จับตาเกมยื้อแบน 3 สารเคมี วัดกึ๋นรัฐบาลทุบนายทุน หรือแค่หวังผลการเมือง

ดูเหมือนว่าปัญหาเรื่องการแบนสารเคมีอันตราย 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และ ไกลโฟเซต ที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 3 ปี ยังไม่มีท่าทีว่าจะจบลงง่ายๆ เมื่อดูจากการออกมาประกาศศึกของฝ่ายค้านและฝ่ายสนับสนุน รวมทั้งมีการนำไปโยงในเชิงการเมืองที่มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง จนส่งผลต่อสุขภาพของ 2 รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้ง เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการ และ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ให้ล้มป่วยไปตามๆ กัน

ประเด็นนี้ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ายิ่งรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนมากขึ้นเท่าไร ปัญหาความขัดแย้งครั้งนี้ก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น!!

เปิดไทม์ไลน์แบน3สาร
จุดเริ่มต้นการแบนสารอันตราย 3 ชนิด เกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 5 เมษายน 2560 โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง อันเป็นคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีมติให้ดำเนินการออกประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิด โดยคณะกรรมการสั่งให้ยุติการนำเข้าภายในเดือนธันวาคม 2561 และยุติการใช้ทั้งหมดภายในเดือนธันวาคม 2562 และจำกัดการใช้ไกลโฟเซตอย่างเข้มงวด โดยห้ามใช้ในพื้นที่ต้นน้ำแหล่งน้ำพื้นที่สาธารณะและชุมชนโดยเฉพาะบริเวณโดยรอบศูนย์เด็กเล็กโรงเรียนและโรงพยาบาล

19 พฤศจิกายน 2560 กรมวิชาการเกษตร ต่อทะเบียนให้กับบริษัทซินเจนทา, เอเลฟองเต้ และดาว อะโกรไซแอนส์ สามารถนำเข้าอีก 6 ปี นับตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมโดยอ้างว่าหากล่าช้าจะทำให้ภาคเอกชนเสียหายและรัฐอาจถูกฟ้องได้ซึ่งสวนทางกับข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข, 30 มกราคม 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับพาราควอตและผลกระทบของการใช้สารดังกล่าวให้ชัดเจน, 15 กุมภาพันธ์ 2561 กระทรวงสาธารณสุขประชุมหารือเรื่องพาราควอต และผลกระทบจากการใช้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งที่ประชุมยืนยันตามมติคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงให้ยกเลิกการใช้ภายในเดือนธันวาคม 2562

Advertisement

23 พฤษภาคม 2561 คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติไม่ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 รายการ โดยให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการยกร่างแผนการจำกัดการใช้สารทั้ง 3 ชนิด, 5 มิถุนายน 25621 ตัวแทนเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร ชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลและยื่นจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ ผ่าน กฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในสมัยนั้น พร้อมตั้งข้อสังเกตต่อกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายและการทำงานของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ ดังนี้ 1.การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตรายฯ เลือกตัวแทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และอดีตข้าราชการกระทรวงเกษตรฯถึง 4 คน และอีก 4 คน เลือกจากผู้ที่แสดงจุดยืนสนับสนุนกระทรวงเกษตรฯจากคณะกรรมการที่มีจำนวน 12 คน ซึ่งล้วนแต่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านผลกระทบต่อสุขภาพ

2.อนุกรรมการเฉพาะกิจฯดังกล่าวใช้ข้อมูลเก่าและล้าสมัยเพื่อโน้มน้าวให้มีการใช้สารพิษร้ายแรงดังกล่าวต่อไป โดยเพิกเฉยต่อข้อมูลเชิงประจักษ์และรายงานใหม่ๆ เป็นจำนวนมากจนกระทั่งเครือข่ายนักวิชาการจากหลายสถาบัน เช่น สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยนเรศวร ต้องจัดเวทีให้ข้อเท็จจริงทางวิชาการ เป็นต้น และ 3.กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ควรมีกรรมการอย่างน้อย 3 คน ที่มีส่วนได้เสียกับสมาคมค้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช แต่กลับไม่มีการแสดงการมีส่วนได้เสียและไม่มีการสละสิทธิลงคะแนนซึ่งอาจขัด พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มาตรา 12 วรรค 2 พร้อมทั้งเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายทบทวนมติและพิจารณายกเลิกพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ในเดือนธันวาคม 2562 ตามกรอบเวลาที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอไว้ และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการศึกษาหาวิธีการทดแทนตามมติของสภาเกษตรกรแห่งชาติ

