กะเทาะหนี้ครัวเรือน… ไม่กังวล? คนไทยเสี่ยงผิดชำระเพิ่ม…ระวังซ้ำรอยวังวนศก.

ด้วยสถานการณ์รายได้ที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าการก่อหนี้ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เป็นปัญหาที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงอีกระรอกหนึ่ง จากความกังวลการก่อหนี้เกินตัวของครัวเรือนที่จะส่งผลต่อการชำระหนี้คืนได้

หนี้ครัวเรือนเพิ่มต่อเนื่อง

โดยเฉพาะหลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้แถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 3 ปี 2561 โดยมีการเปิดเผยถึงแนวโน้มหนี้สินครัวเรือน ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ว่า หนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พิจารณาจากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัว 8.4% นอกจากนี้สินเชื่อธุรกิจขยายตัว 5.2%

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีรายงานตัวเลขหนี้ครัวเรือน ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ออกมาว่าอยู่ระดับใด แต่แนวโน้มที่อาจจะปรับเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความกังวล ซึ่งข้อมูลสภาพัฒน์ระบุถึงตัวเลขหนี้ครัวเรือนล่าสุด สิ้นไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีมูลค่า 12.34 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.7% ทิศทางยังเพิ่มขึ้นในระยะที่ผ่านมา ปี 2559 เพิ่มขึ้น 3.8% และเพิ่มขึ้น 4.6% ในปี 2560 ส่วนหนึ่งเนื่องจากเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับที่ต่ำ และความต้องการซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่เร่งตัวขึ้นตั้งแต่กลางปี 2560 เป็นต้นมา หลังจากเริ่มสิ้นสุดเงื่อนไขตั้งแต่สิ้นปี 2560 ในการถือครองรถยนต์อย่างน้อย 5 ปี ก่อนการโอนเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ตามนโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรก

Advertisement

ก่อหนี้อุปโภคบริโภคมากสุด

ภายใต้หนี้ครัวเรือนทั้งหมด 12.34 ล้านบาท ในปัจจุบัน มูลค่าสินเชื่ออุปโภคบริโภคอยู่ที่ 4.358 ล้านล้านบาท ประมาณ 35% ของสินเชื่อรวม หรือสัดส่วน 1 ใน 3 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด อีก 2 ส่วนที่เหลือจะเป็นสินเชื่อธุรกิจ โดยสินเชื่ออุปโภคบริโภค แบ่งเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัย สัดส่วนมากที่สุด 2.187 ล้านล้านบาท รองลงมา คือ สินเชื่อรถยนต์ 1.036 ล้านล้านบาท สินเชื่อส่วนบุคคล 9.174 แสนล้านบาท และสินเชื่อบัตรเครดิต 2.166 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ด้านคุณภาพสินเชื่อของครัวเรือนยังทรงตัว แต่ความสามารถในการชำระหนี้ครัวเรือนบางกลุ่มอาจจะลดลง เพราะรายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากไตรมาสที่ 2 ปี 2561 อยู่ที่ 2.72% ขึ้นมาสิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2561 อยู่ที่ 2.73%

สำหรับเอ็นพีแอลของสินเชื่อรถยนต์และบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น โดยสินเชื่อรถยนต์ ที่เอ็นพีแอลไตรมาสแรก และไตรมาสที่ 2 ปี 2561 อยู่ที่ 1.53% และ 1.52% ตามลำดับ แต่เห็นการขยับขึ้นของเอ็นพีแอล สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2561 อยู่ที่ 1.57% ด้านเอ็นพีแอลบัตรเครดิต สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2561 อยู่ที่ 2.54% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ที่ 2.42% ส่วนไตรมาสแรก ปี 2561 อยู่ที่ 3.15% เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ 2.61% ซึ่งเอ็นพีแอลบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 3.99% ในปี 2558 ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัย จากที่เห็นการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลไต่ระดับต่อเนื่อง ไตรมาสแรก ปี 2561 ที่ 3.38% และจากไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ที่ 3.39% แต่สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ลดลงมาอยู่ที่ 3.37% ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคล เอ็นพีแอล ปี 2560 อยู่ที่ 2.53% ซึ่งไตรมาสแรก ปี 2561 เพิ่มขึ้นมาเป็น 2.65% และไตรมาสที่ 2 ปี 2561 อยู่ที่ 2.54% สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2561 อยู่ที่ 2.55%

