เรียกคืนคลื่น-ยืดไลเซนส์ทีวีดิจิทัล กสทช.พลิกเกมถอย…ก่อนรุกคืบ5G

“การจัดสรรคลื่นความถี่” เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศพัฒนาไปสู่ “ยุค 5G” อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม แม้คลื่นความถี่จะเป็นทรัพยากรที่ใช้ได้ไม่มีวันหมด แต่มีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้น การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ เพื่อให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุดจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ปมเรียกคืนคลื่นจาก”ทีวีดิจิทัล”

สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ เป็นคลื่นที่ใช้เพื่อประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล (กิจการทีวีดิจิทัล) ซึ่งในขณะที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ได้กำหนดให้คลื่นความถี่ สำหรับกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5G ประกอบด้วย 3 กลุ่มคือ กลุ่มคลื่นความถี่ต่ำ กลุ่มคลื่นความถี่กลาง และกลุ่มคลื่นความถี่สูง โดยกลุ่มคลื่นความถี่กลางและสูง จะนำมาให้บริการในพื้นที่ที่มีความต้องการใช้งานสูง ในขณะที่การให้บริการที่คลอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ ต้องใช้งานคลื่นความถี่ต่ำ โดยไอทียูได้กำหนดให้คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ เป็นคลื่นความถี่หลัก ฉะนั้น คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จึงเป็นคลื่นความถี่สำคัญที่จะนำมาใช้ในกิจการ 5G อย่างเป็นรูปธรรมและทั่วถึงทั้งประเทศ “กสทช.” จึงจำเป็นต้องดำเนินการตามมาตรา 27 (12/1) ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) ที่กำหนดอำนาจของ กสทช. ในการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น โดยการเรียกคืนคลื่นความถี่จากผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล เพื่อนำมาจัดสรรใหม่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ทั้งนี้ กฎหมายได้กำหนดให้ กสทช.ต้องกำหนดวิธีการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนให้ผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ โดยให้คำนึงถึงสิทธิของผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ด้วย

การเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ตามขั้นตอนปกติ ต้องรอการเรียกคืนคลื่นความถี่ให้ครบถ้วน ซึ่งต้องดำเนินการภายหลังปี 2563 คาดว่าจะจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ไปใช้งานได้อย่างเร็วในปี 2565 ซึ่งจะก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการพัฒนาโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปสู่ยุคที่ 5 หรือ 5G และ กสทช. จึงได้แต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการเรียกคืนคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์” มาดำเนินการตามที่กฎหมายได้ให้อำนาจ โดยมี พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองประธาน กสทช.) เป็นประธาน เพื่อให้สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ได้ภายในปี 2563 ซึ่งเร็วขึ้นกว่าเดิม 2 ปี

Advertisement

จัดประมูลคลื่น700อุ้มทีวีดิจิทัล

จากการประชุม กสทช. วาระพิเศษ ได้เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ มาตรการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน และหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ประกอบด้วย 3 ประเด็น ได้แก่ 1.เรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ 2.การทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในส่วนผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ที่กำหนดให้ไม่ต้องชำระค่าใบอนุญาตใน 2 งวดสุดท้าย จำนวน 15,000-16,000 ล้านบาทที่เหลืออยู่ อีกทั้งไม่ต้องชำระค่าใช้บริการโครงข่าย (มักซ์) และค่าเช่าโครงข่ายตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (มัสต์แครี่) จนสิ้นสุดใบอนุญาตในเดือนเมษายน 2572 รวมถึงค่าใช้จ่ายสำหรับการสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมโทรทัศน์ดิจิทัล (ทีวี เรตติ้ง) ขณะที่ผู้ให้บริการโครงข่าย (มักซ์) จะได้รับค่าตอบแทนเท่ากับค่าใช้จ่ายตามจริงจากปรับเปลี่ยนอุปกรณ์โครงข่าย