16 กรกฎาคม 2561 พล.อ.ประยุทธ์ ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง โดยมีหน้าที่หลักในการรวบรวม วิเคราะห์ และสรุปข้อมูลทางวิชาการชุดใหม่ เพื่อเสนอต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อเร่งรัดและติดตามการดำเนินการของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรายงานผลต่อสำนักนายกรัฐมนตรี, 23 พฤศจิกายน 2561 ผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยให้ยกเลิกการใช้พาราควอตภายใน 1 ปี ก่อนยกเลิกให้มีการจำกัดการใช้สร้างการรับรู้กับประชาชนและพัฒนาวิธีการทดแทน และเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน หลังจากได้รับหนังสือ และให้พัฒนาสารชีวภัณฑ์หรือหาวิธีการอื่นที่ปลอดภัยกว่าให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน, 14 กุมภาพันธ์ 2562 ตัวแทนเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร เดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องต่อประธานกรรมการวัตถุอันตรายให้พิจารณาควบคุมพาราควอตเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ภายในเดือนธันวาคม 2562 และให้มีการลงมติแบบเปิดเผยโดยไม่มีกรรมการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

Advertisement

9 สิงหาคม 2562 มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ย้ำต้องยกเลิกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชความเสี่ยงสูง 3 ชนิดให้ได้ก่อนสิ้นปี 2562 พร้อมสั่งกรมวิชาการเกษตรชะลอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องรวมถึงการอนุญาตหรือต่อทะเบียนทั้งหมดเพื่อพิจารณาทบทวนใหม่ ลั่นเห็นพ้อง อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยกเลิกแน่, 18 กันยายน 2562 กรรมการวัตถุอันตรายอ้างคำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ ว่าได้มอบหน้าที่ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์หารือ 4 กลุ่มรวมถึงผู้นำเข้าเพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับการแบนสารเคมี 3 ชนิด, 7 ตุลาคม 2562 ประชุมคณะทำงาน 4 ฝ่าย ประกอบด้วย ภาครัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภค เพื่อพิจารณาความเห็นต่อการยกเลิกสารเคมี 3 ชนิด ที่มี มนัญญาเป็นประธาน ปรากฏผลว่าที่ประชุมมีมติ 9 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 1 ไม่มาร่วมประชุม 1 โดย 9 เสียงเห็นชอบให้ยกระดับสารเคมีเกษตร 3 ชนิด จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 คือ วัตถุอันตรายห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง เพื่อขอให้มีการยกเลิกการจำหน่าย และการใช้ในประเทศให้หมดไป โดยเริ่มตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป และ 22 ตุลาคมนี้ มาลุ้นกันว่าจะมีการพิจารณาวาระแบน 3 สารเคมีตามคณะทำงาน 4 ฝ่ายหรือไม่

เกษตรฯดันวาระแบนเข้ากก.วัตถุอันตราย
ขณะที่ อนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ความคืบหน้าการพิจารณายกเลิกการใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิด ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯนั้น คาดว่าในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน โดยในส่วนของกระทรวงเกษตรฯคาดว่าจะส่งเรื่องการแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ตามมติคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่จะมีผลวันที่ 1 ธันวาคม 2562 เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายทันวันประชุมในวันที่ 27 ตุลาคม 2562 แน่นอน

ระหว่างที่หน่วยงานรัฐกำลังหัวหมุนกับการหาแนวทางการแก้ไข เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา ตัวแทนเกษตรกรที่ไม่เห็นได้รวมตัวกันเพื่อขอฟังคำอธิบายจากภาครัฐ ว่าทำไมถึงต้องแบนสารเคมี 3 ชนิดด้วย ทั้งที่มีการนำมาใช้ในวงกว้างมานานกว่า 50 ปี ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่มูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) ตั้งใจที่จะมายื่นหนังสือแนวทางสนับสนุนภาครัฐในการยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ทำให้เกิดการปะทะคารมระหว่าง 2 ฝ่าย เล็กน้อย

ไบโอไทยยกมือหนุน
ด้านความคิดเห็นของ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการไบโอไทย ชี้ว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ รวมทั้งประชาชนทั่วไปร่วมกันสนับสนุนให้เกษตรกร ประมาณ 6% ของครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมดให้สามารถปรับตัวไปสู่การปลูกพืชที่ไม่ต้องพึ่งพาสารเคมีอันตรายทั้ง 3 ชนิด ที่ยื้อกันมาหลายปีซึ่งข้อมูลเรื่องผลกระทบทั้ง 3 สาร เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนแล้ว

“เราไม่ยินยอมให้บริษัทค้าสารพิษแอบอ้างว่าสารพิษมีราคาถูกกว่าวิธีการที่ไม่ใช้สารเคมี เพียงเพราะรัฐบาลยกเว้นภาษีให้พวกเขาทั้งที่ทุกคนเสียภาษีเท่ากัน และไม่ได้คำนวณผลกระทบภายนอก มูลค่า 20,000-30,000 ล้านบาทต่อปี ที่ต้องสูญเสียไปจากการรักษาสุขภาพและการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมŽ” นายวิฑูรย์กล่าว

