ฝันร้าย ศก.ไทยโตต่ำสุดรอบ5ปี อัดมาตรการพยุงเพียบยังไม่รอด ลุ้นฟื้นตัวหรือผจญวิกฤตรอบใหม่

ลุ้นกันแทบแย่กับภาวะเศรษฐกิจไทยว่าจะดีขึ้นหรือไม่ ล่าสุดจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 3 ประกาศอย่างเป็นทางการจากสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่าตัวเลขไตรมาส 3 ดีขึ้นจากไตรมาส 2 เพียงเล็กน้อย

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สศช.แถลงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 ปี 2562 อย่างเป็นทางการ โดยพบว่าจีดีพีไตรมาส 3 ขยายตัว 2.4% ดีขึ้นจากไตรมาส 2 ที่ขยายตัว 2.3% เพียง 0.1% โดยตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 นั้นต่ำสุดในรอบ 19 ไตรมาส หรือรอบ 5 ปี

จีดีพีโต2.6%ต่ำสุดรอบ5ปี

เมื่อตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 ออกมาอย่างชัดเจน ทำให้ สศช.หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจไทย ปี 2562 ทั้งปีเหลือเพียง 2.6% ลดลงจากที่คาดการณ์ครั้งก่อนว่าจะขยายตัว 3% โดยจีดีพีไตรมาส 3 ต่ำกว่าที่ สศช.เคยประเมินไว้ว่าควรจะโต 2.7% เกิดจากปัญหาสงครามการค้ายังไม่ยุติ ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกลดลง ส่งผลให้การลงทุนเอกชนชะลอตัว ส่วนมาตรการภาครัฐที่ออกมา เช่น ชิมช้อปใช้ ยังไม่สัมฤทธิผลต่อเศรษฐกิจไตรมาส 3

Advertisement

ทั้งนี้ สศช.ระบุว่าหากจะให้เศรษฐกิจไทยปีนี้โตในระดับ 2.6% จีดีพีในไตรมาส 4 ต้องขยายตัว2.8% เพราะเฉลี่ยจีดีพี 3 ไตรมาสที่ผ่านมาโตได้เพียง 2.5% เท่านั้น โตน้อยกว่าตัวเลขที่รัฐบาลชุดนี้อยากจะเห็น 3%

จากตัวเลขคาดการณ์จีดีพีทั้งปีทำให้เห็นว่าปีนี้เศรษฐกิจจะโตต่ำสุดในรอบ 5 ปี จากในปี 2561 โต 4.1%, ในปี 2560 โต 4.0%,ปี 2559 โต 3.4%, ปี 2558 โต 3.1% โดยในปี 2557 มีปัญหาการเมืองโต 1% ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2563 สศช.ประเมินว่าจะโต 3.2% มีช่วงคาดการณ์ 2.7-3.7%

ส่งออกหดตัวคาดทั้งปีลบ2%

Advertisement

เศรษฐกิจไทยปีนี้ปรับลดลงมาตั้งแต่ต้นปี จากเคยประเมินกันไว้ว่าจะโต 4% เป็นผลจากการส่งออกปีนี้หดตัวมาก ตัวเลขการส่งออกไทยเดือนตุลาคม 2562 ติดลบ 4.54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีมูลค่าการส่งออก 2.08 หมื่นล้านดอลลาร์

ถ้าดูการส่งออกเป็นไตรมาสพบว่าไตรมาส 3 เริ่มดีขึ้นเพราะตัวเลขไม่ติดลบ อยู่ในระดับทรงตัวคือไม่ขยายตัวเลย เท่ากับ 0% ดีขึ้นจากไตรมาส 2 ที่ส่งออกติดลบ 4.2% ส่วนไตรมาสแรกติดลบถึง 4%

ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการส่งออก พบว่าการส่งออก 10 เดือนของปี 2562 ลดลงจากปีก่อน 2.4% มีการส่งออกรวม 2.07 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนการนำเข้าอยู่ที่ 1.99 แสนล้านดอลลาร์ลดลง 4.1%

