สหรัฐตัดจีเอสพีสะเทือน ‘ใช้สินค้า’ แนะปลุกกระแส ‘นิยมไทย’ ขึ้นสู้ ลดพึ่งพา ตปท.รับมือเอ็นทีบีรุนแรง

หลังสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) ประกาศว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ลงนามในประกาศเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 ระงับให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี)

ทั้งนี้ จะมีสินค้าไทยถูกตัดจีเอสพี 537 รายการ คิดเป็นมูลค่า 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 4 หมื่นล้านบาท เริ่มมีผลในวันที่ 25 เมษายน 2563 หรือในอีก 6 เดือนโดยข้างหน้า การตัดจีเอสพีของสหรัฐครั้งนี้ให้เหตุผลว่าไทยไม่สามารถดูแลแรงงานตามหลักสากล

ตลาดสหรัฐมีความสำคัญต่อตลาดส่งออกไทยค่อนข้างมาก ไทยส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐปีละประมาณ 9 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 11% ของการส่งออกทั้งหมด เป็นอันดับ 2 รองจากประเทศจีน

⦁โยงตอบโต้ไทยแบน3สาร
ทั้งนี้ มีข้อกังขาว่าการประกาศตัดจีเอสพีของสหรัฐดังกล่าว เป็นการตอบโต้ไทยกรณีมีมติแบน 3 สารเคมีเกษตร คือ พาราควอต, ไกลโฟเซต, คลอร์ไพริฟอส มีผลวันที่ 1 ธันวาคม 2562

Advertisement

หลังจากไทยมีมติแบน 3 สารเคมีในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ไม่ถึงสัปดาห์ สถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องถึง 7 แห่ง แสดงความกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการแบน 3 สาร โดยเฉพาะผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าจากสหรัฐมาไทย ยกตัวอย่างสินค้าหลัก คือ ถั่วเหลือง ข้าวสาลี กาแฟ แอปเปิล และองุ่น มูลค่ารวม 51,000 ล้านบาท จะต้องหยุดชะงักลง เพราะตามกฎองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) หากประเทศคู่ค้าแบนสารเคมีที่สหรัฐใช้อยู่ คือ ไกลโฟเซต ทำให้สหรัฐไม่สามารถขายสินค้าหรือส่งออกสินค้านั้นให้ไทยได้

การแบน 3 สารเคมีเกษตรถูกเชื่อมโยงกับการถูกตัดจีเอสพี และมีเสียงคัดค้านที่ค่อนข้างมาก ทำให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายตามกฎหมายคนใหม่ ที่ต้องรับตำแหน่งวันที่ 27 ตุลาคม 2562 มาพร้อมท่าทีเสียงอ่อยว่าจะเรียกประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อหารือว่าเป็นไปได้หรือไม่ หากยังให้ใช้ไกลโฟเซตต่อไป แต่ให้แบนเฉพาะสารพาราควอต เพื่อลดผลกระทบกับเกษตรกร

ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คงเสียงแข็งและยืนยันแบน 3 สารต่อไป พร้อมระบุการนำไปเชื่อมโยงกับเรื่องตัดสิทธิจีเอสพีนั้น เป็นเรื่องมโนของฝ่ายเสียประโยชน์ ดังนั้นจะยังยืนยันว่าจะให้ตัวแทนของกระทรวงสาธารณสุขแสดงจุดยืนแบน 3 สารในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายครั้งต่อๆ ไป

Advertisement

ซึ่ง นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาราชการสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวภายหลังเข้าพบ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า การตัดจีเอสพีของไทย เป็นเรื่องที่พูดคุยและตัดสินใจมานานแล้ว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแบน 3 สารของไทย
ซึ่งไทยได้จีเอสพีมานานกว่า 30 ปี แม้จะถูกตัดสิทธิไปบ้าง แต่ไทยยังคงได้รับสิทธิพิเศษสูงที่สุดมากกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งการตัดสิทธิจีเอสพีล่าสุด มีผลกระทบไม่มาก ตัวเลขไม่เยอะ และกระบวนการยังไม่สิ้นสุด

