ถอดรหัสตลาดรถ ‘ปีมะเส็ง’ เตรียมถอยรุ่นใหม่ยังไงดี?

ถอดรหัสตลาดรถ ‘ปีมะเส็ง’
เตรียมถอยรุ่นใหม่ยังไงดี?

ประวัติศาสตร์ตลาดรถยนต์เมืองไทย คงต้องจารึกสถานการณ์ในปี 2567 เป็นปีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

แม้ว่ารายงานตัวเลขยอดขายยังไม่ครบทั้งปี คงต้องรอตัวเลขช่วงเดือนมกราคม 2568 แต่ตัวเลข 11 เดือน ออกมาสะท้อนภาพการชะลอของตลาดรถยนต์อย่างชัดเจน

นายศุภกร รัตนวราหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย รายงานสถิติการขายรถยนต์ประจำเดือนพฤศจิกายน 2567 ยอดขายตลาดรวม 42,309 คัน ลดลง 31.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์นั่งมีปริมาณการขาย 18,000 คัน ลดลง 26.7% ในขณะที่รถยนต์เพื่อการพาณิชย์มีปริมาณการขาย 24,309 คัน ลดลง 34.4% และรถกระบะขนาด 1 ตัน ยอดขายทั้งหมด 14,435 คัน ลดลง 34.7%

ADVERTISMENT

ประเด็นสำคัญ

ตลาดรถยนต์เดือนพฤศจิกายน 2567 มียอดขาย 42,309 คัน ลดลง 31.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา กลุ่มตลาดรถยนต์นั่งชะลอตัวที่ 26.7% ด้วยยอดขาย 18,000 คัน ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ชะลอตัวเช่นกันที่ 34.4% ด้วยยอดขาย 24,309 คัน และตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน ทำยอดขายได้ 14,435 คันลดลง 34.7%

ADVERTISMENT

ในส่วนของตลาดรวมรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท (xEV) ทั้งไฮบริด (HEV) ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) รถไฟฟ้าจากแบตเตอรี่อย่างเดียว (BEV) หรือที่เรียกกันว่า อีวี มียอดขายรวมทั้งหมด 14,988 คัน คิดเป็นสัดส่วน 35% ของตลาดรถยนต์ทั้งหมด เติบโตลดลง 26% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

แบ่งเป็นยอดขายรถยนต์ HEV 8,373 คัน คิดเป็นสัดส่วน 56% ของตลาด xEV ทั้งหมดเติบโตลดลง 20% และยอดขายรถยนต์ BEV อยู่ที่ 5,870 คัน คิดเป็นสัดส่วน 39% จากยอดขายในกลุ่ม xEV ทั้งหมด ลดลง 36% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เดือนพฤศจิกายน 2567

1.ตลาดรถยนต์รวม ปริมาณการขาย 42,309 คัน ลดลง 31.3% อันดับ 1 โตโยต้า 17,107 คัน ลดลง 21.2% ส่วนแบ่งตลาด 40.4% อันดับ 2 อีซูซุ 6,068 คัน ลดลง 41.7% ส่วนแบ่งตลาด 14.3% อันดับ 3 ฮอนด้า 4,874 คัน ลดลง 33.5% ส่วนแบ่งตลาด 11.5%

2.ตลาดรถยนต์นั่ง 18,000 คัน ลดลง 26.7% 1.โตโยต้า 5,751 คัน ลดลง 23.4% ส่วนแบ่งตลาด 32% 2.ฮอนด้า 3,829 คัน ลดลง 2.5% ส่วนแบ่งตลาด 21.3% 3.มิตซูบิชิ 1,461 คัน เพิ่มขึ้น 67.5% ส่วนแบ่งตลาด 8.1%

3.ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ 24,309 คัน ลดลง 34.4% 1.โตโยต้า 11,356 คัน ลดลง 20% ส่วนแบ่งตลาด 46.7% 2.อีซูซุ 6,068 คัน ลดลง 41.7% ส่วนแบ่งตลาด 25% 3.ฟอร์ด 1,603 คัน ลดลง 31% ส่วนแบ่งตลาด 6.6%