ส.ปาล์มน้ำมันฯค้านหัวชนฝา
ฟาก มนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย ให้ความคิดเห็นว่า ขอประกาศจุดยืนมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่อนุญาตให้ใช้พาราควอต ภายใต้มาตรการจำกัดการใช้ ทางสมาพันธ์ขอเข้าพบนายเฉลิมชัย แต่ไม่มีการตอบรับแต่อย่างไร ที่ผ่านมาเกษตรกรเป็นผู้รับเคราะห์ รัฐบาลจัดตั้งกรรมการหลายชุด แต่ท้ายที่สุดหลักฐานต่างๆ ยังไม่เพียงพอ สิ่งที่สงสัยตอนนี้คือความพยายามแบนอย่างรุนแรงและไม่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ควบคู่ไปกับการหาสารทดแทนตัวใหม่ ที่ราคาแพงกว่าหลายเท่า ซึ่งสารทดแทนนี้ขายในไทยมานานแล้ว แต่เกษตรกรไม่ใช้เพราะแพงและอันตรายมากกว่า

“ที่ผ่านมาทางสมาพันธ์ได้ส่งหนังสือขอเข้าพบทั้งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และนางสาวมนัญญา กว่า 10 ฉบับ แต่เรื่องก็เงียบมาตลอด หากหลังจากนี้ นายเฉลิมชัย ไม่ให้ทางสมาพันธ์เข้าพบหรือไม่สามารถหาข้อสรุปให้ได้ ตนและกลุ่มเกษตรจะเข้ายื่นหนังสือเรียกร้องต่อศาลปกครองให้พิจารณาเพิกถอนมติดังกล่าวต่อไปŽ” มนัส กล่าว

เดินหน้าแบนต่อเนื่อง
หลังจากได้เห็นท่าทีของกระทรวงเกษตรฯ ไปพอสมควรแล้ว ถึงคราวที่กระทรวงอุตสาหกรรมที่ถือเป็นหน่วยงานหลัก จะต้องโชว์ความพร้อมบ้างแล้ว โดย ประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการวัตถุอันตราย เผยว่า เบื้องต้นคณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้นัดประชุมวันที่ 22 ตุลาคมนี้ ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ฉบับเดิม พ.ศ.2535

โดยจะพิจารณาตามที่หน่วยงานต่างๆ ยื่นเรื่องเข้ามาแล้ว อาทิ กรอ., กรมปศุสัตว์, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอพิจารณากฎหมายลูกที่จะรองรับพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายฉบับใหม่ พ.ศ.2562 ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีเรื่องการยกเลิก 3 สาร จากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยื่นเรื่องเข้ามา ซึ่งหากยื่นก่อนวันที่ 22 ตุลาคม คณะกรรมการพร้อมจะบรรจุในวาระการพิจารณาทันที

อุตฯพร้อมโชว์ผลโหวตถ้าได้รับอนุญาต
ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ลงมติเปิดเผยต่อสาธารณชน ช่วงโหวตยกมือให้แบน 3 สารเคมีนั้น โดยปกติที่ประชุมจะเปิดเผยมติจำนวนเสียงของคณะกรรมการที่โหวตอยู่แล้วว่า มีมติเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย หรืองดออกเสียงมีจำนวนเท่าไร แต่ถ้าจะให้เปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการแต่ละรายว่า ใครออกเสียงอย่างไรนั้น ต้องมีการหารือในที่ประชุมอีกครั้งหนึ่งว่า ยินยอมให้เปิดเผยรายชื่อต่อสาธารณะหรือไม่ เพราะถือเป็นเรื่องสิทธิเฉพาะบุคคล หากคณะกรรมการยินดี ก็พร้อมที่จะเปิดเผยรายชื่อได้

สำหรับกรณีที่มีเกษตรกรบางกลุ่ม เตรียมยื่นเรื่องศาลปกครองเพื่อคุ้มครองฉุกเฉินในการยกเลิก 3 สารนั้น เรื่องนี้ก็ต้องรอดูว่า ศาลปกครองมีคำสั่งออกมาอย่างไร หลังจากนั้นทางคณะกรรมการจะมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

โชว์สถิติการใช้3สารเคมีในไทย
จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตร ที่เปิดให้เกษตรกรได้มาลงทะเบียนตามมาตรการจำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิด ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 ตุลาคมเป็นต้นไป ซึ่งปัจจุบันมีผู้มาลงทะเบียนทั้งหมด 544,835 ราย แยกเป็น อบรมกับวิทยากร (ครู ข) จำนวน 354,736 ราย, เรียนรู้ด้วยตนเอง (อีเลิร์นนิ่ง) จำนวน 7,723 ราย, มีความรู้และขอเข้าสอบ 174,706 ราย และไม่ประสงค์จะเข้ารับการเรียนรู้หรือซื้อสารเคมี 7,670 ราย โดยจำนวนเกษตรกรทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นผู้ที่เคยใช้สารเคมีมาแล้วทั้งสิ้น

