5G -เร็วแต่ ‘แพง’ โจทย์ยาก ของ ‘รัฐไทย’

การเข้ามาของโครงข่าย 5G เป็นเรื่องที่ทุกประเทศให้ความสนใจ และตื่นตัวในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการทำวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมดิจิทัล พร้อมกับเร่งให้ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์และผลกระทบที่จะมาพร้อมกับ 5G

ร้อยโท เจษฎา ศิวรักษ์ หัวหน้างานฝ่ายรัฐกิจและธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด ได้อัพเดตความพร้อมทั่วโลกจะเข้ายุค 5G ในเร็วๆ วันนี้

“ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นของ 3G เมื่อปี 2543 ใช้มาคู่กับการพัฒนาสู่ 4G และเข้ามาในไทยครั้งแรกปี 2553 พบว่า ระยะเวลาการเกิด 3G สู่ 4G ใช้ระยะเวลาห่างกันประมาณ 10 ปี ดังนั้น 5G ควรเกิดขึ้นในปี 2563 แต่ปรากฏว่า 5G มาเร็วกว่าที่คาดไว้ ช่วงปี 2561 ที่ผ่านมา เริ่มมีบริษัทด้านโทรคมนาคมและผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) หลายค่าย เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์กับผู้บริโภคแล้ว ประเทศนำร่องต้นๆ ของการทดลองใช้ระบบ 5G อย่างเกาหลี สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี และจีน หลังจากเปิดตัวไม่ถึงปี หลายเหตุการณ์ที่น่าสนใจอย่างเกาหลีใต้ หลังจากจัดสรรคลื่นความถี่ใช้ระบบ 5G แล้วและมีการลงทุนของโอเปอเรเตอร์ 3 รายของเกาหลีใต้ เพียงเปิดใช้เครือข่าย 140 วัน พบว่ามีลูกค้าเข้ามาใช้บริการได้กว่า 2 ล้านคน และอีกหลายประเทศที่เริ่มใช้

จึงยืนยันได้ว่า 5G มีตลาดรองรับ!! ฉะนั้นการเปลี่ยนจากระบบ 4G เป็น 5G เดิมคิดว่าจะใช้เวลานาน แต่จากสถานการณ์ตอนนี้คิดว่าระบบ 5G อาจพัฒนาได้เร็วกว่า 4G ที่เด่นอย่าง เอสเค เทเลคอม หนึ่งในผู้ให้บริการด้านระบบโทรคมนาคมรายใหญ่ของเกาหลีใต้ มีลูกค้าประมาณ 28 ล้านราย ภายในเวลา 3 เดือนเศษ มีลูกค้าเพิ่มเป็น 1 ล้านราย เพราะลูกค้ามาใช้บริการ 5G ในประเทศเกาหลี ยอมจ่ายแพงกว่าเพื่อให้ได้ความหน่วง (อัตราการเปลี่ยนความเร็วต่อ 1 หน่วยเวลา) ที่ดีมากขึ้น

Advertisement

ประโยชน์ของระบบ 5G สามารถทำให้ดาวน์โหลดภาพยนตร์ทั้งเรื่องเสร็จภายในไม่กี่วินาที ไม่แค่เพิ่มความสะดวกและรวดเร็วขึ้นในชีวิตประจำวัน ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นได้มากมาย เช่น ในประเทศออสเตรเลีย นำโครงข่าย 5G ไปใช้ในการควบคุมอุปกรณ์ขุดเจาะในเหมืองแร่ ส่วนอินเดียแม้ยังไม่มีระบบ 5G แต่เร่งพัฒนา เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน โอเปอเรเตอร์ และสถาบันการศึกษาในการนำ 5G พัฒนาแอพพลิเคชั่นต่างๆ

ส่วนความก้าวหน้าเรื่อง 5G ของประเทศเพื่อนบ้านติดชายแดนไทย ขณะนี้หลายประเทศได้กำหนดแผนในการใช้ความถี่ บางประเทศกำหนดวิสัยทัศน์เกี่ยวกับ 5G ในกลุ่มอาเซียนประเทศสิงคโปร์ได้มีการจัดการคลื่นความถี่ย่าน 3.5 เมกะเฮิรตซ์ เจตนาของผู้จัดสรรคลื่นความถี่ของสิงคโปร์ ต้องการเห็น 5G เกิดขึ้นในประเทศให้เร็วที่สุด โดยไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องเงินเป็นที่ตั้งว่าต้องให้เอกชนจ่ายสูงเพื่อได้คลื่น เทียบตัวเลขราคาจากจัดสรรคลื่นแล้วไม่ถือว่าสูงมากหากเทียบกับราคากลางทั่วโลก

