รบ.ตู่เอาใจ ปชช. เท ‘เงิน 2.4 หมื่นล้าน’ คุมดีเซล ลดน้ำมัน 3 บาทให้ จยย.รับจ้าง

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พลันที่การแถลงข่าวผลประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่กระทรวงพลังงาน ของ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน จบลง ก็ถือเป็นการประกาศชัดเจนว่ารัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี จะดูแลราคาน้ำมันดีเซล ตลอดจนราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางแบบสุดลิ่มทิ่มประตู หลังสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นจากหลายปัจจัย

หลากปัจจัยกดดันน้ำมันโลก

ทั้งจากปัจจัยการคว่ำบาตรอิหร่านโดยสหรัฐ ที่กดดันปริมาณการผลิตและการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยความร่วมมือของซาอุดีอาระเบียและรัสเซียเกี่ยวกับการเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อผ่อนคลายอุปทานที่ตึงตัว และปัจจัยจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวลดลง เนื่องจากโรงกลั่นในสหรัฐอยู่ในช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุง

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์น้ำมันโลกมีเพิ่มมากขึ้น หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเหนือระดับ 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบ นอกจากนี้อุปสงค์คาดว่าจะได้รับแรงกดดันจากค่าเงินของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่อ่อนค่าลง อาทิ ค่าเงินรูปี ของประเทศอินเดีย ค่าเงินรูเปีย ของประเทศอินโดนีเซีย และค่าเงินเปโซ ของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งการที่เงินอ่อนค่าลง ทำให้ราคาน้ำมันซึ่งอยู่ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมีราคาแพงขึ้นเมื่ออยู่ในสกุลเงินอื่น ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยจากตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภคสหรัฐ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซน และดัชนีภาคการบริการจีน

Advertisement

กบง.ดูแลใต้3สมมุติฐาน

โดย กบง.มีมติใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปัจจุบันมีฐานะสุทธิ 24,592 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน 28,919 ล้านบาท และแอลพีจีติดลบ 4,327 ล้านบาท แบบหมดหน้าตักเพื่ออุ้มราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ภายใต้สมมุติฐานราคาน้ำมันดูไบ 3 กรณี

กรณีแรก หากราคาน้ำมันดิบดูไบยังไต่ระดับ 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล บวกลบไม่เกิน 2.50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จะใช้เงินกองทุนน้ำมันดีเซลอุดหนุนไม่เกิน 1 บาทต่อลิตร โดยช่วยเหลือ
ได้ถึงเดือนมิถุนายน 2562 รวมเวลา 9 เดือน หรือจนกว่าเงินกองทุนจะหมด

Advertisement

ซึ่งเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ราคาขยับขึ้นราคาเล็กน้อยอยู่ที่ 82.95 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
แต่โครงสร้างราคาน้ำมันดีเซล ล่าสุด ณ วันที่ 12 ตุลาคม ได้มีการใช้เงินกองทุนน้ำมันฯอุดหนุนดีเซลอยู่ที่ 1 บาทต่อลิตร ราคาขายปลีกในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล อยู่ที่ 28.89 บาทต่อลิตร ขณะที่ราคาขายปลีกในต่างจังหวัดขยับเล็กน้อยตามต้นทุนการขนส่ง

กรณีสอง หากราคาน้ำมันดิบดูไบยังไต่ระดับ 85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล บวกลบไม่เกิน 2.50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จะใช้เงินกองทุนน้ำมันดีเซลอุดหนุนไม่เกิน 1.5 บาทต่อลิตร
โดยช่วยเหลือได้ถึงเดือนมีนาคม 2562 รวมเวลา 6 เดือน หรือจนกว่าเงินกองทุนจะหมด

จ่อลดภาษีดีเซล

และ กรณีสาม หากราคาน้ำมันดิบดูไบยังไต่ระดับ 90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หรือมากกว่า จะใช้วิธีผสมผสาน คือ อัดเงินกองทุนน้ำมันดีเซลอุดหนุนมากกว่า 1.5 บาทต่อลิตร พร้อมกับเพิ่มราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 29.89 บาทต่อลิตร และจะใช้วิธีปรับลดภาษีสรรพสามิต ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 5.98 บาทต่อลิตร

