใช้ท่อร่วมไอดีแบบแปรผัน ที่ปรับความยาวท่อได้อย่างต่อเนื่องตามลำดับการจุดระเบิดของเครื่องยนต์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดในการประจุอากาศเข้ากระบอกสูบ ผลที่ได้คือขุมพลังที่เร่งขึ้นสู่เรดไลน์ได้อย่างรวดเร็วโดยไม่มีสะดุดขาดตอน

ทีมวิศวกรพัฒนาปั๊มน้ำมันเครื่องแบบแปรผันที่สามารถปรับแรงดันน้ำมันได้อย่างต่อเนื่องตลอดย่านการทำงานของเครื่องยนต์เพื่อลดแรงเสียงทานและการสูญเสียกำลัง ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวมของเครื่องยนต์อีกด้วย อีกส่วนสำคัญที่ต้องกล่าวถึงก็คือการใช้น้ำมันเครื่อง (Shell Helix 5W40) ที่มีความหนืดต่ำกว่าที่เคยใช้ในขุมพลัง V12 อื่นๆ และปรับปรุงการไหลเวียนของน้ำมันเครื่องใหม่ทั้งหมด

ระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงแบบ Direct Injection ถูกพัฒนาระบบควบคุมการทำงานขึ้นใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบมาตรฐานการปล่อยมลพิษที่เข้มงวดมากกว่าเดิม มีการปรับไทมิ่งและปริมาณการจ่ายน้ำมัน ตลอดจนเพิ่มแรงดันในการฉีดเชื้อเพลิงใหม่ เพื่อลดมลพิษและฝุ่นละอองขนาดเล็กให้น้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่เครื่องยนต์ยังมีความร้อนไม่ถึงอุณหภูมิทำงาน

ระบบจุดระเบิดถูกควบคุมอย่างแม่นยำจาก ECU ซึ่งมีระบบตรวจวัดไอออนเพื่อควบคุมจังหวะจุดระเบิด โดยระบบมีทั้งฟังก์ชั่นจุดระเบิดครั้งเดียวหรือหลายครั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งแรงบิดที่ต่อเนื่องและราบรื่น นอกจากนั้น ECU ยังควบคุมการเผาไหม้ในกระบอกสูบเพื่อให้แน่ใจว่าเครื่องยนต์จะทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ด้วยการตรวจวัดค่าออกเทนของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ถูกนำมาใช้กับเครื่องยนต์

เพื่อคงไว้ซึ่งเสียงคำรามอันเหนือชั้นที่ผู้เป็นเจ้าของเฟอร์รารี่ V12 ต่างคุ้นเคยเป็นอย่างดี ในขณะที่จำเป็นต้องติดตั้ง GPF (Gasoline Particulate Filter – ตัวกรองฝุ่นละอองน้ำมันเบนซิน) เข้าไปยังระบบไอเสีย เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานกฎระเบียบล่าสุดของการควบคุมมลพิษ ทีมวิศวกรจึงใช้ท่อไอเสียแบบใหม่ล่าสุดที่เป็นนวัตกรรมซึ่งช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องเสียงย่านความถี่ กลาง-สูง ที่ดร็อปลงเนื่องจากการใช้ GPF

เพื่อมอบพลังเสียง, ประสิทธิภาพ และสุนทรียภาพที่ยอดเยี่ยม ปลายท่อไอเสียจึงติดตั้งให้สามารถมองเห็นได้เด่นชัดเพื่อเน้นย้ำถึงภาพลักษณ์ของรถที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสนามแข่ง ทว่าไม่ลดทอนความสง่างามอันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของเฟอร์รารี่ลงแม้แต่น้อย นอกจากนั้น ยังติดตั้งเรโซเนเตอร์เข้าไปอีกหนึ่งคู่ที่ท่อไอดี เพื่อเพิ่มความถี่เสียงของเครื่องยนต์ให้ไพเราะยิ่งขึ้น จนเกิดเป็นการหลอมรวมอย่างสมบูรณ์แบบระหว่างเสียงจากปลายท่อไอเสียและระบบไอดี

ทั้ง 812 Competizione และ 812 Competizione A ต่างมาพร้อมกับชุดเกียร์ 7 จังหวะ คลัตช์คู่ ที่จะยกระดับสมรรถนะให้ถึงขีดสูงสุด และมอบสัมผัสขณะเปลี่ยนเกียร์แบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในรถ V12 การปรับระบบควบคุมใหม่ช่วยลดระยะเวลาขณะเปลี่ยนเกียร์ลงถึง 5% และแม้จะใช้อัตราทดเกียร์เท่ากับรุ่น 812 Superfast แต่รถรุ่นใหม่ทั้งสองนี้ต่างก็มีความเป็นสปอร์ตมากกว่า จากรอบเครื่องที่เร่งได้สูงขึ้นอีก 500 รอบ/นาที ของขุมพลัง V12 ที่ได้รับการปรับแต่งใหม่ 

สิ่งที่เคียงคู่ไปกับสมรรถนะที่เพิ่มขึ้นก็คือการปรับปรุงเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรฐานการปล่อยมลพิษของรถยนต์ด้วยระบบ HELE ที่พัฒนาขึ้นอีกขั้น มาพร้อมกับฟังก์ชั่น on-the-move Start & Stop และการปรับระบบควบคุมเครื่องยนต์เพื่อลดการปล่อยมลพิษ ขณะที่ยังคงไว้ซึ่งเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของเฟอร์รารี่ V12 แม้ขับขี่ด้วยความเร็วต่ำ และเมื่อปิดระบบ HELE เครื่องยนต์จะกลับมาทำงานเต็มประสิทธิภาพพร้อมกับการเปลี่ยนเกียร์ที่ฉับไวอีกครั้ง เพื่อการตอบสนองทันใจ