แต่มองความสำคัญเรื่องผู้ที่ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ จะต้องลงโครงข่ายให้ได้มากกว่าครึ่งของประชากรในประเทศ ภายใน 1-2 ปี ดังนั้นการจัดการคลื่นความถี่ที่สิงคโปร์ไม่ได้มีการคิดค่าใช้จ่ายในส่วนที่มีคลื่นความถี่สูง ผู้ประกอบการจะได้ประมาณ 95-100 เมกะเฮิรตซ์ โดยมีการใบอนุญาต (ไลเซนส์) ให้ใช้คลื่นความถี่ประมาณ 12 ปี มูลค่า 70-140 ล้านเหรียญดอลลาร์สิงคโปร์ มูลค่าของ 5G ไม่ได้ถูกผูกติดกับ 4G เมื่อเทียบกับไทยแล้ว คลื่นความถี่เพียง 10-20 เมกะเฮิรตซ์ มีมูลค่าหลายสิบล้านบาทแล้ว ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ กว่าที่จะประมูลคลื่นความถี่ชนะ อาจไม่มีเงินในการลงทุนโครงข่าย สถานการณ์โครงข่าย 4G ในประเทศ ทั้ง 3 โอเปอเรเตอร์ทำได้ดีในกรณีที่มีการกระจายสัญญาณ 4G ไปทั่วประเทศมากกว่า 90%

Advertisement

แม้ข้อดี 5G มีมากมาย แต่ยังมีข้อเสียที่ไทยต้องเผชิญอยู่ คือ ค่าเฉลี่ยความเร็วของ 4G ไทยยังต่ำเมื่อเทียบกับพม่า และเวียดนาม ไทยยังตามหลัง 5-15 เมกะบิต โดยภาพรวมทุกประเทศอาจมองว่าไทยมีคลื่นสัญญาณเยอะ แต่คุณภาพที่ได้ยังเร็วไม่พอ ขณะที่ความเร็วที่บริเวณย่างกุ้ง ประเทศพม่า มีความเร็วค่อนข้างสูง แต่การครอบคลุมอาจจะไม่ดี ถ้าไทยยังไม่มีการจัดการกับข้อเสียของประเทศ อาจส่งผลให้โอเปอเรเตอร์บางราย

หันไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเพิ่มฐานลูกค้าจังหวัดที่ติดกับประเทศนั้นๆ ก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการให้บริการโครงข่ายอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ผ่านโทรศัพท์มือถือในปัจจุบัน เป็นการให้บริการในรูปแบบเทคโนโลยีโครงข่ายข้อมูลความเร็วสูงที่เป็นพื้นฐานในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล ฉะนั้นถ้าไทยมีการจัดสรรความเร็วหรือความหน่วงของสัญญาณได้น้อย จะส่งผลให้การสร้างธุรกิจเกิดข้อจำกัดทันที

ถ้ายังไม่มีการปรับปรุงโครงข่ายให้มีความเร็วต่อเนื่องอาจจะส่งผลต่อการจัดสรรคลื่น 5G ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องควบคุมไม่ให้เกิดขึ้น เพราะถ้าจะนำโครงข่าย 5G เข้ามาใช้ต้องมั่นใจว่าคุณภาพของโครงข่ายต้องดีกว่า 4G

ส่วนการเติบโตในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ ผู้บริโภคเองจะเลือกใช้บริการจากความคุ้มค่าของราคากับความเร็วอินเตอร์เน็ต ตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่จึงกลายเป็นตลาดคอมมูนิตี้ที่ในปี 2563 จะมีการแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้น นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจที่จะมาพร้อมกับโครงข่าย 5G ผู้ให้บริการเครือข่ายต้องมีการนำประโยชน์จาก 5G ไปปรับให้เป็นดิจิทัลอินฟราสตรัคเจอร์สำหรับธุรกิจแต่ละประเภท เช่น การใช้งานในโรงงานอุตสาหกรรม สำหรับควบคุมหุ่นยนต์ไร้สาย โดยมีวิธีควบคุมอยู่ 2 วิธี คือ การควบคุมด้วยไวไฟ และการควบคุมด้วยระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งทั้ง 2 ข้อดังกล่าวจำเป็นต้องใช้ระบบที่มีความหน่วงสูง เพื่อลดข้อผิดพลาดในการทำอุตสาหกรรม จะต้องพึ่งพาโครงข่าย 5G เป็นต้น

ทั้งนี้ ระบบสัญญาณอินเตอร์เน็ตยังมีความสำคัญกับการให้บริการทางการแพทย์ โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดสมองต้องทำเวลาในการรักษา โรงพยาบาลบางแห่งในกรุงเทพฯ มีการกระจายติดตั้งจุดให้บริการ เพื่อทำการรักษาในเบื้องต้น โดยจะต้องนำผลการสแกนสมองไปที่โรงพยาบาล จากผลทดสอบพบว่า ระบบ 4G สามารถส่งข้อมูลได้แต่ยังไม่มีความเสถียรพอ