แต่หากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบหลังจากนี้ ไม่ได้หวือหวา ไต่ระดับต่ำกว่า 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล กบง.จะลดการชดเชยเหลือ 50 สตางค์ต่อลิตร มาตรการนี้จะสามารถดูแลราคาดีเซลไม่ถึง 30 บาทต่อลิตร ได้นานถึงเดือนมีนาคม 2563 รวมเวลา 18 เดือนทีเดียว

ด้านราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) จะอุดหนุนต่อเนื่อง เพื่อคงราคาขายปลีก 363 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม (กก.) และจะดูแลไปถึงเดือนมีนาคม 2562 แน่นอน

จากมติดังกล่าว นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ยังย้ำว่า มาตรการต่างๆ จะพิจารณาจากราคาน้ำมันดิบดูไบเป็นหลัก ซึ่งจะมีทั้งการใช้เงินกองทุนน้ำมันฯอุดหนุน และใช้การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลร่วมด้วย แต่จะพิจารณาอย่างรอบด้านอีกครั้ง ทั้งนี้ กบง.คาดว่าเมื่อสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2562 ซึ่งเป็นช่วงสิ้นฤดูหนาว ราคาน้ำมันโลกจะลดลง ทำให้สถานการณ์ราคาเข้าสู่ระบบปกติ

น้ำมันไม่พุ่งตามคาด
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดสถานการณ์อาจไม่เลวร้ายอย่างที่หลายฝ่ายกังวล เพราะเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขคาดการณ์ราคาน้ำมันไม่ได้หวือหวาพุ่งถึง 90 เหรียญสหรัฐ ตรงกันข้ามพบว่า ราคามีการปรับลดลงพอสมควร

โดย กบง.รายงานว่า ผลการติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก พบว่าแนวโน้ม
ราคาลดลงหลังจากประเทศซาอุดีอาระเบียประกาศผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยน้ำมันของอิหร่านที่หายไปจากตลาด หลังถูกสหรัฐอเมริกาใช้มาตรการคว่ำบาตร ซึ่งจะมีผลอย่างเป็นทางการวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ ทำให้ตลาดคลายความกังวลจนส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบให้ลดลงด้วย

ขณะที่บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
ว่า ราคาน้ำมันจะทรงตัวในระดับสูง จากการลดการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่าน โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 75-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลส่วนน้ำมันดิบ
เบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 84-89 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ท้ายที่สุดราคาก็ไม่ได้หวือหวามากนัก โดยเฉพาะน้ำมันดิบเบรนท์ที่คาดว่าแตะสูงสุด 89 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ได้ไต่ระดับ
ไม่เกิน 85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

บาทอ่อนเพราะน้ำมัน

ทั้งนี้ ยังมีข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ปัจจุบันค่าเงินบาทที่เริ่มอ่อนค่ามีปัจจัยมาจาก สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีโอกาสทรงตัวในกรอบสูงอีกระยะ เป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันทั้งต่อสถานการณ์เงินเฟ้อ และต่อฐานะดุลการค้าให้การเกินดุลบางลงหรือขาดดุลเพิ่มขึ้น ส่วนอีก 2 ปัจจัยที่ส่งผลค่าเงินบาท
อ่อนค่า คือ ค่าเงินเหรียญสหรัฐ ที่มีแรงหนุนจากสัญญาณคุมเข้มด้วยการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลาง

สหรัฐ (เฟด) และความไม่แน่นอนอื่นๆ อาทิ ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน รวมถึงผลการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐ ซึ่งอาจจะมีผลต่อจังหวะการปรับตัวของเงินดอลลาร์

ขาดพีอาร์ให้ประหยัด
อย่างไรก็ตาม สัปดาห์นี้ต้องลุ้นอีกคำรบว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะเคลื่อนไหวอย่างไร โดยเฉพาะน้ำมันดิบดูไบที่เชื่อมโยงตรงกับน้ำมันขายปลีกในไทย ซึ่งจากนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศช่วยเหลือแบบหมดหน้าตักนั้น เริ่มมีคำถามจากหลายฝ่ายแล้วว่า รัฐบาลขาดการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนประหยัดน้ำมันในช่วงขึ้นหรือไม่

หนึ่งในนั้นคือ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่แม้ไม่บ่นชัดเจน แต่ก็เริ่มกระตุกอย่างเนียนๆ แล้ว โดยระบุว่า ขณะนี้ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมให้สูงขึ้น โดยขณะนี้กระทรวงพลังงานได้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ซึ่งเชื่อว่าจะดูแลประชาชนได้ ขณะเดียวกันก็ติดตามสถานการณ์กองทุนสำหรับเก็งกำไรต่างๆ (เฮดจ์ฟันด์) ว่าจะมีผลต่อราคาน้ำมันมากน้อยแค่ไหน โดยมองราคาน้ำมันดิบที่เหมาะสมควรอยู่ในกรอบ 65-75 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