เปิดตัวเลขนำเข้า-คงเหลือ
อย่างไรก็ตาม จากการรายงานปริมาณการนำเข้าสารเคมีทั้ง 3 ชนิด โดยกรมวิชาการเกษตร พบว่าในปี 2558-2562 มีปริมาณสารคงเหลือ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 หลังจากกรมวิชาการเกษตรไม่อนุญาตนำเข้าสารทั้ง 3 ชนิด ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2562 โดยในปี 2558-2561 พบว่ามีปริมาณการนำเข้าสารทั้ง 3 ชนิด จำนวน 81,365-108,073 ตัน และลดลงเหลือ 36,066 ตันในปี 2562 เนื่องจากเป็นการนำเข้าเพียงครึ่งปีแรก หรือระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน

ส่วนปริมาณคงเหลือจากการสำรวจ ในปัจจุบันพาราควอต มีปริมาณคงเหลือ 14,595 ตัน ไกลโฟเซต มีปริมาณคงเหลือ 18,400 ตัน และคลอร์ไพริฟอส มีปริมาณคงเหลือ 1,693 ตัน ซึ่งเป็นการครอบครองโดยกลุ่มโรงงานและร้านค้าภูมิภาค 60 จังหวัด จำนวน 3,201 ราย มีการครอบครองสารทั้ง 3 ชนิด จำนวน 11,868 ตัน, ผู้ขายในกรุงเทพฯ จำนวน 12 ราย มีการครอบครองสารทั้ง 3 ชนิด จำนวน 5.72 ตัน, ผู้ผลิตและผู้นำเข้า จำนวน 75 ราย มีการครอบครองสารทั้ง 3 ชนิด จำนวน 18,850 ตัน และผู้จัดจำหน่าย (ขายส่ง) จำนวน 84 ราย มีการครอบครองสารทั้ง 3 ชนิด จำนวน 3,964 ตัน

หากคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติเห็นชอบกับแนวทางของคณะทำงาน 4 ภาคส่วน ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ค้าเหล่านี้จะต้องเก็บสต๊อกให้หมดและห้ามมีการซื้อขาย สารทั้ง 3 ชนิด ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป โดยปัจจุบันมีจำนวนสารทั้ง 3 ชนิด ทั้งหมด 34,688 ตัน หรือมีมูลค่ากว่า 3,000-4,000 ล้านบาท

สารทดแทนแพงขึ้น2-3เท่า
นอกจากนี้ หนึ่งในสารเคมีที่จะนำมาใช้ทดแทนการปราบศัตรูพืช คือ กลูโฟซิเนต ที่มีร้านขายยากำจัดศัตรูพืชบางแห่งนำมาขายในราคาลิตรละ 480-500 บาท ซึ่งมีราคาสูงกว่าพาราควอตและไกลโฟเซต ที่ขายเพียงลิตรละ 120-150 บาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วกลูโฟซิเนต มีราคาเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า และมีอัตราสิ้นเปลืองการใช้เมื่อเทียบกับตัวเดิมถึง 1 เท่า แต่ต้องดูท่าทีของกระทรวงเกษตรฯ และกรมวิชาการเกษตรต่อไปว่าจะมีการชี้แจงในประเด็นนี้อย่างไร เพราะต้นทุนดังกล่าวปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลกระทบรุนแรงต่อเกษตรกร และนอกจากการใช้สารกลูโฟซิเนตทดแทน ในภาคการผลิตสารเคมีทั้งหมด จะมีสารไหนมาทดแทนอีกหรือไม่

และยังมีอีกหลายคำถามที่ภาครัฐยังไม่สามารถชี้ทางสว่างให้กับประชาชนได้ ทำให้บางกลุ่มก็ยืนกรานที่จะเดินหน้าแบนอย่างเดียว ขณะที่ฝ่ายคัดค้านก็ต้องการความชัดเจนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่าจะแบนด้วยสาเหตุใด หากมติแบนแล้วจะทำอย่างไรต่อ

เวลานี้ทุกฝ่ายจึงเฝ้ารอการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดปัจจุบันที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม วันที่ 22 ตุลาคมนี้ว่าจะออกมาอย่างไร หรือวาระร้อนนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2562 ที่จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการวันที่ 27 ตุลาคมนี้
บทสรุปจะจบอย่างไร หรือจะต้องให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ชี้เป็นชี้ตายในเรื่องนี้ ต้องติดตามกันต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image