4.ตลาดรถกระบะ (Pure Pick up) ปริมาณการขาย 11,481 คัน ลดลง 35.7% 1.โตโยต้า 5,327 คัน ลดลง 25.2% ส่วนแบ่งตลาด 46.4% 2.อีซูซุ 4,333 คัน ลดลง 45% ส่วนแบ่งตลาด 37.7% 3.ฟอร์ด 963 คัน ลดลง 34.9% ส่วนแบ่งตลาด 8.4%

5.ตลาดรถกระบะดัดแปลง 2,954 คัน 1.โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ 1,194 คัน 2.อีซูซุ มิว-เอ็กซ์ 918 คัน 3.ฟอร์ด เอเวอเรสต์ 640 คัน 4.มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต 149 คัน 5.นิสสัน เทอร์รา 53 คัน

ส่วนยอดจำหน่ายรถยนต์ 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน) 2567

1.ตลาดรถยนต์รวม 518,659 คัน ลดลง 26.7% 1.โตโยต้า 199,487 คัน ลดลง 17.5% ส่วนแบ่งตลาด 38.5% 2.อีซูซุ 77,429 คัน ลดลง 45.3% ส่วนแบ่งตลาด 14.9% 3.ฮอนด้า 67,322 คัน ลดลง 20.3% ส่วนแบ่งตลาด 13%

2.ตลาดรถยนต์นั่ง 203,421 คัน ลดลง 23.6% 1.โตโยต้า 59,784 คัน ลดลง 35% ส่วนแบ่งตลาด 29.4% 2.ฮอนด้า 41,169 คัน ลดลง 19.7% ส่วนแบ่งตลาด 20.2% 3.มิตซูบิชิ 16,640 คัน เพิ่มขึ้น 16.4% ส่วนแบ่งตลาด 8.2%

3.ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ 315,238 คัน ลดลง 28.5% 1.โตโยต้า 139,703 คัน ลดลง 6.7% ส่วนแบ่งตลาด 44.3% 2.อีซูซุ 77,429 คัน ลดลง 45.3% ส่วนแบ่งตลาด 24.6% 3.ฮอนด้า 26,153 คัน ลดลง 21.3% ส่วนแบ่งตลาด 8.3%

4.ตลาดรถกระบะ (Pure Pick up) ปริมาณการขาย 148,937 คัน ลดลง 39.3% 1.โตโยต้า 71,464 คัน ลดลง 26.9% ส่วนแบ่งตลาด 48% 2.อีซูซุ 56,146 คัน ลดลง 47.9% ส่วนแบ่งตลาด 37.7% 3.ฟอร์ด 11,736 คัน ลดลง 48.2% ส่วนแบ่งตลาด 7.9%

5.ตลาดรถกระบะดัดแปลง 32,349 คัน 1.โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ 11,476 คัน 2.อีซูซุ มิว-เอ็กซ์ 11,121 คัน 3.ฟอร์ด เอเวอเรสต์ 7,287 คัน 4.มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต 2,038 คัน 5.นิสสัน เทอร์รา 427 คัน

เกิดอะไรขึ้นกับตลาดรถยนต์เมืองไทยในปีนี้ และกำลังจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต

SCB EIC วิเคราะห์อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยผ่านจุดต่ำสุดช่วงครึ่งหลังปี’68 จากนั้นจะทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป คาด “อีวี-ไฮบริด” กวาดยอดขาย 30% ของตลาดรวม

น.ส.ฐิตา เภกานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มองว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ยังคงเผชิญความท้าทายจากอุปสงค์ในประเทศเปราะบาง ส่งผลให้ตลาดรถยนต์และจักรยานยนต์มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้า ขณะที่กลุ่มยานยนต์เชิงพาณิชย์คาดว่าจะทยอยกลับมาคึกคัก ได้รับอานิสงส์จากการค้าชายแดนและผ่านแดน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง

ยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2568 คาดว่าจะทรงตัวในระดับต่ำ 5.5 แสนคัน ระยะปานกลางมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า และยังไม่สามารถกลับสู่ช่วงก่อนโควิดได้ภายในปี 2571 เนื่องจากเผชิญกับผลพวงต่อเนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมของผู้บริโภค

