ในวิกฤตยังมีโอกาส ถึงเวลาที่รัฐต้องจัดการ ‘นอมินี’ ปัญหาความปลอดภัยอย่างจริงจัง

เป็นที่รู้กันดีว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้ประเทศปีละกว่า 3 ล้านล้านบาทจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศนั้น เป็นอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างอ่อนไหวมาก

ซึ่งหากไม่มีเหตุการณ์ต่างๆ มากระทบการท่องเที่ยวก็ฉลุยไม่มีปัญหา แต่หากมีเหตุการณ์ที่ส่งผลทางด้านจิตวิทยาแล้วก็มีปัญหาทันที

13ชีวิตติดถ้ำหลวง

และล่าสุดดูเหมือนว่าประเทศไทยจะอยู่ในอาการพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก ความวัวยังไม่ทันหายความควายก็เข้ามาแทรก เริ่มจากเมื่อปลายเดือนมิถุนายน ทีมนักฟุตบอลอายุไม่เกิน 16 ปี ของทีมหมูป่าอะคาเดมี่ 12 คนพร้อมโค้ชได้หายเข้าไปในถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย

Advertisement

ซึ่งแรกๆ ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นการหลงธรรมดา แต่เมื่อตามร่องรอย ทั้ง 13 คน ก็ดูหนทางยิ่งมืดมน เพราะเจอแต่ของไม่เจอตัว ทั้งกระเป๋า รองเท้า รอยเท้า และรอยมือตามผนังถ้ำ ยิ่งตามเข้าไปยิ่งลึก และมากยิ่งกว่าก็คือปัญหาเรื่องน้ำท่วมในถ้ำ ด้วยเป็นช่วงที่ฝนตกหนัก น้ำไหลเข้าถ้ำตลอดเวลา สุดท้ายต้องระดมอาสาสมัคร ทหาร ตำรวจหน่วยต่างๆ ระดมค้นหา แต่ก็ยากลำบากเพราะยิ่งหาก็ยิ่งมืดมน จนในที่สุดก็มีการติดต่อผู้เชี่ยวชาญการดำน้ำถ้ำจากต่างชาติเข้ามาช่วยค้นหา จนกระทั่งเจอทั้ง 13 ชีวิตที่เนินนมสาว และนำกลับมาสู่โลกภายนอกได้โดยใช้เวลาทั้งหมด 18 วัน

เรื่องที่เกิดขึ้นมีคำถามว่า กรมอุทยานฯหย่อนยานต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เพราะมีแค่ป้ายเตือนถึงอันตรายและห้ามเที่ยวตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม และในวันที่ทั้ง 13 ชีวิตเข้าไปในถ้ำนั้นไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแลห้ามปราม จึงเกิดเหตุการณ์ลุกลามใหญ่โตจนสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของมวลมนุษย์โลก

ข้อมูลพื้นฐานเป็นสิ่งจำเป็น

Advertisement

โดยเหตุการณ์ที่ถ้ำหลวงนี้ ทำให้รู้ข้อมูลอย่างหนึ่งว่า ไทยเราอ่อนด้อยในเรื่องของข้อมูลของสถานที่เป็นอย่างมาก เพราะเมื่อเกิดเหตุแล้วพบว่า ต่างชาติคือผู้ที่มีข้อมูลรายละเอียดของถ้ำมากกว่าคนไทย ซึ่งข้อมูลรายละเอียดของถ้ำถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากต่อการจะช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในถ้ำให้ออกมาได้ ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องหรือเจ้าของพื้นที่ต้องศึกษาข้อมูลในพื้นที่ของตัวเองอย่างจริงจัง

เรือล่มนักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิต47ศพ

ในระหว่างที่พบทั้ง 13 ชีวิตแล้วแต่ก็ยังไม่ทันได้นำตัวออกมาจากถ้ำ แต่แล้วก็เกิดเหตุเรือล่มจากคลื่นสูงที่ภูเก็ตวันเดียวจำนวน 3 ลำ ประกอบด้วย 1.เรือ “ฟีนิกซ์” ล่มบริเวณเกาะเฮ มีคนบนเรือ 105 คน เป็นนักท่องเที่ยว

