บาทแข็งโป๊กฉุดเศรษฐกิจไทย ส่งออก-ท่องเที่ยวแย่ลามบริโภค สะกิดภาครัฐเร่งแก้ให้ถูกที่คัน

เป็นอีกครั้งที่ค่าเงินบาททุบสถิติการแข็งค่ารอบใหม่และแข็งค่ามากที่สุดในรอบปี 2562 หลังเมื่อวันที่ 13 กันยายน ปิดตลาดที่ 30.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยระหว่างวันค่าเงินบาทได้แข็งค่าลงไปที่ระดับ 30.35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่ามากที่สุดในรอบ 6 ปี 3 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556

แรงหนุนค่าเงินบาทสำคัญ คือ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่สูงต่อเนื่องระดับ 7-8% ของอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจประเทศ (จีดีพี) รวมทั้งการที่เงินบาทถูกมองเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในภูมิภาคจึงมีเงินเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง และผลล่าสุดจากสถานการณ์สงครามการค้า (เทรดวอร์) ที่ผ่อนคลายลง สหรัฐและจีนยินดีจะเจรจาการค้ากันอีกครั้ง และการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารต่างๆ ทั้งธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี 6 เดือน พร้อมใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (คิวอี) ในเดือนพฤศจิกายนนี้

บาทแข็งโป๊กเทียบคู่ค้าคู่แข่ง

หากไล่ย้อนดูข้อมูลค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา ข้อมูลจากธนาคารกรุงไทย ระบุว่า ค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าถึง 6.90% เป็นสกุลเงินที่แข็งค่าอันดับ 2 ของโลก เป็นรองแค่เพียงค่าเงินรูเบิลของรัสเซีย ที่แข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐถึง 8.61% แต่หากเทียบกับประเทศเอเชียด้วยกันแล้ว ค่าเงินบาทถือว่าแข็งค่ายืนหนึ่งในภูมิภาค

Advertisement

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบค่าเงินบาทกับสกุลเงินอื่น จะพบว่าสกุลเงินอื่นอ่อนค่าเทียบกับค่าเงินบาท ยกเว้นสกุลเงินรูเบิลรัสเซียที่แข็งค่ากว่าเงินบาท 1.61% โดยค่าเงินวอน เกาหลีใต้ อ่อนค่า 12.34% ค่าเงินดอลลาร์ นิวซีแลนด์อ่อนค่า 11.0% ค่าเงินยูโร อียู อ่อนค่า 9.45% ค่าเงินหยวน จีน อ่อนค่า 9.11% ค่าเงินปอนด์ อังกฤษ อ่อนค่า 8.58% ค่าเงินรูปี อินเดีย อ่อนค่า 8.09% ค่าเงินดอลลาร์ ไต้หวัน อ่อนค่า 7.45% ค่าเงินริงกิต มาเลเซีย อ่อนค่า 7.14% ค่าเงินดอลลาร์ สิงคโปร์ อ่อนค่า 7.12% ส่วนค่าเงินดอลลาร์ ฮ่องกง อ่อนค่า 6.28% ค่าเงินเปโซ ฟิลิปปินส์ อ่อนค่า 5.34% ค่าเงินเยน ญี่ปุ่น อ่อนค่า 4.99% และ ค่าเงินรูเปียห์ อินโดนีเซีย อ่อนค่า 3.61% โดยการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าเทียบกับสกุลเงินประเทศคู่ค้าคู่แข่ง ทำให้ ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ล่าสุด เดือนสิงหาคม 2562 อยู่ที่ หรือแข็งค่า 23% เป็นระดับสูงสุดในรอบหลายปี

ผลบาทแข็งกระทบส่งออกติดลบ

เศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลง นอกจากผลกระทบเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะขาลง และผลกระทบจากเทรดวอร์ระหว่างสหรัฐและจีนแล้ว แรงกดดันจากค่าเงินบาทที่แข็งค่ายังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในหลายด้าน และเริ่มเห็นผลกระทบที่ชัดเจนมากขึ้น ทั้งในภาคการส่งออกของไทยที่แข่งขันได้ยากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและสินค้าที่ใช้วัตถุดิบจากในประเทศ เพราะสินค้าไทยมีราคาแพงขึ้นแม้ว่าจะไม่ได้ปรับราคา