ระบบระบายความร้อนได้รับการปรับปรุงเพื่อรับมือกับความร้อนซึ่งเกิดจากพลังที่เพิ่มขึ้น 30 แรงม้า ของเครื่องยนต์ ด้วยการใช้ช่องรับอากาศแบบเดี่ยวที่ด้านหน้าเป็นครั้งแรกในรถเฟอร์รารี่ V12 ช่วยเพิ่มปริมาณอากาศเย็นที่จะถูกส่งไปยังแผงระบายความร้อนได้มากยิ่งขึ้น วงจรระบายความร้อนทั้งหมดก็ถูกพัฒนาเช่นกัน ประสิทธิภาพในการลดความร้อนเพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับ 812 Superfast นอกจากนั้น ช่องรับอากาศแบบเดี่ยวยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของอากาศไปยังท่อร่วมไอดีของเครื่องยนต์ จึงลดการสูญเสียแรงดันอากาศในท่อไอดีลงอีกทางหนึ่ง

อ่างน้ำมันเครื่องออกแบบใหม่เพื่อรับมือกับอัตราการไหลเวียนน้ำมันที่เพิ่มขึ้น (สูงขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์) และแรงเหวี่ยงของรถขณะเร่งความเร็ว ต้องยกความดีความชอบให้กับการปรับปรุงห้องกั้นและปริมาณการเก็บน้ำมัน อ่างน้ำมันเครื่องใหม่ช่วยลดน้ำมันเครื่องลงได้มากกว่า 1 กิโลกรัม เทียบกับที่ใช้ใน 812 Superfast ส่งให้ทั้ง 812 Competizione และ 812 Competizione A ใช้น้ำมันเครื่องน้อยที่สุดในบรรดาขุมพลัง V12 ด้วยกัน นอกจากนั้น ยังช่วยลดน้ำหนักของรถลงอีกด้วย 

 

AERODYNAMICS 

พละกำลังและรอบเครื่องยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้นของ 812 Competizione ทั้งสองรุ่น ส่งผลให้มีความร้อนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และเพื่อรับมือกับสิ่งเหล่านี้ การไหลเวียนของระบบระบายความร้อนจึงได้รับการเพิ่มประสิทธิภาพ โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดและน้ำหนักของแผงระบายความร้อนต่างๆ

ท่อดักอากาศของ 812 Superfast ถูกจัดวางขนาบสองข้างของกระจังหน้า ขณะที่ 812 Competizione ใช้แบบช่องเดียวซึ่งช่วยให้สามารถขยายขนาดของหม้อน้ำให้ใหญ่ขึ้นเท่าที่ตัวรถจะอำนวย ซึ่งไม่เพียงช่วยลดน้ำหนัก แต่ยังลดการสูญเสียอากาศที่จะเข้าไปยังห้องเผาไหม้ได้อีกด้วย นั่นหมายถึง ทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมดียิ่งขึ้น

การระบายอากาศร้อนที่ออกมาจากหม้อน้ำได้รับการปรับปรุง โดยจะถูกปล่อยออกมาจากทั้งช่องระบายอากาศที่ฝากระโปรงทั้งสองฝั่งของ “ครีบ” กลาง และช่องระบายอากาศที่อยู่บนปีก พื้นที่บริเวณนี้ให้ประสิทธิภาพในการระบายความร้อนที่ดี และยังเปิดทางให้ทีมออกแบบสามารถลดช่องระบายอากาศใต้ท้องรถลงได้ด้วย ทั้งหมดนี้จึงส่งผลดีต่ออากาศพลศาสตร์ส่วนหน้าของรถ เพิ่มประสิทธิภาพการลดความร้อนเครื่องยนต์ได้มากกว่าใน 812 Superfast ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ 

รูปทรงของช่องระบายอากาศจากเครื่องยนต์ทั้งสองฝั่งของครีบบนฝากระโปรง ออกแบบมาเพื่อรับประกันว่าจะสามารถจัดการการไหลของอากาศได้อย่างถูกต้อง แม้จะอยู่ใน 812 Competizione A ที่ผู้ขับมักขับขี่แบบเปิดหลังคาก็ตาม เส้นทางการไหลของอากาศร้อนจะเบี่ยงออกจากห้องโดยสารและวิ่งแยกไปตามแนวด้านข้าง จนกระทั่งสุดตัวถังรถ

การทำให้รถไปได้เร็วขึ้นในโค้ง จำเป็นต้องมีการปรับปรุงในส่วนของพลังเบรก ระบบระบายความร้อนให้กับเบรกต้องระวังไม่ให้ส่งผลกระทบกับทั้งการสร้างแรงกดที่ด้านหน้าของรถ หรือเพิ่มน้ำหนักให้ระบบเบรกเอง เมื่อเทียบกับ 812 Superfast แล้ว ระบบระบายความร้อนแบบ “Aero”  ด้านหน้าของคาลิเปอร์เบรกได้รับการออกแบบใหม่ เป็นแบบเดียวกับที่ได้เปิดตัวไปในรุ่น SF90 Stradale ซึ่งมีช่องดักอากาศรวมเป็นชิ้นเดียวกับคาลิเปอร์

การระบายอากาศให้กับคาลิเปอร์และผ้าเบรกเกิดขึ้นจากการถ่ายเทอากาศซึ่งรับมาจากช่องด้านข้างของกันชนไปยังช่องดักอากาศ จากนั้นกระจายอากาศให้ไหลเข้าไปยังอุปกรณ์ทั้งสองชิ้น โดยธรรมชาติแล้ว วิธีนี้จะให้ผลดีก็ต่อเมื่อเส้นทางการไหลของอากาศวิ่งไปยังพื้นที่ของคาลิเปอร์บริเวณด้านหลังของล้อ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการปรับปรุงทั้งในส่วนของช่วงล่างหน้ารอบๆ ดุมล้อ, การจัดวางท่อทางเดิน และอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องอื่นๆ

