จับตาโยกเงินน้ำมัน อุ้มแอลพีจี 3 พันล. ดูแลปชช. ระวัง! จะกลายวัวพันหลัก!!

หากย้อนเวลากลับไปช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หรือเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในสมัยนั้น มีมติให้วันที่ 1 สิงหาคม 2561 มีการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) หรือก๊าซหุงต้ม ชื่อที่ชาวบ้านคุ้นเคย โดยมติ กบง.ดังกล่าว ถือเป็นการเปิดเสรีเต็มรูปแบบทั้งระบบในรอบกว่า 30 ปี

ครั้งนั้นกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง บัญชีแอลพีจี มีรายรับสุทธิอยู่ที่ 131.82 ล้านบาทต่อเดือน ถือว่าสภาพคล่องสวยงาม เพราะยังไม่นับรวมฐานะสุทธิ ที่มีเงินในกระเป๋าอยู่แล้วถึง 6,448 ล้านบาท เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2560 ขณะที่บัญชีน้ำมันสำเร็จรูปมีเงินอยู่ที่ 33,221 ล้านบาท รวมเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงทั้ง 2 บัญชีมากถึง 39,669 ล้านบาท

ด้วยรูปแบบการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซแอลพีจีทั้งระบบมีผลให้ต้องยกเลิกการกำหนดราคาโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน และโรงอะโรเมติก ยกเลิกการกำหนดราคา ณ โรงกลั่นที่อ้างอิงราคานำเข้า ซึ่งเป็นราคาซื้อ

ตั้งต้นแอลพีจี และยกเลิกการประกาศราคาขายส่ง ณ คลังก๊าซ เพื่อให้ตลาดแอลพีจีมีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ และใช้วิธีติดตาม และประกาศเฉพาะราคาอ้างอิงตลาดโลกของซาอุดีอาระเบีย เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำกับดูแลราคาขายปลีกแอลพีจีในประเทศ

Advertisement

แยกราคาผู้มีรายได้น้อย

แม้ตามนโยบายจะเรียกว่าการเปิดเสรีที่ราคาลอยตัวตามกลไกตลาด แต่กระทรวงพลังงานยังคงดูแลผู้มีรายได้น้อย โดยมอบให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รับภาระอุดหนุนผู้มีรายได้น้อย ตามโครงการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ภาคครัวเรือน ให้ได้ใช้ก๊าซแอลพีจีราคาถูกกว่าราคาลอยตัว

อย่างไรก็ตาม กลไกเปิดเสรีแอลพีจีก็ใช่ว่าจะเดินหน้าไปอย่างราบรื่น ด้วยความที่เป็นเรื่องใหม่ต่างกับน้ำมันที่ลอยตัวมานาน จึงมีหลายหลักเกณฑ์ที่ต้องปรับแก้ ดังนั้น ช่วงเดือนพฤศจิกายน กบง.จึงอนุมัติหลักการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาแอลพีจี

Advertisement

ให้มีกลไกคล้ายน้ำมันมากขึ้น โดยหลักเกณฑ์ใหม่จะใช้ค่าเฉลี่ยของราคาแอลพีจี คาร์โก้ เป็นรายสัปดาห์ แทนราคาตลาดโลก (ซีพี) ของซาอุดีอาระเบีย ในการคำนวณราคา ณ โรงกลั่น เพื่อให้ราคาขายปลีกอ้างอิงปลายทางไม่ผันผวน และกระตุ้นให้ตลาดค้าปลีกแอลพีจีเกิดการแข่งขันมากขึ้น

โลกผันผวนดันน้ำมัน-แอลพีจีพุ่ง

โดยสถานการณ์ราคาแอลพีจีตลาดโลก ที่เป็นปัจจัยหลักต่อราคาขายปลีกในไทยนั้น ตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปีที่ผ่านมาจนถึงช่วงต้นปีก็ยังไม่หวือหวาอะไร ขึ้นลง

เล็กน้อยตามปกติ จนกระทั่งช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมปีนี้ ราคาพลังงานทั้งระบบปรับตัวสูงขึ้นจากความกดดันของสถานการณ์โลก ทั้งปัญหาการเมืองระหว่างประเทศของประเทศมหาอำนาจต่างๆ จนถึงสงครามการค้าที่มีชนวนมาจากนโยบายเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันของไทยผันผวน โดยเฉพาะราคาดีเซล ที่ผู้ใช้น้ำมันหลายฝ่ายโดยเฉพาะภาคขนส่ง ออกมาเรียกร้องให้ตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร

ขณะที่ราคาแอลพีจีเอง ก็ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของโลกเช่นกัน เพราะผลจากการประกาศราคารายสัปดาห์ ทำให้ใน 1 เดือน ราคาแอลพีจีขึ้นลงค่อนข้างสูง เมื่อรวมกับขนส่งก็ทะลุ 400 บาทต่อถังขนาด 15 กก.ไปแล้ว ทำให้ภาครัฐต้องเร่งหามาตรการดูแล

“ศิริ”สั่งตรึงทั้ง2ชนิด

โดยวันที่ 24 พฤษภาคม นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติบรรเทาผลกระทบประชาชนจากการขึ้นราคาของก๊าซหุงต้ม ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับสูงถึง 395 บาทต่อถัง (15 กก.) หรือปรับขึ้น 40 บาทต่อถัง โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนแอลพีจีชดเชยเพิ่มขึ้น เพื่อให้ราคาแอลพีจี

ลงมาอยู่ในระดับ 363 บาทต่อถัง (15 กก.) โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคมเป็นต้นไป โดยคาดว่าราคาแอลพีจีในตลาดโลกในช่วงฤดูร้อนนี้ จะลดลงสู่ภาวะปกติเป็น 363 บาทต่อถัง (15 กก.) ในระยะต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติบรรเทาผลกระทบประชาชนจากการขึ้นราคาของน้ำมันดีเซล ด้วยการตรึงราคาดีเซลให้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พร้อมกับการพัฒนาน้ำมันดีเซลบี 20 ที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซลสูงถึง 20% เพื่อนำมาช่วยเหลือภาคขนส่ง รถสาธารณะ ที่เรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ โดยเปิดตัวน้ำมันดังกล่าวที่มีราคาถูกกว่าดีเซลบี 7

ถึง 3 บาทต่อลิตร ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

จากมติตรึงราคาแอลพีจีและดีเซลดังกล่าวจึงเข้าสู่เทศกาลอุดหนุนราคาจากรัฐบาลอย่างเต็มรูปแบบ เพราะหวังว่าช่วงเดือนมิถุนายนยาวไปก่อนเข้าฤดูหนาว ราคาพลังงานจะปรับลดตามปริมาณการใช้

แต่จนถึงปัจจุบัน ดูเหมือนสถานการณ์จะไม่เป็นใจ เพราะราคาพลังงานโลกยังผันผวนขึ้นลงในระดับสูง ซึ่งในส่วนของน้ำมันนั้น มีฐานบุญจากเงินกองทุนน้ำมันที่มีค่อนข้างมากอยู่ ล่าสุด ณ วันที่ 15 กรกฎาคม กองทุนน้ำมัน บัญชีน้ำมัน มีฐานะสุทธิ 29,673 ล้านบาท พร้อมกับมีน้ำมันบี 20 เป็นเครื่องมืออุดข้อเรียกร้องภาคขนส่งที่ชอบโอดครวญยามน้ำมันดีเซลแพง

กระอัก!กองทุนฯติดลบ117ล้านบาท

ขณะที่แอลพีจีปฏิเสธไม่ได้ว่าฐานบุญมีค่อนข้างน้อย ทั้งเงินก้นถุงที่เริ่มแรกไม่ได้มากมาย แถมไม่มีรายได้ที่หลากหลายเช่นเดียวกับบัญชีน้ำมัน ที่มีการจัดเก็บน้ำมัน 2 กลุ่มหลัก คือ เบนซินและดีเซล ที่ราคาตลาดโลกต่างกัน ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลผู้ใช้ทั้งกลุ่มครัวเรือนและขนส่ง โดยเฉพาะภาคขนส่ง หากปล่อยให้ราคาแอลพีจีพุ่งปรี๊ดและไม่เบรกเลย กลุ่มรายได้น้อยไปถึงปานกลางที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ จะได้รับผลกระทบหลัก อาทิ ค่าอาหาร เพราะคนไทยใช้แอลพีจีเป็นเชื้อเพลิงหลักในการประกอบอาหาร

ทั้งนี้ พบว่าตลอดเวลาที่ราคาแอลพีจีตลาดโลกพุ่งขึ้น ราคาในประเทศก็ขยับตาม ทำให้เงินกองทุนบัญชีแอลพีจีร่อยหรอลง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

จึงสั่งการให้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ศึกษาแนวทางรับมือ ซึ่ง สนพ.ก็ได้ศึกษาแนวทางรองรับไว้ อาทิ 1.วิธีการเหนียวหนี้ หรือการชะลอการจ่ายเงินให้โรงกลั่นและโรงแยกฯ 2.ยืมเงินกองทุนน้ำมันมาชดเชยบัญชีแอลพีจี ซึ่งแนวทางนี้จะไม่มีภาระดอกเบี้ย และ