Advertisement

ในส่วนของกระทรวงการคลังก็แสดงความเป็นห่วง โดย อุตตม สาวนายนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากที่สุดในรอบมากกว่า 6 ปี และตั้งแต่ต้นปีค่าเงินบาทแข็งค่าถึง 6.90% เทียบดอลลาร์สหรัฐ จะกระทบกับการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ตามรายงานของกระทรวงพาณิชย์มูลค่าการส่งออก 7 เดือนแรก 2562 ติดลบ 1.91% รวม 144,175 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป้าหมายการส่งออกปีนี้อยู่ที่ 3.0% การส่งออกที่ชะลอลงทำให้เริ่มเห็นในส่วนภาคการผลิตแล้วและแนวโน้มอาจจะลดลงอีก ขณะที่ด้านการท่องเที่ยวไทย กำลังซื้อของนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง ซื้อสินค้าและบริการได้น้อยกว่าเดิม อาจส่งผลต่อธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจขนส่งและการเดินทาง เป็นต้น

ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวถือเป็นภาคเศรษฐกิจขนาดใหญ่สัดส่วนกว่า 60-70% ของจีดีพี หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ผลกระทบที่ต่อเนื่อง คือ จะส่งผลต่อรายได้ของประชาชนทำให้การบริโภคอาจจะชะลอตัว

ล่าสุด กรมสรรพากรรายงานสถานการณ์จัดเก็บรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ในปีงบประมาณ 2562 มีแนวโน้มว่าจะต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวของการจัดเก็บภาษีแวตและในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมติดลบ ทำให้ภาพรวมการจัดเก็บแวต 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 ติดลบ 2.1% สาเหตุหลักมาจากภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาชะลอลงทำให้การบริโภคในประเทศชะลอตัวตาม และการแข็งค่าของค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ยอดภาษีแวตที่จัดเก็บจากการนำเข้าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งยังน่าหนักใจหากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น และเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่องจะกระทบต่อการจัดเก็บภาษีแวตและรายได้ของกรมสรรพากร ในปีงบประมาณ 2563 ซึ่งภาษีแวตมีสัดส่วน 70-80% ของการจัดเก็บรายได้กรมสรรพากรทั้งหมด

ลามกระทบภาคท่องเที่ยว-บริโภค

กรณีนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของ ธปท. ก็มีความกังวล โดยจากรายงานการประชุม กนง. ฉบับย่อครั้งล่าสุด เมื่อเดือนสิงหาคมได้ระบุว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ที่ 3% และต่ำกว่าระดับศักยภาพจากการส่งออกสินค้าเป็นสำคัญ โดยการส่งออกสินค้าติดลบมากกว่าที่ประเมินไว้ตามเศรษฐกิจคู่ค้าและปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากสภาวะการกีดกันทางการค้าที่ทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น รวมทั้งในระยะข้างหน้ายังมีโอกาสที่สถานการณ์อาจรุนแรงขึ้นและยืดเยื้อต่อไปอีกระยะ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณการค้าโลกและอุปสงค์จากประเทศคู่ค้ามากกว่าที่ประเมินไว้

นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ประกอบกับนักท่องเที่ยวบางสัญชาติได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็ง ทั้งนี้ เริ่มเห็นผลกระทบของการส่งออกสินค้าต่ออุปสงค์ในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงตามความเชื่อมั่นของครัวเรือนและธุรกิจที่ปรับลดลง ประกอบกับรายได้ของครัวเรือนนอกภาคเกษตรและการจ้างงานในภาคการผลิตเพื่อส่งออกปรับลดลง รายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรบางส่วนได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง รวมทั้งกำลังซื้อของครัวเรือนยังได้รับแรงกดดันจากหนี้ที่อยู่ในระดับสูง

?อัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าต่อเนื่องอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกมากขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจคู่ค้าชะลอลงและการแข่งขันระหว่างประเทศสูงขึ้น โดยเริ่มเห็นสัญญาณผลกระทบต่อกำไร ความสามารถในการชำระหนี้ และการปรับลดการจ้างงานล่วงเวลาในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกบางกลุ่ม กนง.จึงเห็นควรให้ติดตามการปรับตัวดังกล่าวซึ่งหากเกิดขึ้นในวงกว้างอาจส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือนที่เกี่ยวโยงกับธุรกิจส่งออกและส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้? รายงานระบุ

นทท.จีนเน้นเที่ยวระยะใกล้

ด้านสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ประมาณการค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 2562 อยู่ในช่วง 30.70-31.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากเฉลี่ย 32.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2561 จากกรอบเดิมที่ 31.10-32.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

