ส่องมาตรการส่งท้ายรัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ อัดฉีดคนจน1.3หมื่นล.สู้ส่งออกทรุด พยุงศก.ไตรมาส2ไม่ให้ดิ่งลงเหว

ก้าวเข้าสู่ไตรมาส 2 ของปี 2562 แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังทรุดต่ำลงเรื่อยๆ สำนักพยากรณ์ทั้งเอกชน ภาครัฐ และต่างชาติ พากันหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจลงแทบทุกเดือน
ยิ่งการจัดตั้งรัฐบาลยังไม่ชัดเจนว่าใครจะได้เป็นรัฐบาล ยิ่งทำให้ความมั่นใจการลงทุน บริโภคยิ่งทรุดไปกันใหญ่ ประกอบกับตัวเลขส่งออกล่าสุดเดือนมีนาคมติดลบ ซ้ำเติมเศรษฐกิจเข้าไปอีก
ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการออกมาตรการพยุงและกระตุ้นเศรษฐกิจล็อตสุดท้ายของรัฐบาล “บิ๊กตู่”

⦁เตรียมอัดฉีด2หมื่นล้านพยุงเศรษฐกิจ
ผลจากการประชุมระหว่าง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และผู้บริหารกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา เคาะมาตรการกระตุ้นออกมา 4-5 มาตรการ วงเงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

นายสมคิดให้เหตุผลของการออกมาตรการในช่วงนี้ว่า แม้รัฐบาลจะเหลือเวลาไม่เกิน 2 เดือน แต่สถานการณ์การเมืองขณะนี้ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในหลายประเด็น และเศรษฐกิจในไตรมาส 2 มีสัญญาณอ่อนตัว ดังนั้น จำเป็นต้องมีมาตรการออกมาเพื่อพยุงและกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงรอยต่อรัฐบาลไม่ให้เศรษฐกิจชะลอตัวมากเกินไป กระทรวงการคลังได้นำเสนอมาตรการ 2-3 เรื่อง คือเรื่องเกี่ยวกับการบริโภค การกระตุ้นการท่องเที่ยว มาตรการช่วยคนจน มาตรการเกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ และเกี่ยวข้องกับการลงทุน

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุหลังประชุมว่า เศรษฐกิจในไตรมาส 1 และ 2 ของปีนี้มีแนวโน้มเติบโตในระดับ 3% ต้นๆ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นออกมา เพื่อไม่ปล่อยให้เศรษฐกิจตกต่ำลงไปมากกว่านี้ ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำอะไร ต้องใช้เงินและพลังอีกมากที่จะดึงให้กลับมาเท่าเดิม

Advertisement

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังเตรียมเสนอมาตรการต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 30 เมษายนนี้ คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยดูแลเศรษฐกิจในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า โดยมาตรการที่เตรียมไว้ เช่น เติมเงินให้กับผู้มีรายได้น้อยรวม 1.3 หมื่นล้านบาท ลดหย่อนภาษีจากการท่องเที่ยว 2 หมื่นบาทต่อคน ลดหย่อนภาษีเปิดเทอม สำหรับค่าใช้จ่ายในการซื้อเสื้อผ้า เครื่องใช้กีฬา คล้ายกับช้อปช่วยชาติ วงเงินลดหย่อน 1.5 หมื่นบาท มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับซื้อหนังสือ 1.5-2 หมื่นบาท

สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มีปัญหาว่าผู้กู้ไม่สามารถกู้เงินได้ จากหลักเกณฑ์ใหม่ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ทำให้แบงก์พาณิชย์เข้มงวดในการปล่อยกู้ในช่วงนี้ โดยมีข้อสรุปล่าสุดเสนอมาตรการลดหย่อนภาษี 1 แสนบาท สำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรกราคา 3-5 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นการซื้อบ้าน รวมถึงมีมาตรการหักค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทุนร้านค้าที่ติดตั้งเครื่องพีโอเอส (POS) เพื่อส่งเสริมการลงทุนเรื่องภาษีอิเล็กทรอนิกส์ สามารถหักรายจ่ายได้ 1.5-2 เท่า ซึ่งเท่ากับรัฐบาลช่วยผู้ลงทุนและปรับระบบไปในตัว