การปรับแต่งใหม่เหล่านี้ ส่งให้อุณหภูมิน้ำมันเบรกลดลงอย่างมาก โดยเมื่อเทียบกับ 812 Superfast แล้ว อุณหภูมิทำงานลดลงถึงราว 30 องศาเซลเซียส การเบรกจึงมีความแม่นยำและให้ความรู้สึกขณะเหยียบเบรกที่สม่ำเสมอแม้จะใช้งานต่อเนื่องหนักหน่วงในสนามแข่งก็ตาม การถอดชุดกังหันและท่อดักอากาศของ 812 Superfast ออกไป ตัดน้ำหนักรวมของรถลงได้กว่า 1.8 กก. จึงหักลบกับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นของคาลิเปอร์แบบแอโรได้

ช่องรับอากาศด้านข้างทั้งสองช่องที่ผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์สำหรับระบบเบรก ติดตั้งอยู่ข้างกระจังหลัก ทำหน้าที่ส่งอากาศเย็นไปยังเครื่องยนต์และห้องโดยสาร ช่องทั้งสองนี้เป็นทรงเหลี่ยมและแยกส่วนระหว่างระบายความร้อนเบรกและช่องดักอากาศแบบคู่ ซึ่งช่องดักอากาศจะแบ่งการไหลของอากาศที่เข้ามาจากข้างกันชนเพื่อลดความผันผวนของกระแสลมที่เกิดขึ้นจากด้านนอกของดอกยาง จึงได้แรงกดส่วนหน้ามาจากขอบฝั่งนอกของกันชนอีกทางหนึ่ง

ถัดจากช่องดักอากาศด้านหน้าเป็นส่วนของ Splitter ที่ยื่นออกมาตลอดแนวขอบล่างของกันชน โพรงทั้งสองที่ซุ้มล้อ (ด้านบน และด้านหลัง) ทำหน้าที่ลดแรงดันและช่วยให้แผ่นปิดใต้ท้องรถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระแสอากาศจะถูกแยกส่วนและปล่อยออกไปทางช่องด้านหลังของครีบบนฝากระโปรง

การเพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนของอากาศร้อนเป็นหนึ่งในพื้นฐานที่ใช้พัฒนาส่วนใต้ท้องรถด้านหน้าของ 812 Competizione ครีบระบายอากาศที่มีอยู่ทั้งบนฝากระโปรงและช่องต่างๆ ที่ปีกหน้า ช่วยให้สามารถลดขนาดช่องระบายลมร้อนที่ส่งมาจากหม้อน้ำที่ใต้ท้องรถด้านหน้าลงได้ ทำให้พื้นที่ใต้ท้องรถบริเวณที่ส่งผลกระทบให้เกิดแรงกดด้านลบนี้ มีขนาดเล็กลง ผลลัพธ์ปลายทางที่ได้ก็คือระดับแรงกดส่วนหน้ารถที่สูงขึ้นและกระตุ้นให้เกิดการไหลของอากาศบริเวณท้ายรถมากกว่าเดิม

การปรับเปลี่ยนระบบเบรกยังช่วยให้วิศวกรสามารถออกแบบแผ่นปิดใต้ท้องรถด้านหน้าให้ขยายเข้าไปในซุ้มล้อได้ดียิ่งขึ้น การจัดวางแบบใหม่ช่วยเพิ่มที่ว่างรอบๆ ปีกนกล่างด้านหน้า ทำให้สามารถเพิ่มพื้นที่สำหรับสร้างแรงกดได้ ทั้งยังช่วยให้มีพื้นที่สำหรับติดตั้งตัวเรียงอากาศด้านข้างแบบใหม่ทรงตัว S ที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษจากการทดสอบในอุโมงค์ลม เพื่อเพิ่มการไหลของกระแสอากาศตามแนวด้านข้าง และทำงานได้สอดคล้องกับดิฟฟิวเซอร์หน้า มิติของดิฟฟิวเซอร์ได้รับการขยายให้ใหญ่ขึ้น และสร้างแรงกดได้มากกว่า 812 Superfast ทั้งยังลดความร้อนคาลิเปอร์ได้ดีขึ้นอีกด้วย องค์ประกอบเหล่านี้ช่วยเพิ่มสมรรถนะอย่างมีนัยยะสำคัญ : การเพิ่มประสิทธิภาพช่องระบายอากาศช่วยเพิ่มแรงกดด้านหน้าโดยรวม 30 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ตัวเรียงอากาศด้านข้างช่วยเพิ่มประสิทธิภาพแรงกดขึ้นอีกถึง 40 เปอร์เซ็นต์ 

เช่นเดียวกับ 812 Superfast ดิฟฟิวเซอร์ด้านหน้าประกอบด้วยระบบแอโรปรับได้แบบ Passive ซึ่งจะทำงานเมื่อความเร็วสูงกว่า 250 กม./ชม. ขึ้นไป เมื่อแผงดังกล่าวปรับดิฟฟิวเซอร์ไปจนสุดจะช่วยให้รถสามารถไต่ขึ้นไปยังความเร็วสูงสุดได้

ด้านท้ายที่โดดเด่นของ 812 Competizione มาพร้อมกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเลย์เอาท์ของระบบไอเสีย, รูปทรงของดิฟฟิวเซอร์, ขนาดของสปอยเลอร์, แผงหลัง และดีไซน์ของกันชน ดิฟฟิวเซอร์หลังได้รับการขยายออกไปจนเต็มพื้นที่ความกว้างของรถ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการไหลอากาศของแอโรไดนามิกใต้ท้องรถ และยังสร้างความแตกต่างจาก 812 Superfast อย่างเห็นได้ชัด

