ทดสอบ”นวัตกรรมเปลี่ยนโลก” อีซูซุ”ดีแมคซ์”ใหม่ 1.9 ดีดีไอ บลูเพาเวอร์

เวลาเช้าจรดบ่ายวันที่ 14 มกราคม 2559 ที่สนามแข่งรถนานาชาติ ออโต้โปลิส อินเตอร์เนชั่นแนล (Autopolis International Racing Course) จังหวัดโออิตะ บนเกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น สื่อมวลชนไทยเกือบ 100 คนไปรวมตัวกันที่นั่น

ภารกิจในวันนั้นคือการทดสอบรถปิกอัพรุ่นใหม่ “อีซูซูดีแมคซ์ 1.9 ดีดีไอ บลูเพาเวอร์ นวัตกรรมเปลี่ยนโลก”

เครื่องยนต์ใหม่ อีซูซุดีแมคซ์ 1.9 ดีดีไอ บลูเพาเวอร์ (Isuzu D-MAX 1.9 Ddi Blue Power) เปิดตัวครั้งแรกในเมืองไทย เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ทุกฝ่ายมองว่า “หดตัว”

ในวันที่เปิดตัวนั้น กลางท้องฟ้ากรุงเทพฯได้ปรากฏดาวหางส่องประกายแสงเป็นลูกไฟดวงใหญ่ … คงจำกันได้

Advertisement

หลังจากอีซูซุดีแมคซ์ 1.9 ดีดีไอ บลูเพาเวอร์เปิดตัว และนำออกจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2558

ปรากฏการณ์ใหม่ที่เรียกว่า “ปรากฏการณ์บลูเพาเวอร์” ก็เกิดขึ้น

เพราะด้วยนวัตกรรมใหม่ที่ทำ “เครื่องเล็ก” แต่มีประสิทธิภาพสูงกว่า “เครื่องใหญ่” ทำให้ประชาชนคนไทยแห่ไปซื้อ แห่กันไปจอง

Advertisement

กระทั่งถึงปัจจุบันหากจองรถวันนี้กว่าจะรับรถก็อีกเป็นเดือน

และด้วยปรากฏการณ์บลูเพาเวอร์จึงดึงดูดให้น่าลองทดสอบขับรถนวัตกรรมเปลี่ยนโลกรุ่นนี้

เมื่ออยากทดสอบ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ ก็ไม่รอช้า รีบแสวงหาสนามทดสอบจนพบออโต้โปลิส อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นสนามแข่งขันรถ จากนั้นออกเทียบเชิญสื่อมวลชนไทยทั้งหมด โดยกำหนดวันดีเดย์ในการทดสอบคือ 14 มกราคม 2559 นี่เอง

สื่อมวลชนไทยที่ร่วมทดสอบรถ
สื่อมวลชนไทยที่ร่วมทดสอบรถ

กระทั่งถึงเวลาคณะสื่อมวลชนจึงเหินฟ้าไปญี่ปุ่น มุ่งหน้าจังหวัดโออิตะ เพื่อไปลองของใหม่บนสนามแข่งรถ

ในวันนั้น นายฮิโรชิ นาคางาวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด เดินทางมาเปิดการทดสอบด้วยตัวเอง โดยมี นางปนัดดา เจณณวาสิน รองกรรมการผู้จัดการ

อาวุโสฯ นายเคียวยะ คนโด้ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสฯ นายวิชัย สินอนันต์พัฒน์ กรรมการบริษัทตรีเพชรฯ

ขณะที่ นายพัฒนเดช อาสาสรรพกิจ เป็นผู้ควบคุมการทดสอบรถปิกอัพอีซูซุดีแมคซ์ 1.9 ดีดีไอ บลูเพาเวอร์ในครั้งนี้