Advertisement

นอกจากนี้สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (เอสเอ็ม) หรือการผิดนัดชำระหนี้มากกว่า 1 เดือนนั้นเพิ่มขึ้นมา เอสเอ็มสินเชื่ออุปโภคบริโภค รวมอยู่ที่ 3.18% สินเชื่อรถยนต์อยู่ที่ 7.32% สินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ที่ 1.96% สินเชื่อที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 1.73% สินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 2.23%

สศช.ไม่กังวลแต่เฝ้าระวัง

อย่างไรก็ดี ชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการสภาพัฒน์ชี้แจงว่า เมื่อพิจารณาสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) พบว่ามีแนวโน้มลดลงอย่างช้าๆ จากสัดส่วนที่สูงสุดในปี 2558 ที่ 80.8% ลดลงมาในปี 2559 ที่ 79.3% และปี 2560 อยู่ที่ 78.05% และอยู่ที่ 77.5% ในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ทั้งนี้ ย้ำว่าการที่หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นนั้น ไม่น่ากังวล เพียงแต่ต้องเฝ้าระวัง เพราะการก่อหนี้กว่า 70% เป็นการกู้เพื่อซื้อสินทรัพย์ถาวร ก่อให้เกิดการสะสมสินทรัพย์เพิ่มขึ้น เช่น กู้ยืมเพื่อซื้อที่ดิน ที่อยู่อาศัย รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และการซื้ออสังหาริมทรัพย์อีกทั้งภาครัฐเองก็มีมาตรการในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนทั้งในระบบและนอกระบบอย่างต่อเนื่อง มั่นใจว่าหนี้ครัวเรือนจะไม่เกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างแน่นอน

แม้ว่าหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่ลดลงเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวเร็วกว่ามูลค่าหนี้ครัวเรือน และหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเป็นการคิดจากเศรษฐกิจรวมทั้งหมดจึงอาจจะไม่สะท้อนภาระหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ที่ประชาชนมีอยู่ ทั้งนี้ ปัจจัยรายได้ค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นไม่มากนักในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่จะปรับเพิ่มขึ้น อาจจะส่งผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือนได้ในอนาคต

ข้อมูลล่าสุดจากการสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดย ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ระบุว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างพบว่า จำนวนหนี้ครัวเรือนเฉลี่ย มีมูลค่า 316,000 บาทต่อครัวเรือน ในปี 2561 สูงสุดนับตั้งแต่เริ่มสำรวจในปี 2552 หรือรอบกว่า 9 ปี สัดส่วนเป็นหนี้ในระบบ 64.7% และหนี้นอกระบบ 35.3% และหนี้ครัวเรือนปีนี้เพิ่มขึ้น 5.8% เทียบกับการสำรวจหนี้ครัวเรือนปี 2560 ที่มีหนี้ครัวเรือนเฉลี่ย 299,000 บาทต่อครัวเรือน อย่างไรก็ดี สอดคล้องกับข้อมูลจากสภาพัฒน์ ซึ่งมูลค่าหนี้ครัวเรือนในปี 2561 จะสูงสุด แต่หากดูโครงสร้างหนี้ครัวเรือนแล้วยังไม่กังวล เนื่องจากเป็นการก่อหนี้เพื่อใช้ในการซื้อสินทรัพย์ การลงทุนเครื่องจักร ซื้อวัตถุดิบ เป็นหลัก ส่วนสถานการณ์การผ่อนชำระต่อเดือน พบว่า ครัวเรือนสามารถผ่อนชำระสูงขึ้นเฉลี่ย 15,900 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน เพิ่มขึ้น 3.15% จาก 15,400 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน ในปี 2560 ที่ผ่านมา

