เปิดใจเลขาฯ กสทช. ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เคลียร์ทุกปม…ประมูลคลื่น1800ล่ม!

ฐากร ตัณฑสิทธิ์

หมายเหตุ – หลังจาก กสทช.เปิดให้ยื่นเอกสารคำขอเพื่อเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยไม่ปรากฏผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเดินทางมายื่นเอกสารแต่อย่างใด นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดโอกาสให้ “มติชน” สัมภาษณ์พิเศษ อธิบายที่มาที่ไปและสิ่งที่จะดำเนินการต่อไป

กสทช.จะดำเนินการอย่างไรต่อ หลังจากไม่มีผู้ประกอบการเข้ารับเอกสารเพื่อเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์

สิ่งแรกที่ดำเนินการคือทำรายงานเสนอรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานดีอีอยู่แล้ว และในฐานะเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ดูแล กสทช.

สอง รายงานบอร์ด (คณะกรรมการ) กสทช. โดยวันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน ได้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ กสทช.ในเวลา 09.00 น. เพื่อจะหารือถึงการจัดประมูลรอบใหม่จำเป็นต้องมีปรับปรุงเงื่อนไขหรือไม่ โดยตั้งโจทย์ให้พิจารณาร่วมกันคือ 1.เดินหน้าประมูลใหม่ตามเงื่อนไขเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือประมูลใหม่ภายใต้เงื่อนไขใหม่ โดยส่วนตัวมีความเห็นว่าการจัดประมูลรอบใหม่ควรต้องมีการปรับปรุงเงื่อนไขเพื่อปิดจุดอ่อนทั้งหมด

Advertisement

จุดอ่อนในที่นี้ คือ 1.จุดอ่อนในส่วนของดีแทค (บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)) ที่สัมภาษณ์หลายครั้งว่าคลื่นความถี่สูงตั้งแต่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ขึ้นไป ดีแทคมีจำนวนมากเพียงพอแล้ว จึงไม่เข้าร่วมประมูลครั้งนี้ แต่ที่อยากได้คือคลื่นความถี่ต่ำย่าน 700-900 เมกะเฮิรตซ์

2.เหตุผลของเอไอเอส (บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)) ที่ไม่เข้าร่วมประมูล คือเรื่องเงื่อนไขการประมูลไม่เหมาะสม โดยมี 2 เรื่อง คือ 1.ราคาประมูลสูงเกินไปหรือไม่ และ 2.ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ใบอนุญาตละ 15 เมกะเฮิรตซ์ เหมาะสมหรือไม่

ขอตอบเรื่องแรก คือเรื่องราคาประมูลทั้งเอไอเอส และทรู (บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)) ต่างยืนยันว่าราคาประมูลต้องอิงราคาประมูลครั้งก่อน ประเด็นนี้จึงถือว่าจบ ส่วนเรื่องใบอนุญาตเห็นว่าควรปรับใบอนุญาตให้เล็กลง คือใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิรตซ์

Advertisement

3.ประเด็นของทรู มองว่ามีปัญหาเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน จึงตัดสินใจไม่เข้าร่วม เพราะต้องเตรียมจ่ายเงินจำนวนมากถึง 6 หมื่นล้านบาท สำหรับชำระค่าใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งทรูเคยทำหนังสือถึงหัวหน้า คสช.ขอขยายเวลาการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ หากได้รับสิทธิดังกล่าวจึงจะสามารถเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ได้

ทั้งหมดนี้คือจุดอ่อนที่ กสทช.ต้องหาทางปิด

ย้อนกลับมาที่ดีแทคให้เหตุผลการไม่เข้าประมูลว่าไม่จำเป็น เพราะมีคลื่นความถี่สูงเพียงพอแล้ว โดยปัจจุบันดีแทคมีคลื่นความถี่ย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 15 เมกะเฮิรตซ์ มีคลื่นความถี่ย่าน 2300 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 60 เมกะเฮิรตซ์ ทั้งนี้ สามารถใช้งานได้เฉพาะบรอดแบนด์ความเร็วสูงเท่านั้น ไม่สามารถใช้วอยซ์ได้