รถอีซูซุดีแมคซ์ 1.9 ดีดีไอ บลูเพาเวอร์นี้ ผลิตออกมาหลายรุ่น อาทิ อีซูซุดีแมคซ์สปาร์ค อีซูซุดีแมคซ์ สปาร์ค 4 คูณ 4 อีซูซุดีแมคซ์ สเปซแค็บ เป็นต้น

แต่ขณะนี้ยังจำหน่ายเฉพาะเกียร์ธรรมดา ส่วนเกียร์ออโต้ 6 สปีด จะเริ่มนำออกจำหน่ายในเดือนมีนาคมนี้

เครื่องยนต์อีซูซุ 1.9 ดีดีไอ บลูเพาเวอร์
เครื่องยนต์อีซูซุ 1.9 ดีดีไอ บลูเพาเวอร์

คำว่า “1.9 ดีดีไอ บลูเพาเวอร์” เป็นชื่อรุ่นของเครื่องยนต์ดีเซล ขนาด 1,900 ซีซี รุ่นล่าสุดของอีซูซุ วิศวกรอีซูซุออกแบบมาใช้กับรถปิกอัพไปจนถึงรถบรรทุกขนาด 5 ตัน

ดังนั้น นอกจากอีซูซุจะใช้เครื่องยนต์รุ่นนี้กับปิกอัพดีแมคซ์แล้ว ในเดือนมีนาคมนี้จะใช้เครื่องยนต์นวัตกรรมใหม่กับรถมิวเอ็กซ์รุ่นใหม่อีกด้วย

ฮิโรชิ นาคางาวะ กก.ผจก. และผู้บริหารตรีเพชรฯ ถ่ายรูปกับปิกอัพอีซูซุดีแมคซ์

สิ่งมหัศจรรย์ของเครื่องยนต์ 1.9 ดีดีไอ บลูเพาเวอร์ ก็คือ เป็นเครื่องยนต์ขนาดเล็กแต่มีประสิทธิภาพเหนือกว่าเครื่องยนต์ขนาดใหญ่กว่า

เหนือกว่าเครื่องยนต์รุ่นเดิม 2.5 ดีดีไอ วีจีเอสเทอร์โบ ขนาด 2,500 ซีซี ที่ได้รับการตอบรับจากทั่วโลกมานานกว่าสิบปี

ถามว่า เหนือกว่าตรงไหน เหนือกว่าอย่างไร?

คำตอบคือ เหนือกว่าตรงที่มีน้ำหนักน้อยกว่าเครื่องยนต์รุ่นเดิม 60 กิโลกรัม ทำให้เกิดผลประหยัดน้ำมันเพิ่มขึ้น 19 เปอร์เซ็นต์ และมีค่ามลพิษต่ำสุด โดยเฉพาะรุ่นสปาร์ค มีค่าคาร์บอนไดออกไซด์ เพียง 161 กรัมต่อกิโลเมตร ซึ่งถือว่าน้อยที่สุดในรถระดับเดียวกัน

เหนือกว่าตรงแรงบิดสูงสุดที่ 350 นิวตัน-เมตรที่ 1,800-2,000 รอบ/นาที

เพิ่มขึ้นกว่าเครื่องยนต์รุ่นเดิม 9 เปอร์เซ็นต์

เหนือกว่าตรงแรงม้าสูงสุดที่ 150 แรงม้า ที่ 3,600 รอบ/นาที

เพิ่มขึ้นกว่าเดิม 10 เปอร์เซ็นต์

อัตราเร่งช่วง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยทีมวิศวกรอีซูซุ พบว่าเร็วขึ้นกว่าเครื่องยนต์เดิม 8 เปอร์เซ็นต์

ส่วนหนึ่งของรถที่เข้าทดสอบ

และก่อนที่จะเปิดตัวเครื่องยนต์ อีซูซุ 1.9 ดีดีไอ บลูเพาเวอร์ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 ทางอีซูซุได้คัดผู้ใช้รถอีซูซุจำนวน 12 คน สลับกันขับรถปิกอัพอีซูซุดีแมคซ์ 1.9