3.กู้เงินจากสถาบันการเงินต่างๆ มาอุดหนุนราคา จากทางเลือกนี้ ความเป็นไปได้มากที่สุด คือ การยืมเงินกองทุนน้ำมัน บัญชีน้ำมันมาช่วย แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ไม่ให้บัญชีน้ำมันเกิดวิกฤตเป็นหนี้มากถึง 80,000 ล้านบาท เหมือนในอดีตที่ผ่านมา

ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2561 ฐานะสุทธิของบัญชีแอลพีจีติดลบไปแล้วถึง 117 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงพลังงานทราบสัญญาณความร่อยหรอของบัญชีนี้ดี กบง.จึงมีมติเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 อนุมัติให้นำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของบัญชีน้ำมันไปอุดหนุนราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ภาคครัวเรือน เพื่อตรึงราคาขายปลีกตลอดทั้งปีให้อยู่ที่ 363 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม (กก.)

“ที่ประชุม กบง.อนุมัติให้มีการนำเงินกองทุนในส่วนของบัญชีน้ำมันมาอุดหนุนแอลพีจีได้ไม่เกิน 3,000 ล้านบาท เพื่อตรึงราคาก๊าซหุงต้มถังตลอดทั้งปี แต่หากยังไม่เพียงพอ จะต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุม กบง.เพื่ออนุมัติเงินอุดหนุนเพิ่มเติมต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อภาคประชาชน” แหล่งข่าวจากระทรวงพลังงานให้ข้อมูลไว้

แต่ดูเหมือนข่าวที่ออกมา ซึ่งสื่อหลายฉบับพาดหัว “แอลพีจีถังแตก” จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งไม่เป็นสุข เพราะได้ให้สัมภาษณ์ ปฏิเสธฐานะกองทุนน้ำมันบัญชีแอลพีจีว่ายังดีอยู่ “ได้สอบถามไปยังกระทรวงพลังงานแล้ว ซึ่งทางกระทรวงยังยืนยันว่า คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้อนุมัติเงินสนับสนุนลงไปอีก 1,000 ล้านบาทแล้ว เพื่อรักษาระดับราคาแอลพีจีที่ 363 บาทต่อถัง ซึ่งคาดว่าจะเพียงพอจนถึงสิ้นปี 2561 ระหว่างนี้ก็จะพิจารณาปรับโครงสร้างราคาเพื่อลดภาระกองทุน ซึ่งก็ต้องแก้ปัญหากันไปแบบนี้ ถ้าเราไม่มีมาตรการทยอยดำเนินการไปก็ลำบาก”

ข้อมูลดังกล่าว เหมือนนายกรัฐมนตรีจะฟังไม่ละเอียด เพราะสุดท้ายมติ กบง.ก็ระบุชัดว่า มีการโยกเงินบัญชีน้ำมันมาอุดหนุน 3,000 ล้านบาทจริงซึ่งแนวทางการหยิบยืมเงินบัญชีน้ำมันมาอุดหนุนแอลพีจีนั้น ในทางปฏิบัติของกระทรวงพลังงานตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้แปลกใหม่ใดๆ แต่ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใด กระทรวงพลังงานจึงมุมมิบกับมติการประชุมดังกล่าว ประชาชนทั่วไปมาทราบเรื่องผ่านสื่อมวลชนก็เข้ากลางเดือนกรกฎาคมไปแล้ว???

กบง.แถลงยืมเงินน้ำมันอุ้ม3พันล.

ล่าสุด นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) แถลงถึงการประชุม กบง.เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ว่า “กบง.ได้พิจารณาสถานการณ์แอลพีจี พบว่า ลดลงเล็กน้อยตามราคาน้ำมันโลก ราคาอยู่ที่ 560 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่เนื่องจากราคาแอลพีจีต้องใช้ค่าเฉลี่ยทั้งโรงแยกก๊าซในประเทศ หน้าโรงกลั่น และราคาน้ำมัน จึงทำให้ราคาขายปลีกในปัจจุบันยังคงเดิมก่อนคือ 363 บาทต่อถัง 15 กก. และเงินกองทุนไหลออกจากบัญชีแอลพีจี 565 ล้านบาทต่อเดือน ทำให้ฐานะกองทุนน้ำมันฯบัญชีแอลพีจีจะติดลบมากขึ้น แต่เชื่อว่าการเงินกองทุนน้ำมันฯบัญชีน้ำมันมาดูแลวงเงิน 3,000 ล้านบาท จะสามารถตรึงราคาขายเดิมได้ประมาณ 6 เดือนจากนี้ คือตรึงราคาได้ถึงสิ้นปี

