นิสสัน ปิดโรงงานผลิตรถยนต์แห่งแรกในไทย กำลังผลิตหาย 2.2 แสนคัน
เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก นายมาโกโตะ อูชิดะ ประธานและซีอีโอของนิสสัน (Makoto Uchida-President and CEO) ออกมาประกาศความคืบหน้า ว่านิสสันมีเป้าหมายที่จะลดต้นทุนลงประมาณ 400,000 ล้านเยนนั้น ในปีงบประมาณ 2026
หนึ่งในแผนงานเป็นการรวมสายการผลิต ปรับรูปแบบการทำงานแบบกะ และการโอนงาน โดยเริ่มจากโรงงาน 3 แห่งในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2025 ได้แก่ โรงงานที่เมือง Smyrna และเมือง Canton ในสหรัฐอเมริกา และรวมถึงโรงงานในประเทศไทยนั้น
ล่าสุดแหล่งข่าวจาก บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าสำหรับประกาศปิดโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทยนั้น คือ โรงงานแห่งที่ 1 หรือโรงงานแห่งแรก โดยนิสสันเตรียมปรับเปลี่ยนจากโรงงานผลิตรถยนต์ไปเป็นการใช้พื้นที่สำหรับเป็นโรงงานเพื่อผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แทน
สำหรับโรงงานที่ 1 เดิมผลิตรถยนต์ ได้แก่ เทียน่า, เอ็กซ์เทรล, ซิลฟี่, โน๊ต, มาร์ช และอัลเมร่า (โมเดลแรก) ซึ่งเป็นกลุ่มรถยนต์ที่รุ่นที่ไม่ได้จำหน่ายในประเทศไทยแล้ว
แต่ปัจจุบันยังมีการผลิตรถอยู่ 2 รุ่น คือ อัลเมร่า (โฉมปัจจุบัน) และคิกส์ ซึ่งนิสสันจะโยกไลน์ผลิตรถยนต์ 2 รุ่นนี้รวมกับโรงงานผลิตรถยนต์ที่ 2 ซึ่งผลิตรถปิกอัพนาวารา และเทอร์ร่าแทน
ปัจจุบันบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด มีโรงงานตั้งอยู่ที่ถนนบางนา-ตราด กม. 21 จังหวัดสมุทรปราการ ผลิตและประกอบรถยนต์นั่งและรถกระบะ จำนวน 2 โรงงาน เพื่อรองรับการผลิตรถยนต์สำหรับตลาดในประเทศ และผลิตรถยนต์ส่งออกไปกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ด้วยกำลังผลิตรวม 370,000 คันต่อปี แบ่งเป็น
โรงงานที่ 1 กำลังผลิตจาก 220,000 คันต่อปี
โรงงานที่ 2 มีกำลังผลิต 150,000 คันต่อปี
ล่าสุดมีการลงทุนมีโรงงาน นิสสัน พาวเวอร์เทรน ประเทศไทย (Nissan Powertrain Thailand-NPT) เมื่อปี 2565 เพื่อประกอบแบตเตอรี่สำหรับเครื่องยนต์แบบอี-พาวเวอร์ ซึ่งถือเป็นสายการประกอบแห่งแรกนอกประเทศญี่ปุ่นและเป็น 1 ในโรงงานนิสสัน 4 แห่งทั่วโลก ที่มีศักยภาพในการประกอบแบตเตอรี่สำหรับระบบขับเคลื่อนอี-พาวเวอร์ มีกำลังการผลิตเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังทุกรุ่นรวมสูงสุด 580,000 หน่วยต่อปีด้วย
“หลังจากการออกมาประกาศความชัดเจนของบริษัทแม่ครั้งนี้ คงต้องรอดูกันว่า ท้ายที่สุดแล้ว นิสสัน ประเทศไทย จะมีกำลังผลิตรถยนต์เหลืออยู่เท่าใด และจะมีแผนบริการจัดการ การลดต้นทุนตามแผนงานฟื้นฟูอย่างไรต้องติดตาม”