“เมื่อราคาน้ำมันขึ้นเยอะมากเกินไปก็จะไม่ดีต่อผู้บริโภคและดุลการค้า เพราะเราเป็นประเทศนำเข้าน้ำมันดิบ ปัจจัยหลักของราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นมาจาก ปัจจัยด้านการเมืองที่สหรัฐอเมริกาจะมีมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน รวมถึงเศรษฐกิจของโลกโดยรวมที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และขณะนี้ซัพพลายน้ำมันทั่วโลกลดลง ส่วนของค่าการตลาดที่อยู่ระดับต่ำถือว่ารับได้ เพื่อบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพประชาชน ในช่วงเวลานี้ประชาชนควรใช้น้ำมันอย่างประหยัดด้วย”Ž นายชาญศิลป์ระบุ

ยอดใช้น้ำมัน-ก๊าซ8ด.พุ่ง

ประเด็นรณรงค์ประหยัดการใช้พลังงานนั้น เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับคนไทยจริงๆ เพราะขณะนี้
ราคาพลังงานอยู่ในช่วงขาขึ้น หากดำเนินช้ามากเท่าไร อาจทำให้ประชาชนมีพฤติกรรมที่ไม่ประหยัด และมั่วแต่นั่งรอความช่วยเหลือจากภาครัฐ

ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ ยอดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศในรอบ 8 เดือนแรกของปีนี้
(มกราคม-สิงหาคม 61) มีปริมาณ 37,579 ล้านลิตร เฉลี่ยวันละ 154.6 ล้านลิตร หรือ 972,425 บาร์เรลต่อวัน เป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.3 ล้านลิตร หรือคิดเป็น 3.6% ปรับเพิ่มขึ้นทั้งน้ำมันเบนซิน ดีเซล น้ำมันอากาศยาน น้ำมันเตา ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) โดยคาดว่าปริมาณการเติบโตดังกล่าวมาจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งการลงทุน และการท่องเที่ยว แต่อีกมุมหนึ่ง
ก็อาจมาจากการใช้ที่ไม่ประหยัดด้วยหรือไม่

น้ำมันแพงกระทบเงินเฟ้อ

อีกประเด็นที่ต้องติดตามภายหลังราคาพลังงานทะยานไม่หยุด นั่นคือ เงินเฟ้อ โดยกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า เดือนกันยายน 2561 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เท่ากับ 102.57 สูงขึ้น 1.33% เทียบกับกันยายน 2560 ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงขึ้นติดต่อกัน 15 เดือน และสูงขึ้น 0.29% เทียบกับสิงหาคม 2561 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อช่วง 9 เดือน (มกราคม-กันยายน 2561) สูงขึ้น 1.14% เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น มาจากราคาน้ำมัน โดยราคาพลังงานผันผวนตามทิศทางของสถานการณ์โลก เนื่องจากประเทศทางฝั่งตะวันตกกำลังเข้าสู่ช่วงหน้าหนาว ทำให้มีความต้องการใช้น้ำมันดิบมากขึ้น แต่ก็มีแรงกดดันจากบางประเทศที่ต้องการให้ราคาน้ำมันถูกลง ทำให้ราคาเกิดความผันผวน

จ่อส่วนลดน้ำมันจยย.รับจ้าง

เมื่อค่าครองชีพกำลังทะยานจากราคาน้ำมัน ขณะที่เงินเฟ้อก็ปรับสูงขึ้นจากราคาพลังงาน ล่าสุดรัฐบาล โดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ระบุภายหลังมอบนโยบายให้แก่ผู้บริหาร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ว่า บทบาทของ ปตท. คือ ติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานโลก และหาแนวทางรับมือหากราคาพุ่งสูง และปัจจุบันรัฐบาลกำลังช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการประชารัฐที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงการคลัง โดยจะให้ ปตท.ร่วมกับกระทรวงพลังงานเข้าช่วยเหลือกลุ่มรถจักรยานยนต์ (มอเตอร์ไซค์) รับจ้างให้ได้รับส่วนลดราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95