นอกจากนี้ มีแนวทางที่จะส่งเสริมพัฒนาทุนมนุษย์ในระยะยาวว่าจะทำอย่างไร โดยให้คนที่อยากเรียนวิชาการสอดคล้องกับความต้องการตลาดในอนาคตสำหรับ 10 อุตสาหกรรม จะให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ให้สิทธิประโยชน์พิเศษกับนักศึกษาเรียนดังกล่าว

Advertisement

⦁ล้มแจก1,500บาทเที่ยวเมืองรอง
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มาตรการเริ่มถูกแย้มๆ ออกมา สร้างเสียงฮือฮาที่สุดน่าจะเป็นมาตรการแจกเงินคนละ 1,500 บาท ให้นำไปเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด มีเป้าหมาย 10 ล้านคน ใช้งบประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการต้องมีคุณสมบัติคือเป็นคนไทย อายุ 18 ปีขึ้นไป และต้องเที่ยวในจังหวัดรอง 55 จังหวัดที่ไม่ใช่ภูมิลำเนาตามบัตรประชาชน

หลังจากมีข่าวนี้ออกมา มีกระแสตอบรับจากประชาชนจำนวนมาก มีประชาชนสอบถามมายังกระทรวงการคลังทั้งช่องทางออนไลน์และโทรศัพท์มากกว่าปกติ หลายคนเตรียมตั้งตารอมาตรการนี้หาที่พักเตรียมไว้แล้ว ถ้ามาตรการผ่าน ครม.พร้อมเดินทางท่องเที่ยวทันที

แต่ยังไม่ทันข้ามสัปดาห์ ฝันต้องสลายลงกระทรวงการคลังตัดสินใจล้มโครงการ เพราะจากการหารือระหว่างกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ พบว่าการใช้งบประมาณมีปัญหา เนื่องจากการนำเงินไปจ่ายเพื่อให้ไปเที่ยวเมืองรองดังกล่าวนั้น ไม่สามารถใช้เงินจากงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินได้ ซึ่งงบกลางต้องใช้เฉพาะกรณีจำเป็นฉุกเฉินเท่านั้น

นอกจากนี้ การแจกเงินในลักษณะดังกล่าวมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาก แม้จะทำหลังเลือกตั้งก็ตาม ซึ่งในเรื่องท่องเที่ยว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตำหนิข้าราชการกระทรวงการคลังในที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา ที่ข่าวหลุดไปก่อน และยิ่งมีปัญหาเรื่องการใช้งบประมาณ จึงทำให้โครงการนี้ต้องถูกพับไป

ดังนั้น การสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยว เหลือเพียงมาตรการลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวสำหรับประชาชน โดยกระทรวงการคลังเพิ่มค่าลดหย่อนถึง 2 หมื่นบาทต่อราย จากเดิมเคยให้ 1.5 หมื่นบาทต่อราย

⦁เบนเข็มแจกคนจน-พิการ-เกษตรกร
มาตรการที่เหลืออยู่ น่าจะมีผลดีวงกว้าง คือการเติมเงินเข้าไปในบัตรสวัสดิการสำหรับผู้มีรายได้น้อย ประกอบด้วย ผู้ปกครองที่มีลูกหลานกำลังเรียนอยู่จะได้รับเงินคนละ 500 บาทต่อบุตร 1 คน โดยไม่จำกัดจำนวนบุตร เพื่อให้นำเงินไปซื้ออุปกรณ์การเรียน โดยอิงข้อมูลบุตรกำลังศึกษาจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีอยู่ประมาณ 2.6 ล้านคน การให้เงินจะใส่เข้าไปในบัตรสวัสดิการ สามารถกดเป็นเงินสด หรือนำไปรูดซื้อของ โดยจะให้เงินกับแม่ก่อน ถ้าไม่มีแม่จะจ่ายให้พ่อแทน ซึ่งจะจ่ายเข้าไปในบัตรครั้งเดียวในเดือนพฤษภาคม วงเงินรวม 1.3 พันล้านบาท

