ดิสรัปชั่นทำพิษ “ทีวีดิจิทัล” กระอัก มีเสียวก๊อก2เริ่มบ่น “ไม่ไหวแล้ว” อ้อน “กสทช.” ปั๊มหัวใจอีกรอบ

คลื่น “ดิจิทัลดิสรัปชั่น” โหมโจมตีธุรกิจ “ทีวีดิจิทัล” มาพักใหญ่ ทำให้ผู้ประกอบการส่งเสียงร้องโอดโอย กระทั่งรัฐบาล โดย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีจัดการประมูลทีวีดิจิทัล วิ่งโร่หาทางช่วยเหลืออยู่เป็นระยะๆ จนถึงปัจจุบันสถานการณ์ก็ยังขึ้นๆ ลงๆ พร้อมกระแสถอยดีกว่า!!! มาอีกครั้ง

“7 ช่อง”คืนไลเซนส์ ยิ้มรับค่าชดเชย

ไม่นานมานี่ “กสทช.” ก็เพิ่งจะจ่ายเงินชดเชยและยุติการออกอากาศไป สำหรับ 7 ช่องทีวีดิจิทัล ที่ขอคืนใบอนุญาตประกอบกิจการ ตามมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล โดยอาศัยอำนาจตาม มาตรา 44 หรือชื่อเต็มคือ มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ได้แก่

1.บริษัท สปริง 26 จำกัด (ช่อง 26 หรือช่องนาวเดิม) ออกอากาศวันสุดท้ายในวันที่ 15 สิงหาคม 2562 และให้ยุติการออกอากาศได้เช้าวันที่ 16 สิงหาคม 2562 เวลา 00.01 น. ค่าชดเชยก่อนหักเงินค้างชำระงวดที่ 4 จำนวน 890,834,580 บาท หักยอดค้างชำระงวด 4 และภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 215,070,000 บาท คงเหลือเงินค่าชดเชยสุทธิจำนวน 675,764,580 บาท

Advertisement

2.บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด (ช่อง 19 หรือช่องสปริงนิวส์) ออกอากาศวันสุดท้ายในวันที่ 15 สิงหาคม 2562 และให้ยุติการออกอากาศได้เช้าวันที่ 16 สิงหาคม 2562 เวลา 00.01 น. ค่าชดเชยก่อนหักเงินค้างชำระงวดที่จำนวน 500,951,978 บาท ยอดค้างชำระงวด 4 ไม่มี จำนวนเงินค่าชดเชยสุทธิ 500,951,978 บาท

3.บริษัท ไบรท์ ทีวี จำกัด (ช่อง 20) ออกอากาศวันสุดท้ายในวันที่ 15 สิงหาคม 2562 และให้ยุติการออกอากาศได้เช้าวันที่ 16 สิงหาคม 2562 เวลา 00.01 น. ค่าชดเชยก่อนหักเงินค้างชำระงวดที่ 4 จำนวน 499,009,430 บาท หักยอดค้างชำระงวด 4 และภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 127,116,000 บาท คงเหลือเงินค่าชดเชยสุทธิจำนวน 371,983,430 บาท

4.บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด (ช่อง 21) ออกอากาศวันสุดท้ายในวันที่ 31 สิงหาคม 2562 และให้ยุติการออกอากาศได้เช้าวันที่ 1 กันยายน 2562 เวลา 00.01 น. ค่าชดเชยก่อนหักเงินค้างชำระงวดที่ 4 จำนวน 508,594,170 บาท หักยอดค้างชำระงวด 4 และภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 130,540,000 บาท คงเหลือเงินค่าชดเชยสุทธิจำนวน 378,054,170 บาท

Advertisement

5.บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) (ช่อง 14 หรือช่องเอ็มคอตแฟมิลี่) ออกอากาศวันสุดท้ายในวันที่ 15 กันยายน 2562 และให้ยุติการออกอากาศได้เช้าวันที่ 16 กันยายน 2562 เวลา 00.01 น. ค่าชดเชยก่อนหักเงินค้างชำระงวดที่ 4 จำนวน 226,428,367 บาท หักยอดค้างชำระงวด 4 และภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 63,130,000 บาท คงเหลือเงินค่าชดเชยสุทธิจำนวน 163,298,367 บาท