ประเด็นนี้มีข้อมูลระบุว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างดำเนินการร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 รายอื่น เพื่อจัดทำมาตรการ เบื้องต้นกำหนดกรอบความช่วยเหลือให้ส่วนลดราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ในอัตรา 3 บาทต่อลิตร แบ่งเป็นกองทุนน้ำมันอุดหนุน 2 บาท หรือคิดเป็น 600 ล้านบาทต่อปี
และผู้ค้ามาตรการ 7 รับภาระ 1 บาท หรือคิดเป็น 1 บาทต่อลิตร คาดว่าจะดำเนินการและเริ่มใช้มาตรการดังกล่าวได้ภายในสิ้นปีนี้ หรือไม่เกิน 3 เดือนจากนี้ อย่างไรก็ตาม ความช่วยเหลือนี้จะถือเป็นระยะที่ 1 สำหรับผู้ประกอบอาชีพขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งปัจจุบันทั่วประเทศที่ลงทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกมีประมาณ 2-3 แสนคัน แบ่งเป็นกรุงเทพฯกว่า 1 แสนคัน และต่างจังหวัด แต่หลังจากนั้นรัฐบาลจะดำเนินการในระยะที่ 2 สำหรับผู้ขับมอเตอร์ไซค์ทั่วไปแต่มีฐานะยากจนและถือบัตรสวัสดิการประชารัฐ

โดยรายละเอียดของมาตรการนี้จะมีการหารือและสรุปอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ซึ่งพิจารณาแล้วอัตรา 3 บาทต่อลิตรถือเป็นอัตราเหมาะสม โดยมาตรการดูแลประชาชนผู้ใช้พลังงานประเภทต่างๆ นั้น รัฐบาลดำเนินการอย่างเนื่อง เพราะปัจจุบันมีการอุดหนุนราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ให้กับแท็กซี่ และรถโดยสารสาธารณะ ซึ่ง ปตท.รับภาระอยู่ปีละประมาณ 2,500 ล้านบาท รวมทั้งก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ซึ่งบรรจุอยู่ในบัตรสวัสดิการประชารัฐที่กองทุนน้ำมันฯอุดหนุนโดยการตรึงราคาแอลพีจีไว้ที่ 363 บาทต่อ 15 กิโลกรัม (กก.) โดยกำหนดช่วยเหลือถึงกลางปี 2562

โซเชียลอัด-สอท.วอนคุมพี่วิน

ภายหลังมีประเด็นนี้ออกมา ในโลกออนไลน์พบความเคลื่อนไหว โดยส่วนใหญ่แสดงความไม่เห็นด้วย มีการตั้งคำถามว่านโยบายดังกล่าวควรถามผู้ถือหุ้นก่อน หากทำตามคำสั่งรัฐทันทีควรออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อเป็นหน่วยงานรัฐ 100% นอกจากนี้ยังมีตั้งคำถามถึงการคัดกรองผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ที่ยากจนจริง เพราะปัจจุบันส่วนใหญ่มีรายได้ดีจากการตั้งราคาค่าโดยสารที่สูง ดังนั้น ควรแก้ปัญหาพฤติกรรมมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ชอบโก่งราคาผู้โดยสารก่อน

ขณะที่ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แสดงความเห็นว่า มาตรการความช่วยเหลือนี้หากจัดทำหลักเกณฑ์รัดกุมก็จะเป็นประโยชน์กับผู้มีรายได้น้อยซึ่งประกอบอาชีพขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แต่สิ่งสำคัญที่ภาครัฐควรดำเนินการควบคู่กัน คือ การสอดส่อง หรือกระตุ้นผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างทั่วประเทศมีการปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งการขับขี่ และการกำหนดราคาเป็นธรรม ไม่เอาเปรียบประชาชน ควรใช้โอกาสนี้จัดระเบียบวินมอเตอร์ไซค์พร้อมกับความช่วยเหลือส่วนลดราคาน้ำมัน
เพราะน้ำมันคือสินค้าสำคัญที่ส่งผลต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนั้น การงัดมาตรการต่างๆ ทั้งคุมราคาดีเซล มอบส่วนลดให้ผู้ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จึงเป็นเครื่องมือในการสร้างความนิยมให้กับรัฐบาล
แต่สิ่งสำคัญที่รัฐไม่ควรมองข้ามคือ การออกมาตรการควบคู่ทั้งการประหยัดและการคุมพฤติกรรมพี่วินทั่วประเทศ ไม่เช่นนั้นวงจรประชานิยมที่เสียมากกว่าดีจะวนเวียนแบบนี้
ตลอดไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image