⦁เปิด6เงื่อนไขไทยผ่าน-ไม่ผ่าน
เรื่องถูกตัดจีเอสพีสร้างความปั่นป่วนให้กับวงการค้าและอุตสาหกรรมพอสมควร เนื่องจากสินค้าไทยที่อยู่ในรายการที่จะถูกตัดสิทธิจีเอสพี เป็นสินค้าสำคัญ เช่น มอเตอร์ไซค์ แว่นสายตา เครื่องจักรกล อุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก และของทำด้วยพลาสติก อาหารปรุงแต่ง เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์ที่ทำด้วยเหล็ก หรือเหล็กกล้า ทองแดง ผลิตภัณฑ์เซรามิก เครื่องประดับ

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอาหารทะเล ผักและผลไม้ เมล็ดพันธุ์ น้ำเชื่อมและน้ำตาล ซอสถั่วเหลือง น้ำผักและน้ำผลไม้ ไปจนถึงอุปกรณ์เครื่องครัว ประตูหน้าต่าง ไม้อัดและไม้แปรรูป ตะกร้า ดอกไม้ประดิษฐ์ จานชาม เหล็กแผ่น สเตนเลส ฯลฯ ถือเป็นสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปสหรัฐ

ทั้งนี้ สหรัฐให้สิทธิจีเอสพีกับประเทศต่างๆ มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2519 ล่าสุดสหรัฐอเมริกาให้จีเอสพีในสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมกว่า 3,500 รายการ มีประเทศที่ได้รับสิทธิทั้งหมด 121 ประเทศ ซึ่งในนั้นเป็นประเทศด้อยพัฒนา 43 ประเทศ

ประเทศได้สิทธิจีเอสพี ต้องมีคุณสมบัติประกอบด้วย 1.ระดับการพัฒนาประเทศ โดยพิจารณาจากรายได้ต่อหัวของประชากร (GNP per capita) ของธนาคารโลก ซึ่งกำหนดไว้ไม่เกิน 12,735 เหรียญสหรัฐ ข้อนี้ไทยผ่านเพราะเมื่อปี 2561 GNP per capita ของไทยอยู่ที่ประมาณ 7,200 เหรียญสหรัฐ
2.การเปิดตลาดสินค้าและบริการ ต้องมีการเปิดตลาดสินค้าและบริการอย่างสมเหตุผล ในข้อนี้มีการมองว่ากรณีการแบน 3 สารเคมี ถือว่าไทยปิดกั้นตลาดและสินค้าจากสหรัฐได้หรือไม่ รวมถึงกรณีที่ไทยห้ามไม่ให้นำเข้าหมูจากสหรัฐ เพราะพบสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งตามกฎหมายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยไม่อนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดง เรื่องหมูเนื้อแดงเป็นเหตุผลหนึ่งมีการพูดถึงค่อนข้างมาก
3.มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อเดือนธันวาคม 2560 ไทยปรับสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐ มาตรา 301 พิเศษ จากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (Priority Watch List: PWL) เป็นบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List: WL) หลังจากที่ได้จัดให้ไทยอยู่ในบัญชี PWL มาเป็นเวลา 10 ปี โดยขณะนี้มีความกังวลว่าไทยจะถูกลดชั้นไปอยู่ในบัญชี PWL อีกครั้งในเร็วๆ นี้
4.การคุ้มครองสิทธิแรงงาน จะต้องมีการคุ้มครองสิทธิแรงงานในระดับที่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ โดยในข้อนี้สหรัฐใช้เป็นข้ออ้างในการตัดสิทธิจีเอสพีครั้งล่าสุดซึ่งอ้างว่าไทยไม่มีการคุ้มครองสิทธิแรงงาน ตามมาตรฐานระหว่างประเทศ
5.กำหนดนโยบายลงทุนที่ชัดเจน และลดข้อจำกัดทางการค้าของประเทศที่ได้รับสิทธิ ล่าสุดไทยเพิ่งได้จัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจประจำปี 2563 (Doing Business 2020) จัดโดยธนาคารโลก มาอยู่ที่อันดับที่ 21 ดีขึ้น 6 อันดับ จากอันดับที่ 27 ในปีที่แล้ว
6.ให้การสนับสนุนสหรัฐในการต่อต้านการก่อการร้าย ที่ผ่านมาไทยสนับสนุนสหรัฐมาโดยตลอด แม้จะถูกมองว่าเป็นประเทศกบดานของกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติก็ตาม