นอกจากนี้ เกษตรกรถือบัตรสวัสดิการและขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำนวน 4 ล้านคน ได้รับเงินคนละ 1,000 บาทครั้งเดียวในเดือนพฤษภาคม โดยเป็นเงินช่วยเหลือสำหรับซื้อปุ๋ย วงเงินงบรวม 4 พันล้านบาท

นอกจากนี้ ยังแจกเงินกับคนพิการที่ขึ้นทะเบียนไว้และถือบัตรสวัสดิการรับเงินเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน 2562 มีคนพิการรับเงินประมาณ 1 ล้านคน ใช้เงินประมาณ 1 พันล้านบาท กระทรวงการคลังเห็นว่ากลุ่มคนพิการดังกล่าวยังไม่เคยรับสิทธิพิเศษจากรัฐบาล เช่น กรณีคนแก่รับเบี้ยยังชีพเพิ่มจากกองทุนคนชรา และเคยได้รับค่าเดินทางไปหาหมอคนละ 1,000 บาท เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

สุดท้ายใส่เงินเพิ่มสำหรับซื้อของร้านธงฟ้าของผู้ถือบัตรสวัสดิการทั้ง 14.5 ล้านคน เป็นเงิน 500 บาทต่อเดือนทุกคนเป็นเวลา 2 เดือน ในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน จากเดิมได้รับเดือนละ 200 บาท สำหรับผู้มีรายได้เกิน 3 หมื่นบาท-1 แสนบาทต่อปี และได้รับ 300 บาท สำหรับผู้มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี โดยมาตรการนี้วงเงินรวมกว่า 6.6 พันล้านบาท

ทั้งหมดจะใช้เงินรวม 1.3 หมื่นล้านบาท สามารถใช้เงินจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ซึ่งยังมีวงเงินเหลืออยู่ เพราะการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ เดิมกำหนดวงเงินไว้สำหรับค่าน้ำ ค่าไฟ 2.7 หมื่นล้านบาทนั้น ล่าสุดจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ใช้เงินไปเพียง 146 ล้านบาทเท่านั้น
การจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟน้อยกว่าที่กำหนดเนื่องจากช่วงของบประมาณขอไว้เต็มจำนวน 14.5 ล้านคน แต่พอจ่ายจริงอิงข้อมูลการใช้เป็นรายครัวเรือน และกำหนดเงินช่วยเหลือค่าน้ำค่าไฟเดือนละ 230 บาท และค่าน้ำประปา 100 บาท ต่อครัวเรือน/เดือน บ้านไหนเกินกว่าที่กำหนดไม่สามารถใช้สิทธิได้

⦁ส่งออกฉุดเศรษฐกิจไทยทรุด
การออกมาตรการดูแลเศรษฐกิจในช่วงนี้เนื่องจากต้องการดูแลเศรษฐกิจไม่ให้แย่ไปกว่าที่เป็นอยู่ ล่าสุดในเดือนมีนาคม 2562 การส่งออกที่มีสัดส่วนถึง 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อยู่ในภาวะติดลบ และมีตัวเลขส่งออกปรับลดต่อเนื่อง

กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยตัวเลขการส่งออกเดือนมีนาคม 2562 ติดลบ 4.88% เมื่อเทียบเดือนมีนาคมปีก่อน มีมูลค่า 21,440 ล้านเหรียญสหรัฐ หากหักกลุ่มสินค้าน้ำมันและทองคำติดลบ 4.2% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 19,435 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 7.63% เป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกไทยยังติดลบ คือเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จึงกระทบกำลังซื้อทั่วโลกลดลง พบว่าการส่งออก 60 ประเทศ ใน 94 ประเทศทั่วโลกมีตัวเลขการติดลบ

นอกจากนี้ ไทยยังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐกับจีน (เทรดวอร์) กระทบต่อกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีสัดส่วน 16-17% ติดลบสูง 20-30% ซึ่งยังเป็นประเด็นน่ากังวลในระยะยาว

