ฐากร ตัณฑสิทธิ์ ‘กางแผนกำเนิด 5G เมืองไทย’

หมายเหตุ – ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงแผนงานและการเข้าถึง 5G ที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตประจำวันของคนไทย หลังจากเทคโนโลยี 5G กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ถูกนำมาใช้ทดแทนระบบ 4G ในปัจจุบัน ด้วยคุณสมบัติและประโยชน์มากมาย ความเร็วเพิ่มขึ้น 10 เท่า ความหน่วงลดลง 5 เท่า เชื่อมโยงเครือข่ายและสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้นถึง 1,000 เท่า ที่สำคัญ รัฐบาลวางเป้าหมายประเทศไทยเข้าสู่เทคโนโลยี 5G ภายในปี 2563


อยากให้พูดถึง 5G ที่จะมาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ

ภาคธุรกิจและประชาชนต้องเตรียมปรับตัวรับมือกับ 5G ที่จะเข้ามาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ 1.อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ หรือไอโอที (Internet of Things) เป็นอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง ที่สิ่งของสามารถเชื่อมต่อสิ่งของนับล้านๆ ตัว ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างต่างๆ อย่างสำคัญ 2.ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือเอไอ (AI) เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ 3.เทคโนโลยีเสมือนจริง (Virtual Reality หรือ VR) และ 4.เทคโนโลยีความจริงแบบแต่งเติม (Augmented Reality AR) สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ต่อไป เมื่อช้อปปิ้งในออนไลน์สามารถลองใส่เสื้อผ้าในโลกออนไลน์ได้ ไม่ต้องเดินทางไปลองที่ร้านค้า

คนไทยรู้จักเทคโนโลยี 5G มากน้อยแค่ไหน

เมื่อพูดถึง 5G ผู้คนจำนวนไม่น้อยยังเข้าใจว่าต้องเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ แท้จริงแล้วไม่ใช่ เทคโนโลยี 5G เป็นได้มากกว่าคำว่าเทคโนโลยี จะเข้ามามีบทบาทสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐาน ต่อไปในอนาคตทุกภาคส่วนที่ทำธุรกิจต้องได้รับผลกระทบจาก 5G ขณะเดียวกันมีหลายคนกังวลว่าจะได้รับผลกระทบจากการถูกดิจิทัลดิสรัปชั่น กระทั่งตัวเองต้องตกงาน หากอธิบายถึงอีกหนึ่งลักษณะ คือผู้คนที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบบริษัทขนาดใหญ่จะมีโอกาสสร้างธุรกิจเป็นของตัวเอง โดยนำอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือที่เกิดขึ้นเมื่อเทคโนโลยี 5G เข้ามาแล้วนำมาปรับใช้ จะมีกำลังการผลิตที่ทัดเทียมกับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้อย่างไม่ยากเย็น ปัจจุบันต้นทุนของระบบ 3G และ 4G อาจมีราคาหยุดอยู่เท่านี้ ต่อไปการเข้ามาของ 5G จะส่งผลให้ต้นทุนของ 3G และ 4G ลดลง

ประโยชน์ที่จะได้รับจากเทคโนโลยี 5G คืออะไร

เมื่อเทคโนโลยี 5G เข้ามา ส่งผลให้ 10 ภาคส่วนต้องปรับตัวอย่างแน่นอน คือ 1.การเงินการธนาคาร คาดว่าต้องปิดตัวลงเรื่อยๆ เนื่องจากความสามารถของเทคโนโลยีมีมากขึ้น ระบบโมบายแบงกิ้งจะเข้ามาแทนที่ 2.ภาคอุตสาหกรรมหันมาพึ่งพาแรงงานหุ่นยนต์ในการผลิตมากกว่าแรงงานคน 3.ภาคการเกษตร เมื่อ 5G เข้ามา ไอโอทีจะช่วยจัดการสภาพแวดล้อม วิเคราะห์ดิน น้ำ และทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดเป็นสมาร์ทฟาร์มมิ่งสอดรับการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน

Advertisement

4.ภาคการขนส่งหรือโลจิสติกส์ มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการขนส่งมากขึ้น 5.ภาคการท่องเที่ยว 6.เทคโนโลยีทางการแพทย์จะพัฒนาขึ้นอย่างแน่นอน เช่น การรักษาทางไกลผ่านระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง การผ่าตัดไม่ต้องให้หมอเดินทางไปผ่าตัดในสถานที่ห่างไกล หรือในกรณีเร่งด่วนที่เรียกว่า เท็กซ์ไทล์อินเตอร์เน็ต หรืออินเตอร์เน็ตแบบสื่อสัมผัส สามารถผ่าตัดหรือทำการรักษาคนไข้ได้เสมือนอยู่ในห้องผ่าตัด

7.การทำงานไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ ทำงานได้ทั้งที่บ้านหรือนอกสถานที่ 8.ภาคการค้า โดยเฉพาะการค้าปลีก ทำเลทองจะเปลี่ยนมาอยู่ในโลกออนไลน์แทบจะทั้งหมด การเช่าพื้นที่ค้าขายจะลดลง 9.ภาคอุตสาหกรรมโทรทัศน์และสื่อดิจิทัลที่ปัจจุบันได้รับผลกระทบอยู่แล้ว เมื่อมี 5G เข้ามาจะเกิดการเปลี่ยนไปอีกขั้น การโฆษณาผ่านโทรศัพท์ที่จะสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น และ 10.ภาครัฐและหน่วยงานของรัฐต้องปรับตัวเพื่อสนับสนุนภาคเอกชนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยไม่อยากเห็นภาครัฐออกกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลเอกชน อยากสนับสนุนการปรับตัวของเอกชน

ในส่วนข้อด้อยของ 5G นั้น ต้องใช้คลื่นความถี่ที่สูงมากหรือคลื่นเทคโนโลยีความถี่ระดับมิลลิเมตร เป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาดำเนินการได้ด้วยข้อมูลจำนวนมาก มีสัญญาณการถ่ายโอนข้อมูลที่มีค่า Latency ต่ำ หรือความล่าช้าน้อยที่สุด ด้วยประโยชน์ดังกล่าวต้องแลกมาด้วยปัญหาต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เพราะว่าสัญญาณที่ส่งผ่านคลื่นความถี่สูงจะส่งผ่านในระยะสั้นเท่านั้น ไม่สามารถเจาะอาคารได้ดี ต้องอาศัยเสาสัญญาณกับเทคนิคอื่นๆ เข้าช่วย จึงน่าสนใจว่าค่าใช้บริการจะเป็นอย่างไร

Advertisement

รัฐบาลเตรียมความพร้อมรองรับเทคโนโลยี 5G อย่างไร

กสทช.ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เน้นย้ำถึงประโยชน์ของเทคโนโลยี 5G โดยตลอด โดยเฉพาะการจัดการประมูลคลื่นความถี่ที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ กสทช.เร่งดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเต็มที่ เพื่อให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) มีคลื่นความถี่ที่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน รองรับ 5G ในอนาคตอันใกล้

โดยเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2561 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคณะกรรมการ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ สําหรับกิจการโทรคมนาคม ทั้งย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์ กำหนดให้วันที่ 9 กรกฎาคม-7 สิงหาคม 2561 เป็นวันประกาศเชิญชวนและรับเอกสารคำขอผู้สนใจเข้าร่วมการประมูลทั้งสองคลื่น จากนั้นวันที่ 8 สิงหาคม เปิดให้ยื่นคำขอเพื่อเข้าร่วมการประมูล วันที่ 9-13 สิงหาคม 2561 พิจารณาคุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าร่วมการประมูล วันที่ 15 สิงหาคม 2561 ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ วันที่ 16-17 สิงหาคม 2561 ชี้แจงกระบวนการประมูล อีกทั้งวันที่ 18 สิงหาคม 2561 จัดการประมูลเคาะราคาคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ และวันที่ 19 สิงหาคม 2561 จัดการประมูลเคาะราคาคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์

สำหรับคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ปัจจุบันใช้งานสำหรับทีวีดิจิทัล ถูกนำมาจัดสรรสำหรับการใช้งานเพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G ภายในปี 2562 อีกทั้งจะสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ เพื่อพัฒนาบริการให้รองรับการใช้งานของประชาชนในอนาคต

ในส่วนภาคเอกชนเตรียมพร้อม 5G แค่ไหน

เอกชนผู้ให้บริการจำเป็นต้องเตรียมแพคเกจการใช้งานข้อมูลให้เหมาะสมกับความต้องการใช้ของผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมแพคเกจราคาไม่สูงเกินไป ไม่ให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค ภาครัฐก็ต้องให้ความสำคัญและเข้าใจเทคโนโลยี 5G รวมถึงการให้ความรู้กับประชาชนถึงประโยชน์ของ 5G ในด้านอื่นๆ นอกเหนือจากการชมคอนเทนต์วิดีโอด้วยความละเอียดสูง

ยิ่งไปกว่านั้น 5G ไม่ได้จำกัดเพียงการใช้งานระหว่างบุคคลต่อบุคคล แต่อนาคตเป็นการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างเครื่องจักรกับเครื่องจักรจะมีบทบาทกับชีวิตประจำวันของคนมากขึ้น ดังนั้น 5 สิ่งที่ต้องเตรียมตัวนับจากนี้ คือเรื่องการเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากรโดยเฉพาะคลื่นความถี่ แผนงานในการรองรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นหลังเทคโนโลยี 5G ถูกใช้งานอย่างจริงจัง กฎ กติกาและมารยาทต่างๆ ในการใช้งาน 5G เทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตรองรับเทคโนโลยี 5G และการเตรียมเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งในด้านโทรคมนาคมและด้านอื่นๆ

มักถูกถามว่าหากประเทศไทยไม่ก้าวเข้าสู่เทคโนโลยี 5G ได้ทันตามกรอบเวลา จะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง เป็นอีกหนึ่งมุมมองที่น่าสนใจ เบื้องต้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เกิดจากภาคอุตสาหกรรมต้องแบกรับต้นทุนการผลิต หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ จะสูงกว่ามาก ส่งผลให้ประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้

ปัจจุบัน ในประเทศต้องอาศัยแรงงานคนเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต แต่เมื่อ 5G เกิดขึ้น จะส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนการผลิตสินค้าในราคาสูงกว่าประเทศอื่นๆ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาคการแข่งขันจะตกต่ำลงไปอย่างแน่นอน รวมไปถึงสินค้าที่ผลิตและส่งออกไปยังต่างประเทศ จะต้องได้รับผลกระทบเช่นกัน

ขณะที่ภาคการเงิน การธนาคาร เมื่อเทคโนโลยี 5G เข้ามา มีการตอบสนองที่รวดเร็วกว่าระบบ 4G ไม่รู้กี่เท่าต่อกี่เท่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น คือภาคการเงิน การธนาคาร ไม่สามารถรองรับการให้บริการกับประชาชนได้อย่างรวดเร็วขนาดนั้นได้

ด้านการรักษาพยาบาลที่เทคโนโลยีใหม่ๆ จะไม่เกิดขึ้น ส่งผลให้การรักษาทางไกลผ่านระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง การผ่าตัด โดยไม่ต้องให้หมอเดินทางไปผ่าตัดในสถานที่ห่างไกล หรือในกรณีเร่งด่วนที่สามารถผ่าตัดหรือทำการรักษาคนไข้ได้เสมือนอยู่ในห้องผ่าตัด ก็จะไม่เกิดขึ้น ท้ายที่สุดแล้ว ประชาชนคือผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

ความร่วมมือระหว่างรัฐกับภาคเอกชนในเทคโนโลยี 5G

ตอนนี้ กสทช.เร่งประสานงานร่วมมือกับโอเปอเรเตอร์ในการส่งเสริมให้เกิดการลงทุน เพื่อสนับสนุนให้เกิด 5G ในปี 2562 หมายความว่าปี 2562 ต้องเริ่มลงทุนแล้วเพื่อรองรับ 5G ที่จะเกิดขึ้นในปี 2563 และเมื่อลงทุนแล้วจะมีหน่วยงานที่เข้ามาใช้งานมาใช้บริการอย่างไร จะเป็นประโยชน์ที่เกิดขึ้น

