คลังเทหมดหน้าตัก ลุ้น สนช.ผ่านกม.ก่อนเลือกตั้ง ไม่จบกระทบรายได้รัฐ!

ก่อนการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า รัฐบาลมีภารกิจสำคัญคือเร่งผลักดันกฎหมายค้างท่อให้แล้วเสร็จ ซึ่งตั้งแต่รัฐประหารในส่วนของกระทรวงการคลัง มีการออกกฎหมายมาไม่น้อยกว่า 100 ฉบับ ทั้งกฎหมายของรัฐวิสาหกิจในสังกัด กฎหมายกรมภาษี กฎหมายด้านการเงิน กฎหมายดูแลสวัสดิการ บางฉบับก็ออกมาบังคับใช้แล้ว แต่ก็ยังมีกฎหมายค้างอยู่อีกหลายสิบฉบับ ผู้บริหารกระทรวงการคลังมีความหวังว่ากฎหมายดังกล่าวต้องจบในรัฐบาลนี้ ถ้าไม่จบรอให้รัฐบาลชุดใหม่มาผลักดันอาจยากที่กฎหมายจะผ่านการพิจารณา

๐ลุ้นผ่านสนช.ทุกฉบับ
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในช่วงก่อนการเลือกตั้งสิ่งที่อยากทำคือผลักดันกฎหมายที่ยังค้างอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา 20 ฉบับ และค้างอยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีก 10 ฉบับ ต้องผลักดันให้จบในรัฐบาลชุดนี้ เพราะถือว่าเป็นเรื่องสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

นายอภิศักดิ์กล่าวว่า ยังมีความมั่นใจว่ากฎหมายของกระทรวงการคลังที่ค้างอยู่จะผ่านทั้งหมด เพราะกฎหมายดังกล่าวเป็นการสร้างพื้นฐานให้อนาคต เช่น กฎหมายอีเพย์เมนต์ (พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ…. เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ) กฎหมายอีบิสซิเนส (ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ…. เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์) ถ้าไม่ออกภายในรัฐบาลชุดนี้ยังเชื่อว่าในอนาคตคงกฎหมายดังกล่าวน่าจะถูกผลักดันต่อ

๐หวั่นกระทบรายได้-งบสมดุล
นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังพยายามเร่งผลักดันกฎหมายของกระทรวงทั้งกฎหมายแม่ และกฎหมายลูกที่ยังค้างท่อกว่า 80 ฉบับก่อนการเลือกตั้งในปี 2562 เพราะหากไม่ผ่านกฎหมายดังกล่าวถูกตีกลับมายังกระทรวงการคลัง และต้องเสนอรัฐบาลใหม่พิจารณา ซึ่งถ้ารัฐบาลใหม่ไม่เห็นด้วยกฎหมายดังกล่าวถูกพับหรือยกเลิกไป

Advertisement

หากเป็นเช่นนั้นก็จะมีผลกระทบต่อรายได้ของรัฐบาลในอนาคต และอาจกระทบต่อแผนงบสมดุลที่รัฐบาลกำหนดไว้ในอีก 11-12 ปีข้างหน้า ซึ่งงบสมดุลคือการที่ไทยจะมีรายรับเท่ากับรายจ่าย ทำให้ประเทศไม่ต้องกู้เงินมาใช้

นายประสงค์กล่าวว่า ดังนั้น กระทรวงการคลังพยายามทำทุกอย่างเต็มที่ เพื่อให้กฎหมายที่ยังค้างอยู่ผ่านการพิจารณา สนช.ก่อนเลือกตั้ง ส่วนจะผ่านได้มากน้อยแค่ไหนนั้นเป็นเรื่องที่บอกยาก เพราะต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ สนช. ถ้าไม่ผ่านผลกระทบจะเกิดขึ้นแค่ไหนคงต้องรอติดตามว่ากฎหมายอะไรจะผ่าน กฎหมายอะไรจะไม่ทัน ตอนนี้ยังตอบยาก