ผลจากการส่งออกดังกล่าว ทำให้เอกชน สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ปรับลดเป้าหมายส่งออกเหลือเพียง 3% นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท. ให้ความเห็นว่า เอกชนเป็นกังวลกับการส่งออกในปีนี้มาก เพราะด้วยเศรษฐกิจโลกทำให้ส่งออกไทยมีปัญหา และการที่ไทยยังไม่มีรัฐบาลใหม่ ทำให้ความเชื่อมั่นการค้าลดลง ไม่สามารถไปเจรจาเปิดตลาดใหม่ได้ เพราะต้องรอรัฐบาลใหม่ นอกจากนี้ จากปัญหาภัยแล้งในช่วงนี้ทำให้สินค้าเกษตรของไทยเสียหายส่งผลถึงผลผลิตสินค้าเกษตรส่งออกลดลง โดยคาดว่าส่งออกของไทยแย่สุดในช่วงครึ่งปีแรก และเริ่มดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

⦁หวังมาตรการคลังพยุง ศก.โต4%
การส่งออกที่ยังมีแนวโน้มไม่ดี ประกอบกับการเมืองที่ยังไม่ชัดเจน ทำให้ตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจไทยตั้งแต่ต้นปีจนถึงล่าสุดลดต่ำลงในการพยากรณ์เกือบทุกเดือน ส่วนใหญ่มองว่าจะโต 3.8% แต่มีบางสำนักมองจะเหลือเพียง 3.5% จากปี 2561 โตได้ถึง 4.1%

หากเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่า 4% ถือว่าต่ำกว่าศักยภาพที่กระทรวงการคลังมองไว้ และในการจัดทำตัวเลขด้านงบประมาณ คาดการณ์รายได้ การกำหนดงบสมดุล กระทรวงการคลังอิงตัวเลขว่าเศรษฐกิจต่อจากนี้ไปต้องโตอย่างน้อยปีละ 4%

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานเศรษฐกิจภาครัฐ ยังมีการมองตัวเลขที่แตกต่างกัน โดยวันที่ 29 เมษายน กระทรวงการคลังโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประกาศตัวเลขคาดการณ์จีดีพีใหม่ มีแนวโน้มต่ำกว่าคาดการณ์เมื่อเดือนมกราคม ซึ่ง สศค.มองว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะขยายตัว 4% หรือมีช่วงคาดการณ์ 3.5-4.5%

ทั้งนี้ เมื่อเดือนมีนาคม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดตัวเลขประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2562 ลงเหลือ 3.8% จากเดิมประเมินไว้ 4.0% เป็นผลจากการส่งออกสินค้าคาดว่าจะลดลงเหลือ 3% จากเดิมคาดว่าจะโต 3.8%

ส่วนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินตัวเลขเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ แนวโน้มในปี 2562 คาดว่าจะโต 3.5-4.5% โดยมีค่ากลาง 4% สศช.จะประเมินตัวเลขใหม่ในเดือนพฤษภาคมนี้ พร้อมๆ กับการประกาศตัวเลขจริงไตรมาส 1 ซึ่งมีแนวโน้มปรับลดลงจากเดิม

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สศค. ระบุว่า มาตรการเศรษฐกิจที่กระทรวงการคลังเตรียมไว้ เพื่อดูแลไม่ให้เศรษฐกิจตกไปมากกว่านี้ เพราะหากปล่อยให้เศรษฐกิจแย่มากๆ จะต้องใช้เงินและมาตรการที่แรงกว่านี้ เพื่อให้กลับมายืนที่เดิม โดยหวังว่าจะเสนอมาตรการต่อ ครม.ในวันที่ 30 เมษายนนี้น่าจะช่วยทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 2 ไม่แย่ไปกว่าที่เป็นอยู่ และช่วยทำให้เศรษฐกิจตลอดทั้งปี 2562 สามารถยืนอยู่ได้ในระดับ 4%