“หากแอลพีจีตลาดโลกลดลง จะทำให้ภาระกองทุนน้ำมันฯบัญชีแอลพีจีลดลงจนกลับมาเป็นบวกได้ เมื่อถึงเวลานั้น กบง.จะรีบคืนเงินคืนให้กับบัญชีน้ำมันทันที” นายทวารัฐกล่าว

ผู้อำนวยการ สนพ.ยังระบุว่า เพื่อให้บัญชีแอลพีจีมีรายได้เพิ่มขึ้น กบง.ยังมีมติเก็บเงินจากกรณีที่ผู้ผลิตมีการส่งออกแอลพีจี ปัจจุบันคือ ปตท. โดยรายละเอียดจะมีการเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 3 สิงหาคมนี้ และเพื่อให้การบริหารราคาแอลพีจีมีความคล่องตัวจึงปรับการประกาศราคาขายเป็นทุกสองสัปดาห์ จากปกติจะประกาศทุกสัปดาห์ โดยจะมีผลบังคับใช้วันที่ 31 กรกฎาคมนี้ เป็นการส่งสัญญาณว่า กระทรวงพลังงาน กำลังหันมาปรับแนวบริหารแอลพีจีใหม่ เพื่อกู้สถานการณ์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง บัญชีแอลพีจี ให้กลับมาเป็นบวกเร็วที่สุด

ควรชี้แจงปชช.ทราบกลไกอนาคต

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากมติ กบง.ในการยืมเงินบัญชีน้ำมัน 3,000 ล้านบาทมาดูแลแอลพีจีนั้น ประชาชนผู้ใช้แอลพีจีอาจรู้สึกดี รู้สึกโล่ง ที่รัฐบาลมีมาตรการตรึงราคาแอลพีจีไว้ที่ 363 บาทต่อถังขนาด 15 กก. รวมถึงผู้ใช้แอลพีจีขนส่ง ประชาชนที่ใช้รถติดก๊าซแอลพีจี แต่ในรายละเอียดที่พูดถึงแนวทางบริหารในอนาคตจะพบว่า กรณีที่แอลพีจีตลาดโลกลดลง จะเก็บเงินส่วนต่างๆ ใช้หนี้คืน เท่ากับว่าประชาชนเองก็จะไม่สามารถใช้แอลพีจีราคาถูกตามตลาดโลกได้เช่นกัน

เรื่องนี้มีความสำคัญมาก ภาครัฐควรตอกย้ำให้ประชาชนรับทราบ ไม่เช่นนั้นจะมีคนบางกลุ่มที่ไม่หวังดีใช้ประเด็นนี้ในการโจมตีรัฐบาลว่า เหตุใดเมื่อตลาดโลกถูก แต่ประชาชนไม่ได้ใช้ของถูกตาม เพราะรัฐบาลเองประกาศแอลพีจีเสรีแล้ว

นอกจากนี้ ในกรณีเลวร้าย คือ ราคาแอลพีจีในขณะนี้ลากยาวไปถึงฤดูหนาวช่วงสิ้นปี และต่อเนื่องช่วงต้นปียังคงระดับสูง ไม่ได้ลดลงให้รัฐบาลได้พักหายใจ

ก็เท่ากับว่าวงเงิน 3,000 ล้านบาทที่ยืมมาจะไม่เพียงพอ ต้องขยายวงเงินออกไปเรื่อยๆ หากเป็นแบบนี้

ผู้ใช้น้ำมันที่เป็นผู้จ่ายเงินเข้ากองทุนทุกเดือน อาจเริ่มไม่พอใจกับแนวทางบริหารของรัฐบาล กลายเป็นกระแสลบต่อรัฐบาล ที่เวลานั้นฐานเสียงน่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญมากทีเดียว

ทั้งนี้ วิธีการดูแลแอลพีจีด้วยการยืมเงินน้ำมัน

ถือเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดแล้ว แต่กระทรวงพลังงานที่ควรเลิกหมกเม็ดข้อมูลการบริหารงาน ไม่ว่าจะด้วย

เจตนาใดๆ แล้วปรับวิธีการมาเน้นการสื่อสารกับประชาชนให้ทราบข้อเท็จจริง ทราบเหตุผล และเตรียมพร้อมสำหรับราคาอนาคตที่อาจผันผวนได้ทุกวินาที!!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image