หม้อพักไอเสียและปลายท่อได้รับการปรับเปลี่ยนทางวิศวกรรมเช่นกัน: จากปลายท่อทรงกลมคู่แบบคลาสสิคในแต่ละฝั่งของกันชน ตอนนี้เปลี่ยนเป็นปลายเดี่ยวทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้งซึ่งเป็นรูปแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน สิ่งนี้มีผลเชิงบวกสองประการ : ช่วยให้สามารถขยายความกว้างของดิฟฟิวเซอร์ออกไปจนเต็มพื้นที่ และเปิดทางให้สามารถนำโซลูชั่นที่มีอยู่ในรถแข่ง F1 ตั้งแต่ปี 2010 มาใช้กับโร้ดคาร์ได้ – การปฏิสัมพันธ์แบบไดนามิกส์ระหว่างก๊าซไอเสียและอากาศจากดิฟฟิวเซอร์ด้วยรูปแบบนี้ การไหลของก๊าซร้อนที่ออกมาจากปลายท่อไอเสียจะทำปฏิกิริยากับส่วนโค้งด้านนอกของครีบบนดิฟฟิวเซอร์ เกิดเป็นกระแสอากาศเพิ่มเติมที่ขอบด้านท้ายของครีบ ช่วยกระตุ้นการไหลของอากาศที่เย็นกว่าซึ่งออกมาจากดิฟฟิวเซอร์ จึงได้แรงกดเพิ่มมากขึ้นอีกระดับ

โดยรวมแล้ว ดิฟฟิวเซอร์ที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้ เพิ่มแรงกดได้อีก 25 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับ 812 Superfast และจะพุ่งสูงขึ้นถึง 35 เปอร์เซ็นต์ หากนับรวมการเข้ามามีส่วนร่วมของก๊าซไอเสีย ในขณะที่ใต้ท้องรถส่วนท้ายช่วยสร้างแรงกดด้านหลังเพิ่มขึ้นอีก 10 เปอร์เซ็นต์ 

การพัฒนารูปทรงของดิฟฟิวเซอร์ตามหลักแอโรไดนามิก ช่วยให้พื้นที่ต่างๆ ของรถทำหน้าที่สร้างแรงกดขยายออกไปตามแนวขวางได้ สปอยเลอร์ไม่เพียงสูงกว่าใน 812 Superfast แต่ยังเพิ่มความกว้างออกไปจนเกือบเต็มพื้นที่ความกว้างของตัวรถ ให้แอโรไดนามิกที่สมบูรณ์แบบเมื่อทำงานร่วมกับดิฟฟิวเซอร์เพื่อรับประกันว่าจะได้แรงกดสูงสุดที่ส่วนท้ายรถ ปีกหลังที่ได้รับการออกแบบใหม่ยังได้เปรียบในเรื่องของประสิทธิภาพแอโรไดนามิก: รูปทรงแบบนี้ทำให้เกิดเป็นช่องแอโรไดนามิกที่ด้านข้าง ส่งไปยังขอบด้านนอกของสปอยเลอร์ เกิดเป็นการไหลของอากาศที่มีพลังงานสูง

แต่จุดที่สะดุดตาจริงๆ ก็คือแผงด้านท้ายที่ปิดทึบเต็มพื้นที่ เป็นครั้งแรกที่นำมาใช้กับรถแบบโปรดักชั่น ทั้งยังช่วยเปิดทางให้ทีมออกแบบได้นำการออกแบบด้านแอโรไดนามิกที่แปลกใหม่มาใช้ได้ แผ่นปิดนี้ติดตั้งครีบที่ยกตัวสูงขึ้นมาจากพื้นผิวจำนวน 3 คู่ ทำหน้าที่เป็นตัวเรียงกระแสอากาศ โดยตั้งแต่รุ่น LaFerrari เป็นต้นมา ตัวเรียงกระแสอากาศแบบนี้ถูกนำมาใช้กับรถแบบโปรดักชั่นเพื่อสร้างแรงกดให้กับแผ่นปิดใต้ท้องรถแบบแผ่นเรียบเท่านั้น อย่างไรก็ตาม โซลูชั่นนี้ถูกปรับมาใช้กับแผงด้านท้ายของ 812 Competizione เพื่อเบี่ยงทิศทางการไหลของอากาศและจัดสรรการกระจายแรงดันซึ่งเกิดขึ้นที่ท้ายรถ

ตัวเรียงกระแสอากาศนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับสปอยเลอร์และดิฟฟิวเซอร์ โดยสร้างพื้นที่ไล่ระดับแรงดันอากาศที่ไหลมาอย่างรุนแรงทันทีที่อยู่เหนือแผ่นปิดด้านท้าย กำเนิดเป็นกระแสอากาศอยู่บนระนาบขวาง ด้วยวิธีการนี้ ส่วนหนึ่งของการไหลจะเบี่ยงไปทางด้านข้างของสปอยเลอร์ ช่วยเพิ่มการสร้างแรงกดซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประสิทธิภาพของดิฟฟิวเซอร์ เฉพาะตัวเรียงกระแสอากาศเพียงอย่างเดียวก็สามารถสร้างแรงกดด้านท้ายได้เพิ่มขึ้นถึง 10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับ 812 Superfast 