ใน 6 ข้อมีทั้งผ่านและไม่ผ่าน สิ่งที่เป็นเอกสารกล่าวอ้างจากสหรัฐอย่างชัดเจนคือ เรื่องของแรงงาน ส่วนที่เหลือเป็นความกังวลว่าอาจถูกใช้เป็นข้ออ้างกีดกันทางการค้าในอนาคต

⦁พาณิชย์ชี้ผลกระทบไม่มาก
ในปี 2561 ที่ผ่านมามีสินค้าไทยจำนวน 1,485 รายการใช้สิทธิจีเอสพี จากสินค้าได้สิทธิ 3,500 รายการ โดยจำนวนที่จะถูกตัดสิทธิ 573 รายการคิดเป็น 40% ของสินค้าใช้สิทธิจีเอสพี ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ประเมินว่าจะกระทบต่อการส่งออกของไทยแค่ 0.01% ของการส่งออกรวมของไทย

เมื่อปีที่ผ่านมาไทยเคยถูกตัดจีเอสพีจากสหรัฐ 11 รายการ เพราะมีส่วนแบ่งตลาดและมูลค่าส่งออกเกินเกณฑ์ที่กำหนด เช่น ดอกกล้วยไม้สด ทุเรียนสด มะละกอแปรรูปและตากแห้ง มะขามตากแห้ง ข้าวโพดปรุงแต่ง ผลไม้/ถั่วแช่อิ่ม แผ่นไม้ปูพื้น เครื่องพิมพ์ เครื่องซักผ้า ขาตั้งกล้องถ่ายรูป

นายกีรติ รัชโน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ให้ข้อมูลว่าสหรัฐให้สิทธิจีเอสพีกับไทยมาตั้งแต่ปี 2519 และจะทบทวนมาโดยตลอด ล่าสุดจีเอสพีที่ไทยได้รับเป็นการต่ออายุครั้งที่ 10 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ซึ่งในการให้จีเอสพีเป็นการให้เพียงฝ่ายเดียวกับประเทศที่กำลังพัฒนา หรือด้อยพัฒนา โดยสหรัฐกำหนดคุณสมบัติต้องทบทวน เช่น มียอดสินค้าส่งออกเกิน 185 ล้านเหรียญสหรัฐ อาจถูกตัดสิทธิ เพราะจะกระทบสินค้าที่ผลิตภายในประเทศสหรัฐ

สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หลังจากไทยถูกตัดจีเอสพี 573 รายการ พบว่ามีสินค้าใช้สิทธิจีเอสพีจำนวน 70% ส่วนอีก 30% ไม่ได้ใช้สิทธิ แสดงให้เห็นว่าไทยยังส่งออกสินค้าไปสหรัฐได้ แต่ต้องเสียภาษีเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4-5% ซึ่งสินค้าที่ส่งออกโดยใช้สิทธิจีเอสพีมีมูลค่า 40,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นหากต้องจ่ายภาษีเพิ่มคิดเป็นวงเงินประมาณ 1,500-1,800 ล้านบาทต่อปี โดยกลุ่มสินค้าที่จะถูกเก็บภาษีอัตราสูงสุดคือ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร และเครื่องครัวเซรามิกต้องเสียภาษีเพิ่ม 26% ส่วนกลุ่มที่ถูกเก็บอัตราต่ำสุดคือ เคมีภัณฑ์ 0.1%

