“สุพันธุ์ มงคลสุธี” หนุน 5G ไทย พลิกโฉมอุตฯ

ขยับเวลาขึ้นมาเร็วขึ้น สำหรับเป้าหมายการเปิดประมูล 5จี กำหนดไว้ช่วงเดือนมกราคม 2563 และล่าสุดมีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติขับเคลื่อน 5จี มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ขึ้นมารองรับ แม้จะยังไม่เปิดชื่อกรรมการที่เกี่ยวข้อง แต่การโหมโรงดังกล่าวปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสร้างความคึกคักให้กับวงการโทรคมนาคมไทยและวงการอื่นๆ อย่างมาก

“มติชน” มีโอกาสสัมภาษณ์ สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หัวเรือใหญ่ของภาคอุตสาหกรรมไทย ถึงมุมมองต่อเทคโนโลยี 5จี เจ้าตัวยกมือสนับสนุนเต็มที่ เพราะเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยี 5จี จะพลิกโฉมการทำงานของภาคอุตสาหกรรมไทยไปอีกขั้น

“5จี มีบทบาทแน่นอนต่อภาคอุตสาหกรรม เพราะ 5จี จะทำให้เทคโนโลยีของทุกอย่างเปลี่ยนไป โดยเฉพาะบริษัทที่มีความพร้อมในการนำเทคโนโลยี 5จี มาใช้ในการทำงาน ในการผลิตสินค้าก็จะได้เปรียบคู่แข่ง ขณะเดียวกันบริษัทที่ยังไม่มีความพร้อมยังไม่ใช้ 5จี ขณะที่บางบริษัทพึ่งพา 5จี แล้ว ในเวทีเดียวกันรายที่ยังไม่ใช้ 5จี จะเสียเปรียบพอสมควร เพราะ 5จี จะทำให้เกิดความรวดเร็วในการส่งข้อมูล การใช้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างถูกต้องถูกเวลา และง่ายขึ้น”

สุพันธุ์ระบุว่า คุณสมบัติที่สำคัญของเทคโนโลยี 5จี คือ การมีเลเทนซี่ (Latency) ต่ำ หรือการตอบสนองได้เร็ว จะทำให้พลิกโฉมการทำงานภาคอุตสาหกรรมไปอีกขั้น เพราะเราสามารถควบคุมเครื่องจักร อุปกรณ์ระยะไกลได้แบบเรียลไทม์ เช่น เจ้าหน้าที่อยู่ในห้องคอนโทรลรูม เพียงไม่กี่คน แต่สามารถควบคุมได้ทั้งโรงงาน ทั้งในส่วนกลางและทั่วโลก ทำให้ประสิทธิภาพและต้นทุนการผลิตลดลงอีกมาก

Advertisement

“วันนี้เราแข่งขันกันด้วยข้อมูล แข่งขันด้วยเรียลไทม์ ดังนั้น หากในอุตสาหกรรม บริษัทใดไม่มี 5จี จะเสียเปรียบรายอื่นที่พึ่งพา 5จี ต้องขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมนั้นๆ แต่คงไม่ถึงกับล้าหลัง แต่อนาคต 5จี จะเป็นสิ่งที่โดนบังคับให้ภาคอุตสาหกรรมต้องพึ่งพา เหมือนวันนี้ทุกคนโดนบังคับโดยการใช้โทรศัพท์มือถือ ใช้ข้อมูลจากมือถือ เก็บข้อมูลผ่านดาต้าเบส พึ่งพาโซเชียล 5จี จะทำให้ทุกอย่างเร็วขึ้น ถูกต้องมากขึ้น และสามารถแก้ไขกรณีต่างๆ ที่มันยาก”

ตัวอย่างของประสิทธิภาพ 5จี เช่น การผ่าตัดคนไข้ในถิ่นทุรกันดาร การผ่าตัด การรักษาพยาบาลทางไกล สามารถมีคำสั่งไปยังอุปกรณ์ มีแบบฟอร์มใช้ง่ายขึ้น หรืออย่างเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับก็จะเกิดได้ง่ายขึ้น จะเห็นว่ามันเกี่ยวเนื่องกับทุกอุตสาหกรรม ไม่ใช่แค่ภาคผลิตอย่างเดียว เพราะเกี่ยวข้องถึงระบบโรโบติกส์ ดิจิทัล แพลตฟอร์มต่างๆ ทำให้ทุกอย่างสะดวก รวดเร็ว ตอบสนองผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น