ร่องแนวนอนสามช่องในแต่ละข้างของกันชนหลังเป็นอีกหนึ่งความโดดเด่นสะดุดตา นอกจากชวนให้หวนนึกถึงรุ่น F12tdf แล้ว พวกมันยังซ่อนระบบแอโรไดนามิกไว้ด้วย เนื่องจากบริเวณที่มีแรงดันต่ำซึ่งเกิดจากตัวถังรถ ส่วนหนึ่งของการไหลอากาศจากล้อหลังมีแนวโน้มที่จะวิ่งเข้าหาจุดศูนย์กลางของรถ อย่างไรก็ตาม ด้วยทางออกใหม่นี้ อากาศจะไหลเข้าไปในกันชนผ่านร่องแนวนอนทั้งสาม จากนั้นจะเบี่ยงขึ้นด้านบนด้วยแรงดีดภายใน เกิดเป็นแรงกดที่ท้ายรถ

ในรุ่น 812 Competizione A เพื่อหักลบกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการไม่มีตัวเรียงกระแสอากาศ องค์ประกอบแบบสะพานเชื่อมถูกนำมาใช้ระหว่างเสาหลังคาทั้งสองฝั่ง ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพอย่างพิถีพิถัน การไหลของอากาศจึงเบี่ยงทิศทางไปยังสปอยเลอร์หลังอย่างมีประสิทธิภาพ คืนค่าแรงกดให้กลับมาให้อยู่ในระดับเดียวกับ 812 Competizione การใช้สะพานเชื่อมนี้ยังช่วยลดแรงต้านที่ปกติจะเกิดขึ้นกับรถแบบ Targa ให้น้อยลงอีกด้วย: ตามหลักอากาศพลศาสตร์แล้ว สะพานเชื่อมจะทำหน้าที่เหมือนกับปีกหลัง ดังนั้น แรงดันที่พื้นผิวส่วนบนจึงช่วยสร้างสนามแรงดันเชิงบวก ซึ่งจะเร่งความเร็วของการไหลอากาศไปยังแผงหลัง และช่วยลดแรงต้านได้

ผู้โดยสารจะรู้สึกสบายขณะขับขี่เปิดหลังคา จากการใช้แผ่นกั้นอากาศที่ติดตั้งไว้ด้านบนของกระจกหน้า ซึ่งจะเบี่ยงทิศทางของอากาศให้สูงขึ้นด้านบน ป้องกันไม่ให้กระแสลมเข้าไปรบกวนในห้องโดยสาร นอกจากนั้น แผ่นกั้นยังช่วยขยายช่องว่างที่ครอบคลุมตลอดแนวยาวของห้องโดยสาร เพื่อไม่ให้เกิดแรงดันบริเวณด้านหลังศีรษะของผู้โดยสารอีกด้วย

ช่องแอโรไดนามิกสองช่องถูกรังสรรค์ขึ้นระหว่างเสาหลังคาทั้งคู่เพื่อจัดการกับอากาศที่ไหลผ่านกระจกหน้าต่าง และเพื่อบังคับให้วิ่งไปตามทิศทางที่กำหนดไว้ ประเด็นหลักคือการลดแรงดันทั้งภายในห้องโดยสารและเพื่อความเสถียรของการไหลอากาศ ด้วยกลยุทธ์นี้จึงได้ผลลัพธ์ถึงสองชั้น เพราะนอกจากได้ความสะดวกสบายเพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางแอโรไดนามิกจากการไหลของอากาศที่เสถียรแม้ขณะขับขี่เปิดหลังคาก็ตาม

VEHICLE DYNAMICS

แนวทางในการพัฒนาประสิทธิภาพของ 812 Competizione คือการเพิ่มระดับสมรรถนะโดยรวม, มอบความสนุกในการขับขี่ยิ่งขึ้น และโฟกัสเป็นพิเศษที่บุคลิกของแฮนด์ลิ่งที่ต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสมกับความเป็นรถรุ่นพิเศษ

812 Competizione เปิดตัวพร้อมกับหลากหลายนวัตกรรม เพื่อให้แน่ใจว่ารถจะมอบประสิทธิภาพทางไดนามิกส์ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ สิ่งเหล่านี้รวมไปถึงการนำระบบเลี้ยวอิสระสี่ล้อมาใช้เป็นครั้งแรก, ระบบ Side Slip Control (SSC) เวอร์ชั่น 7.0 และยาง Michelin Cup2R ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นใหม่

ระบบเลี้ยวอิสระที่ล้อหลังมาพร้อมกับระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกรุ่นใหม่ที่สามารถสั่งการให้ล้อฝั่งซ้ายและขวาทำงานแยกอิสระจากกันแทนที่จะเลี้ยวไปพร้อมๆ กัน ความก้าวหน้านี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการควบคุมองศาการเลี้ยวได้ตรงตามความต้องการของแต่ละล้ออย่างเป็นเอกเทศ ทั้งยังให้การตอบสนองที่ฉับไวยิ่งขึ้น

ระบบนี้มุ่งเน้นไปที่การตอบสนองของล้อคู่หน้าต่อคำสั่งที่ได้รับจากพวงมาลัย ทว่ายังคงไว้ซึ่งสัมผัสของแรงยึดเกาะจากล้อหลังซึ่งตอบสนองต่อแรงกระทำจากล้อหน้าได้ทันที และยังช่วยจัดการกับแรงเหวี่ยงด้านข้างของรถได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นตามความถี่ในการสั่งงานจากพวงมาลัย