ได้แก่ 1.สถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ 2.กำลังซื้อในภาพรวมค่อนข้างเปราะบาง 3.พฤติกรรมการใช้รถของคนไทยยาวนานขึ้น และ 4.การแข่งขันด้านราคาทวีความรุนแรง ส่งผลให้ผู้บริโภคบางส่วนชะลอการตัดสินใจซื้อรถออกไป

เรายังคงต้องติดตาม Vicious cycle (วงจรอุบาทว์) ในตลาดยานยนต์ไทย อันเกิดจากสถาบันการเงินมีแนวโน้มตรึงความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ เนื่องจากกังวลต่อทิศทางราคารถยนต์มือสอง คาดว่าจะปรับลดลงอีก เพราะปัญหาอุปทานส่วนเกินจากกลุ่มรถยึด ปัญหาดังกล่าวจะกดดันยอดขายรถยนต์ใหม่ให้ซบเซาต่อเนื่อง ทำให้เหล่าตัวแทนจำหน่ายต้องหันมาเน้นแข่งขันราคา ยิ่งซ้ำเติมมูลค่าของหลักประกันหมวดยานยนต์ให้เสื่อมค่าลงอย่างต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมยานยนต์เชิงพาณิชย์ปี 2568 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและภาคส่งออกฟื้นตัวดีขึ้น ตลาดรถบรรทุกได้รับแรงหนุนจากกิจกรรมขนส่งตามแนวชายแดนและการค้าผ่านแดนเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดรถโดยสารได้รับอานิสงส์จากภาคท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก และมีส่วนช่วยให้ปัญหารถเกินความต้องการ (Overcapacity) ในกลุ่มรถบัสนำเที่ยวบรรเทาลง

ระยะปานกลาง จำเป็นต้องจับตาทิศทางการนำเข้ายานยนต์เชิงพาณิชย์ปรับเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะจากกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าจากจีน แม้จะตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม แต่นำมาซึ่งความเสี่ยงต่อผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนในประเทศให้สูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน

อย่างไรก็ดี ต้องติดตามความคืบหน้าของมาตรการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะมีส่วนช่วยเพิ่มกำลังซื้อและหนุนให้ความต้องการซื้อรถจักรยานยนต์จากกลุ่มแรงงานนอกภาคเกษตรฟื้นตัวได้เข้มแข็งขึ้น

สำหรับตลาดรถยนต์นั่งไฟฟ้า (Hybrid และ BEV) ความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในปี 2568 ยอดขายรถกลุ่มนี้ประมาณ 2.1 แสนคัน หรือคิดเป็น 30% ของยอดขายรถยนต์ในประเทศทั้งหมด ตลาดรถไฮบริดเป็นแรงส่งสำคัญ เพราะผู้บริโภคเปิดรับรถกลุ่มนี้มากขึ้น ทั้งในรถระดับกลาง ราคา 5 แสน-1 ล้านบาท รวมถึงตลาดรถหรู ขณะที่ยอดขายรถ BEV มีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป คาดว่าส่วนแบ่งตลาดในระยะปานกลางจะทรงตัวอยู่ที่ 10% ของยอดขายรถยนต์ในประเทศ

นักวิเคราะห์อาวุโส SCB EIC มองว่าปัจจัยฉุดรั้งการเปิดรับรถ BEV จากฝั่งผู้บริโภคเกิดจากความกังวลใน 4 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ความไม่เพียงพอของสถานีชาร์จสาธารณะ 2.ปัญหาอุปทานอะไหล่ยนต์ในประเทศและตัวเลือกอู่ซ่อมบำรุงรายย่อยยังมีค่อนข้างจำกัด 3.ผลพวงจากสงครามราคารถ BEV ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทยอยปรับลดลง 4.ต้นทุนการถือครองบางส่วนยังอยู่ในระดับสูง อาทิ เบี้ยประกันและอัตราการเสื่อมมูลค่า

หากพิจารณาพัฒนาการห่วงโซ่อุปทาน EV ในประเทศไทยจะพบว่า กำลังการผลิตรถยนต์ BEV ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ภายในปี 2568-2571 จะขยายตัวสู่ระดับ 6 แสนคัน/ปี ไม่เพียงเท่านี้ การลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ ก็เติบโตสอดรับกับการผลิตรถยนต์เช่นกัน โดยเฉพาะการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า สถานีอัดประจุ/สลับแบตเตอรี่ และธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ EV ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ประกอบการชาวไทย