ห่วงขึ้นดอกเบี้ยซ้ำเติมหนี้

ทั้งนี้ อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นว่า ครัวเรือนที่มีหนี้สูงจะมีความอ่อนไหวในเรื่องความสามารถในการผ่อนชำระมากยิ่งขึ้น จากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น หากดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น การก่อหนี้เพื่อซื้อสินทรัพย์ถาวร อาทิ บ้าน รถยนต์ จะชะลอตัวลง การลงทุนเพื่อประกอบกิจการอาจชะลอตัวลงด้วย จากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น สำหรับมูลค่าครัวเรือนโดยรวมอยู่ที่มากกว่า 12.34 ล้านล้านบาท อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจการเงินในอนาคตได้ การทำให้รายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้นเพื่อลดการก่อหนี้เพื่อนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันจะเป็นการแก้ปัญหาความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจและแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้มีประสิทธิภาพมากกว่าการดำเนินนโยบายเข้มงวดทางการเงิน

สำหรับประชาชนในระดับฐานรากนั้น ผู้ใช้แรงงานควรได้รับการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มเติม นอกจากนี้ ควรมีมาตรการพยุงราคาสินค้าเกษตรเพิ่มเติม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงนี้เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคตและป้องกันปัญหาฟองสบู่น่าจะเป็นการส่งสัญญาณที่เร็วเกินไป และอาจซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ แม้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะลดลงมาเล็กน้อย อยู่ที่ระดับ 77% จากระดับ 80% เมื่อ 3-4 ปีก่อน

ตะลึง!หนี้สูง200%

ขณะที่ กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ตัวเลขหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่ระดับ 70-80% ต่อจีดีพีไม่ได้สะท้อนภาระหนี้ของครัวเรือนทั้งหมด เพราะนำตัวเลขหลายตัวเข้ามาคำนวณในจีดีพีซึ่งเป็นการนำคนที่มีรายได้สูงและคนที่ไม่มีหนี้เข้ามาคำนวณด้วย ขณะที่หากพิจารณาหนี้ครัวเรือนต่อค่าจ้างแรงงาน จากการนำข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติมาคำนวณ โดยมูลค่าหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 12.34 ล้านล้านบาท ขณะที่หากคำนวณมูลค่าค่าจ้างแรงงาน จากกำลังแรงงานราว 37.6 ล้านคน ที่มีรายได้ 1.67 แสนบาทต่อปี รายได้จากค่าจ้างแรงงานต่อปีจะอยู่ที่ 6.23 ล้านล้านบาท และหากเปรียบเทียบรายได้จากค่าจ้างแรงงานต่อปีกับหนี้ครัวเรือนปัจจุบันจะพบว่าหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงถึง 200% ของค่าจ้างแรงงานแต่ละปี ถือเป็นระดับหนี้ที่อยู่ในระดับสูงมาก หากต้นทุนการเงินของการก่อหนี้เพิ่มขึ้นจะเป็นความเสี่ยงของกลุ่มแรงงานมากขึ้น

ทั้งนี้ มูลค่าหนี้ที่ปรากฏอยู่ในระบบเท่านั้นยังไม่รวมหนี้นอกระบบซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีเป็นมูลค่ามากไม่น้อยไปกว่าหนี้ในระบบ ซึ่งสะท้อนปัญหาของครัวเรือนและแรงงานที่มีการก่อหนี้สูง