สศช.ยังได้มีการศึกษาข้อมูล พบว่านักท่องเที่ยวจีนฟื้นตัวล่าช้ากว่าการคาดการณ์ โดยในปี 2561 มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย 10.5 ล้านคน คิดเป็น 27.5% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด และสร้างรายได้ทั้งสิ้น 5.8 แสนล้านบาท แต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2561 จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลงจากเหตุการณ์เรือล่มที่ จ.ภูเก็ต อย่างไรก็ดี พบว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 นักท่องเที่ยวจีนยังคงลดลงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความวิตกกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน และการอ่อนค่าของเงินหยวน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางออกนอกประเทศชะลอตัวและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการท่องเที่ยวเป็นการเดินทางในระยะใกล้มากขึ้น

โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยอมรับว่าปัจจัยต่างๆ ที่รุมเร้า ทำให้ ททท. ต้องปรับเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้อยู่ที่ 40.2 ล้านคน จากเดิมประมาณ 40.4 ล้านคน คิดเป็นรายได้ 2.21 ล้านล้านบาท เป็นไปในทิศทางเดียวกับ ธปท. ที่ปรับลดจำนวนนักท่องเที่ยวมาอยู่ที่ 39.9 ล้านคน จากเดิม 40.4 ล้านคน และ สศช.อยู่ที่ 39.8 ล้านคน จากเดิม 40.5 ล้านคน

เอกชนหวังธปท.ช่วยดูแลค่าบาท

มีประเด็นเรื่องค่าเงินบาทขึ้นมาเมื่อไร หัวกะได ธปท.ก็ไม่ว่างเว้น เอกชนตบเท้าเข้าไปหารือให้ข้อมูล พร้อมขอให้ออกมาตรการมาดูแล ช่วงเดือนกรกฎาคม ธปท. ได้ออกมาตรการเพื่อลดการเก็งกำไรค่าเงินบาท หลังจากที่มาตรการออกมาพบว่าสามารถชะลอการแข็งค่าของเงินบาทลงได้บ้าง

อย่างไรก็ดี ช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ยังมีความกังวลสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง และยังมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นอีก หลังจากที่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี และอาจจะปรับอีกในระยะต่อไป จะทำให้มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าไทยทำให้เงินบาทแข็งค่าจะส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของการส่งออก ขณะนี้คาดการส่งออกปีนี้อยู่ในช่วงติดลบ 1% ถึงขยายตัว 1% รวมทั้งจะกระทบต่อการท่องเที่ยว และการดึงดูดลงทุนของไทย จึงอยากให้ทางการออกมาตรการเพื่อดูแลการแข็งค่าของเงินบาทโดยเร็ว

เพราะค่าเงินบาทขณะนี้เป็นการแข็งค่าในทิศทางเดียว การป้องกันความเสี่ยงทำได้ยากท่ามกลางการผ่อนคลายนโยบายการเงินทั่วโลก แอ๊กชั่นของ ธปท. ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงแบบเซอร์ไพรส์ตลาดด้วยเสียงที่ไม่เป็นเอกฉันท์ ลดลง 0.25% จาก 1.75% มาอยู่ที่ 1.50%

รัฐแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ถูกที่

หลายคนตั้งคำถามว่าเศรษฐกิจไทยขณะนี้ผลกระทบมาจากค่าเงินบาทเป็นหลักหรือไม่ เพราะค่าเงินบาทที่แข็งค่าส่งผลกระทบในหลายภาคส่วน การแก้ปัญหาที่ภาครัฐกำลังดำเนินการโดยใช้มาตรการกระตุ้นในจุดต่างๆ อาจจะไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุหรือไม่ มุมมองของ เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบมาจากเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก แม้ว่าการส่งออกและการท่องเที่ยวไทยที่ชะลอลงส่วนหนึ่งมาจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า แต่หากพิจารณาจะพบว่าการส่งออกที่ว่าแย่ขณะนี้ติดลบราว 2% และคาดทั้งปีตัวเลขน่าจะดีกว่านี้ถือว่าไม่ได้ย่ำแย่มาก ผู้ส่งออกไทยยังมีความยืดหยุ่นที่จะปรับตัวได้ โดยการส่งออกบางประเทศ อย่างอินโดนีเซียส่งออกแย่กว่าไทยมาก แม้ค่าเงินบาทจะแข็งค่าน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่แข็งค่านานจะไม่ส่งผลดีทุกอย่างจะลำบากและมีผลกระทบมากขึ้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยวไทยจะแพงขึ้น ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับนักท่องเที่ยวต่างชาติจะได้รับผลกระทบ รายได้ลดลงไป

