จับยาม! ความพร้อม ‘ประกันรายได้’ แล้งผ่านไป…ฝนผ่านมา เกษตรกรรับทรัพย์ (จริง) แค่ไหน

ใกล้เข้ามาแล้ว ตามกรอบเวลาจะเริ่มโครงการประกันรายได้เกษตรกร ตามที่พรรคประชาธิปัตย์พรรคร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผลักดันให้เป็นหนึ่งในภารกิจเร่งด่วน ที่ต้องการดูแลและช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ที่กำลังเผชิญปัญหาราคาพืชเกษตรตกต่ำ กระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศให้มีการขยายตัว โดยพุ่งเป้าไปพืชเศรษฐกิจ 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือก ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ครม.ประเดิมประกันรายได้ข้าว-ปาล์ม-ยาง

ในจำนวนพืชเป้าหมาย 5 ชนิด คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งได้เคาะงบประมาณและกรอบการช่วยเหลือแล้วในพืชเศรษฐกิจ 3 ชนิด วงเงินเกือบ 7 หมื่นล้านบาท คือ โครงการประกันรายได้ปาล์มน้ำมัน ด้วยเงื่อนไขการประกันรายได้ที่กิโลกรัมละ 4 บาท คิดที่เปอร์เซ็นต์น้ำมัน 18% กำหนดจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคาให้รายละไม่เกิน 25 ไร่ หากเทียบ ณ ราคาปาล์มปัจจุบันอยู่ที่ 3.25 บาทต่อกิโลกรัม รัฐต้องจ่ายส่วนต่าง 0.75 บาทต่อกิโลกรัม โดยจ่ายเงินชดเชยผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เท่านั้น ประเมินใช้งบประมาณโครงการประกันรายได้ปาล์มน้ำมันไว้ที่ 13,378 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการสิงหาคม 2562 ถึงกันยายน 2563 ซึ่งส่วนนี้คำนวณยึดตามข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งปี 2561 มีจำนวน 296,662 ครัวเรือน และมีพื้นที่เพาะปลูก 4.077 ล้านไร่

โดยให้ทำควบคู่กับมาตรการอื่นๆ เช่น ลดปริมาณปาล์มดิบโดยออกประกาศใช้น้ำมันไบโอดีเซลบี 10 เป็นภาคบังคับ ส่วนบี 7 กับบี 20 ให้เป็นทางเลือก หรือให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเร่งดำเนินการนำน้ำมันปาล์มไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า ล็อตแรก 2.3 แสนตัน รวมถึงสกัดลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มตามชายแดน เป็นต้น

Advertisement

จากนั้น ครม.มีมติทำโครงการประกันรายได้ข้าว ตามที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้เห็นชอบโครงการประกันรายได้ข้าว 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ประกันรายได้ที่ตันละ 10,000 บาท ข้าวหอมมะลิ ประกันรายได้ที่ตันละ 15,000 บาท ข้าวหอมนอกพื้นที่ ประกันรายได้ที่ตันละ 14,000 บาท ข้าวหอมปทุมฯ ประกันรายได้ที่ตันละ 11,000 บาท และข้าวเหนียว ประกันรายได้ที่ตันละ 12,000 บาท กำหนดค่าความชื้นไม่เกิน 15% ไม่เกินครัวเรือนละ 40 ไร่ ประเมินใช้งบประมาณรวม 21,495 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 1 ตุลาคม 2562 ถึงตุลาคม 2563

อีกโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ระยะที่ 1 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แม้ยังไม่ได้นำเรื่องเข้า ครม.เพื่อเคาะงบประมาณที่แน่ชัด แต่ได้มีการกำหนดเวลาดำเนินงานให้ใกล้เคียงพืชอีก 2 ชนิด กรอบโครงการเริ่มตุลาคม 2562 ถึงกันยายน 2563 โดยประกาศราคายางประกันรายได้ สำหรับยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาทต่อกิโลกรัม น้ำยางสด (ดีซีอาร์ 100%) 57.00 บาทต่อกิโลกรัม ยางก้อนถ้วย (ดีซีอาร์ 100%) 50.00 บาทต่อกิโลกรัม โดยกำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้เป็นยางแห้ง 20 กิโลกรัมต่อไร่ต่อเดือน ส่วนที่ ครม.อนุมัติไว้คือจ่ายค่าชดเชยส่วนต่างราคาไว้ 3 กรณี คือ ไม่เกิน 25 ไร่ต่อราย ไม่เกิน 20 ไร่ต่อราย และไม่เกิน 15 ไร่ต่อราย โดยมีเกษตรกรชาวสวนยางเข้าร่วมโครงการและขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) แล้วเป็นพื้นที่กว่า 17 ล้านไร่ เกษตรกร 1.4 ล้านราย