โอเปอเรเตอร์จะต้องคำนึงถึงการลงทุนที่จะเกิดขึ้นว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่ กสทช.จะกระตุ้นให้กับภาคเอกชนได้มีการดำเนินการในส่วนนี้เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าเมื่อเราต้องการให้เทคโนโลยีเกิดขึ้นในปี 2563 ดังนั้นในปี 2562 เราต้องกระตุ้นให้โอเปอเรเตอร์ตื่นตัวแล้ว

ภาคประชาชนเองต้องสร้างความรับรู้ให้เกิดขึ้น และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือภาคที่จำเป็นจะต้องมีการลงทุนก็คือภาคของผู้ประกอบการ ต้องมีการเตรียมความพร้อมว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร หาก 5G ไม่เกิดขึ้น ภาครัฐจะเข้าไปช่วยเหลืออย่างไร อย่างไรก็ตาม ปริมาณคลื่นความถี่ที่ใช้รองรับ 5G เป็นที่ทราบดีของผู้ประกอบการว่า ต้องมีคลื่นความถี่อยู่ในมือจำนวนเท่าใด อย่างน้อยต้องใช้งานทางด้านดาต้ามาก จากการประเมินมองว่าจะต้องมีคลื่นความถี่ในการใช้งานจำนวน 100 เมกะเฮิรตซ์ขึ้นไป

ฉะนั้น กสทช.ต้องเตรียมความพร้อม หลังจากนี้จะต้องมีการจัดสรรคลื่นความถี่ที่จะให้โอเปอเรเตอร์เข้าร่วมประมูลในราคาที่ดีขึ้นกว่านี้ มีความเหมาะสมกว่านี้ ต้องมีการพิจารณากันอีกครั้งว่า แผนในการประมูลคลื่นความถี่จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ให้เกิดการรองรับเทคโนโลยี 5G เพื่อให้เทคโนโลยี 5G นี้เกิดขึ้นให้ได้


 

เชิญรับฟังการสัมมนาใหญ่ ตอบโจทย์รัฐบาลมีนโยบายเปิดใช้ 5G หรือการสื่อสารไร้สายยุคที่ 5 อันเป็นชุดเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ในปี 2020 หรือ 2563 ซึ่งจะเป็นฐานสำคัญของนโยบายไทยแลนด์ 4.0

การสัมมนาในหัวข้อ “Technology of the Future The Way Forward for 5G in Thailand.” หรือ “ทำอย่างไร ให้ 5G เทคโนโลยีพลิกโลก เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย” จะมีเนื้อหาการอัพเดตสถานการณ์ 5G เปรียบเทียบจากระดับโลก นานาชาติสู่ไทย เส้นทางสู่ 5G ไทย และอุปสรรค คาดหมายผลทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีด้านสื่อสารไร้สายครั้งสำคัญนี้

ปาฐกถาพิเศษจาก นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ผู้บริหาร Huawei ผู้บริหาร 3 ค่ายโทรคมนาคม ที่น่าสนใจ คือวงเสวนา 5G In Thailand : Step to Reality หรือ “แจ้งเกิด 5G ไทย จะต้องทำอย่างไร” ผู้ร่วมเสวนา นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาฯ กสทช., ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI นายสุเทพ เตมานุวัตร์ จาก AIS, นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร จาก DTAC, นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ จาก True, ร.ท.ดร.เจษฎา ศิวรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจโทรคมนาคม

ดำเนินรายการโดย ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ เลขาธิการสมาคมโทรคมนาคม

การสัมมนาจะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคมนี้ เวลา 08.00-12.30 น. ณ ห้อง Infinity 1-2 โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพ (ซอยรางน้ำ) ขณะนี้เปิดให้ลงทะเบียนทาง QR Code และ www.matichon.co.th

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image