6.บริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด (ช่อง 28 หรือช่อง 3 เอสดี) ออกอากาศวันสุดท้ายในวันที่ 30 กันยายน 2562 และให้ยุติการออกอากาศได้เช้าวันที่ 1 ตุลาคม 2562 เวลา 00.01 น. ค่าชดเชยก่อนหักเงินค้างชำระงวดที่ 4 จำนวน 903,178,695 บาท หักยอดค้างชำระงวด 4 และภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 223,095,000 บาท คงเหลือเงินค่าชดเชยสุทธิจำนวน 680,083,695 บาท

7.บริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด (ช่อง 13 หรือช่อง 3 แฟมิลี่) ออกอากาศวันสุดท้ายในวันที่ 30 กันยายน 2562 และให้ยุติการออกอากาศได้เช้าวันที่ 1 ตุลาคม 2562 เวลา 00.01 น. ค่าชดเชยก่อนหักเงินค้างชำระงวดที่ 4 จำนวน 226,315,837 บาท หักยอดค้างชำระงวด 4 และภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 63,772,000 บาท คงเหลือเงินค่าชดเชยสุทธิจำนวน 162,543,837 บาท

อ้อน”กสทช.”เปิดคืนไลเซนส์รอบ2

ล่าสุด นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ระบุว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลโทรมาปรึกษา ว่าประกอบกิจการไม่ไหว แม้จะไม่ต้องจ่ายเงินค่าประมูลแล้ว แต่ผลประกอบการยังขาดทุนเรื่อยๆ ดังนั้น จึงมีผู้ประกอบการหลายรายต้องการยุติการให้บริการ และอยากให้มีการจ่ายเงินชดเชยเหมือนกับ 7 ช่องทีวีดิจิทัล ที่แจ้งความประสงค์ขอคืนใบอนุญาตก่อนหน้านี้

“เรื่องนี้คงต้องดูในข้อกฎหมายว่าจะทำได้หรือไม่ และต้องดูว่าจะสามารถใช้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 เดิมได้หรือไม่ ซึ่งผู้ประกอบการที่ต้องการขอคืนใบอนุญาตครั้งนี้ อยากได้เงื่อนไขเหมือนผู้ประกอบการในครั้งแรก ดังนั้น จะเสนอเรื่องดังกล่าวไปให้อนุกรรมการเยียวยาพิจารณาก่อนว่าจะช่วยได้หรือไม่ และช่วยอย่างไร”

ทั้งนี้ นายฐากรกล่าวว่า การคืนใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ถ้ามองว่ารัฐเสียหายไหม สมมุติว่าทีวีดิจิทัลมีการคืน 2 ช่อง ก็จะได้คลื่นความถี่คืนกลับมา 2.5 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งคลื่นดังกล่าวมีมูลค่าหากนำไปเปิดประมูลในกิจการโทรคมมาคมน่าจะได้เงินกลับมา 4,000-5,000 ล้านบาท และนำเงินดังกล่าวคืนให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้ราว 600-700 ล้านบาท ถ้ามองแบบนี้ถือว่าคุ้มค่า รัฐไม่ได้เสียหายอะไร แต่การช่วยต้องดูถึงความเหมาะสม เพราะก่อนหน้านี้เปิดโอกาสให้คืนล็อตแรกไปแล้ว

“ขณะนี้มีทีวีดิจิทัลเหลืออยู่ 15 ช่อง ยังไม่ทราบว่าจะคืนเท่าไร แต่โดยส่วนตัวมองว่าแนวโน้มที่จะช่วยผู้ประกอบการเหมือนครั้งแรกคงเป็นไปได้ยาก แต่ก็จะดูให้ เพราะถ้าไม่เข้าไปช่วยผู้ประกอบการสามารถหยุดกิจการไปเลย รัฐไม่ต้องคืนเงิน แต่ผู้ประกอบการอยากได้เงินคืนก็จะทนดำเนินกิจการต่อไป ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาคาราคาชังไปเรื่อยๆ”