ส่วนกรณีที่ดีแทคคิดว่าถ้าไม่เข้าประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ แล้วจะสามารถเข้าสู่การเยียวยาได้นั้น ขอชี้แจงว่าการเข้าสู่การเยียวยาได้ต้องเป็นกรณีที่ กสทช.ไม่สามารถจัดการประมูลได้ทันกำหนด เป็นเหตุให้กระทบถึงลูกค้าที่ใช้งาน กรณีนี้เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายหรือเกิดความไม่สะดวกสบายต่อประชาชน กสทช.จะดำเนินการเยียวยาให้ แต่กรณีนี้ กสทช.สามารถจัดการดำเนินการประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ได้ก่อนที่สัญญาสัมปทานระหว่างดีแทคและแคท (บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด) จะสิ้นสุด หากว่า กสทช.ยอมเยียวยาให้ตามที่ดีแทคร้องขอ ถือว่าจะเป็นธรรมต่อประเทศหรือไม่ ในความเห็นส่วนตัวมองว่าไม่เป็นธรรมต่อประเทศชาติ

เตรียมแนวทางเสนอบอร์ด กสทช.เรื่องอะไรบ้าง

ในการเสนอแนวทางเพื่อจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ใหม่ต่อที่ประชุมบอร์ด กสทช.วันที่ 27 มิถุนายนนี้ เบื้องต้นจะมีเรื่องการจัดประมูลใหม่ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม คือลดใบอนุญาตให้เล็กลงจากใบอนุญาตละ 15 เมกะเฮิรตซ์ เป็นใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิรตซ์ ประเด็นต่อมาคือเรื่องการขอเยียวยาของดีแทค และเรื่องการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่ดีแทคต้องการ ซึ่ง กสทช.ได้ชะลอการประมูลไว้ก่อน เนื่องจากมีโครงการรถไฟความเร็วสูง (โครงการรถไฟไทย-จีน) จะมีการใช้คลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์เช่นกัน จำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ จึงเกรงว่าอาจจะมีปัญหาคลื่นแทรกซ้อนหรือรบกวนกันได้ ดังนั้นหาก กสทช.อนุมัติให้เปิดใช้คลื่นความถี่เดียวกันทั้งรถไฟความเร็วสูงและสมาร์ทโฟน อาจเกิดความไม่ปลอดภัยขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม กสทช.ยินดีจะเปิดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ให้ หากว่าดีแทคสามารถหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสัญญาณคลื่นรบกวนกันจนก่อให้เกิดปัญหาด้านความปลอดภัยได้

เรื่องราคาประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่มีการระบุว่าแพงเกินไป ถือเป็น 1 ในจุดอ่อนที่ต้องแก้ไขด้วยหรือไม่

ถามว่าราคาประมูลคลื่นแพงไปหรือไม่ แล้วทำไม 2 ค่ายที่ชนะประมูลในครั้งก่อน คือเอไอเอส และทรู ถึงสามารถชำระค่างวดใบอนุญาตคลื่นจนจะครบ 100% เหลืออีกเพียง 25% ของราคาประมูลได้ ที่กำหนดชำระงวดสุดท้ายในเดือนกันยายนนี้ก็จะจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่นครบ 100% ถามว่าแพงไปไหมในเมื่อผู้ชนะประมูลสามารถจ่ายได้ครบ หากว่าการประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์รอบใหม่นี้จะกลับไปใช้ราคาประมูลตั้งต้นของการประมูลครั้งก่อน เริ่มต้นที่ 16,000 ล้านบาท แล้ว กสทช.ต้องหาเงินไปคืนให้ 2 ค่ายที่ชนะประมูลในครั้งก่อนที่เคาะราคาราว 37,000 ล้านบาทหรือไม่ เพราะทั้ง 2 ค่ายก็ต้องเรียกร้องความเป็นธรรมเช่นกัน หากการประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ครั้งนี้มองกันว่าราคาตั้งต้นแพงไป แล้วการประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ในครั้งก่อนที่มีราคาแพงกว่า ซึ่ง 2 ค่าย คือเอไอเอส และทรู ที่ชนะการประมูล ยังเหลือต้องชำระอีกฝ่ายละ 60,000 ล้านบาท ถือว่าแพงไปหรือไม่ อยากถามว่าจะตัดสินใจอย่างไรว่าอะไรคือแพง

การจัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ วันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ภาคเอกชนแสดงความเห็นตั้งแต่ก่อนจะเปิดให้ยื่นซองประมูลว่าไม่ค่อยเห็นด้วยกับเงื่อนไขการประมูล