นายกีรติบอกอีกว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสินค้าไทยถือว่าไม่ได้มาก เพราะไม่ได้เสียหายทั้ง 40,000 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาหารือกับเอกชนมาตลอดว่าจะพึ่งพาเฉพาะจีเอสพีคงไม่ได้ เพราะวันหนึ่งอาจถูกตัดสิทธิได้ ดังนั้นเอกชนต้องปรับตัวให้ได้ อย่าหวังพึ่งเรื่องจีเอสพี เพื่อให้ราคาถูกเพียงอย่างเดียว

เอกชนต้องพัฒนาสินค้าให้ดีและมีคุณภาพ ใส่นวัตกรรมใหม่ๆ ในตัวสินค้า เพราะถ้าดูจากสินค้า 30% ของสินค้าที่ไม่ได้ใช้สิทธิจีเอสพี ทำให้เห็นว่าถ้าเป็นสินค้ามีคุณภาพ มีนวัตกรรมสามารถสู้กับคู่แข่งในตลาดสหรัฐได้

⦁ตั้งทีมเจรจา-หาตลาดใหม่ทดแทน
ทันทีที่ไทยถูกตัดจีเอสพี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการให้ทูตพาณิชย์กรุงวอชิงตัน ประสานงานกับเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน และทูตแรงงานนัดหมายหารือกับยูเอสทีอาร์

นอกจากนี้ ยังสั่งการให้หาตลาดใหม่ เช่น จีน ให้เจาะเป็นรายมณฑล ส่วนกรมการค้าต่างประเทศเสนอแผนเร่งด่วนเพิ่มเติม เพื่อบุกตลาดและกระตุ้นความต้องการสินค้าไทยในประเทศเป้าหมายทั่วโลก อาทิ อินเดีย, บาห์เรน, กาตาร์, แอฟริกาใต้, ญี่ปุ่น, จีน, สหราชอาณาจักร, สหภาพยุโรป, ตุรกี, รัสเซีย, กลุ่มซีแอลเอ็มวี, ศรีลังกา, บังกลาเทศ และอินโดนีเซีย

ส่วนประเด็นสวัสดิการแรงงาน ที่สหรัฐใช้เป็นข้ออ้างในการตัดจีเอสพีไทยนั้น สหรัฐจะพิจารณา 2 วิธี คือกระทรวงแรงงานของสหรัฐจะสอบถามว่าแต่ละประเทศดูแลสวัสดิภาพแรงงานดีมากเพียงพอหรือไม่ ส่วนอีกวิธีคือ มีการร้องเรียนเกี่ยวกับสวัสดิภาพแรงงาน ซึ่งไทยถูกตัดสิทธิไป เพราะถูกร้องเรียนจากบุคคลในประเทศ

ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานของไทยปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของสหรัฐมาโดยตลอด และสามารถพัฒนาให้ผ่านมาตรฐานกระทรวงแรงงานระหว่างประเทศแล้ว 5 ข้อ จากทั้งหมด 7 ข้อ แต่สหรัฐยังมองว่าไทยยังไม่สามารถดำเนินการตามข้อเรียกร้องของสหรัฐ จึงตัดสิทธิจีเอสพีไทยเป็นการชั่วคราว ดังนั้นต้องเจรจาเพื่อให้เห็นถึงข้อนี้

ไทยพึ่งพาการส่งออกสินค้าโดยใช้สิทธิจีเอสพี มากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศที่สหรัฐให้สิทธิดังกล่าวทั้งหมด 119 ประเทศ ล่าสุดในช่วง 8 เดือนแรกปี 2562 (มกราคม-สิงหาคม) ไทยส่งออกสินค้าโดยใช้จีเอสพีไปแล้วกว่า 3,234 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 9.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2561 มีมูลค่า 2,858 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 8.5 หมื่นล้านบาท

แม้จะมีประกาศตัดจีเอสพี แต่ขณะเดียวกันสหรัฐคืนสิทธิจีเอสพี สินค้าไทย 7 รายการ ได้แก่ ปลาแช่แข็ง, ดอกกล้วยไม้สด, เห็ดทรัฟเฟิล, ผงโกโก้, หนังของสัตว์เลื้อยคลาน, เลนส์แว่นตา และส่วนประกอบของเครื่องแรงดันไฟฟ้า