ดีดีไอ บลูเพาเวอร์จากไทยผ่านลาวและไปสิ้นสุดที่เมืองอุรุมชี ซินเจียง ประเทศจีน รวมระยะทาง 5,755 กิโลเมตร

ใช้เวลาทั้งสิ้น 85 ชั่วโมง โดยไม่ดับเครื่องยนต์ ท่ามกลางอากาศและภูมิประเทศสุดโหด แต่เครื่องยนต์ 1.9 ดีดีไอ บลูเพาเวอร์

ก็ทำได้ ถือว่าเครื่องยนต์ทรหดไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว

ย้อนกลับมาที่สนามแข่งรถออโต้โปลิส อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งวันนี้เป็นสนามทดสอบรถปิกอัพอีซูซุ 1.9 ดีดีไอ บลูเพาเวอร์ ได้รับการบอกกล่าวจากนายพัฒนเดชว่า สนามแห่งนี้ก่อสร้างเมื่อปี ค.ศ.1990 สูงกว่าระดับน้ำทะเล 3,000 เมตร มีความยาวทั้งหมด 4,647 เมตร ส่วนที่กว้างสุด 15 เมตร ส่วนที่แคบสุด 12 เมตร

นอกจากนี้ ตัวสนามยังมีระดับความสูงแตกต่างกัน วัดจากจุดต่ำสุดกับจุดสูงสุด ต่างกันถึง 15 เมตร

นายพัฒนเดชนำให้ผู้ทดสอบรถทุกคนนั่งรถบัสสำรวจสนามก่อน 1 รอบ พบเส้นทางมีทางตรงนิดหน่อย มีทางโค้งเยอะ บางโค้งเลี้ยวตอนช่วงลาดลง บางช่วงเลี้ยวช่วงขึ้นเนิน

บางจุดเป็นทางตรงที่ลาดลงต่ำเหมือนลงเขา แล้วมีโค้งรอรับอยู่ด้านหน้า….ดูๆ ไปแล้วก็โหดไม่ใช่เล่น

แต่ดูเหมือนบรรดาสื่อมวลชนสายรถยนต์ที่ช่ำชองการทดสอบรถจะรู้สึกสนุกมากกว่าหวาดผวา

การทดสอบเริ่มต้นโดยเจ้าหน้าที่ตรีเพชรอีซูซุเซลส์จัดรถปิกอัพดีแมคซ์เกียร์ธรรมดา 5 คัน และเกียร์ออโต้ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาช่วงสุดท้ายก่อนนำออกจำหน่าย 1 คัน มาให้ทดสอบ

การทดสอบครั้งนี้เป็นการทดสอบท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บ อุณหภูมิลดต่ำเหลือเลขตัวเดียวเฉียดศูนย์องศา แม้วันที่ไปทดสอบจะมีแดด แต่เมื่อเจอสภาพลมที่พัดกระหน่ำเพิ่มความเย็น ทำให้ทุกคนต้องกระชับตัวเองอยู่ในเสื้อโอเวอร์โค้ตตัวใหญ่ เพื่อสะสมความอุ่น

เมื่อการทดสอบเริ่มต้น รถแต่ละคันทยอยวิ่งออกจากจุดสตาร์ต สัมผัสแรกที่ทุกคนรู้สึกได้คือเสียงเครื่องยนต์ที่เงียบกว่าปกติ

ทราบมาว่าเครื่องที่เงียบเนื่องจากมีการพัฒนาตัวเครื่องด้วยนวัตกรรมใหม่ อาทิ กระเดื่องกดวาล์วแบบลูกกลิ้ง (Roller Rocker Arm) ระบบปรับตั้งระยะวาล์วอัตโนมัติ (Hydraulic Lash Adjuster) สายพานหน้าเครื่องแบบเส้นเดียว (Single Engine Belt) ช่องกักเก็บน้ำมันเครื่องบริเวณเสื้อสูบแบบใหม่ ระบบฉีดจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงแบบ Multi-Injection พร้อมโปรแกรมการฉีดน้ำมันแบบใหม่ เป็นต้น