89 คน รอดชีวิต 42 คน เสียชีวิต 47 คน 2.ผู้โดยสารพลัดตกเรือ “เซเรนาต้า” ล่มบริเวณเกาะไม้ท่อน ก่อนที่เรือจะล่มหลังจากนั้น 42 คน (นักท่องเที่ยว 35 คน ลูกเรือและไกด์ 7 คน) ช่วยเหลือได้แล้วทั้งหมด และ 3.เรือเจ็ตสกีของนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียล่มกลางทะเล ใกล้เกาะราชา 2 คน ช่วยเหลือได้ทั้ง 2 คน

โดยทั้ง 2 เหตุการณ์แม้รัฐบาลจะให้ความสำคัญเหมือนๆ กัน แต่ดูเหมือนว่าสื่อจะเทน้ำหนักไปยัง 13 ชีวิตในถ้ำหลวงมากกว่า จนเป็นเหตุให้ทางการจีนไม่พอใจ เพราะเข้าใจว่ารัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ทั้งๆ ที่นักท่องเที่ยวจีนประสบเหตุเรือล่มเสียชีวิตจำนวนมาก เพราะถือว่าเป็นเหตุใหญ่น้องๆ

จากเหตุการณ์สึนามิ ภูเก็ตเมื่อปลายปี 2547 อีกทั้งมองว่าทางการไทยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยนักท่องเที่ยวทั้งที่รู้ว่าสภาพอากาศไม่ดี แต่ก็ไม่มีการห้ามหรือเตือนไม่ให้เรือออกทะเล

ในที่สุดรัฐบาลก็แก้อาการเข้าใจผิดของทางการจีนด้วยการดำเนินการมาตรการต่างๆ รวมทั้งการจับกุมเจ้าของเรือ และส่ง นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรีไปอำนวยการเรื่องความช่วยเหลือ ก่อนที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบด้วยตัวเองอีกครั้ง

ขณะที่ฝ่ายตำรวจก็เร่งหาสาเหตุเรือล่ม ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ทัวร์ที่เกิดอุบัติเหตุคือ “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” เจ้าของเรือคือนอมินีของจีน และมีข่าวลือว่านอมินีดังกล่าวกำลังหลบหนีความรับผิดชอบ แต่ก็มีข่าวว่า

เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมเจ้าของเรือได้ที่สนามบิน และวันเดียวกันนั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีถึงกับน็อตหลุดตอกกลับสื่อโซเชียลทางจีนว่า “เขาทำของเขาเอง” นับเป็นการตอกย้ำความนัยยิ่งขึ้นไปอีกจนกระทั่งวันต่อมา พล.อ.ประวิตรต้องออกมาขอโทษ

เพราะต้องไม่ลืมว่านักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทยปีละจำนวนมาก!โดยปี 2560 ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยประมาณ 9.8 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศประมาณ 5.3 แสนล้านบาท ถือเป็นตลาดที่มีการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวดีเกือบ 5 หมื่นบาทต่อคนต่อทริป และคาดว่าปีนี้หากไม่มีเหตุการณ์ใดๆ มากระทบคาดว่านักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้าไทยไม่ต่ำกว่า 11 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 5.5 แสนล้านบาท ส่วนปี 2562 ททท.ตั้งเป้านักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน มุ่งเพิ่มการใช้จ่าย 4% เมื่อเทียบกับปีนี้

ดังนั้นหากปล่อยปละละเลยให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้หายไป ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทยอย่างมหาศาล!

ทุกภาคส่วนจึงได้ร่วมมือร่วมใจในการแก้ปัญหา

ทบทวนมาตรการด้านความปลอดภัย

ทั้ง 2 เหตุการณ์นับว่าเป็นวิกฤตใหญ่ของการท่องเที่ยวไทย เพราะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศในด้านความปลอดภัย เพราะดูเหมือนว่าที่ผ่านมาไทยมีการปล่อยปละละเลยในเรื่องของความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างยิ่ง ทั้งการท่องเที่ยวทางทะเลและการท่องเที่ยวแบบผจญภัย ซึ่งทั้ง 2 รูปแบบนี้นับเป็นการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพเพราะมีค่าใช้จ่ายสูงแทบทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนี้ “นายวีระศักดิ์” จึงตัดสินใจประกาศในวันแถลงแผนการตลาดท่องเที่ยวปี 2562 ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ว่า

“จะไม่ประนีประนอมเรื่องความไม่ปลอดภัย เพื่อให้การดูแลนักท่องเที่ยวดีขึ้นตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง!”