ทางด้านศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS มองว่า ตลาดรถยนต์ไทยกำลังเผชิญภาวะหดตัวอย่างรุนแรง เห็นได้ชัดจากยอดขาย 9 เดือนแรกของปี 2567 มีเพียง 4.4 แสนคัน ลดลงจากปีก่อนหน้าถึง -25% ส่วนใหญ่หดตัวจากยอดขายรถยนต์ในกลุ่มรถเพื่อการพาณิชย์ (Commercial Car) หายไปกว่า 1.10 แสนคัน เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการหดตัวของภาคก่อสร้างทำให้ความต้องการใช้รถกระบะและรถบรรทุกได้รับผลกระทบตามกันไปด้วย

สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล พบว่า หดตัว -13% หรือลดลงไปราว 3.8 หมื่นคัน แม้ผู้บริโภคจะยังให้ความนิยมกับกระแส BEV อย่างต่อเนื่อง ทำให้ยอดขายยังขยายตัวได้ 7% หรือเพิ่มขึ้นราว 3,500-3,600 คัน จากปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่สามารถชดเชยกับการหดตัวของกลุ่มรถยนต์นั่งอื่นๆ หดตัวสูงถึง -17% ได้

เมื่อพิจารณาลงลึกเป็นรายพื้นที่ พบว่ายอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่หดตัวทุกภูมิภาค มีข้อสังเกตว่า ยอดจดทะเบียนในส่วนภูมิภาคหดตัวหนักกว่าพื้นที่ กทม.และปริมณฑลอย่างเห็นได้ชัด

Krungthai COMPASS มองว่ายอดขายรถยนต์ไทยปี 2567-68 อาจอยู่ในระดับต่ำเพียงปีละ 6.0-6.1 แสนคัน น้อยกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต (ปี 2564-66) ที่ 7.9 แสนคัน อยู่เกือบ 25%

สาเหตุหลักยอดขายรถยนต์ติดลบหนักมาจาก 1.กำลังซื้อของผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ บางส่วนกำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่าย 2.ภาวะหนี้ครัวเรือนสูง ปัญหาหนี้เสีย และคุณภาพของผู้กู้เป็นปัจจัยกระทบโดยตรงต่อยอดจำหน่ายรถยนต์เช่นกัน

ยอดขายรถยนต์หดตัวรุนแรงจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังธุรกิจอื่นๆ อยู่ในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งในแง่ของ

1.การทำกำไรของดีลเลอร์รถยนต์อาจมีปัญหาได้ หากรายได้จากการขายรถยนต์ปรับตัวลงรุนแรง มีข้อสังเกตว่า ดีลเลอร์รายใดจำหน่ายเฉพาะรถยนต์สันดาปภายในมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบมากกว่าดีลเลอร์ของค่ายที่มีรถยนต์ไฟฟ้าจำหน่ายอยู่ด้วย สะท้อนจากยอดจำหน่ายรถยนต์สะสมในช่วง 9 เดือน 2567 ของ ดีลเลอร์ที่มีรถยนต์ไฮบริดจำหน่ายลดลงอยู่ในกรอบ 16-17% หดตัวน้อยกว่าเมื่อเทียบกับดีลเลอร์ที่ไม่มีรถยนต์ไฮบริดจำหน่ายอย่างเห็นได้ชัด

2.ระดับการเติบโตของยอดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่อาจส่งผ่านมายังรายได้ของผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจเช่าซื้อด้วยเช่นกัน สะท้อนจากรายได้ดอกเบี้ยรับจากสัญญาเช่าซื้อของกลุ่มผู้ประกอบการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ช่วงครึ่งแรกของปี 2567 หดตัวเฉลี่ย 18.5%

3.ยอดผลิตรถยนต์ เบื้องต้นคาดว่ายอดผลิตรถยนต์ของไทยมีโอกาสอยู่ในระดับ 1.62-1.66 ล้านคัน ในปี 2567-68 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง ที่ 1.8 ล้านคัน ถึง 8-10%