หลังจากนี้ไปนอกเหนือจากการเจรจา และชี้แจงเพื่อขอต่อสิทธิจีเอสพีให้กลับคืนมาเหมือนเดิม สิ่งสำคัญที่กระทรวงพาณิชย์ต้องเร่งดำเนินการคือ หาตลาดใหม่เพิ่มเติมจากที่พึ่งพาตลาดสหรัฐ

⦁นักวิชาการแนะ‘ไทยแลนด์เฟิร์สต์’สู้
สำหรับมุมมองนักวิชาการในกรณีที่ไทยถูกตัดจีเอสพีมองว่าไม่น่ากังวล

นายอัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สหรัฐมีสิทธิตัดจีเอสพีกับไทย ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับไทยคือ ผู้ส่งออกต้องเสียภาษีในรายการที่ยกเลิกสิทธิทั้ง 573 รายการ เท่าที่กระทรวงพาณิชย์ประเมินผลกระทบไม่มาก และยังมีเวลา 6 เดือนในการเจรจา คาดหวังว่าไทยจะรับสิทธิจีเอสพีกลับคืนมาบ้าง เพราะก่อนหน้านี้สหรัฐเคยตัดจีเอสพีประเทศยูเครน หลังจากมีการเจรจาสหรัฐให้สิทธิจีเอสพีกับยูเครนเหมือนเดิม

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ไทยต้องปรับตัว ผู้ส่งออกต้องลดการพึ่งพาสิทธิจีเอสพี เพราะสหรัฐสามารถตัดจีเอสพีได้ทุกเมื่อ และสามารถใช้เหตุผลมาประกอบทั้งเรื่องแรงงาน สิทธิทรัพย์สินทางปัญญา ก่อการร้าย รวมถึงในเรื่องการเปิดตลาดสินค้าสหรัฐ เขาสามารถนำมากล่าวอ้างได้ทั้งหมด ถ้าไม่ต้องการให้สิทธิจีเอสพีกับไทย

สิ่งสำคัญคือ ไทยต้องยืนหยัดให้ได้ด้วยตัวเอง และต้องจัดทำมาตรฐานสินค้า ดูแลทั้งในเรื่องแรงงาน สิ่งแวดล้อมที่ผ่านมาไทยอาจจะคุ้นชินกับแต้มต่อจากจีเอสพี ที่ได้รับทั้งจากสหรัฐและยุโรป โดยก่อนหน้านี้ไทยเคยถูกยุโรปตัดจีเอสพี สุดท้ายผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวได้

ในเรื่องแรงงานเป็นเหตุผลที่ทางการสหรัฐยกขึ้นมาเพื่อตัดจีเอสพีจากไทยครั้งนี้ โดยข้อเรียกร้องให้ตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยถือว่าเป็นเรื่องที่ไทยยอมไม่ได้ เพราะหากตั้งขึ้นมา แรงงานต่างด้าวจะมีอำนาจต่อรองสูงอาจเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องต้องจับตาคือ สหรัฐอาจใช้จีเอสพีกดดันให้ไทยนำเข้าหมูจากสหรัฐ ซึ่งเรื่องนี้ยืดเยื้อมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 รวมถึงกรณี 3 สารเคมี ซึ่งสามารถโยงได้หมด

ในช่วง 6 เดือนที่ยังไม่ถูกตัดจีเอสพี ไทยต้องเร่งไปเจรจา รวมถึงหาตลาดใหม่เพื่อมาชดเชยตลาดสหรัฐ ที่คาดว่าจะส่งออกได้ลดลงหากต้องเสียภาษีทำให้สินค้าไทยแพงขึ้น