เพราะเรื่องความปลอดภัยคือหัวใจหลักของการท่องเที่ยวในทุกภาคส่วน ซึ่งในเรื่องนี้ “พล.อ.ประยุทธ์” เองก็ได้สั่งการให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้พัฒนาระบบการเฝ้าระวังรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยว โดยให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาตามภาระหน้าที่ พร้อมกำหนดมาตรการในการดูแลนักท่องเที่ยวทั่วประเทศ

ซึ่ง นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. ระบุว่า ททท.มองว่าความไม่ปลอดภัยถือเป็นเรื่องใหญ่ของการท่องเที่ยว ซึ่งจะต้องสร้างมาตรการฟื้นความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา โดยก่อนหน้านี้ก็มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวหลายๆ ครั้ง มีผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันด้านความปลอดภัย

โดยไทยอยู่อันดับ 118 จาก 136 ประเทศ จึงถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันดูแลในฐานะเจ้าบ้านที่ดีเพื่อให้ทุกคนปลอดภัย และควรจะหยิบยกเรื่องความปลอดภัยเป็นวาระแห่งชาติ เพราะคงไม่มีใครอยากไปเที่ยวในที่ที่ไม่ปลอดภัย

พร้อมระบุว่า เจ้าหน้าที่ทั้งภาครัฐและเอกชนจากทุกฝ่ายในประเทศไทยต่างต้องทบทวนมาตรการความปลอดภัยในด้านต่างๆ ในด้านการเดินทาง ทั้งทางน้ำ ทางถนน ทางราง และทางอากาศ อยู่อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนมีการเพิ่มมาตรการต่างๆ เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ และมีการพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อสร้างประสบการณ์การเดินทางที่ดีแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ

โดยการเดินทางทางน้ำนั้น กระทรวงคมนาคมได้ร่วมมือกับกรมเจ้าท่าเพื่อออกมาตรการต่างๆ ในการสร้างความปลอดภัยในการเดินทางทางน้ำ รวมถึงมีการออกคำเตือนไปยังเรือเล็กที่ให้งดออกจากฝั่งในช่วงที่มีพายุ ตลอดจนมีการจัดกำลังพลคอยตรวจสอบตามท่าเรือต่างๆ เพื่อดูแลให้นักท่องเที่ยวสวมใส่เสื้อชูชีพ และไม่ให้เรือบรรทุกผู้โดยสารเกินกว่าอัตราที่กำหนด นอกจากนี้ยังมีการประชาสัมพันธ์มาตรการเพื่อความปลอดภัยต่างๆ ผ่านทางช่องทางออนไลน์ และสถานีวิทยุต่างๆ อีกด้วย

ย้ำทุกภาคส่วนบังคับใช้กฎระเบียบเข้มข้น

นายยุทธศักดิ์ยังได้เน้นย้ำว่า ให้เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะได้รับการเน้นย้ำให้มีบังคับใช้กฎระเบียบต่างๆ อย่างเข้มงวด โดยมาตรการเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางทะเล ได้แก่ 1.ไม่ให้เรือบรรทุกผู้โดยสารเกินกำหนด 2.บังคับให้ผู้โดยสารและลูกเรือสวมเสื้อชูชีพ มิฉะนั้นเจ้าหน้าที่จะไม่อนุญาตให้เรือออกจากท่า 3.ห้ามเรือออกจากฝั่งหากมีพายุเข้า 4.คนขับเรือจะต้องมีใบอนุญาตขับเรือที่ยังมีอายุอยู่ 5.จัดฝึกอบรมภาษาอังกฤษแก่เจ้าหน้าที่ เพื่อให้สื่อสารกับนักท่องเที่ยวได้อย่างชัดเจน