ปัจจัยต้องจับตา ได้แก่ ตลาดในประเทศยังซบเซา ท่ามกลางการแข่งขันทวีความรุนแรงมากขึ้น จากการเข้ามาของค่ายรถยนต์ไฟฟ้า นำเสนอรถ BEV มีคุณภาพสูงในราคาแข่งขันได้

รวมทั้งภาวะสงครามการค้าสหรัฐและอียูจะขึ้นภาษีรถยนต์ BEV จากจีน อาจทำให้จีนต้องหาตลาดส่งออกอื่นแทน เป็นประเด็นอาจทำให้การแข่งขันตลาดรถยนต์ในไทยยิ่งทวีความรุนแรง เริ่มเห็นสัญญาณค่ายรถยนต์ในไทยเริ่มปรับแผนการผลิตให้สอดคล้องสถานการณ์มากขึ้น

อาทิ ค่ายฮอนด้า เตรียมหยุดสายการผลิตรถยนต์ที่โรงงานอยุธยาภายในปี 2568 มีแผนจะรวมกำลังการผลิตไว้ที่โรงงานปราจีนบุรี และยังมีผู้ผลิตรถยนต์อีก 2 ราย มีแผนจะยุติการผลิตรถยนต์จากโรงงานในไทย คือค่ายซูบารุ และซูซูกิ

รวมทั้งข่าวใหญ่ล่าสุด ฮอนด้า นิสสัน และมิตซูบิชิ ที่ประเทศญี่ปุ่น เตรียมร่วมมือกันตั้งบริษัทผลิตรถยนต์รับมือกับการแข่งขันรถไฟฟ้าจากจีน

ส่วนอีกประเด็นสำคัญต้องติดตาม คือ พฤติกรรมของผู้บริโภคไทยเปลี่ยนไปชัดเจน จากผลการสำรวจเรื่อง Global Automotive Consumer Study ของ Deloitte สะท้อนมุมมองของผู้บริโภคไทยเปลี่ยนแปลงไปใน 2 มิติ

ได้แก่ 1.ผู้บริโภคไทยให้ความสนใจรถยนต์ไฮบริดเพิ่มมากเกือบเท่าตัว จาก 10% ในปี 2566 ขึ้นมาแตะ 19% ในปี 2567 สวนทางกับรถยนต์สันดาปภายในลดลง
ต่อเนื่องจาก 36% มาอยู่ที่ 32% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปภายในไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ผู้บริโภคยังกังวล หรือข้อจำกัดต่อการใช้งาน BEV อาจทำให้ผู้บริโภคบางส่วนเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ HEV มากขึ้น ประกอบกับระยะหลังค่ายรถยนต์ต่างๆ หันมาทำตลาดและเปิดตัวรถยนต์ HEV มากขึ้น จึงทำให้ผู้บริโภคไทยมีตัวเลือกมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา

และ 2.ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อรถคันต่อไปมีความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ปัจจัยผู้บริโภคไทยให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้นในการตัดสินใจซื้อรถยนต์คือ คุณสมบัติของรถ สมรรถนะ และราคา

มีข้อสังเกตว่าผู้บริโภคไทยให้ความสำคัญกับแบรนด์น้อยลง อาจมีส่วนให้รถยนต์แบรนด์ใหม่ๆ ได้รับความสนใจมากขึ้น

จากความเห็นดังกล่าว ทำให้เห็นทิศทางของตลาดรถยนต์เมืองไทยยังคงจะมีรถยนต์รุ่นใหม่โดยเฉพาะรถยนต์ไฮบริด รถยนต์ไฟฟ้า ออกมาให้เลือกอีกมากมาย

นั่นหมายถึงตลาดรถยนต์ยังเป็นของผู้บริโภค ใครต้องการซื้อรถรุ่นใหม่ ถ้าจำเป็นต้องใช้ จากนี้ไปจะได้เทคโนโลยีทันสมัยกว่าเดิม แถมประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้น และมีออกมาให้เห็นอีกมากมายหลายรุ่น สิ่งสำคัญต้องฝ่าด่านไฟแนนซ์ให้ได้ก่อนว่าจะยอมปล่อยสินเชื่อหรือไม่ ในสถานการณ์สภาพเศรษฐกิจเช่นนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image