“กฎหมายบางตัวใช้เวลานานกว่า 1 ปี ในการร่างกฎหมายและเปิดรับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ เช่น กฎหมายอีเพย์เมนต์ กฎหมายอีบิสซิเนส มีเสียงคัดค้านมาก ก่อนที่จะเสนอกฎหมายต้องทำความเข้าใจกับเสียงคัดค้านดังกล่าว และต้องชี้แจงไปยังผู้คัดค้านให้ครบทุกคน พบว่าผู้คัดค้านบางกลุ่มใช้ข้อความเหมือนกันส่งเข้ามายังกรมสรรพากร ซึ่งกรมต้องทำหนังสือชี้แจงให้ครบทุกรายก่อนจึงจะสามารถเสนอกฎหมายเข้า สนช.จึงทำให้การเสนอกฎหมายล่าช้า และยากกว่าในอดีต”

Advertisement

๐ภาษีที่ดินส่อเค้าเลื่อนยาว
สำหรับกฎหมายอยู่ในการพิจารณาของ สนช.และอยู่ในขั้นตอนกฤษฎีกา ต้องเสนอเข้า สนช.ให้ได้ก่อนวันที่ 30 พฤศจิกายน มีกฎหมายสำคัญ เช่น กฎหมายอีเพย์เมนต์ สาระสำคัญคือกำหนดให้ธนาคารต้องรายงานข้อมูลการฝาก-รับโอนของลูกค้า ที่ทำธุรกิจ 3,000 ครั้งต่อปี หรือฝาก-รับโอนเงินทุกบัญชีรวมกัน 200 ครั้งแต่มียอดรวม 2 ล้านบาทขึ้นไปต่อปี เพื่อให้สรรพากรตรวจสอบภาษีกับธุรกรรมดังกล่าว กฎหมายภาษีอีบิสซิเนส ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) กำหนดไห้ผู้ประกอบการค้าขายและทำธุรกรรมในไทย มีหน้าที่ต้องเสียแวต และหากมีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปีต่อจดทะเบียนแวต ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมาแก้ปัญหาการเสียภาษีออนไลน์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเสียแวต โดยเฉพาะผู้ประกอบการต่างชาติ

ทั้งนี้ มีกฎหมายอยู่ในการพิจารณาชั้นกรรมาธิการ สนช.กว่า 1 ปี เช่น ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ…. ถ้าไม่ผ่านการพิจารณาภายในรัฐบาลชุดนี้คงไม่สามารผลักดันได้อีกแล้ว ในอดีตที่ผ่านมากระทรวงการคลังพยายามเสนอกฎหมายนี้มานานหลายสิบปีแต่ถูกคัดค้านมาโดยตลอด แม้แต่รัฐบาลชุดนี้เองยังมีคนไม่เห็นด้วยมาก เดิมกฎหมายมีกำหนดบังคับใช้ในช่วงต้นปี 2562 แม้จะผ่าน สนช.ก่อนเลือกตั้งอาจต้องเลื่อนกำหนดบังคับใช้ไปเป็นปี 2563 เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ระบุว่ายังไม่พร้อมที่จะจัดเก็บภาษีดังกล่าว

นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ…. อยู่ในการพิจารณา สนช. มีเสียงคัดค้านมาก โดยสาระสำคัญของกฎหมายนอกจากกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจให้มีธรรมาภิบาล บริหารงานโปร่งใส เป็นมืออาชีพ ปลอดการเมืองแทรกแซงแล้ว ในกฎหมายกำหนดให้จัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ หรือโฮลดิ้งคัมปะนี ด้วยการดึง 12 รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ อาทิ ปตท. ทอท. หากไม่ผ่านการพิจารณาในรัฐบาลยุคนี้ คงต้องพับกฎหมายใส่ลิ้นชักไว้อีกนาน

สำหรับกฎหมายอื่นๆ ที่กระทรวงการคลังผลักดัน อาทิ กฎหมายกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ, กฎหมายธุรกิจสถาบันการเงิน, กฎหมายสถาบันการเงินประชาชน ,การแก้ไขกฎหมายสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อเปิดทางให้ทำสลากรูปแบบใหม่, กฎหมายทรัพย์อิงสิทธิ์, กฎหมายการบริหารจัดการบัญชีเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของสถาบันการเงิน และกฎหมายภาษีลาภลอย