“เรื่องนี้จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ท่องเที่ยวไทยในระยะสั้นบ้าง แต่ที่อยากจะดูคือหลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ จะส่งผลกระทบต่อตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนหรือไม่ แต่เป็นปกติอยู่แล้วที่นักท่องเที่ยวที่ตั้งใจมาประเทศไทยในช่วงนี้และมีโปรแกรมไปเที่ยวตามเกาะจะกังวลและตัดสินใจยกเลิกไปก่อน โดย ททท.ได้รับรายงานว่าในบางพื้นที่ เช่น สำนักงานสมุยและภูเก็ต มีการยกเลิกห้องพักในสัดส่วนน้อยเพียง 10-20% เท่านั้น ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) อยู่แล้ว สิ่งที่ต้องเตรียมตัวคือการรับมือในฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ต่อไป”

โอกาสปรับฐานตลาดจีนเป็นตลาดคุณภาพ

พร้อมบอกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้จะเป็นช่วงปรับฐานตลาดนักท่องเที่ยวจีนครั้งสำคัญ โดยจะมุ่งไปสู่ตลาดคุณภาพมากขึ้น เพราะการทำตลาดคุณภาพคือหนึ่งในความรับผิดชอบของทุกฝ่าย ทั้งผู้ให้บริการ นักท่องเที่ยว และสังคม และมองว่าขณะนี้ยังยากต่อการประเมินว่า เหตุการณ์โศกนาฏกรรมทางทะเลครั้งที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งรองจากเหตุการณ์สึนามิมีผลกระทบต่อตลาดนักท่องเที่ยวจีนซึ่งมีขนาดใหญ่สุดเป็นอันดับ 1 ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมากน้อยแค่ไหน เพราะครั้งนี้มีเรื่องของการกระทำของบุคคลเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องการกระทำของธรรมชาติเพียงส่วนเดียว ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยตอบสนองหรือลดแรงกระแทกต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ ก็คือการร่วมกันรับผิดชอบอย่างตรงไปตรงมา และความกล้าหาญที่จะตัดสินใจแก้ไขเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ

น.ส.ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแม้ยังไม่มีรายงานการยกเลิกห้องพักในทันที แต่ประเมินว่าจะมีผลต่อการตัดสินใจแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยที่จะต้องถูกตั้งคำถามอีกครั้ง เนื่องจากเป็นเหตุการณ์รุนแรง

ทบทวนปราบปรามนอมินีจริงจัง

นอกจากเรื่องความปลอดภัยแล้ว ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ต้องกลับมาทบทวนเรื่อง “นอมินี” หรือการถือหุ้นอำพรางหรือถือหุ้นแทนอย่างจริงจังมากขึ้น โดยไม่มองแค่เหตุการณ์นี้เหตุการณ์เดียว แต่จะต้องไล่ต่อไปเป็นวงกว้าง เพื่อให้เห็นว่าการประกอบธุรกิจที่ไม่เป็นไปในทิศทางที่ควรจะเป็นนั้น ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่และบริหารจัดการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่คนในวงการธุรกิจเอง เป็นธรรมต่อนักท่องเที่ยว เป็นธรรมต่อผู้บริโภค และเป็นธรรมต่อซัพพลายเชน คดีนี้คงไม่ใช่แค่เรื่องราวของคดีเดียว แต่เป็นเรื่องการปรับฐานของทิศทางอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบของนอมินีทั้งหมด

เพราะคำว่านอมินีมักจะมีความหมายในตัวว่า “สมยอม” และความสมยอมนั้นเองทำให้อาการไม่ค่อยปรากฏให้คนภายนอกเห็น คณะกรรมการกลั่นกรองการจดทะเบียนธุรกิจเพื่อป้องกันการประกอบธุรกิจนอมินีต้องเข้าไปอยู่ในงานสนามและคุยกับผู้ประกอบการในซัพพลายเชน จะทำให้กระบวนการทำงานง่ายขึ้นและตรงตามเป้าหมายมากขึ้น