ทั้งหมดทำให้เครื่องยนต์เดินเรียบ และเงียบจนสัมผัสได้

อีกสัมผัสที่เกิดขึ้นในช่วงต้นของการทดสอบรถปิกอัพรุ่นใหม่นี้คืออัตราเร่งที่ทำได้ทันใจ

หลายคนถึงกับพูดออกมาในทำนองเดียวกันว่า “ฉิว” มากกว่ารถขนาดเดียวกัน

เครื่องยนต์อีซูซุ 1.9 ดีดีไอ บลูเพาเวอร์ นี้มีแรงม้าและแรงบิดมากขึ้นกว่าเครื่องเดิม เพราะระบบการออกแบบห้องเผาไหม้ใหม่ แบบโคลธอยด์-เคิร์ฟ (Clothoid Curve) ที่ให้อากาศหมุนวนไปอย่างต่อเนื่องทั่วถึงทั้งห้องเผาไหม้ ทำให้น้ำมันผสมกับอากาศได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ลดจุดบอดการเผาไหม้บนหัวลูกสูบได้ดีกว่าลูกสูบทั่วไป

ทำให้ทุกๆ อณูน้ำมันส่งเป็นพลังได้อย่างเต็มที่

แล้วยังมีระบบเทอร์โบแปรผัน (VGS Turbo) แบบ Zero Gap ปรับครีบใบพัดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ช่วยให้เครื่องยนต์ตอบสนองดีขึ้นทุกรอบความเร็ว

รวมทั้งท่อไอดีแบบ Free Flow ออกแบบให้อากาศไหลเข้าห้องเผาไหม้ดีขึ้น และอินเตอร์

คูเลอร์ขนาดใหญ่เพิ่มประสิทธิภาพการระบายความร้อน ช่วยลดอุณหภูมิ เพิ่มมวลไอดีก่อนเข้าสู่ห้องเผาไหม้ ทำให้เผาไหม้ได้เปี่ยมพลัง เต็มสมรรถนะ

และเมื่อผ่านพ้นจุดสตาร์ตก็จะพบกับกรวยที่ขวางหน้า ผู้ขับขี่ต้องหักพวงมาลัยนำรถหลบสิ่งกีดขวาง

ตรงนี้เริ่มรู้สึกสัมผัสถึงพวงมาลัยที่ใช้ง่าย ขยับซ้ายขยับขวาได้ตามใจนึก

ระหว่างที่ขับรถผ่านสนามทดสอบ ลองมองหลังผ่านกระจกหลัง ดูกระจกข้างส่องทาง พบขนาดและความคมชัดไม่หลอกตา เพิ่มความรู้สึกมั่นใจในการขับขี่

ภายในห้องโดยสาร สังเกตเห็นหน้าปัดเรืองแสง มาตรวัดแบบ 3D เบาะหนังโทนสีสวย

แต่สิ่งที่สะดุดสายตาก็คือจอภาพขนาด 8 นิ้วที่อยู่ตรงด้านหน้า

ทราบมาว่าจอภาพนี้เป็นจอใหม่ ระบบสัมผัส สามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน ทั้งระบบปฏิบัติการไอโอเอส (ios) และแอนดรอยด์ (Android) มีระบบนำทางใหม่-การค้นหาที่หมาย iSMART NAVI THAILAND แผนที่เวอร์ชั่นล่าสุด อัพเดตง่าย และสามารถใช้งานแผนที่โดยไม่ต้องเชื่อมต่อสัญญาณอินเตอร์เน็ต