กสทช.จัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ตามความเห็นของภาคเอกชน มีการสอบถามบริษัทโทรคมนาคมก่อนการจัดประมูลแล้วถึงเงื่อนไขการประมูลต่างๆ ที่การประมูลครั้งนี้แบ่งใบอนุญาตเป็นใบอนุญาตละ 15 เมกะเฮิรตซ์ ก็ยึดตามเสียงส่วนใหญ่ คือเอไอเอส และทรู ขอให้จัดการประมูลตามแนวทางเดิมที่เคยจัดในครั้งก่อน ซึ่งการจัดประมูลในครั้งนั้นคือประมูลใบอนุญาตเป็นใบใหญ่ ใบอนุญาตละ 15 เมกะเฮิรตซ์ ขณะที่ดีแทคเป็นเพียงเสียงเดียวที่ขอให้จัดประมูลใบอนุญาตแบบแบ่งซอยเป็นใบเล็ก คือใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิรตซ์ กสทช.จึงยึดตามเสียงส่วนใหญ่ที่ต้องการ แต่เมื่อจัดประมูลตามเสียงส่วนใหญ่แล้ว ปรากฏว่าไม่มีใครยอมมาร่วมประมูล ในการจัดประมูลรอบใหม่ที่จะเกิดขึ้น กสทช.จะปรับเงื่อนไขโดยยึดตามข้อเสนอของดีแทค คือประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ ใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิรตซ์ กสทช.ได้ทำตามเงื่อนไขของทุกฝ่ายที่เรียกร้อง ไม่ได้คิดจัดประมูลเอง

ตามความคิดของตัวเอง

ส่วนกรณีที่เอไอเอสและทรูขอยืดระยะเวลาชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์งวดสุดท้าย 60,000 ล้านบาท ที่ครบกำหนดชำระในปี 2563 ออกไปก่อนนั้น เรื่องนี้ทุกคนคัดค้าน บอกว่าไม่ควรให้ความช่วยเหลือบริษัทเอกชนทั้งสองแห่ง ซึ่งผมเคยบอกไปแล้วว่าหวั่นใจว่าบริษัททั้งสองจะไม่เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ในครั้งนี้ มาถึงวันนี้ก็เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้จริง เพราะทั้งสองบริษัทมีภาระต้องจ่ายตามเงื่อนไขคิดเป็นเงินจำนวนมาก ตั้งแต่ชำระใบอนุญาตคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์เดิม งวดแรก 50% และชำระส่วนที่เหลือจนครบจำนวนราว 37,000 ล้านบาท ส่วนปีนี้ต้องเตรียมเงินเพื่อการลงทุนพัฒนาสู่ 5จี ราว 70,000-80,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 2563 มีภาระต้องชำระค่างวดใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่เหลือทั้งหมด 60,000 ล้านบาท ซึ่งทรูแจ้งมายัง กสทช.ตรงๆ ว่าหากต้องใช้เงินขนาดนี้ ขณะที่วงเงินกู้เต็มจำนวนแล้วอาจจะไม่ไหว จึงเป็นเหตุผลขอผ่อนผันการชำระค่างวดใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ออกไปก่อน และเป็นเหตุผลที่ทั้งสองบริษัทคือทรูและเอไอเอส ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้า คสช.โดยตรง เพื่อขอให้พิจารณาผ่อนผันยืดการชำระออกไปก่อน

ดีแทคทำเรื่องขอเยียวยาเช่นกัน เพราะมองว่าเป็นกรณีเดียวกับเอไอเอสและทรูที่ขอเยียวยา

กสทช.มีหน้าที่เยียวยากรณีสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายของผู้ใช้บริการที่ยังไม่อาจโอนย้ายไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายอื่นได้ เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นกรณีที่ กสทช.ไม่สามารถจัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ได้ทันก่อนสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุด แต่กรณีนี้ กสทช.สามารถจัดประมูลก่อนสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุด จึงไม่น่าจะใช่เหตุผลของการเยียวยา เป็นคนละกรณีกัน นอกจากนี้ดีแทคให้เหตุผลของการไม่เข้าร่วมประมูลครั้งนี้ว่าเพราะมีคลื่นความถี่สูงเพียงพอให้บริการอยู่แล้ว ไม่ได้แสดงเจตนาหรือประสงค์จะเข้าประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อทดแทนคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่กำลังจะสิ้นสุดสัมปทาน เพื่อไม่ให้ผู้ใช้บริการของดีแทคต้องเดือดร้อน