และ 3.การอนุญาต และแผนความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ สำหรับกิจการโทรคมนาคม กำหนดให้ประมูลคลื่นความถี่ 7 ใบอนุญาต ขนาดใบละ 5 เมกะเฮิรตซ์ รวม 35 เมกะเฮิรตซ์ อายุใบอนุญาต 20 ปี ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประมูลแต่ละรายประมูลได้ไม่เกิน 3 อนุญาต สำหรับผู้ชนะการประมูล แบ่งการชำระเงินออกเป็น 9 งวด โดยงวดแรกชำระ 20% ส่วนงวดที่ 2-9 ชำระ 10% กรณีไม่ชำระเงินประมูลงวดที่สองและงวดอื่นๆ ต้องชำระเงินเพิ่มจำนวนเท่ากับผลคูณของจำนวนเงินประมูลที่ค้างชำระกับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี คำนวณเป็นรายวัน

Advertisement

ทั้งนี้ รายได้ที่เกิดจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ สำหรับกิจการโทรคมนาคมจะนำมาทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน แก่ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล อย่างไรก็ตาม (ร่าง) ประกาศ กสทช.ดังกล่าวจะนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยเผยแพร่ทางเว็บไซต์ กสทช. ในวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ ผู้มีส่วนได้เสีย

และประชาชนทั่วไปสามารถแสดงความคิดเห็นต่อ

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ มาตรการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน และหลักเกณฑ์ วิธีการอนุญาต แผนความถี่

ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ สำหรับกิจการโทรคมนาคมได้ ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์-4 มีนาคม 2562

“ทรู”โอดขยายงวดจ่ายค่าใบอนุญาต900 

ขณะที่ “กลุ่มทรู” โดย นายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ออกหนังสือชี้แจง ระบุว่า กลุ่มทรูยังไม่มีแผนเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ เนื่องจากยังรอความชัดเจนเรื่องการขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ อีกทั้งปริมาณคลื่นความถี่ต่ำ ที่ “ทรู” มีอยู่ ทั้งคลื่นความถี่ย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์ ยังเพียงพอที่จะนำมาจัดสรรสำหรับการให้บริการ 5G โดยจะลงทุนเฉพาะเจาะจงในพื้นที่ที่คุ้มค่าต่อการลงทุน ซึ่งเป็นไปตามความต้องการใช้งาน และเป็นไปตามความพร้อมของตลาดอุปกรณ์ 5G

ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) อย่างทรูและเอไอเอส เป็นที่พูดถึงอย่างมาก เมื่อครั้งยื่นขอขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ในงวดสุดท้าย เมื่อช่วงปลายปี 2560 โดยที่รัฐบาลได้ส่งต่อให้ สำนักงาน กสทช.พิจารณาพ่วงกับมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ที่ส่วนใหญ่ประสบภาวะขาดทุน แต่ในครั้งนั้นมีหลายฝ่ายออกมาคัดค้าน โดยเฉพาะนักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ โดย นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ที่มองว่าเห็นด้วย หาก กสทช.และรัฐจะมีมาตรการออกมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล เพราะผู้ประกอบกิจการได้รับความเสียหายจริง ซึ่งสาเหตุเกิดจากความบกพร่องในการทำงานของหน่วยงานของรัฐเอง ที่ไม่สามารถทำตามแผนงานอย่างที่เคยประชาสัมพันธ์ไว้ได้ แต่ทั้งนี้ไม่เห็นด้วยหาก กสทช.จะเสนอให้ช่วยเหลือ