ระบบ SSC ที่พัฒนาขึ้นอีกขั้น รวมเอาระบบควบคุมทั้งหมดที่พัฒนาขึ้นโดยเฟอร์รารี่เข้าไว้ด้วยกัน และใช้การควบคุมแบบไดนามิกร่วมกัน ระบบจึงทำงานได้เป็นหนึ่งเดียวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้มากกว่าเดิม Side Slip Control 7.0 ระบบควบคุมเฟืองท้ายอิเล็กทรอนิก (E-Diff 3.0), ระบบควบคุมการยึดเกาะ (F1-Trac), ระบบควบคุมช่วงล่าง SCM-Frs, ระบบควบคุมแรงเบรกขณะขับขี่บนขีดจำกัดสูงสุดของรถ (FDE) ซึ่งจะทำงานเมื่อปรับสวิตช์ Manettino ไปที่โหมด Race และ CT-Off, และ Virtual Short Wheelbase 3.0 ซึ่งรวมเอาระบบบังคับเลี้ยวด้วยไฟฟ้าและระบบควบคุมการเลี้ยวอิสระของล้อหลังเข้าไว้ด้วยกัน

 

นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นเป็นพิเศษในเรื่องของการทำให้รถเบาที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ส่งผลให้น้ำหนักโดยรวมลดลงถึง 38 กก. เมื่อเทียบกับ 812 Superfast ส่วนที่ได้รับการโฟกัสที่สุดก็คือระบบขับเคลื่อน, เกียร์ และตัวถังภายนอก มีการนำคาร์บอนไฟเบอร์มาใช้กับหลายชิ้นส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่กันชนหน้า, กันชนหลัง, สปอยเลอร์ และช่องรับอากาศ

ระบบขับเคลื่อนมีน้ำหนักลดลงได้จากการใช้ก้านสูบไททาเนียม ร่วมกับเพลาข้อเหวี่ยงที่เบายิ่งขึ้นและแบตเตอรี่ ลิเธียม-ไอออน 12 โวลต์ นอกจากนั้น ดีไซน์ภายในห้องโดยสารก็ได้รับความใส่ใจอย่างยิ่ง ด้วยการใช้ชิ้นส่วนคาร์บอนไฟเบอร์, ผ้าที่ผลิตขึ้นด้วยเทคนิคพิเศษทำให้มีน้ำหนักเบา และลดฉนวนป้องกันเสียงรบกวนลง ในขณะที่ล้อเป็นฟอร์จอะลูมิเนียมน้ำหนักเบา และใช้น็อตล้อผลิตจากไททาเนียม

ล้อที่ผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์ มีให้เลือกติดตั้งเป็นครั้งแรกในรถเฟอร์รารี่ V12 และทำให้น้ำหนักรวมลดลงอีกถึง 3.7 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับล้อฟอร์จน้ำหนักเบาใน 812 Superfast ด้านในของช่องและก้านล้อเคลือบด้วยสีขาวประเภทเดียวกับที่ใช้ในยานอวกาศเพื่อสะท้อนและกระจายความร้อนที่เกิดจากระบบเบรกประสิทธิภาพสูงของรถ รับประกันได้ว่าจะยังคงใช้งานได้อย่างแม่นยำแม้ถูกใช้งานอย่างหนักหน่วงในสนามแข่ง

 

STYLING 

EXTERIOR 

812 Competizione ที่มีเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัว ทำให้ดูแตกต่างจาก 812 Superfast อย่างสิ้นเชิงทั้งในเรื่องรูปทรงและดุลยภาพ การปรับแต่งทางด้านวิศวกรรมต่างๆ เปิดโอกาสให้ Ferrari Styling Centre ได้ใส่นิยามใหม่ลงไปในตัวรถ ด้วยการเลือกสไตล์ที่ช่วยขับให้ดีไซน์ของสถาปัตยกรรม, รูปทรงของประติมากรรม และความเป็นสปอร์ตคาร์ขนานแท้ โดดเด่นยิ่งขึ้น

หนึ่งในฟีเจอร์ที่โดดเด่นที่สุดของ 812 Competizione ก็คือฝากระโปรงซึ่งคาดด้วยแถบครีบแนวขวางทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ นี่เป็นสไตล์ซึ่งจำลองช่องระบายอากาศออกจากห้องเครื่องแบบดั้งเดิม จากมุมมองด้านดีไซน์การเลือกที่จะใช้องค์ประกอบแนวขวางแทนที่จะเป็นครีบระบายอากาศทรงปกติที่เห็นได้จากเฟอร์รารี่รุ่นอื่นๆ ทำให้ฝากระโปรงดูสะอาดตายิ่งขึ้นและมีมิติกว่าเดิม นอกจากนั้น ยังทำให้ดูเป็นการตกแต่งแบบสามมิติ และชวนให้รำลึกถึงแถบคาดแนวขวางบนฝากระโปงของรถแข่งเฟอร์รารี่ในอดีตอีกด้วย

แอโรไดนามิกด้านหน้าที่ได้รับการปรับแต่งขึ้นใหม่ ช่วยให้ทีมออกแบบใส่ความดุดันเข้าไปในรถได้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้สมกับความเป็นยนตรกรรมสุดพิเศษที่มีจำนวนจำกัด จมูกของรถเผยให้เห็นความทรงพลังด้วยกระจังหน้าที่กว้างเต็มพื้นที่ ขนาบข้างด้วยช่องดักอากาศของระบบเบรกที่โดดเด่นสะดุดตา Splitter คาร์บอนไฟเบอร์เน้นย้ำให้เห็นถึงความกว้างและหมอบต่ำของรถ บ่งบอกเป็นนัยถึงประสิทธิภาพการยึดเกาะถนนที่ไม่ธรรมดา

จุดที่โดดเด่นชัดเจนที่สุดของความงดงามใน 812 Competizione คือการเปลี่ยนมาใช้แผงด้านหลังแบบอะลูมิเนียมทั้งชิ้นแทนกระจกหลัง ตัวเรียงกระแสอากาศที่ส่วนบนของแผงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านแอโรไดนามิกให้กับรถ ขณะที่เอฟเฟคท์แบบโครงกระดูกสันหลังส่งให้ภาพรวมของประติมากรรมการออกแบบเฉิดฉายยิ่งขึ้น