อย่างไรก็ตามล่าสุด เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม กรมการท่องเที่ยว ที่ดูแลเรื่องมัคคุเทศก์และธุรกิจนำเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มีการจัดประชุม “แนวทางการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาการประกอบธุรกิจโดยใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (Nominee) ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว”

โดยที่ประชุมได้หารือเรื่องข้อกฎหมายที่กำกับดูแลการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวที่มีอยู่ในปัจจุบันเพียงพอหรือไม่ ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ รับเป็นเจ้าภาพที่จะเข้าไปศึกษาและตรวจสอบ พร้อมทั้งให้ทุกหน่วยงานกลับไปดู แล้วเสนอแผนระยะสั้นเพื่อออกมาตรการกำกับดูแล ส่วนระยะยาวก็จะบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ดูแลเรื่องการจดทะเบียนธุรกิจ ซึ่งก่อนจดทะเบียนกระทรวงพาณิชย์ก็ได้ตรวจสอบในระดับหนึ่งอยู่แล้ว

แต่การจะพิสูจน์ทราบในเรื่องของการเป็นผู้มาประกอบธุรกิจแทนทุนของต่างชาติหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องมาพิสูจน์ทราบภายหลังการจดทะเบียนแล้ว ต้องดูพฤติกรรม ซึ่งเป็นเรื่องของการตรวจสอบระยะยาว ไม่สามารถตรวจสอบได้ในทันทีทันใด ดังนั้นจึงต้องให้ทุกหน่วยงานกลับไปคิดนำเสนอแผนการจัดการมา แต่เบื้องต้นหลังจากรับฟังปัญหาทั้งหมดแล้วคาดว่าสามารถแก้ไขได้และไม่ลุกลามใหญ่โต

นายอนันต์ วงศ์เบญจรัตน์ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวว่า การตรวจสอบการประกอบธุรกิจนำเที่ยวหรือนอมินี (Nominee) ซึ่งเป็นขั้นตอนการตรวจสอบทั้งก่อนและหลังการจดทะเบียน มี 2 ประเด็นที่ต้องพิจารณาก็คือ การยื่นเอกสาร ถ้ายื่นได้ถูกต้อง อัตราส่วนถูกต้อง ก็ยอมรับได้ว่าเป็นธุรกิจท่องเที่ยวที่สามารถจดทะเบียนได้ โดยมีการตั้งข้อสังเกตไว้ว่าหลังจากประกอบกิจการไปแล้วสักพัก มีพฤติกรรมอย่างไร เข้าค่ายเป็นนอมินีหรือไม่ โดยจากการลงพื้นที่ตรวจสอบได้พบว่ามีบริษัทที่เข้าข่ายเป็นนอมินีจำนวนมาก ซึ่งไม่เพียงเฉพาะบริษัทนำเที่ยวเท่านั้น แต่ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อีกค่อนข้างเยอะ เช่น ร้านอาหาร ร้านขายของ หรือบริการที่พัก แต่ส่วนนี้อยู่นอกเหนืออำนาจของกรมการท่องเที่ยว

ในตอนนี้มีแผนระยะสั้น แต่ต้องคำนึงถึงบรรยากาศและทิศทางในการท่องเที่ยวของประเทศด้วยว่าจะมีผลกระทบอะไรบ้าง จะมีแผนในการทำงานอย่างไร

ด้าน นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กล่าวว่า ช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงจังหวะที่ดีที่เราจะได้เริ่มจัดการเรื่องการเยียวยาผู้ประสบภัยอย่างจริงจัง โดยภาคเอกชนและภาครัฐจะดำเนินการจัดการไปพร้อมๆ กัน

แหละนี่คือโอกาสที่ไทยจะใช้วิกฤติดังกล่าวกลับมาพิจารณาเรื่องต่างๆ อย่างจริงจัง เพื่อนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยว

อย่าเป็นเพียงแค่ลมปาก หรือตีฆ้องร้องป่าวแค่ประเดี๋ยวประด๋าว พอเหตุการณ์ผ่านไปคนลืม ทุกอย่างก็เข้าสู่วังวนเดิมไม่สิ้นสุด!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image