ด้าน จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ให้ข้อมูลว่า จากข้อมูลงานศึกษาของ ธปท. สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อค่าบาทแข็งค่าขึ้น 10% จะทำให้จีดีพีลดลง 0.2% เงินเฟ้อลดลง 0.3% ถือว่ากระทบไม่มากนัก ดังนั้น หากมองในสถานการณ์ปัจจุบันที่ค่าเงินบาทแข็งค่า 6.90% ยังไม่ถือว่าเป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจมากนัก อาจจะกระทบเงินเฟ้อบ้าง และงานศึกษายังพบว่าค่าบาทแข็งค่าขึ้น 10% ภาคค้าปลีกจะสามารถทำกำไรเพิ่ม 2% จากต้นทุนนำเข้าที่ลดลงและประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้น ส่งผลดีต่อกลุ่มผู้ค้าปลีกรายย่อยที่ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางและกำลังบริโภคของประเทศ ซึ่งหากเศรษฐกิจในประเทศไม่ชะลอตัว ยอดขายเท่าเดิมจะได้กำไรมากขึ้น

ในส่วนของภาคการเกษตรนั้น ได้รับผลกระทบเพราะเมื่อขายสินค้าเป็นดอลลาร์สหรัฐแต่แลกเงินกลับมาเป็นเงินบาทได้น้อยลง และต้องปรับเปลี่ยนการผลิตในรูปแบบใหม่ๆ ในช่วงที่เศรษฐกิจแย่ภาพแรงกดดันจึงค่อนข้างมาก ขณะที่ภาคการส่งออกที่มีความกังวลจากค่าเงินบาทแข็งมองว่าไม่น่าจะมีผลมากนัก เพราะหากพิจารณาค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่ตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในไทยก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวน่าจะมาจากเศรษฐกิจประเทศนั้นและเศรษฐกิจโลกมากกว่า

จับตาค่าเงินบาทเสี่ยงหลุด30บาท/ดอลล์

จิติพลกล่าวอีกว่า ทิศทางค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่า ต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก สงครามการค้าที่มีแนวโน้มดีขึ้น สถานการณ์เบร็กซิทและการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศหลักต่างๆ มองว่าโอกาสที่ค่าเงินบาทจะหลุดลงไปต่ำกว่าระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐมีน้อย แต่คาดค่าเงินบาทสิ้นปีอยู่ที่ 30.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด วันที่ 17-18 กันยายนนี้ คาดจะลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 ตามที่ตลาดคาดมาอยู่ที่ 1.75-2.00% ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของ ธปท.วันที่ 25 กันยายนนี้คาดคงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.75% และจะปรับลดลงไปอยู่ระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ที่ 1.25% ในช่วงปลายปีนี้

ทั้งนี้ รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและวิเคราะห์ตลาดการเงิน ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา คาดแนวโน้มค่าเงินบาทไปจนถึงสิ้นปี 2562 ว่า ค่าเงินบาทจะยังมีความผันผวนหลังจากที่ลงมาแตะระดับแข็งค่ามากที่สุดในรอบปีและแข็งค่ามากสุดรอบมากกว่า 6 ปี โดยสิ้นปีนี้คาดเงินบาทอยู่ที่ 30.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่มีโอกาสที่จะหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หากสงครามการค้าคลี่คลายลง เบร็กซิทราบรื่น และเศรษฐกิจโลกเติบโตมากกว่าที่คาด จะมีแรงหนุนกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์เสี่ยงและตลาดเกิดใหม่เพิ่มมากขึ้น ส่วนการประชุม กนง. คาดคงอัตราดอกเบี้ยและมีการปรับดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ 1.25% ในการประชุมเดือนพฤศจิกายน

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังผันผวน และค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่าต่อเนื่อง ต้องติดตามว่า ธปท.จะมีมาตรการออกมาดูแลเพิ่มเติม นอกจากการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ เพราะนโยบายการเงินเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถใช้ดูแลได้ทั้งหมด ต้องประสานนโยบายการคลังที่ยังมีช่องว่างให้ดำเนินนโยบายได้ ทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ และการผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ที่จะทำให้มีการนำเข้ามากขึ้นลดแรงกดดันดุลบัญชีเดินสะพัดช่วยชะลอค่าเงินบาท และยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจและผลักดันให้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 3% ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image