เมื่อรวมกับแถบครีบคาร์บอนไฟเบอร์ที่พาดขวางบนฝากระโปรงหน้า การปรับแต่งเหล่านี้เปลี่ยนภาพรวมของมิติรถไปโดยสิ้นเชิง: ดูทะมัดทะแมงยิ่งกว่า 812 Superfast, ขับภาพลักษณ์อันทรงพลังของรถทรงฟาสต์แบ็กให้โดดเด่นชัดเจน การไร้ซึ่งกระจกหลังยังช่วยสร้างมิติที่ต่อเนื่องลื่นไหลระหว่างหลังคาและสปอยเลอร์ ทั้งยังเปิดให้ผู้เป็นเจ้าของได้เลือกตกแต่งรถให้มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใครยิ่งขึ้นด้วยลายกราฟฟิกที่คาดยาวจากหัวจรดท้ายรถ

แม้กระทั่งสปอยเลอร์ก็ยังดูสง่างามกว่าเดิม มีความสูงเพิ่มขึ้นทว่าดีไซน์ยังคงทำให้ท้ายรถดูแบนกว้างอย่างยิ่ง ช่วยให้มุมมองด้านหลังดูเตี้ยลงอย่างมาก ขอบของสปอยเลอร์ที่เชื่อมต่อเนื่องไปด้านข้างตอกย้ำถึงความกำยำทั้งยังมีสไตล์ที่ชวนให้นึกถึงรถระดับตำนานของเฟอร์รารี่อย่างรุ่น 330 P3/P4 อีกด้วย

ชุดไฟท้ายส่งให้รถมีภาพลักษณ์ดุดันยิ่งขึ้น ทั้งหมดถูกติดตั้งไว้อย่างแนบเนียนใต้สปอยเลอร์เพื่อให้ความรู้สึกเป็นแนวนอนเมื่อมองจากท้ายรถ กันชนหลังออกแบบขึ้นเป็นพิเศษและโดดเด่นด้วยช่องระบายอากาศขนาดใหญ่สองช่อง ร่องแอโรไดนามิกทั้งสามที่คาดยาวตลอดแนวด้านข้างของกันชน มีสไตล์ที่โดดเด่นและสอดคล้องกับรูปทรงของตัวเรียงกระแสอากาศที่อยู่บนแผงหลัง

 

COCKPIT 

ในส่วนของสถาปัตยกรรมภายในห้องโดยสาร 812 Competizione ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของ 812 Superfast เก็บรักษาความพิเศษต่างๆ เอาไว้เช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นแดชบอร์ดและแผงประตูแบบ “เล่นระดับ” อันเป็นซิกเนเจอร์ของรถ ตัวแผงประตูถูกปรับให้เบาขึ้นทั้งในส่วนของรูปแบบและน้ำหนัก เพื่อเน้นความเป็นสปอร์ตของห้องโดยสารให้เด่นชัดยิ่งขึ้น

ช่องเก็บของบนแผงประตูออกแบบให้ยื่นออกมาจากโครงสร้างหลักจนดูราวกับเป็นองค์ประกอบที่ลอยตัวอยู่ ช่วยสร้างสัมผัสที่ดูเบาและดูลื่นไหลต่อเนื่องไปกับส่วนอื่นๆ ในห้องโดยสาร มีเพียงส่วนเชื่อมต่อเล็กๆ บริเวณมือเปิดประตูที่ยังคงเหลือไว้เป็นที่วางแขน แต่ก็ช่วยสร้างไดนามิกที่กำยำให้กับแผงประตูได้เป็นอย่างดี 

ร่องเกียร์ที่เป็นเอกลักษณ์อันโด่งดังบนพื้นที่กลางห้องโดยสารคือส่วนที่เชื่อมโยงอดีตและอนาคตของเฟอร์รารี่เข้าไว้ด้วยกัน นับเป็นครั้งแรกที่ถูกนำมาใช้กับยนตรกรรม V12 และยังสะท้อนให้เห็นจิตวิญญาณของ 812 Competizione และประวัติศาสตร์ของแบรนด์ได้ชัดเจน

 

812 Competizione A 

812 Competizione A เปิดโอกาสให้ Ferrari Styling Center นำส่วนท้ายรถที่ได้รับการปรับแต่งใหม่ มาสร้างสถาปัตยกรรมที่น่าจดจำอย่างแท้จริง เสาหลังคาแบบลอยตัวซึ่งได้รับความนิยมอย่างยิ่งในรถเฟอร์รารี่ ดูผสมผสานกลมกลืนกับหน้ารถทรงลูกศรที่เกิดจากการใช้ครีบบนฝากระโปรง ทั้งยังให้ความรู้สึกราวกับรถกำลังพุ่งไปข้างหน้า และช่วยให้ภาพรวมของรถดูแตกต่างจากรุ่นตัวถังคูเป้อย่างชัดเจน

จุดศูนย์ถ่วงของรถที่ดูเตี้ยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมองจากด้านข้าง ไม่เพียงเพราะหลังคาและกระจกหน้าทรงโอบโค้งที่ลื่นไหลต่อเนื่องไปยังกระจกข้างเท่านั้น แต่ยังเนื่องมาจากเสาหลังคาแบบลอยตัวที่ต่ำกว่าในรุ่น 812 Competizione อีกด้วย เมื่อเปิดหลังคาส่วนหนึ่งของโรลบาร์จะยื่นขึ้นมาเหนือส่วนอื่นๆ ของตัวรถ แต่เนื่องจากเป็นคาร์บอนไฟเบอร์ โรลบาร์นี้จึงกลายเป็นองค์ประกอบเสริมอันงดงามและไม่ลดทอนภาพลักษณ์ที่หมอบต่ำของเสาหลังคาลงแม้แต่น้อย 