ทั้งนี้ พบว่าการปล่อยสัญญาณอินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่ เพื่อรองรับสำหรับการดูหนังฟังเพลงเท่านั้น แต่ระบบ 5G สามารถแยกใช้ตามความต้องการได้ เพราะฉะนั้นการเข้ามาของโครงข่าย 5G จึงไม่ได้เป็นแค่การเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติเท่านั้น แต่จะเข้ามาช่วยเสริมตามความหลากหลายของธุรกิจอีกด้วย

ร้อยโท เจษฎา ให้ทรรศนะเพิ่มเติมอีกว่า ไทยต้องเริ่มพัฒนาระบบ 5G เพื่อไม่ให้ตกขบวนตั้งแต่ตอนนี้ และไม่เสียโอกาสเทียบกับทั่วโลก ฉะนั้นเห็นด้วยที่ไทยเริ่มประมูลคลื่นความถี่ภายปี 2563 เพื่อให้เริ่มต้นได้ใช้ปี 2564 อาจช้าไปด้วยซ้ำ

ส่วนความหมายของ 5G ไม่ได้หมายถึงการจัดสรรความถี่ หรือการเตรียมความพร้อมการอัพเดตเน็ตเวิร์กเพียงอย่างเดียว โอเปอเรเตอร์ต้องมีความพร้อมด้วย

แต่เนื่องจากโอเปอเรเตอร์ของไทยต้องแบกรับค่าใช้จ่ายหลายหมื่นล้านบาทต่อปี จึงเกิดความกังวลว่าเมื่อ 5G มาถึงไทย จะไม่มีผู้ประกอบการเข้าร่วมลงทุน เพราะไม่มีงบประมาณในการลงทุนโครงการใหม่ รวมถึงผู้ประกอบการเริ่มไม่มีความเชื่อมั่นว่าไทยมีความถี่ 5G ออกมาแล้ว จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ในมุมของผู้พัฒนามองว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอุปสรรค ฉะนั้นต้องเร่งหาแนวทางแก้ไขโดยด่วน

ในส่วนการขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ 5G อันดับแรกต้องวางโครงสร้างที่เหมาะ การเสริมความรู้เข้าไปในหลักสูตรของนักเรียน นักศึกษาเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องมีการพัฒนาให้ครอบคลุมกว่านั้น เนื่องจากการประดิษฐ์หรือออกแบบนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ 5G ต้องใช้เครื่องมือที่มีความทันสมัยที่มีราคาสูง ดังนั้นรัฐบาลต้องเข้ามามีส่วนในการสนับสนุนในการสร้างห้องแล็บชุมชน ให้ประชาชนได้เข้ามาเรียนรู้ รวมถึงต้องจัดเตรียมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาให้ความรู้กับประชาชนด้วย เชื่อว่าหากมีการปฏิบัติในอนาคตไทย อาจจะมีสิ่งประดิษฐ์ที่ตอบโจทย์กับคนในประเทศและสามารถต่อยอดส่งออกนอกประเทศ เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป

สำหรับบทบาทของภาครัฐในการพัฒนาโครงข่าย 5G อย่างแรกที่ต้องทำคือ เปลี่ยนมุมมองความคิด เพราะเรื่อง 5G ต้องเป็นเรื่องที่รัฐต้องให้การสนับสนุนมากกว่าการเข้ามาควบคุม ในปัจจุบันมีการเกิดขึ้นของหน่วยงานใหม่ๆ มากขึ้น ทำให้การพัฒนาในด้านต่างๆ เป็นไปได้ยาก รวมถึงต้องมีการเปลี่ยนความคิดใหม่เกี่ยวกับหน่วยงานที่ควบคุมการให้บริการสัญญาณ ไม่ได้มีหน้าที่หารายได้ให้กับรัฐบาล หรือการคิดค่าบริการการใช้คลื่นความถี่เหมือนการจ่ายภาษี ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด เพราะหน่วยงานกำกับดูแลมีหน้าที่ควบคุมให้เกิดการใช้ความถี่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

ร้อยโท เจษฎา ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ไทยจะได้รับเมื่อก้าวเข้าสู่การใช้ 5G อย่างเต็มระบบ เห็นได้ว่าในปัจจุบันมีการพูดถึงเรื่องการนำปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และอินเตอร์เน็ตสำหรับทุกสิ่ง หรืออินเตอร์เน็ตออฟธิง

(ไอโอที) มาใช้เพื่อขับเคลื่อนสังคมยุคดิจิทัล แต่อะไรคือโครงสร้างในการส่งข้อมูลที่ดีที่สุด คำตอบก็คือ โครงข่าย 5G จะเข้ามาช่วยเติมเต็มภาคธุรกิจและบริการให้มีประสิทธิภาพ และช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้ามากขึ้น

ถึงเวลาที่รัฐจะต้องชั่งน้ำหนักแล้วว่าผลประโยชน์ของ 5G คืออะไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image