นอกจากนี้ ต้องเร่งสร้างมาตรฐานสินค้า และต้องกระตุ้นไทยแลนด์เฟิร์สต์ เพื่อให้เกิดการบริโภคภายในประเทศ เพราะสหรัฐใช้นโยบายยูเอสเอเฟิร์สต์ ส่วนจีนใช้นโยบายเมดอินไชน่า 2015 แต่ละประเทศหันกลับไปพึ่งพาตนเอง กระตุ้นให้คนในประเทศบริโภคสินค้าตนเอง
ดังนั้นไทยควรหันมาดูตลาดในประเทศให้มากขึ้น

⦁เอกชนเผยซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย
สำหรับความเห็นของภาคเอกชน นายกฤษดา ทรัพย์ทวยชน รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม กล่าวว่า กลุ่มผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในสินค้ามอเตอร์ โคมไฟฟ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบอัจฉริยะ ซึ่งระยะเวลา 6 เดือน เอกชนคงไม่สามารถปรับตัวได้ทัน คาดว่าจะมีผลกระทบทำให้นักลงทุนต่างชาติที่จะย้ายฐานเข้ามาผลิตในไทย ต้องย้ายไปประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เวียดนามแทน และอาจกระทบต่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การประกาศตัดจีเอสพีเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย ถ้าประกาศตัดในช่วงเศรษฐกิจดีๆ เรื่องนี้คงไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ขณะนี้ไทยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าปัญหาค่าเงินบาท ดังนั้นเรื่องจีเอสพีจึงส่งผลด้านจิตวิทยาทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลงไปอีก หลังจากนี้คงขึ้นอยู่กับผลการเจรจา เพราะสิ่งที่สหรัฐเรียกร้องให้ไทยตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าว ในสหรัฐเองยังไม่สามารถตั้งได้ ดังนั้นสหรัฐไม่ควรจะมาเรียกร้องให้ไทยตั้งขึ้นมา

ส่วนการเจรจาหากต้องแลกกับการนำเข้าหมูเนื้อแดง และยกเลิกการแบนสารไกลโฟเซตนั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องศึกษาและพิสูจน์ว่าอันตรายจริงไหม

ในส่วนเอกชนกลุ่มที่ถูกตัดจีเอสพี ต้องหาแนวทางรับมือ เพราะในอดีตที่ไทยถูกสหภาพยุโรปตัดจีเอสพีทำให้กลุ่มสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม ต้องย้ายฐานไปประเทศเพื่อนบ้านเพื่อรับสิทธิจีเอสพี โดยกังวลว่าหากการเจรจาไม่เป็นผลสำเร็จจะเกิดการย้ายฐานของนักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนไทยอย่างแน่นอน

หลังจากนี้ไปคงต้องจับตาการกีดกันทางการค้า โดยประเทศยักษ์ใหญ่นำมาตรการไม่ใช่ภาษี (เอ็นทีบี) มากดดันทางการค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่เอกชนเรียกร้องคือ อยากให้รณรงค์การใช้สินค้าไทย (เมดอินไทยแลนด์) เพื่อลดการพึ่งพาตลาดต่างประเทศ

อยากเห็นเศรษฐกิจไทยลดสัดส่วนการส่งออกและพึ่งพาท่องเที่ยว ขณะนี้มีสัดส่วนถึง 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ให้เหลือเพียง 50% ภายใน 10 ปีข้างหน้า รวมถึงอยากให้ไทยพึ่งพาตลาดภายในประเทศให้เหมือนในญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน จีน ที่มีแบรนด์ของประเทศ และคนในประเทศนิยมใช้      แบรนด์ดังกล่าว ผลพลอยได้คือสามารถส่งออก และไปทำตลาดในประเทศต่างๆ ได้ด้วย

จากนี้ไปมาตรการกีดกันทางการค้าจะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจีเอสพีถือว่าเป็นแค่จุดเริ่มต้น โดยคาดว่าจะได้เห็นมาตรการเอ็นทีบีมากขึ้นเรื่อยๆ ภาครัฐและเอกชนไทย ต้องร่วมมือกันพยุงวิกฤตที่จะเกิดขึ้นให้ผ่านพ้นไปให้ได้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image