คงเหลือพืชเป้าหมายอีก 2 ชนิด คือ มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปเพื่อชง ครม.ออกมาตรการประกันรายได้ในเร็วๆ นี้

Advertisement

หนุนเร่งใช้มาตรการ-ไม่ซับซ้อน

ขณะที่รอว่ามาตรการจะเริ่มใช้เป็นอย่างไร ก็มีความคิดเห็นที่หลากหลายซึ่งส่วนใหญ่พอใจที่รัฐบาลออกมาตรการประกันรายได้เพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกรและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมองว่ามาตรการเร่งด่วนของรัฐบาลที่ออกมาไม่ควรมีความซับซ้อนหรือมีเงื่อนไขมากเกินไป และควรเร่งเดินหน้าการใช้มาตรการเร็วที่สุดและช่วงเดือนตุลาคม ไม่ถือว่าเร็วหรือช้าเกินไป โดยตั้งคำถามรัฐต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ประชาชนต่อราคาที่ได้ตั้งเป้าประกันไว้นั้นเหมาะสมและสอดรับสถานการณ์แต่ละช่วงแค่ไหน

เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย แสดงความเห็นว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรถือว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการที่รัฐบาลตั้งใจจัดทำขึ้นมาเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เพราะเป็นมาตรการที่เข้าถึงประชาชนมากกว่ามาตรการอื่น อาทิ มาตรการด้านการท่องเที่ยว หรือมาตรการช้อป ชิม ใช้ ส่วนโครงการประกันรายได้ที่จริงแล้วไม่จำเป็นต้องประกันพืชเศรษฐกิจทุกตัวก็ได้ เพราะพืชบางชนิดมีราคานำราคาประกันรายได้ไปแล้ว

สวนยางพอใจ60บาท/กก.

นิด จันทร์พุ่ม ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรย่านตาขาว จำกัด อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง กล่าวว่า แม้โครงการประกันรายได้ครั้งนี้จะเป็นเพียงโครงการระยะสั้น แต่ก็ถือว่าช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจชาวสวนยางให้มีกำลังใจขึ้น ปัจจุบันสหกรณ์มีสมาชิก 5,700 ราย รับซื้อสมาชิกอยู่ที่ 37 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้มีส่วนต่างจากราคาประกันอยู่ 23 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งถือเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกร ส่วนยางก้อนถ้วยนั้นในพื้นที่จังหวัดตรังไม่ค่อยผลิตอยู่แล้วจึงไม่มีปัญหาราคาในยางประเภทนี้ เนื่องจากสหกรณ์จะรับซื้อเฉพาะ น้ำยางสด ยางแผ่นดิบ ยางแผ่นดิบรมควันเท่านั้น

สำหรับราคาประกันยางแผ่นดินที่ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม ถือว่าเป็นราคาในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพราะสิ่งที่ชาวสวนยางต้องการในขณะนี้ขอแค่ให้ราคายางในราคาประกันอย่าต่ำกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม มิฉะนั้นเกษตรกรจะอยู่ลำบาก อย่างไรก็ตาม นอกจากการดูแลเกษตรกรในระยะสั้นๆ แล้ว อยากให้รัฐบาลวางมาตรการในการรักษาเสถียรภาพราคายางในระยะยาวควบคู่กันด้วย เช่น ส่งเสริมให้มีการใช้ยางภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างจริงจัง การส่งเสริมการนำน้ำยางไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นต้นและพร้อมให้กำลังใจรัฐบาลในการเดินหน้าแก้ปัญหาราคายางในครั้งนี้

ชี้ราคาประกันข้าวต้องเหมาะสม

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย แสดงความเห็นต่อการนโยบายประกันรายได้ข้าวของรัฐบาล ว่ามีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดี ทางสมาคมเห็นด้วยในการส่งเสริมรายได้ แต่ทั้งนี้มองว่าระดับราคาต้องการให้พิจารณาในระดับที่เหมาะสม ไม่ให้สูงเกินไป เนื่องจากอาจจะกระทบต่อการส่งออกข้าวไปต่างประเทศ เพราะราคาข้าวไทยอาจจะสูงกว่าคู่แข่ง และในระยะยาวอาจจะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันของไทย ส่วนจะราคาเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาล แต่อย่างไรก็ดี การหามาตรการเข้ามาดูแลในระยะยาวเป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องพิจารณาหามาตรการที่เหมาะสม โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะต้องเข้ามาดูแลตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้ปลายทางสามารถแข่งขันได้