ผู้ประกอบกิจการทั้ง 2 ค่ายมือถือ ด้วยการยืดระยะเวลาการชำระค่างวดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ เพราะมองว่าทั้งทรูและเอไอเอส ที่เป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ มีผลประกอบการที่ดีอยู่แล้ว โดยมีกำไรเติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งแตกต่างจากกรณีของทีวีดิจิทัล อีกทั้ง หากมีการอุ้มทั้ง 2 ค่ายมือถือดังกล่าวนี้จะถือเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุน รวมถึงความเชื่อมั่นของประเทศไทยในภาพรวมด้วย เนื่องจากเป็นการกระทำที่ผิดเงื่อนไขตั้งแต่แรก อีกทั้งบริษัทผู้ประมูลย่อมรับรู้ถึงความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจอยู่ก่อนแล้วจึงตัดสินใจที่จะเจ้าร่วมประมูล

จึงเป็นมูลเหตุทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2561 อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 269 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประกาศคำสั่ง มาตรการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุ โทรทัศน์ และกิจการโทรทัศน์ จากผลกระทบภาวะเศรษฐกิจและสังคมจึงไม่อาจชําระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ได้ทัน ภายในระยะเวลาที่กําหนด

โดยระบุให้ 1.ได้รับการพักชำระหนี้ 3 ปี โดยยื่นความจำนงภายใน 30 วัน และเสียดอกเบี้ยตามกำหนด และ 2.สนับสนุนค่าใช้บริการโครงข่าย (มักซ์) ไม่เกิน 50% ของค่าเช่าที่ต้องชำระเป็นเวลา 24 เดือน โดยปล่อยให้เรื่องการขอขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ในงวดสุดท้าย ของ 2 โอเปอเรเตอร์

ค้างอยู่ในกระบวนการ ขั้นตอนของ กสทช. ซ้ำยังไม่มีท่าทีที่จะนำกลับมาพิจารณาแต่อย่างใด

เข้าใจหัวอก”โอเปอเรเตอร์”จ่อถกอีกรอบ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า ส่วนตัวเข้าใจถึงประเด็นปัญหาของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ที่ปัจจุบันต้องแบกภาระค่าใบอนุญาตมูลค่ามหาศาล ทั้งนี้ “ทรู” จะครบกำหนดชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ งวดที่ 3 จำนวน 4,020 ล้านบาท ในเดือนมีนาคม 2562 และงวดที่ 4 จำนวน 60,218 ล้านบาท ในเดือนมีนาคม 2563 รวมเป็นเงิน 64,238 ล้านบาท ขณะที่

ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลก็ประสบปัญหาเทคโนโลยีดิสรัปชั่น แต่ยังค้างชำระค่าใบอนุญาตอีก 15,000-16,000 ล้านบาท ฉะนั้น กสทช.จึงจำเป็นต้องช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการในทั้งสองกิจการควบคู่กันไป ส่วนเรื่องการขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ คงต้องหารือร่วมกันอีกครั้ง

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยว่า เอกชนมีภาระการลุงทุนจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน ก่อนหน้านี้รวมมูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท การที่จะลงทุนด้วยการประมูลคลื่นความถี่ย่านอีกย่อมต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และเมื่อคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะถูกนำไปใช้กับเทคโนโลยี 5G เมื่อใด อีกทั้งยังไม่มีความชัดเจนในการผลิตอุปกรณ์ออกมารองรับ การที่เอกชนยังไม่สนใจคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ในเวลานี้ไม่ได้เหนือความคาดหมาย ทางออกของ กสทช.คงต้องหาแรงจูงใจให้ผู้ประกอบกิจการ ทั้งต้องมีความชัดเจนเรื่องการช่วยเหลือทีวีดิจิทัลด้วย เพื่อให้ทั้งสองอุตสาหกรรมเดินหน้าไปด้วยกันได้โดยไม่ติดขัด

เปิดทาง”ทีวีดิจิทัล”คืนใบอนุญาต

กรณีที่จะมีการเปิดทางให้ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลสามารถคืนใบอนุญาตได้ นายฐากรชี้แจงว่า หากดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการต่างๆ แล้ว เห็นชอบให้ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลสามารถคืนใบอนุญาตได้ ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลจึงสามารถดำเนินการดังกล่าวได้ ทั้งนี้ รัฐอาจต้องมีการคืนเงิน จำนวน 10% ของค่าใบอนุญาตที่ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลชำระแล้วกว่า 50,000 ล้านบาท หรือกว่า 60% ให้แก่ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ซึ่งมาจากรายได้ในการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์