“หากแม้ว่าดีแทคแสดงเจตจำนงขอประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ในครั้งนี้ โดยถึงที่สุดมีดีแทครายเดียวที่มายื่นรับซองประมูล เป็นเหตุให้ กสทช.ไม่สามารถจัดประมูลได้ กสทช.ก็ยินดีจะเยียวยาให้เพราะเห็นถึงความตั้งใจ

แต่ที่ดีแทคจะขอเยียวยาโดยไม่มีความตั้งใจจะเข้าร่วมประมูลแต่แรก หาก กสทช.ยอมให้เยียวยาตามขอ ถามว่าเป็นธรรมต่อประชาชน ต่อประเทศชาติหรือไม่”

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมบอร์ด กสทช.วันที่ 27 มิถุนายนนี้ กสทช.จะรวบรวมปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นทั้งหมด รวมถึงเรื่องการขอเยียวยาของดีแทคให้บอร์ด กสทช.พิจารณา หากว่ามติที่ออกมาไม่พิจารณาการขอเยียวยาของดีแทค กสทช.จะแจ้งผลให้สาธารณะรับทราบ เพื่อให้ผู้ใช้บริการของดีแทคได้รับทราบเป็นการล่วงหน้าไว้ก่อน

การจัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ครั้งนี้ที่ไม่มีผู้ประกอบการรายใดมารับซองประมูลแม้แต่รายเดียว ยังพอหาแนวทางแก้ไขได้ หรือถึงทางตันแล้ว

โจทย์ครั้งนี้ถือว่าไม่ถึงทางตันแน่นอน ครั้งนี้ถือว่าง่ายกว่าครั้งที่บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด (บริษัทในเครือของบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)) ทิ้งใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูล ครั้งนั้นถือเป็นวิกฤตปี 2558 สำหรับครั้งนี้แค่แก้ไขจุดอ่อนก็สามารถเปิดประมูลใหม่ได้ทันที มั่นใจว่าจะปิดจุดอ่อนได้ทุกจุดและสามารถจัดประมูลใหม่ได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้

โดยหลังจากนี้สิ่งที่ กสทช.ต้องทำมีแนวทางเสร็จแล้ว คือ 1.จะเยียวยาหรือไม่ 2.ปรับปรุงแก้ไขเงื่อนไขการประมูล และ 3.นำเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเร่งด่วนกรณีขอเยียวยาของเอไอเอส และทรู เรื่องยืดชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ งวดสุดท้าย 60,000 ล้านบาท ในปี 2563 ออกไปก่อน เพื่อให้ทั้งสองบริษัทมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะสามารถเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ โดยเรื่องนี้ไม่ใช่อำนาจ กสทช.ที่จะตัดสินใจเองได้ แต่เป็นอำนาจของรัฐบาล

ต้องใช้ ม.44 หรือไม่

คงต้องอาศัยอำนาจของหัวหน้า คสช.ใช้ ม.44 หากสามารถทำได้ทัน กสทช.จะนำเรื่องนี้รวมไปกับแนวทางแก้ไขปัญหาจุดอ่อนทั้งหมดในคราวเดียว เพื่อให้เกิดการประมูลคลื่นรอบใหม่ในเดือนกรกฎาคมนี้ได้

ทำไมต้องรีบดำเนินการจัดประมูลคลื่น

สิ่งที่เป็นห่วงคือการเตรียมตัวเข้าสู่ยุค 5จี ที่รัฐบาลวางแผนไว้แล้ว จึงต้องเตรียมการ แต่นี่กำลังจะเข้าปี 2562 ขณะที่จะเกิด 5จี ปี 2563 เวลากระชั้นชิดเข้ามาแล้ว

หากจัดประมูลคลื่นไม่ได้ตามกำหนดจะกระทบถึงแผน 5จีหรือไม่

ไม่ถึงขนาดนั้น เพราะภาคเอกชนอย่างทรูที่มีเงินลงทุนจำกัดในขณะนี้ หากรัฐบาลตัดสินใจไม่ยืดเวลาชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่ต้องจ่ายจำนวน 60,000 ล้านบาทออกไปก่อน ทรูจะตัดสินใจนำเงินไปลงทุนพัฒนา 5จี มากกว่านำเงินไปประมูลคลื่นความถี่ เพราะทรูมองว่าลงทุนพัฒนา 5จี น่าจะได้ประโยชน์มากกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image