ชาวสวนปาล์มหวั่นเงินไม่ถึงมือ

ส่วนการประกันรายได้ชาวสวนปาล์ม เกษตรกรชาวสวนปาล์มบางกลุ่ม ออกมาแสดงความกังวลการใช้หลักเกณฑ์จำนวนผลผลิตปาล์มน้ำมันจากการคำนวณน้ำมันปาล์มดิบที่ชาวสวนขายให้กับโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ ทอนกลับมาเป็นจำนวนผลผลิต หรือผลปาล์มทะลายต่อไร่ เพื่อจ่ายเงินชดเชยให้ชาวสวนปาล์ม ซึ่งอาจจะเป็นชาวสวนที่ถูกสวมสิทธิ กลายเป็นว่าชาวสวนปาล์มตัวจริงไม่ได้รับเงินชดเชย เกิดการบิดเบือนกลไกตลาด รัฐละลายเงินงบประมาณพื้นที่ปลูกปาล์มขยายเพิ่มขึ้นและที่สำคัญก็คือนโยบายประกันรายได้ไม่ได้ช่วยยกระดับราคาผลปาล์มแต่อย่างใด

สั่งด่วนตรวจผลกระทบภัยท่วม

ยังไม่ทันที่โครงการประกันรายได้จะเริ่ม เกษตรกรก็เจอปัญหาภัยแล้งต่อด้วยน้ำท่วม อย่างพายุโพดุล ทำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องเร่งตรวจสอบสถานการณ์ภัยธรรมชาติ ที่คาดว่าระดับน้ำจะท่วมสูงในหลายพื้นที่ แม้ยังไม่มีตัวเลขความเสียหายในพื้นที่ชัดเจน ต้องรอให้น้ำลดลง ซึ่งขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตรเข้าไปประเมินความเสียหายให้แล้ว คาดแล้วเสร็จใช้เวลา 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร และจะมีผลต่อการคำนวณ ราคาประกันสินค้าเกษตรใหม่หรือไม่ คงต้องรอลุ้นต่อไป

เบื้องต้นศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรจังหวัด ระบุ โพดุลนั้นทำให้ 25 จังหวัดได้รับผลกระทบ มีจำนวน 3 จังหวัดที่มีสถานการณ์รุนแรง ได้แก่ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด และยโสธร ส่วนผลกระทบด้านการเกษตร ได้รับผลกระทบทั้ง 25 จังหวัด จำแนกเป็น ด้านพืช 19 จังหวัด เกษตรกร 269,240 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 2,026,576 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 1,836,526 ไร่ พืชไร่ 173,852 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 16,199 ไร่ เป็นต้น

จากผลสำรวจของกรมส่งเสริมการเกษตร พบว่ามีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุโพดุล 17 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ พิจิตร แพร่ เชียงใหม่ นครพนม อำนาจเจริญ ยโสธร สกลนคร ร้อยเอ็ด มุกดาหาร หนองคาย อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และอุดรธานี ซึ่งมีจำนวนเกษตรกรกว่า 180,000 ราย และมีพื้นที่ได้รับผลกระทบประมาณ 1.4 ล้านไร่ โดยแยกเป็นข้าว 1.3 ล้านไร่ พืชไร่กว่า 8.7 หมื่นไร่ พืชสวนและอื่นๆ กว่า 1.3 หมื่นไร่

ส่วนแนวทางการช่วยเหลือ ทางกรมส่งเสริมการเกษตร ระบุว่า การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 โดยกรมจะยึดหลักปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 โดยเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรไว้ก่อนเกิดภัย และมีพื้นที่เสียหาย จะได้รับการช่วยเหลือรายละไม่เกิน 30 ไร่ โดยช่วยเหลือ ข้าว ในอัตราไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ ในอัตราไร่ละ 1,148 บาท และพืชสวนและอื่นๆ อัตราไร่ละ 1,690 บาท

ทั้งนี้ เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตพื้นที่การให้ความช่วยเหลือ เกษตรกรต้องยื่นแบบความจำนงขอรับการช่วยเหลือ (กษ 01) โดยให้ผู้นำท้องถิ่นรับรอง ก่อนจะมีการตรวจสอบทะเบียนเกษตรกรและพื้นที่เสียหายจริงตามขั้นตอนต่อไปทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้เร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพื้นที่อย่างเร่งด่วนนับจากวันที่ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือ, การประกันภัยพืชผลทางการเกษตร เกษตรกรที่ได้เข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2562 จะได้รับค่าสินไหมทดแทน ในอัตราไร่ละ 1,260 บาท และเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562 จะได้รับค่าสินไหมทดแทนในอัตราไร่ละ 1,500 บาท