“การอนุญาตให้ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลสามารถคืนใบอนุญาตได้ เชื่อว่าจะส่งผลให้ช่องทีวีดิจิทัลลดลง ทำให้ผู้ประกอบกิจการที่เหลืออยู่สามารถที่จะประคับประคองกิจการให้อยู่รอดต่อไปได้ ทั้งนี้ หากมองผลกระทบที่เกิดขึ้นกับกิจการทีวีดิจิทัลในขณะนี้ ประเมินว่ามีผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลที่ต้องการคืนใบอนุญาต” นายฐากรกล่าว

นายเขมทัต พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาสถานการณ์ทีวีดิจิทัลไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากถูกเทคโนโลยีดิสรัปชั่น ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งสมาคมผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลและสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ ทราบว่ามีผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลหลายรายที่ต้องการคืนใบอนุญาต อย่างไรก็ตาม จากประชุมรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อยเกี่ยวกับ (ร่าง) ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล เห็นด้วยกับแนวทางการช่วยเหลือ ที่กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลไม่ต้องชำระค่าใบอนุญาตใน 2 งวดสุดท้าย จำนวน 15,000-16,000 ล้านบาท ที่เหลืออยู่ อีกทั้ง ไม่ต้องชำระค่าใช้บริการโครงข่าย (มักซ์) และค่าเช่าโครงข่ายตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (มัสต์แครี่)จนสิ้นสุดใบอนุญาตในเดือนเมษายน 2572 รวมถึง ค่าใช้จ่ายสำหรับการสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมโทรทัศน์ดิจิทัล (ทีวี เรตติ้ง) ขณะที่ผู้ให้บริการโครงข่าย (มักซ์) จะได้รับค่าตอบแทนเท่ากับค่าใช้จ่ายตามจริงจากปรับเปลี่ยนอุปกรณ์โครงข่าย โดยจะนำรายได้ที่เกิดจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ สำหรับกิจการโทรคมนาคม มาทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน แก่ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ซึ่งจะส่งผลให้ ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลมีความคล่องตัวในการพัฒนาคอนเทนต์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจทีวีดิจิทัล ให้ดีและมีคุณภาพยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำมาสู่เม็ดเงินโฆษณาที่เพิ่มมากขึ้น

“หากผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมจะไม่เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์นี้ ก็เข้าใจ เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ต้องแบกรับภาระค่าใบอนุญาตที่มีราคาสูง โดยเชื่อว่าการที่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมไม่เข้าร่วมการประมูล ไม่เกี่ยวข้องกับการนำรายได้ที่เกิดจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ มาทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน แก่ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล อย่างไรก็ตาม มองว่าหากหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ มีการขยายงวดการชำระค่าใบอนุญาต รวมถึงมีการกำหนดราคาเริ่มตั้งที่ไม่สูงจนเกินไป อาจทำให้มีผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมสนใจที่จะเข้าร่วมการประมูล” นายเขมทัตกล่าว