ห่วงก่อหนี้เพื่อบริโภค

มุมมองจากผู้ประกอบการในแวดวงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และประธานสมาคมการค้ากลุ่มธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เห็นว่า หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงทำให้กระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์และผู้ซื้อเพราะจะทำให้ขอกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยไม่ผ่าน เนื่องจากภาระผ่อนชำระที่มีอยู่มากเกินไป และแม้ว่า กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้วจาก 1.50% เพิ่มขึ้น 0.25% เป็น 1.75% หากธนาคารพาณิชย์มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามสูงสุดที่ 0.25% แต่ตามสถิติในช่วงที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์จะปรับดอกเบี้ยขึ้นน้อยกว่าการปรับขึ้นของ กนง. มองว่าผลกระทบต่อการผ่อนชำระหนี้ไม่มากนัก แต่เรื่องที่จะกระทบมากกว่า คือภาวะเศรษฐกิจซึ่งอาจจะชะลอลงที่อาจจะกระทบธุรกิจและการจ้างงาน โดยเฉพาะภาคการส่งออกจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ามากขึ้น หากส่งออกน้อยลงกลุ่มลูกจ้างมีโอกาสที่จะตกงานได้ซึ่งจะมีผลต่อการชำระหนี้มากกว่า เพราะไม่มีรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายหรือชำระหนี้ได้

อย่างไรก็ตาม หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นหากเป็นการกู้ซื้อที่อยู่อาศัย มองว่าไม่น่ากังวล เพราะที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องจำเป็น แม้ว่าการกู้ซื้อที่อยู่อาศัยจะทำให้หนี้สินเพิ่มขึ้น แต่ฝั่งทรัพย์สินก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้น หากในอนาคตผู้กู้อาจจะประสบปัญหาไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ กลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่อยู่อาศัยยังเป็นหลักประกันที่ธนาคารพาณิชย์สามารถนำมาขายทอดตลาด หรือบริหารจัดการสร้างรายได้ได้ ส่วนที่น่ากังวลคือการก่อหนี้ที่เกิดขึ้นแบบสูญเปล่า หรือการกู้เพื่อการบริโภค เพราะเป็นการนำไปใช้จ่ายโดยที่ไม่ก่อเกิดทรัพย์สิน เช่น การใช้บัตรเครดิตรูดเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ รูดเพื่อใช้จ่ายในการกินอาหารหรูหรา เป็นต้น ซึ่งเป็นการนำเงินในอนาคตมาใช้จ่ายโดยอาจจะไม่ได้ประมาณการถึงการเป็นหนี้ที่เพิ่มมากขึ้นและการชำระหนี้คืน นอกจากนี้ ปัจจุบันคนส่วนใหญ่มีบัตรเครดิตหลายใบ บางคนถือ 4-5 บัตร แต่ละบัตรมียอดวงเงินในบัตรเป็นของตนเอง จึงมีการใช้จ่ายลักษณะแบบหมุนเวียนกันไป ใช้บัตรนั้นจ่ายใหม่บัตรนี้โปะอีกบัตรหนึ่ง หากในที่สุดก่อหนี้มากจนจ่ายไม่ไหว จะเกิดการผิดชำระหนี้ขึ้น เครดิตทางการเงินเสีย ถึงเวลาที่มีความจำเป็นต้องซื้อที่อยู่อาศัยและขอกู้สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ ก็ขอกู้ไม่ผ่านเพราะติดเครดิตบูโร ซึ่งหนี้ครัวเรือนสูงทำให้กู้สินเชื่อไม่ผ่าน ธปท.จะต้องมีการเข้าไปควบคุมให้ถูกจุดและต้นเหตุที่แท้จริงของการก่อหนี้ครัวเรือน สาเหตุอาจจะเกิดจากการให้กู้โดยไม่มีวินัย กระตุ้นให้คนใช้จ่าย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือหนี้ที่ตามมา