สูตรเยียวยา”ทีวีดิจิทัล”รอบแรก

มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 หรือชื่อเต็มคือ มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม โดยเปิดให้ผู้ประกอบการสามารถคืนใบอนุญาตได้ ผู้ประสงค์ต้องแจ้งเป็นหนังสือภายใน 30 วัน นับแต่คำสั่งมีผลบังคับใช้ หรือภายใน 10 พฤษภาคม 2562 ขณะที่ผู้ประกอบการทั้ง 17 ช่อง ที่ค้างชำระค่าใบอนุญาตงวดที่ 4 ต้องชำระภายใน 120 วัน นับแต่วันที่คำสั่งมีผลบังคับใช้ หรือภายใน 8 สิงหาคม 2562 รวมเป็นเงิน 3,215 ล้านบาท

จากนั้นนำรายได้ที่เกิดขึ้นส่งคืนให้กับผู้ประกอบการ 3 ราย ที่ได้ชำระค่าใบอนุญาตงวดที่ 5 แล้ว ได้แก่ ช่อง 7 จำนวน 372 ล้านบาท, ช่องเวิร์คพอยท์ จำนวน 395 ล้านบาท และช่องสปริงนิวส์ 219 ล้านบาท รวม 986 ล้านบาท และนำรายได้ที่เหลือ จำนวน 2,228 ล้านบาท ส่งเป็นรายได้ของรัฐ

ทั้งนี้ หากค้างชำระต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ได้รับเงินจากการชำระงวดที่ 4 ไม่เพียงพอ จะพิจารณาจ่ายคืนให้กับผู้ประกอบการตามลำดับ โดยพิจารณาจากความจำเป็นของแต่ละช่อง ซึ่งอ้างอิงจากผลประกอบการ

อีกทั้งผู้ประกอบการยังได้รับการยกเว้นค่าใบอนุญาตงวดที่ 5 และงวดที่ 6 รวมเป็นเงิน 13,622 ล้านบาท และได้รับการสนับสนุนค่าเช่าใช้โครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล (มักซ์) เต็มจำนวนตลอดอายุใบอนุญาตที่เหลืออยู่ 9 ปี 6 เดือน รวม 18,775 ล้านบาท โดยจะเริ่มสนับสนุนในเดือนกรกฎาคม 2563 หลังสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือตามคำสั่งหัวหน้า คสช. เมื่อปี 2561 ที่ช่วยเหลือค่ามักซ์ 50% เป็นเวลา 24 เดือน นอกจากนี้สำนักงาน กสทช.ยังให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดทำข้อมูลค่าความนิยมเฉลี่ย (เรตติ้ง) โดยการจัดตั้งองค์กรกลางเพื่อวัดเรตติ้งที่ถูกต้องและยุติธรรม

เปิดสูตรคำนวณช่องคืนไลเซนส์

ส่วนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ที่ “ทนพิษบาดแผลไม่ไหว” ตัดสินใจปล่อยจอดำ มีสูตรคำนวณเงินชดเชย คือ นำค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ชำระแล้ว คูณด้วยอายุใบอนุญาตที่เหลืออยู่ (10 ปี) จากนั้นหารด้วยอายุใบอนุญาต 15 ปี ได้ผลอย่างไรเป็นตัวตั้ง และนำสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้รับระหว่างการประกอบกิจการ ได้แก่ 1.เงินสนับสนุนค่าเช่าโครงข่ายมักซ์ ตามคำสั่ง คสช.ที่ 9/2561 และค่าใช้จ่ายในการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมตามเกณฑ์ (มัสต์แครี่) ตามคำสั่ง คสช.ที่ 76/2559 ตั้งแต่วันที่ได้รับการสนับสนุนจนถึงวันยุติการให้บริการ และ 2.ผลประกอบการของผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ตั้งแต่เปิดให้บริการจนถึง 11 เมษายน 2562 เฉพาะที่มีกำไรสุทธิ มาหักออก