และยังมีคุณสมบัติอื่นๆ อีกมากมาย

ความสวยงามนี้มิได้มีเฉพาะภายในห้องโดยสาร หากแต่รูปลักษณ์ภายนอกก็แจ่มขึ้น ทั้งไฟหน้า กระจังหน้า ไฟตัดหมอก ด้านท้าย ล้ออัลลอย ขนาด 18 นิ้ว ล้อขนาด 16 นิ้วที่ดีไซน์ใหม่ เป็นต้น

ย้อนกลับมาที่การทดสอบซึ่งดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ทุกคนที่ขับขี่จะสัมผัสถึงโค้งในสนามทดสอบที่มีมากมาย

โค้งเหล่านี้ทำให้ผู้ขับขี่พบว่า รถปิกอัพอีซูซุ 1.9 ดีดีไอ บลูเพาเวอร์ มีการทรงตัวดี เกาะถนนดี เรื่องนี้นายเคียวยะ คนโด้ อธิบายให้ฟังว่าเป็นเพราะมีการขยับตัวเครื่องยนต์ให้เข้าใกล้ห้องโดยสารมากขึ้น ทำให้การทรงตัวดีกว่าเดิมแบบสัมผัสได้

สำหรับผู้ขับขี่เกียร์ออโต้ จะพบว่าช่วงกลางของสนามทดสอบซึ่งเป็นเส้นทางโค้งแล้วเข้าสู่ทางลาดลงยาวก่อนจะไปถึงโค้งด้านล่าง

ช่วงนี้เมื่อรถพุ่งตัวลงสู่ที่ลาด เกียร์ออโต้จะเชนเกียร์อัตโนมัติ เพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ขับขี่

และเมื่อผ่านช่วงนี้ไป จะเข้าสู่ช่วงท้ายซึ่งเป็นโค้งหลายโค้งขึ้นเนิน ซึ่งปกติแล้วเวลาขับรถปิกอัพขึ้นเนิน หากเป็นเครื่องยนต์เล็กจะรู้สึกต้องลุ้นไปพร้อมๆ กับรถ

เหมือนเอาใจช่วยออกแรงดันขณะเหยียบคันเร่ง เพราะกลัวรถจะไปไม่ไหว

แต่การทดสอบครั้งนี้กลับไม่มีความรู้สึกดังกล่าว ไม่รู้สึกว่ารถจะขึ้นเนินไม่ไหว แม้จะรู้สึกบ้างว่าเครื่องยนต์ต้องทำงานมากขึ้น แต่ทุกอย่างก็ยังขับเคลื่อนไปอย่างปกติ

แทบจะไม่รู้สึกว่านี่คือเครื่องขนาด 1,900 ซีซีเท่านั้นเอง

การทดสอบครั้งนี้สื่อมวลชนเกือบร้อยได้ลองสัมผัสนวัตกรรมใหม่กันทุกคน แต่ละคนที่ขับจะค้นพบประสบการณ์ใหม่จากการทดลอง

น่าสนใจที่ประสบการณ์เหล่านั้นล้วนเป็นประสบการณ์เชิงบวก ยิ่งสื่อมวลชนคนใดที่ช่ำชองการทดสอบรถ ยิ่งบอกเล่าเรื่องราวอันพึงพอใจในนวัตกรรมที่ได้สัมผัสได้หลากมุมหลายมิติ

บอกเล่านวัตกรรมของยานยนต์เครื่องดีเซลที่พัฒนาขึ้น

บอกเล่านวัตกรรมต่างๆ ที่อีซูซุวิจัยพัฒนาและประกอบกลายเป็นเครื่องยนต์

และมีความเห็นพ้องกันว่า นวัตกรรม อีซูซุดีแมคซ์ 1.9 ดีดีไอ บลูเพาเวอร์ ที่ไปทดสอบในครั้งนี้คือนวัตกรรมปิกอัพแห่งโลกอนาคต

สมกับฉายา “นวัตกรรมเปลี่ยนโลกของปิกอัพแห่งอนาคต”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image