เมื่อปิดหลังคา โรลบาร์จะเชื่อมต่อแนบเนียนไปกับโครงสร้างของหลังคาจนดูราวกับเป็นชิ้นเดียวกัน ตัวแผ่นหลังคาผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์เพื่อให้ดูกลมกลืนไปกับโรลบาร์ และเมื่อเปิดหลังคาออก ตัวหลังคาสามารถเก็บไว้ในช่องที่มีรูปทรงแบบเดียวกับตัวหลังคาพอดี การจัดเก็บที่ง่ายดายนี้ หมายถึงสามารถเพลิดเพลินกับการขับขี่ได้ในทุกสภาพอากาศโดยไม่ต้องกังวลใดๆ

 

7 YEARS MAINTENANCE 

โปรแกรมการบำรุงรักษาขยายระยะเวลาเพิ่มขึ้นเป็น 7 ปี สำหรับ 812 Competizione และ 812 Competizione A โปรแกรมนี้ครอบคลุมการบำรุงรักษาตามปกติทั้งหมดในช่วง 7 ปีแรกของรถ การบำรุงรักษาตามกำหนดเวลานี้เป็นบริการพิเศษที่ช่วยให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่ารถของท่านจะมีประสิทธิภาพสูงสุดและมีความปลอดภัยตลอดเวลา บริการพิเศษนี้มีให้สำหรับผู้ที่ซื้อเฟอร์รารี่มือสองด้วยเช่นกัน 

การบำรุงรักษาตามปกติ (ตามระยะทาง 20,000 กม. หรือปีละครั้ง ไม่จำกัดระยะทาง), อะไหล่แท้ และการตรวจเช็คอย่างพิถีพิถันโดยเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกอบรมโดยตรงที่ศูนย์ฝึกอบรมของเฟอร์รารี่ในมาราเนลโล โดยใช้เครื่องมือวินิจฉัยที่ทันสมัยที่สุด บริการนี้ครอบคลุมทั่วโลก รวมถึงตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการทั้งหมด 

โปรแกรมการบำรุงรักษานี้ จะขยายขอบเขตของบริการหลังการขายที่เสนอโดยเฟอร์รารี่ เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าที่ต้องการรักษาประสิทธิภาพและความเป็นเลิศ อันเป็นเอกลักษณ์ของรถยนต์ทุกคันที่สร้างขึ้นจากโรงงานในมาราเนลโล

 

ข้อมูลจำเพาะทางเทคนิค – 812 COMPETIZIONE*

เครื่องยนต์

ประเภท V12 – 65° 

ความจุกระบอกสูบ 6496 ซีซี

กระบอกสูบ x ช่วงชัก 94 มม. x 78 มม. 

กำลังสูงสุด** 610 กิโลวัตต์ (830 แรงม้า) ที่ 9,250 รอบ/นาที 

แรงบิดสูงสุด** 692 นิวตันเมตร ที่ 7,000 รอบ/นาที 

ความเร็วรอบเครื่องยนต์สูงสุด 9,500 รอบ/นาที 

อัตราส่วนกำลังอัด 13.5:1 

 

มิติและน้ำหนัก

ความยาว 4,696 มม. 

ความกว้าง 1,971 มม.

ความสูง 1,276 มม. 

ความยาวฐานล้อ 2,720 มม. 

ความกว้างฐานล้อหน้า 1,672 มม. 

ความกว้างฐานล้อหลัง 1,645 มม. 

น้ำหนักรถเปล่า*** 1,487 กก. 

น้ำหนักต่อแรงม้า 1.79 กก./แรงม้า 

การกระจายน้ำหนัก 49% ด้านหน้า – 51% ด้านหลัง

ความจุถังน้ำมันเชื้อเพลิง 92 ลิตร

 

ล้อและยาง

หน้า 275/35 ZR20; 10” J x 20” 

หลัง 315/35 ZR20; 11.5” J x 20” 

เบรก

หน้า 398 x 223 x 38 มม. 

หลัง 360 x 233 x 32 มม. 

ระบบส่งกำลังและเกียร์

7-speed F1 DCT 

ระบบควบคุมด้วยอิเล็กทรอนิกส์

PCV 3.0 (Passo Corto Virtuale – Virtual Short Wheelbase) พร้อมระบบเลี้ยวอิสระ​ 4 ล้อ​, ESC, ABS/EBD แบบสมรรถนะ​สูง, F1-Trac, E-Diff3, SCM-E คอยล์​คู่, SSC (Side Slip Control) 7.0

สมรรถนะ 

ความเร็วสูงสุด > 340 km/h 

อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. 2.85 วินาที 

อัตราเร่ง 0-200 กม./ชม. 7.5 วินาที 

สถิติเวลาต่อรอบสนาม Fiorano 1 นาที 20 วินาที

อัตราสิ้นเปลืองและการปล่อยมลพิษ

เป็นไปตามข้อบังคับมาตรฐาน

 

* ข้อมูลจำเพาะทางเทคนิคของ 812 Competizione A จะแจ้งให้ทราบในภายหลัง

** กำลังเครื่องยนต์แสดงเป็นกิโลวัตต์ตามระบบหน่วยสากล (SI) และในหน่วย CV เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน, ใช้น้ำมันเบนซินออกเทน 98 และ RAM ที่ให้กำลังเพิ่มเติม 5 แรงม้า

*** ร่วมด้วยอุปกรณ์สั่งติดตั้งเพิ่มเติม 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image