จากนั้นจึงจะคำนวณเงินชดเชยให้แก่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ขอคืนใบอนุญาต โดย กสทช.จะจ่ายเงินชดเชยจากการคืนใบอนุญาตให้ใน 60 วัน นับแต่ยุติการให้บริการตามที่ กสทช.กำหนด โดยนำเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ชดเชยให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลก่อน และเมื่อได้รับเงินจากการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จะนำหักลบกับส่วนที่ได้ชดเชยให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลไป เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการเน็ตประชารัฐ ที่ยังไม่แล้วเสร็จ

10 อันดับเรตติ้งเดือน ต.ค.62

ข้อมูลค่าความนิยมเฉลี่ย (เรตติ้ง) ของช่องรายการโทรทัศน์ภาคพื้นดิน จากสำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (วส.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พบว่า ช่องรายการที่ได้รับความนิยมสูงสุด 10 อันดับแรกในเดือนตุลาคม 2562 คือ ช่อง 7 (7 เอชดี), ช่อง 3 (3 เอชดี), ช่องโมโน 29, ช่องเวิร์คพอยท์, ช่องวัน, ช่องไทยรัฐทีวี, ช่องอมรินทร์ทีวี เอชดี, ช่อง 8, ช่องเนชั่นทีวี, ช่องพีพีทีวี และช่อง 9 เอ็มคอต เอชดี ตามลำดับ

ทั้งนี้ ในเดือนตุลาคม 2562 ช่องรายการส่วนใหญ่ที่ได้รับความนิยมสูงสุด 10 อันดับแรกยังเป็นกลุ่มช่องรายการเหมือนเดือนก่อนหน้า โดยช่องรายการที่มีเรตติ้งเพิ่มขึ้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มช่องละคร ภาพยนตร์ และวาไรตี้ ได้แก่ ช่อง 7 เอชดี, ช่องโมโน 29, ช่องเวิร์คพอยท์ และช่องวัน โดยช่อง 7 เอชดี มีละครหลังข่าว มธุรสโลกันตร์ ที่ช่วยดันเรตติ้งของช่อง ส่วนช่องโมโน 29 มีหนังดังต่างประเทศที่ทำเรตติ้งได้ดีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ช่องเวิร์คพอยท์ก็ได้รายการวาไรตี้ เช่น นักร้องซ่อนแอบ, ไมค์ทองคำปี 8 และไมค์หมดหนี้ เพิ่มเรตติ้งเฉลี่ยประจำเดือนให้แก่ช่อง ส่วนช่องวัน มีละครค่ำ เสียงเอื้อนสะเทือนดาว ทำเรตติ้งได้ดีจนสามารถช่วยเพิ่มเรตติ้งของช่องได้

2.กลุ่มช่องข่าว ได้แก่ ช่องอมรินทร์ทีวี เอชดี และช่องเนชั่นทีวี โดยช่องอมรินทร์ทีวี เอชดี มีรายการทุบโต๊ะข่าวที่ออกอากาศต่อเนื่องตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันอาทิตย์ ช่วยสร้างฐานความนิยมจากผู้ชมได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนช่องเนชั่นทีวี มีรายการข่าว เนชั่นทันข่าว ที่ได้รับกระแสตอบรับจากผู้ชมดีอย่างสม่ำเสมอ

“ทีวีดิจิทัล”ล่มหัวจมท้าย

ทางรอดของผู้ประกอบการจึงมิใช่การลดต้นทุนดังที่เห็นเท่านั้น แต่เริ่มจะเห็นการทำงานร่วมกันมากขึ้น เช่น การร่วมมือกันระหว่าง บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) กับบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ที่ประกาศเป็นพันธมิตรร่วมกันเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อผลิตคอนเทนต์เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยจะสร้างศิลปินใหม่ และผลิตซีรีส์ร่วมกันปีละ 6-8 เรื่อง โดยใช้นักแสดงจากจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และโมโน รวมถึงการนำคอนเทนต์จากช่องโมโน 29, ช่องต่างประเทศ, พรีเมียมซีรีส์, ซีรีส์ไทย, ละครรีรัน, เพลง, คาราโอเกะ ไปอยู่ในแพลตฟอร์มของทรีบรอดแบนด์ทีวี รองรับกลุ่มลูกค้าอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงกว่า 1.5 ล้านราย