ประธาน ส.อ.ท.ชี้ว่า หากไทยเดินหน้าเทคโนโลยี 5จี ได้เต็มประสิทธิภาพ จะเชื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ยกระดับการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ได้ แม้ไม่มาก เพราะสำคัญที่สุด 5จี มีผลในเรื่องการปรับปรุงประสิทธิภาพ การมีผลเรื่องการประหยัดค่าใช้จ่าย เหล่านี้จะทำให้เกิดผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม และจะส่งผลต่อจีดีพีให้ขยายตัวสูงขึ้นเช่นกัน แต่เมื่อทุกคนเข้ามาเล่นตรงนี้ก็จะเห็นการพึ่งพาอาศัยกันในระบบเศรษฐกิจมากกว่า

Advertisement

ล่าสุดรัฐบาล โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และหน่วยงานที่เพิ่งจัดตั้งของภาคเอกชนอย่าง สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ต่างโหมโรงการเกิดขึ้นของ 5จี

ประธาน ส.อ.ท.แสดงความคาดหวังการขับเคลื่อนครั้งนี้ว่า ในการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้ 5จี แห่งชาตินั้น ในมุมของเอกชนต้องการให้มีตัวแทนของภาคอุตสาหกรรม ร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย เพื่อช่วยผลักดันให้เกิดการใช้งานของ 5จี อย่างกว้างขวาง

“ขณะนี้เอกชนพบอุปสรรคคือ การนำไปใช้งานหรือยูสเคส (Use Case) ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์จาก 5จี ยังมีน้อย เช่น การทดสอบคลื่นสัญญาณในการควบคุมเครื่องจักรจริงๆ ว่ามีปัญหาเรื่องคลื่นรบกวนการทำงานหรือไม่ เพราะจะกระทบต่อการทำงานจริง อีกเรื่องสำคัญ คือ การสร้างการรับรู้ (Awareness) ในภาคอุตสาหกรรมให้เข้าใจยังน้อยมาก เพื่อเตรียมตัวในการปรับกระบวนการผลิตใหม่ ในระยะยาว 5จี จะช่วยเรื่องประสิทธิภาพและต้นทุนการผลิตได้มาก เพราะใช้คนน้อยลง”

สุพันธุ์ยังมีข้อเสนอแนะไปยังทุกฝ่ายที่กำลังขับเคลื่อน 5จี ว่า อยากให้ทั้งภาครัฐ โดย กสทช.พิจารณาเรื่องค่าคลื่นความถี่ 5จี ให้แข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ ไม่ควรเอาราคาการประมูลเดิมมาอ้างอิง เพราะการที่ต้นทุนคลื่นความถี่สูง จะทำให้ค่าบริการสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น จะส่งผลในเรื่องต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมในระยะยาวด้วย

“กสทช.ควรจะตั้งให้ ส.อ.ท.เป็นสนามทดสอบ (Sand Box) ในการทดสอบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยทาง ส.อ.ท.จะร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ หรือ มทรก. จัดสถานที่เพื่อรองรับการพัฒนาและทดสอบอุปกรณ์ใหม่เพื่อรองรับ 5จี”

ประธาน ส.อ.ท.ยังแสดงความเห็นว่า ในส่วนของกระทรวงดีอีเอส อยากให้ปรับเงื่อนไขการนำเงินกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มีอยู่ 5,000 ล้านบาท ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น เพื่อจะได้นำเงินไปพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ให้มารองรับการใช้งานด้าน 5จี ให้ทันกับประเทศต่างๆ เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI Infrastructure) ของประเทศ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถนำไปใช้งานได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว

“ปัจจุบัน 5จี ยังเป็นเรื่องใหม่ที่ทุกประเทศกำลังเริ่มต้นพร้อมกัน จึงควรเปิดโอกาสให้ สตาร์ตอัพ หรือผู้พัฒนาอุปกรณ์ได้มีโอกาสได้ทดสอบ (Testbed) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือบริการใหม่ๆ แข่งขันได้ทันกับประเทศอื่นๆ ถ้าหากช้าจะทำให้ไทยเสียโอกาสในการแข่งขัน” สุพันธุ์ทิ้งท้าย

ข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของความคิดเห็นต่อการขับเคลื่อน 5จี ของประเทศ ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้ารับฟังแนวคิดจากตัวแทนภาครัฐและเอกชนได้ในการเสวนา “Roadmap 5G ดันไทยนำ ASEAN” ในวันพุธที่ 30 ตุลาคม 2562 เวลา 08.30-12.30 น. ณ ห้องอินฟินิตี้ 1-2 โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ รางน้ำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image