พิษแล้งฉุดกำลังซื้อภาคเกษตร

ก่อนหน้านี้ประเมินสถานการณ์ภัยแล้งปี 2562 ที่มีผลกระทบในหลายพื้นที่ ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อน ซึ่งจะใช้เป็นน้ำเพื่อทำการเกษตรในฤดูแล้งถัดไปในปี 2563 หรือในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562-เมษายน 2563 โดยจะกระทบต่อพืชเกษตรหลักที่มีฤดูกาลเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูแล้งที่สำคัญคือ ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง และอ้อย ก็จะยิ่งทำให้ตัวเลขมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจมีความเสียหายต่อเนื่องไปจนถึงปี 2563 และกระทบรายได้เกษตรกรให้ยังคงลำบากต่อเนื่องไปอีก รวมถึงในระดับภูมิภาค จะยังส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อคนในพื้นที่ และจะยิ่งเป็นการฉุดกำลังซื้อครัวเรือนภาคเกษตร การมีงานทำ รวมทั้งปัญหาในภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)

ซึ่งขณะที่ภาครัฐได้ให้ความชัดเจนในเรื่องของโครงการประกันรายได้เกษตรกร เป็นเพียงประกันรายได้ ไม่ได้รายได้ผลผลิตซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์อุทกภัยหรือภัยแล้งขึ้น แน่นอนว่าเมื่อเป็นเช่นนั้นเกษตรกรจะได้รับผลกระทบทันที ฉะนั้น เหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้ส่งผลกระทบทำให้โครงการเกิดความล่าช้าแต่อย่างใด กลับเป็นแรงหนุนให้รัฐบาลต้องเร่งเครื่องโดยเร็วอีกด้วย โดยเบื้องต้นกรอบการช่วยเหลือยังคงเป็นเหมือนเดิม คือ โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางจะเริ่มประกันรายได้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึง กันยายน 2563 และจะเริ่มจ่ายจริงระยะที่ 1 ในเดือนธันวาคม 2562

ชาวไร่ชาวสวนร้องหาความพร้อม

ปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย มองว่ารัฐบาลมีความพร้อมในการประกันรายได้ และเกษตรกรส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับโครงการนี้ แต่ยังต้องการเสนอให้พิจารณาปรับเพิ่มราคาประกันข้าวหอมปทุมฯอีกตันละ 1,000 บาท จากเดิมกำหนดตันละ 11,000 บาท เป็นราคา 12,000 บาท เนื่องจากราคาข้าวปทุมฯที่กำหนดเป็นราคาใกล้เคียงกับข้าวเปลือกเจ้ามากเกินไป แต่คุณภาพของข้าว 2 ชนิดต่างกันมาก โดยข้าวหอมปทุมฯปลูกและดูแลยากกว่า ทั้งยังไม่สามารถปลูกได้ทุกพื้นที่อย่างข้าวเปลือกเจ้าที่สามารถปลูกได้ทุกที่และเติบโตเร็ว จึงอยากให้รัฐพิจารณาในเรื่องนี้อีกครั้ง

ขณะที่ มนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มแห่งประเทศไทย ระบุว่า รัฐบาลอาจจะมีความพร้อมในเรื่องการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์ม แต่อยากมีความชัดเจนก่อนว่าราคาที่จะชดเชยการประกันรายได้ที่แต่ละครัวเรือนจะได้รับจะเป็นวงเงินเท่าไหร่ จากหลายกระแสที่ออกมายังมีความคลาดเคลื่อนเรื่องราคาจึงอยากให้มีตัวเลขที่แน่ชัดเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกร ถึงจะเริ่มโครงการประกันรายได้ ส่วนเรื่องอุทกภัยมองว่าไม่ได้มีผลต่อการประกันรายได้ แต่อยากให้ภาครัฐหามาตรการในการช่วยเหลือชาวสวนปาล์มที่ได้รับผลกระทบโดยเร็ว

สถานการณ์ตอนนี้ เมื่อแล้งผ่านไปฝนเริ่มมา ชาวนาต่างกลับถิ่นเพื่อเริ่มเพาะปลูกรอบใหม่กันอีกครั้ง บางส่วนก็เริ่มสำรวจก่อนประกันรายได้เริ่มเดือนตุลาคม 2562 ว่าจะได้สิทธิเข้าโครงการแค่ไหน ทั้งนี้ ต้องมาดูว่าเกษตรกรที่ลงทะเบียนร่วมโครงการไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร หลังทำการเพาะปลูก 15-60 วัน หรือตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึง 31 ตุลาคม 2562 ส่วนภาคใต้จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2562 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2563 และโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์ม จะต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน 3 แสนราย ระยะเวลาโครงการสิงหาคม 2562-กันยายน 2563 นั้นเป็นอย่างไร

หรืออาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกรอบระยะเวลาของโครงการได้ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ ทำให้ประกันรายได้บางชนิดต้องเลื่อนเวลาตามความเหมาะสมต่อไป คงต้องติดตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image