ปัญหาโครงสร้างต้องเร่งแก้

หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาที่จะต้องมีการแก้ไขเพราะอาจจะสร้างแรงกดดันในด้านอื่นเพิ่มเติม ทั้งการบริโภคที่จำกัด การผิดชำระหนี้ จะกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและทำให้เศรษฐกิจขยายตัวชะลอลงในระยะยาว ซึ่งเรื่องนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยมีความกังวล เพราะสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพียังคงอยู่ในระดับสูง และหนี้ครัวเรือนเริ่มมีสัญญาณกลับมาขยายตัวเร่งขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2560 แต่ด้านรายได้การเพิ่มขึ้นของรายได้ครัวเรือนยังกระจายตัวไม่เต็มที่ กลุ่มเกษตรกรมีรายได้น้อยแต่มีหนี้สูงและสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้เพิ่มขึ้น และพบว่าสัดส่วนภาระชำระหนี้รายเดือนต่อรายได้รายเดือนปรับสูงขึ้นในบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนรายได้

น้อยและกลุ่มเกษตรกร ดังนั้น จึงยังต้องระวังความสามารถในการชำระหนี้

ขณะที่ วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า หนี้ครัวเรือนต่อรายได้ของประชาชนยังค่อนข้างสูง ซึ่งการแก้ปัญหามีหลายมิติ ข้อแรก สถาบันการเงินต้องให้บริการสินเชื่อด้วยความรับผิดรับชอบ ไม่ส่งเสริมให้คนที่ไม่ควรเป็นหนี้มาเป็นหนี้เพื่อเร่งสร้างยอดสินเชื่อระยะสั้น ข้อสอง ประชาชนต้องมีความรู้ความเข้าใจการบริหารจัดการการเงินของตนเอง ที่ผ่านมามีพฤติกรรมหลายอย่างที่นำไปสู่การเป็นหนี้โดยไม่ตั้งใจ การซื้อของเกิน การใช้จ่ายเกินตัว รวมทั้งการเล่นหวยมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนสูงมองเป็นโอกาสสร้างรายได้ในอนาคต ซึ่งจะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจทางการเงินให้กับเยาวชนและประชาชน ซึ่งขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทยกำลังดำเนินการอยู่

และข้อสาม ทำอย่างไรให้คนที่ติดอยู่ในวงจรหนี้มีทางออก จึงได้เริ่มทดลองคลินิกแก้หนี้ ขณะนี้สถาบันการเงินเข้าร่วมได้ และเร็วๆ นี้ จะมีสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารเข้าร่วมได้ เพราะการแก้ไขกฎหมายผ่านการพิจารณาของ สนช.วาระแรกไปแล้ว คาดว่าจะผ่านการพิจารณาทั้งหมดและออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป จะทำให้มีคนเข้าร่วมโครงการได้มากขึ้น นอกจากนี้ ภาครัฐยังสร้างทางออกให้ประชาชนหากเป็นหนี้นอกระบบ เช่น กระทรวงการคลังมีโครงการพิโกไฟแนนซ์ ดอกเบี้ยถูกกว่านอกระบบ ผ่อนยาว

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการก่อหนี้ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2560 ได้มีการออกมาตรการดูแลสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน คือสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต และล่าสุดคือมาตรการดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย มีผลบังคับใช้ปี 2562 กำหนดให้อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน หรือเงินดาวน์หากซื้อบ้าน 2 หลังขึ้นไปเพิ่มขึ้นเป็น 20% เพื่อให้การปล่อยสินเชื่อสะท้อนมูลค่าหลักประกันจริง และป้องกันไม่ให้คนเข้าไปกู้และตกอยู่ในวงจรหนี้แบบเข้าใจผิด

แม้ว่าการก่อหนี้ผ่านการบริโภคของครัวเรือนจะผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจได้ แต่การเติบโตด้วยการก่อหนี้เป็นการเติบโตที่ไม่ยั่งยืน ท้ายที่สุด จะเป็นวัฏจักรกลับมาบั่นทอนการเติบโตเศรษฐกิจได้ ดังนั้น เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมด้วยช่วยกัน นอกจากการส่งเสริมการก่อหนี้ยังต้องส่งเสริมให้เกิดการออมควบคู่ รวมทั้งพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนเพื่อสร้างความสามารถในการชำระหนี้และการบริโภคให้ครัวเรือนได้เพื่อเสถียรภาพระบบการเงินของไทย

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image