‘ยูนิเวอร์แซล’ผนึกนิสสัน ใช้’โคบอทส์’ผลิตรถยนต์

เชอร์มิน ก็อตเฟรดเซ็น ผู้จัดการใหญ่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนีย ยูนิเวอร์แซล โรบอทส์ บริษัทพัฒนาและผลิตหุ่นยนต์ ได้ประกาศว่า บริษัท นิสสัน มอเตอร์ ได้ประสบความสำเร็จในการนำแขนหุ่นยนต์รุ่น UR10 ของยูนิเวอร์แซล โรบอทส์ไปติดตั้งใช้งานที่โรงงานในโยโกฮามาประเทศญี่ปุ่น โดยก่อนหน้านี้ มีบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำของโลก ได้แก่ บีเอ็มดับเบิลยูและโฟล์กสวาเกน นำหุ่นยนต์ที่สามารถปฏิบัติงานร่วมกับมนุษย์ได้ หรือ โคบอทส์ (Collaborative Robots: Cobots) ของยูนิเวอร์แซล โรบอทส์ไปใช้ในกระบวนการผลิตอัตโนมัติแล้ว หลังจากที่นำโคบอทส์ของยูนิเวอร์แซล โรบอทส์ไปติดตั้งใช้งาน กระบวนการผลิตของนิสสันก็มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ส่งผลให้สามารถผลิตชิ้นงานได้มากขึ้นและมีเสถียรภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ช่วยประหยัดเวลาและลดต้นทุน ช่วยให้กำลังคนของนิสสันมีอายุมากขึ้นมีภาระงานต้องรับผิดชอบน้อยลงและหมุนเวียนไปปฏิบัติงานใช้แรงงานน้อยลงได้

ก็อตเฟรดเซ็นกล่าวว่า บริษัทได้ร่วมงานกับนิสสันปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตของนิสสันให้เป็นระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมยานยนต์ระดับโลกมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการนำโคบอทส์ไปประยุกต์ใช้เพื่อผลิตชิ้นงานที่มีคุณภาพดีขึ้น นับว่าเป็นเรื่องสำคัญจะทำให้ผู้เล่นในอุตสาหกรรมนี้ยังคงมีความสามารถในการแข่งขันในการตลาด ยูนิเวอร์แซล โรบอทส์เป็นผู้นำเทรนด์นี้ โคบอทส์สามารถช่วยส่งเสริมกระบวนการผลิตอัตโนมัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและช่วยลดความตึงเครียดของพนักงานได้ โคบอทส์ยังสามารถนำไปใช้ในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้า เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ อาหาร รวมไปถึงสินค้าการเกษตรได้อีกด้วย

ก็อตเฟรดเซ็นกล่าวว่า โคบอทส์เป็นสาขาหนึ่งแตกแขนงมาจากอุตสาหกรรมหุ่นยนต์สมัยดั้งเดิม โคบอทส์มีน้ำหนักเบาและสามารถนำไปใช้งานได้สะดวก และมีความยืดหยุ่นในการดัดแปลงเพื่อนำไปประยุกต์ใช้งานในด้านต่างๆ อุตสาหกรรมยานยนต์ใช้โคบอทส์ในกระบวนการต่างๆ หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการหยิบจับ การประกอบ การบรรจุ การจัดเรียง การติดฉลาก การทาสี การควบคุมคุณภาพ และการโหลดเครื่องจักร มูลค่าการตลาดของหุ่นยนต์ทำงานร่วมกับมนุษย์ได้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ในปี 2558 อยู่ที่ 23.56 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ว่าจะพุ่งขึ้นถึง 469.82 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2564 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ในระดับ 64.67% ในระหว่างปี 2558 ถึง 2564

ก็อตเฟรดเซ็นกล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พร้อมจะเติบโตในอัตราสูง ดังนั้น อุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ในระดับ 11% ในระหว่างปี 2553 ถึง 2558 การเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนในอีกไม่นานนี้ คาดว่าจะทำให้ภาษีนำเข้าและส่งออกในภูมิภาคนี้ต่ำลง จะส่งผลให้มีความต้องการยานยนต์คุ้มค่าและผลิตภายในภูมิภาคนี้สูงยิ่งขึ้น ประเทศไทยและอินโดนีเซียเป็นศูนย์กลางการผลิตที่มีความสะดวกเป็นพิเศษในการผลิตยานยนต์เพื่อส่งออกภายในภูมิภาคนี้ รวมถึงภายในทวีปเอเชียและในระดับโลก อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ คิดเป็นประมาณ 12% ของค่า GDP ทั้งประเทศ ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐาน และมีโครงข่ายบริษัทครอบคลุมห่วงโซ่อุปทานซัพพลายเชน (Supply Chain) ในการผลิตรถยนต์ จึงทำให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตยานยนต์อันดับต้นๆ มีส่วนแบ่งตลาดในภูมิภาคนี้ถึง 49% และเนื่องจากมีความต้องการกำลังการผลิตสูงขึ้น ดังนั้น อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยจึงกำลังเข้าสู่กระบวนการผลิตอัตโนมัติโดยใช้หุ่นยนต์สามารถปฏิบัติงานกับมนุษย์ได้ในงานอุตสาหกรรม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image