นอกจากนี้ ยังเห็นการรุกไปยังช่องทางอื่น เพื่อเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดมากขึ้น เช่น บริษัท อาร์เอส จํากัด (มหาชน) ประกาศจับมือกับบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา เป้าหมายเพื่อต่อยอดธุรกิจพาณิชย์หลายช่องทางของอาร์เอส ด้วยการเปิดช่องทางขายสินค้าใหม่ ภายใต้ชื่อ เวลเนส ช็อป ซึ่งจำหน่ายสินค้าของอาร์เอส และพันธมิตรผ่านช่องเวิร์คพอยท์ ซึ่งจะช่วยผลักดันรายได้ของอาร์เอสให้เติบโตก้าวกระโดด ขณะที่เวิร์คพอยท์เองจะได้รับส่วนแบ่ง 30% ของยอดขายสินค้าจากช่องทางเวลเนส ช็อป

รายได้ไตรมาส 3/62 ยังหด

แม้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจะมีการจับมือกันมากขึ้น แต่ช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้นสื่อทีวีดิจิทัลยังไม่ได้ตอบสนองเชิงบวก เนื่องจากนักลงทุนยังคงให้น้ำหนักผลประกอบการในระยะสั้นมากกว่า การทำงานร่วมกันที่คาดจะเกิดขึ้นในระยะกลางถึงระยะยาว

รายได้รวมของ “เวิร์คพอยท์” ในไตรมาส 3/2562 อยู่ที่ 703.56 ล้านบาท ลดลงถึง 303.52 ล้านบาท หรือลดลง 30% จากที่เคยได้ในไตรมาสเดียวกันของปี 2561 ที่อยู่ที่ 1,007.11 ล้านบาท โดยสาเหตุหลักมาจากการลดลงอย่างมากของรายได้จากธุรกิจทีวี

ทั้งนี้ รายได้ในกลุ่มธุรกิจทีวีของเวิร์คพอยท์ ประกอบด้วย รายได้จากค่าโฆษณาทางทีวีดิจิทัล และช่องทางออนไลน์ รวมถึงรายได้จากการให้เช่าเวลา รายได้จากการรับจ้างผลิตในช่องเวิร์คพอยท์ และการขายลิขสิทธิ์รายการไปต่างประเทศ ในไตรมาส 3 ปีนี้อยู่ที่ 558.35 ล้านบาท ลดลง 211.43 ล้านบาท หรือลดลง 27% จาก 769.78 ล้านบาทในปีก่อนหน้า ส่วนรายได้จากการจัดอีเวนต์การจัดคอนเสิร์ตและละครเวทีก็ลดลง 16% และ 75% ตามลำดับ เพราะมีการจัดงานอีเวนต์และงานคอนเสิร์ตน้อยลง

เวิร์คพอยท์ชี้แจงว่า รายได้จากการขายสินค้าและบริการ เป็นกลุ่มของรายได้ที่เพิ่มขึ้น เป็นกลุ่มเดียวที่เพิ่มขึ้น โดยรายการกลุ่มนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ รายได้จากการขายสินค้าโฮมช้อปปิ้งในช่องเวิร์คพอยท์ และรายได้จากการให้บริการอื่นๆ โดยมีรายได้กลุ่มนี้อยู่ที่ 70.75 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.36 ล้านบาท หรือ 122% เมื่อเทียบกับ 33.40 ล้านบาทในปีที่แล้ว

ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้จำนวน 87% มาจากโฮมช้อปปิ้ง และ 13% มาจากรายได้จากการให้บริการอื่นๆ ประกอบด้วย การให้เช่าพื้นที่โรงละคร และการจัดหานักแสดง เท่ากับว่ารายได้จากธุรกิจโฮมช้อปปิ้งในไตรมาสนี้มีรวมอยู่ที่ 61.55 ล้านบาท นับว่ารายได้โฮมช้อปปิ้ง ไตรมาสนี้สูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ที่มีรายได้ในสัดส่วน 65% หรือประมาณ 21.71 ล้านบาท

ในปี 2562 เวิร์คพอยท์ได้เน้นธุรกิจโฮมช้อปปิ้ง ที่มีทั้งรายการ 1234 ฮัลโหล ช้อป และรายการเลทมีอินบิวตี้ ที่มีการจัดรายการแทรกเข้าไปในหลายช่วงเวลาตลอดวัน

อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาที่จัดรายการโฮมช้อปปิ้ง จะมีผลต่อเรตติ้งเฉลี่ยของแต่ละรายการและเรตติ้งเฉลี่ยรวมของช่อง อีกทั้งช่วงนี้ยังไม่มีรายการโดดเด่นของช่องทำให้เรตติ้งเฉลี่ยช่องยังอยู่ที่อันดับ 4 โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีเรตติ้งเฉลี่ยอยู่ที่ 0.746 ที่กำลังโดนช่องวันไล่ตามมาไม่ห่างนักด้วยเรตติ้งเฉลี่ย 0.720

“ช่อง 3” คืน 2 ช่องทำกำไร

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา “บีอีซีเวิลด์” รายงานผลประกอบการในไตรมาสที่ 3/2562 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ยังเป็นอีกไตรมาสที่รายได้จากค่าโฆษณาของธุรกิจทีวีดิจิทัลยังคงถดถอยลงอย่างมาก และมีผลกระทบต่อผลประกอบการโดยรวม แม้มาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลในการให้เงินชดเชยในการคืนใบอนุญาตช่องทีวีดิจิทัล ซึ่งกลุ่มช่อง 3 คืนไป 2 ช่อง มีรายได้ในส่วนนี้ถึง 344.3 ล้านบาทในไตรมาสนี้ ทำให้ผลประกอบการจากขาดทุนกลายเป็นกำไรทันที 93.6 ล้านบาท

ทั้งนี้ ข้อมูลที่รายงานนั้นระบุว่า ไตรมาส 3/2562 นี้ ทั้งกลุ่มมีรายได้รวมอยู่ที่ 2,169.8 ล้านบาท ลดลง 436.3 ล้านบาท หรือ 16.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2561 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 2,606.1 ล้านบาท โดยรายได้หลักที่ลดลงอย่างมาก ได้แก่ รายได้จากค่าโฆษณาทางทีวี อยู่ที่ 1,585 ล้านบาท ลดลงถึง 511.4 ล้านบาท หรือลดลง 23.3% เมื่อเทียบกับปี 2561 ที่มีรายได้โฆษณาทีวี อยู่ที่ 2,196.5 ล้านบาท ซึ่งรายได้จากโฆษณาคิดเป็น 77.7% ของรายได้รวม

และจากตัวเลขรายได้ค่าโฆษณาของไตรมาสนี้ นับว่าเป็นการลดลงสูงสุดของปีนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1และ 2 ของปี ซึ่งไตรมาส 1 ลดลง 18.7% และไตรมาส 2ลดลง 23% โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ มีรายได้ค่าโฆษณาอยู่ที่ 1,718.5 ล้านบาท และไตรมาสที่ 2 ของปีมีรายได้โฆษณาอยู่ที่ 1,814.8 ล้านบาท รายได้จากค่าโฆษณาในทุกไตรมาสมีมูลค่าต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท ไปแล้ว

บทเรียน “ทีวีดิจิทัล” ราคาแพง “กสทช.” จะปล่อยไปตามเวรตามกรรม หรือมีมาตรการช่วยเหลือ (อีก) ก๊อกที่ 2 จะเป็นอย่างไร ติดตามตอนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image