๐ผวารายรับไม่พอหนี้พุ่ง100%
มีความเห็นจากนักวิชาการเกี่ยวกับการปฏิรูปกฎหมาย โดย นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การปฏิรูปกฎหมายของกระทรวงการคลังยังค้างอยู่นั้น จำเป็นต้องทำให้แล้วเสร็จก่อนเลือกตั้ง หากรอให้ถึงรัฐบาลเลือกตั้งไม่แน่ใจว่าจะเห็นด้วยกับกฎหมายที่คลังกำลังทำอยู่แค่ไหน โดยเฉพาะกรณีกฎหมายภาษีที่ดิน
พูดกันมาหลายรัฐบาลแต่ยังไม่เคยสำเร็จ และถ้ารัฐบาลชุดนี้ยังไม่สำเร็จ ทำให้ไทยเสียโอกาส

นายนณริฏกล่าวว่า ส่วนในเรื่องกฎหมายกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจนั้น หากไม่สำเร็จในรัฐบาลชุดนี้กังวลใจว่าพอนักการเมืองมาจะมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายดังกล่าว เพราะขณะนี้เริ่มมีนักการเมืองมาพูดถึงหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่ควรจะเป็นแล้ว ในฐานะนักวิชาการ อยากเห็นกฎหมายนี้ถูกผลักดันให้สำเร็จก่อนเลือกตั้ง เพราะเชื่อมือของคนร่างกฎหมายคือ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล และ นายบรรยง พงษ์พานิช ว่าไม่มีผลประโยชน์จากการร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งกฎหมายนี้ถือเป็นการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจครั้งสำคัญ

นายนณริฏกล่าวต่อว่า สำหรับกฎหมายอีเพย์เมนต์ อีบิซิเนส มั่นใจว่าถ้าไม่ผ่านรัฐบาลชุดนี้ รัฐบาลหน้าต้องดำเนินการต่อ นอกจากนี้ ยังต้องการให้ออกกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายวินัยทางการเงินการคลัง ให้จบในรัฐบาลชุดนี้ เพื่อควบคุมดูแลการใช้จ่ายของประเทศ เนื่องจากตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมารัฐบาลทุกรัฐบาลมีการใช้เงินสูงมาก ส่งผลให้ขาดดุลมาตลอด
มองว่าหากเศรษฐกิจไทยเกินกว่า 3.7% รัฐควรมีภาวะเกินดุล และลดการใช้จ่ายกระตุ้นหรือดูแลเศรษฐกิจลง

นายนณริฏกล่าวว่า ไทยจำเป็นต้องปฏิรูปภาษี เพื่อให้รัฐมีรายได้เพียงพอกับรายจ่าย เพราะไม่เช่นนั้นรัฐต้องกู้เงินมาใช้จ่ายมากขึ้น แม้ขณะนี้ไทยจะมีหนี้สาธารณะในระดับ 42% ของจีดีพีถือว่าไม่สูงมาก แต่มีความเสี่ยง 20 ปีข้างหน้า หนี้สาธารณะของไทยสูงถึง 100% เนื่องจากรายจ่ายของภาครัฐมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ถ้าหารายรับไม่ทันต้องกู้เงินมามากขึ้น สร้างภาระให้ลูกหลานต้องมาเป็นหนี้แทน

๐แนะใช้ ม.44 หากจำเป็น
นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายภาษี กล่าวว่า กฎหมายที่กระทรวงการคลังยังค้างท่ออยู่คงต้องผลักดันต่อไป ถ้าเป็นกฎหมายการเงิน รัฐบาลคงต้องเร่งผลักดัน แต่ถ้าไม่ทันต้องใช้กฎหมายเดิมที่ใช้ในปัจจุบัน หรือหากจำเป็นอาจต้องใช้ ม.44 เพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้โดยเร็ว โดยเฉพาะกรณีกฎหมายเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซ (ค้าออนไลน์) ควรผ่านภายในรัฐบาลชุดนี้ ส่วนภาษีที่ดินนั้นควรจะผ่าน แต่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียบางกลุ่มอาจไม่ต้องการให้ผ่าน ดังนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไร

นายอธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กฎหมายภาษีมีความท้าทาย ว่าจะทำอย่างไรจึงกระจายภาษีให้คนกลุ่มอื่นเสียภาษีบ้าง จากขณะนี้กลุ่มมนุษย์เงินเดือนเสียภาษีหนักมาก ดังนั้น ควรต้องมีการกระจายภาษี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและภาษีต้องสร้างความโปร่งใส ตรงนี้เป็นประเด็นที่นักเศรษฐศาสตร์อยากเห็นก่อนเลือกตั้ง ส่วนกฎหมายที่ยังค้างอยู่ของกระทรวงการคลัง ถ้าไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลหน้าจะเดินหน้าต่อหรือไม่ เพราะเราไม่รู้ว่าหลังเลือกตั้งเป็นอย่างไร แต่ถ้าเป็นกฎหมายที่ประชาชนมีส่วนร่วม นักการเมืองน่าจะเคารพสิทธิ และดำเนินการต่อ

๐เอกชนช่วยผลักดัน
ภาคเอกชนอยากให้รัฐบาลเร่งผลักดันกฎหมายที่ค้างท่ออยู่ให้จบก่อนเลือกตั้ง นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เห็นด้วยที่รัฐบาลจะมีการเร่งรัดการแก้กฎหมายหรือยกร่างกฎหมายที่ค้างให้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยกำลังรวบรวมความเห็นและข้อเสนอต่อการแก้กฎหมายคงค้างของภาครัฐของหอการค้าไทยทั่วประเทศ และหอการค้านานาชาติในประเทศไทย คาดว่าจะได้ผลสรุปภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ก่อนเสนอรัฐบาล เพื่อให้เกิดการผลักดันการแก้กฎหมายให้แล้วเสร็จภายใน 4-5 เดือน

นายกลินท์กล่าวว่า กฎหมายที่เอกชนเห็นว่าควรเร่งแก้ไข คือ กฎหมายที่จะช่วยลดอุปสรรค และให้สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล และรองรับสังคมสูงวัย เช่น กฎหมายเกี่ยวกับข้าราชการยังห้ามข้าราชการเกษียณที่รับเบี้ยบำนาญทำงานกับภาคเอกชน หากทำงานแล้วมีรายได้เพิ่ม ต้องถูกยกเลิกเบี้ยบำนาญ นอกจากนี้ อยากให้มีการลดหย่อนภาษีให้ผู้สูงวัยจากรายได้หลังการเกษียณอายุ หรือกฎหมายเรื่องการจ้างงาน ถ้าจ้างสถาบันการศึกษารัฐจะไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่หากจ้างสถาบันการศึกษาเอกชนต้องเสีย รวมถึงควรปรับกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานหรือการลงทุน เช่น ระเบียบตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ที่มีขั้นตอนยุ่งยากและใช้เวลานาน หรือ พ.ร.บ.ผู้ประกอบการธุรกิจคนต่างด้าว เพื่อกระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศ เป็นต้น

๐ร่วมกิโยตินกฎหมาย
ไม่ใช่แค่รัฐที่มีหน้าที่ในการปฏิรูป หรือผลักดันกฎหมาย ภาคเอกชนพยายามมีส่วนร่วม โดย นายกิตติ ตั้งจิตรมณีศักดา เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลและเอกชนกำลังเร่งทำให้สำเร็จก่อนเลือกตั้งคือ ทบทวนกฎหมายที่ล้าสมัยหรือสร้างภาระแก่ประชาชน หากฉบับไหนไม่จำเป็นควรโละทิ้งไป หรือที่เรียกกันว่า กิโยตินกฎหมาย ในส่วนของเอกชนเองจะมีการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาจากต่างประเทศมาช่วยดู โดยพบว่ากฎหมายที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2500 เป็นแสนฉบับ แม้ว่าการดำเนินการทั้งหมดอาจไม่เสร็จก่อนเลือกตั้ง แต่จะมีตุ๊กตาเป็นตัวอย่างที่ต้องดำเนินการ ตรงนี้เป็นความร่วมมือในการแก้ไขกฎหมายระหว่างรัฐ เอกชน และประชาชน รัฐบาลชุดใหม่จะเอาด้วยหรือไม่คงตอบไม่ได้ แต่ถ้าสังคมร่วมกันเรียกร้องน่าจะช่วยผลักดันการดำเนินการนี้ให้เดินหน้าต่อไปได้