ปักหมุดประมูลคลื่น700ปลายปี”62

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองประธาน กสทช.) และประธานคณะอนุกรรมการเรียกคืนคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ เปิดเผยว่า หากเนื้อหาใน (ร่าง) ประกาศ กสทช. ที่กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลไม่ต้องชำระค่าใบอนุญาตใน 2 งวดสุดท้าย จำนวน 15,000-16,000 ล้านบาทที่เหลืออยู่ อีกทั้งไม่ต้องชำระค่าใช้บริการโครงข่าย (มักซ์) และค่าเช่าโครงข่ายตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (มัสต์แครี่) จนสิ้นสุดใบอนุญาตในเดือนเมษายน 2572 รวมถึงค่าใช้จ่ายสำหรับการสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมโทรทัศน์ดิจิทัล (ทีวี เรตติ้ง) ขณะที่ผู้ให้บริการโครงข่าย (มักซ์) จะได้รับค่าตอบแทนเท่ากับค่าใช้จ่ายตามจริงจากปรับเปลี่ยนอุปกรณ์โครงข่าย แต่ยังมีผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ที่ต้องการคืนใบอนุญาตก็สามารถทำได้ แต่จะไม่มีการคืนเงินให้แต่อย่างใด เนื่องจากเป็นเงินของรัฐบาล

พ.อ.นทีระบุว่า คาดว่าจะเปิดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ได้ประมาณเดือนธันวาคม 2562 ซึ่งภายหลังจากประมูลเสร็จสิ้น กสทช.ต้องดำเนินการให้ผู้ให้บริการโครงข่าย เสนอแผนปรับเปลี่ยนความถี่ เพื่อให้ กสทช.อนุมัติ โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน จากนั้นผู้ชนะการประมูลจะต้องชำระค่าใบอนุญาตงวดแรก จำนวน 20% ภายในไตรมาส 1/2563 เพื่อให้ กสทช.นำเงินที่ได้จากการประมูลส่วนหนึ่งเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) และนำเงินมาทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน แก่ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ทั้งนี้ กสทช.จะใช้เวลาประมาณ 10 เดือน ในการปรับเปลี่ยนคลื่นความถี่ ซึ่งผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จะสามารถใช้คลื่นความถี่ได้ในเดือนธันวาคม 2563

“การจัดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ เร็วกว่าเดือนธันวาคม 2562 คงไม่มีประโยชน์ เนื่องจากการปรับคลื่นความถี่ยังไม่เรียบร้อย อีกทั้งการจัดการประมูลเร็วเกินไปทำให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ต้องชำระค่าใบอนุญาตเร็วขึ้น แต่ขณะที่คลื่นความถี่ยังไม่สามารถนำไปใช้งานได้ ทั้งนี้ เชื่อว่า ระยะเวลาที่เหลืออยู่ก่อนการจัดการประมูล จะทำให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมได้มีเวลาในการพิจารณา ซึ่ง 5G จะเป็นเม็ดเงินเม็ดใหม่ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ที่มีความจำเป็นกับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมทุกราย” พ.อ.นทีกล่าว

สำหรับคลื่นความถี่ที่ กสทช.วางแผนที่จะนำจัดสรรเพิ่มเติม เพื่อใช้สำหรับการรองรับ 5G ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์, 1800 เมกะเฮิรตซ์, 2.6 กิกะเฮิรตซ์, 3.5 กิกะเฮิรตซ์, 26 และ 28 กิกะเฮิรตซ์ เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ถือครองคลื่นความถี่อย่างน้อย รายละ

200 เมกะเฮิรตซ์ ขณะที่ ปัจจุบันผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม อาทิ เอไอเอส ถือครองคลื่นความถี่ จำนวน 120 เมกะเฮิรตซ์ ส่วนทรู และดีแทค ถือครองคลื่นความถี่ รายละ 110 เมกะเฮิรตซ์

ภาพที่ประเทศจะก้าวเข้าสู่ยุค 5G ได้ในปี 2563

ดูจะค่อยๆ เลือนรางไป เพราะเมื่อถึงเวลาที่คลื่นความถี่พร้อมนำมาประมูล ก็ไม่รู้ว่า “โอเปอเรเตอร์” จะพร้อมด้วยหรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันก็ยังชักหน้าไม่ถึงหลัง พาให้แนวทางการช่วยเหลือ “กิจการทีวีดิจิทัล” ต้องดับวูบ กระนั้นจึงต้องจับตาวิทยายุทธ์ของ กสทช. ว่าจะแก้ไขวิบากกรรมนี้อย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image