“จากตัวเลขการส่งออกในเดือนมีนาคม ติดลบอย่างต่อเนื่อง ทำให้ สศค.เป็นห่วงเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ดังนั้น จึงจำเป็นต้องออกมาตรการมาดูแลเฉพาะในช่วงนี้ โดยเงินที่นำมาใช้นั้นถูกหมุนในระบบเศรษฐกิจอย่างน้อย 2-3 รอบ หลังจากนั้นคงต้องรอดูผลมาตรการออกมาว่าจะช่วยดูแลเศรษฐกิจได้แค่ไหนและรอรัฐบาลใหม่ว่าจะมีนโยบายอย่างไร” ผอ.สศค.กล่าว

⦁เอกชนมองตัวเลขอัดฉีดน้อยไป
ในความเห็นเอกชนเกี่ยวกับมาตรการที่กระทรวงการคลังกำลังออกมานั้น มองว่าจำนวนงบประมาณที่ใส่ลงไปนั้นยังน้อยไปนิด แต่ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า คลังไม่เสนอมาตรการท่องเที่ยว และมาตรการที่เหลืออยู่เน้นแจกเงินเข้าไปในบัตรสวัสดิการนั้น ถามว่าเพียงพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจไหม ต้องบอกว่าไม่เพียงพอ สำหรับมาตรการลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวคงช่วยได้น้อย เพราะจำกัดเฉพาะคนที่เสียภาษี อย่างไรก็ตาม แม้มาตรการที่ออกมาจะไม่มาก แต่ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย เพราะขณะนี้มีแนวโน้มการเมืองจะยืดเยื้อ และรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ ส่งผลลบต่อความมั่นใจนักลงทุน เอกชน นอกจากนี้ การส่งออกที่ติดลบ ยิ่งกระทบต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วงนี้

นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า เอกชนมองว่าในปีนี้เศรษฐกิจโตในกรอบ 3.5-4% จากปีที่แล้ว 4.1% อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดคาดการณ์เหลือเพียง 3.8% และมีแนวโน้มลดลงอีก ส่วน สศช.เองแม้จะมองไว้ 4% แต่เป็นการประเมินไว้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ มีแนวโน้มที่จะปรับลดลง สำหรับการส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์ยังยืนเป้าไว้ที่ 8% นั้นเอกชนมองว่าจะโตได้ 4-5% แต่มีเอกชนบางรายมองว่าจะโตเพียง 2% เท่านั้น

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า สิ่งที่อยากเห็นคือมาตรการระยะปานกลางและระยะยาว ซึ่งคงต้องรอรัฐบาลใหม่เข้ามาดำเนินการ รวมถึงมาตรการสร้างความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะทำอย่างไร

ด้าน นายเจริญ วังอนานนท์ อุปนายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นที่กระทรวงการคลังเตรียมไว้ อาจดูน้อยไปหน่อย เพราะทุกครั้งใช้มากกว่านี้ สิ่งที่อยากเห็นคือมาตรการใหม่ๆ ที่จะมาช่วยเศรษฐกิจ โดยเป็นการกระตุ้นอย่างยั่งยืน เพราะเท่าที่ดูรัฐบาลยังใช้มาตรการแบบเดิมๆ

นอกจากนี้ ยังอยากให้เร่งรัดการเก็บภาษีกลุ่มโอทีเอ (Online Travel Agent) ส่วนใหญ่เป็นต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย แม้รัฐพยายามเก็บภาษีจากกลุ่มดังกล่าวแต่ยังไม่สำเร็จ ในขณะที่ผู้ประกอบการไทยกลับถูกไล่เก็บภาษีทุกเม็ด เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่อยากให้รัฐบาลใหม่เข้ามาเร่งดำเนินการ เพราะเป็นความไม่เท่าเทียมระหว่างผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ

ส่งออกเป็นภาคใหญ่ของเศรษฐกิจไทย กำลังลดลงต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภคของคนจนมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อยของจีดีพี ดังนั้น คงต้องจับตามาตรการแจกส่งท้ายของรัฐบาลชุดนี้ว่าจะเข้ามาช่วยดูแลเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 อย่างที่หวังไว้หรือไม่

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image