นายกิตติกล่าวว่า ส.อ.ท.กำลังรวบรวมความคิดเห็นของสมาชิกในเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายที่รัฐบาลต้องดำเนินการก่อนเลือกตั้ง คาดว่ามีข้อสรุปภายใน 2 อาทิตย์ ในส่วนของกฎหมายที่ค้างท่อเอกชนไม่ค่อยกังวลเท่าไหร่ แต่สิ่งที่กังวลคือกฎหมายที่จะออกมาต้องพิจารณาให้ดี ไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการ หรือเป็นต้นทุนของประเทศ เช่น ร่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กำลังเสนอไปยัง สนช. ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาปรับแก้เพิ่มความเข้มข้นเท่ากับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป General Data Protection Regulation (GDPR) ทำให้เอกชนไทยต้องลงทุนด้านซอฟต์แวร์สูงมาก ในขณะที่สิงคโปร์ติดต่อค้าขายกับยุโรปมากยังออกกฎหมายไม่เข้มข้นเท่าของไทย ตรงนี้หากกฎหมายมีผลออกมาจริง เป็นภาระของผู้ประกอบการมาก

นายกิตติกล่าวว่า ในส่วนกฎหมายภาษีของกระทรวงการคลังในเรื่องอีเพย์เมนต์คาดว่าน่าจะผ่าน สนช.และมีผลบังคับใช้ในรัฐบาลชุดนี้ เพราะเรื่องนี้เป็นเทรนด์ของโลก และเป็นมาตรฐานไทยควรต้องมี กฎหมายทำให้การจ่ายภาษี การเสียภาษีเป็นไปด้วยความสะดวกมากขึ้น ส่วนที่เป็นประเด็นโต้แย้งกรณีที่ให้ธนาคารนำส่งธุรกรรมให้กรมสรรพากรนั้น มองว่าจะช่วยทำให้คนที่หนีภาษีทำได้ยากขึ้น ดังนั้น ควรต้องดำเนินการเพื่อทำให้คนที่หนีภาษีเข้ามาอยู่ในระบบภาษีอย่างถูกต้อง

นายกิตติกล่าวว่า ส่วนกฎหมายภาษีที่ดินนั้นมองว่าเป็นเรื่องยากที่จะผ่านในรัฐบาลชุดนี้ และเอกชนไม่อยากวิจารณ์ เป็นเรื่องที่ซับซ้อน ซึ่งคนบางกลุ่มได้รับผลกระทบจากกฎหมายดังกล่าวต้องเสียภาษีมากขึ้น สิ่งที่อยากเห็นคือ อยากให้มีการแก้ไขในเรื่องภาษีโรงเรือนให้ชัดเจน ลดดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในการเก็บภาษีลงตั้งแต่ปี 2557 ที่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศ ปฏิรูปกฎหมายของกระทรวงการคลังมีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ข้าราชการพยายามคว้าโอกาสในการเสนอกฎหมายที่ถูกใส่ลิ้นชักเก็บมานานหลายสิบปี แต่มีแนวโน้มที่กฎหมายหลายตัวของกระทรวงการคลังอาจไม่ทันเลือกตั้ง หากไม่สามารถผลักดันกฎหมายเกี่ยวข้องกับการเพิ่มรายได้สำเร็จ

ถ้ารัฐบาลใหม่เข้ามาต้องการเงินเพิ่ม ไม่พ้นต้องกู้เงินมากขึ้น หรือขึ้นภาษีที่เรียกเก็บกับประชาชน

ดังนั้น คงต้องจับตาว่าภาษีดาวเด่นทั้งภาษีที่ดิน อีเพย์เมนต์ อีบิซิเนส ตัวไหนจะผ่าน ตัวไหนต้องพับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image