หากดูการนำเข้าเฉพาะเดือนตุลาคมพบว่าลดลงกว่า 7.5% เป็นเรื่องควรต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะพบว่าการนำเข้าสินค้าเครื่องจักร และอิเล็กทรอนิกส์ลดลงในบางรายการ ซึ่งอาจส่งผลให้การส่งออกระยะต่อไปลดลง เนื่องจากการนำเข้าเครื่องจักรและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์บ่งบอกได้ว่าอุตสาหกรรมไม่มีการลงทุน ดังนั้นอาจทำให้สินค้าผลิตเพื่อส่งออกลดลง

ในช่วงที่เหลือของปี กระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งออกติดลบต่อเนื่องในเดือนพฤศจิกายน และน่าจะขยายตัวได้อีกครั้งในเดือนธันวาคม ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกทั้งปี 2562 ติดลบ 1.5-2% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 0% ตัวเลขเป้าหมายส่งออกที่ปรับใหม่นี้ใกล้เคียงกับตัวเลข สศช.คาดการณ์ไว้ว่าจะติดลบ 2% โดยมีลุ้นว่าตัวเลขส่งออกอาจติดลบไม่ถึง 2% หากค่าเงินบาทไม่แข็งค่ามากกว่าระดับปัจจุบัน และราคาน้ำมันไม่ลดมากกว่านี้

สำหรับปี 2563 กระทรวงพาณิชย์คาดว่าส่งออกจะสามารถโต 2% ใกล้เคียงกับที่ สศช.คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 2.3% โดยในปีหน้ามีปัจจัยบวกคือผู้ประกอบการปรับตัวจากปัญหาสงครามการค้า มีการหาตลาดและสินค้าใหม่ๆ ในการส่งออก ความมั่นใจของภาคเอกชนทั่วโลกเริ่มเพิ่มขึ้น สะท้อนจากดัชนีฝ่ายจัดซื้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ต้องลุ้นอีกว่าหากมีข้อตกลงที่ดีระหว่างสหรัฐกับจีนช่วงต้นปีหน้า จะช่วยให้การส่งออกฟื้นตัวดีขึ้น

เรียกร้องอัดมาตรการกระตุ้นเพิ่ม

การส่งออกที่ลดลงและตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 ไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ทำให้ ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช. ออกโรงเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม เพื่อดูแลเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ทศพรระบุว่า ในปี 2562 หากจะทำให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมโต 2.6% ในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้รัฐบาลต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม นอกเหนือจากมาตรการที่ออกมาก่อนหน้านี้ เพราะยังมีปัจจัยต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ยังวางใจไม่ได้

นอกจากนี้ยังมีข้อแนะนำสำหรับแนวทางในการบริหารจัดการเศรษฐกิจในปี 2562-2563 ประกอบด้วย การขับเคลื่อนภาคการส่งออกให้กลับมาโตไม่ต่ำกว่า 3% ผ่านการหาตลาดใหม่และการจัดโรดโชว์อย่างต่อเนื่องของภาครัฐและภาคเอกชน การสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ การสร้างความเชื่อมั่นและการสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการดูแลเกษตรกร กำลังแรงงาน ผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) และเศรษฐกิจฐานราก

ข้อเสนอให้ออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมของ สศช.สอดคล้องกับความเห็นของ สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เสนอให้รัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มเติม เพื่อชดเชยการส่งออกที่ชะลอตัวจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลก

สุพันธุ์ระบุว่า จากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคมอยู่ที่ระดับ 91.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 92.1 ในเดือนกันยายน โดยเป็นการปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 17 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 เนื่องจากผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลกำลังซื้อในส่วนภูมิภาคที่ยังชะลอตัว และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประสบปัญหาด้านการเงิน เนื่องจากสถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

เอกชนเห็นว่าสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยังคงยืดเยื้อ และการแข็งค่าของเงินบาทที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาลดลง

คลังชงเข้าครม.26พ.ย.นี้ทันที

ความเห็นเรื่องมาตรการกระตุ้นของ สศช.และเอกชนเป็นไปทิศทางเดียวกับรัฐบาล ทั้ง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปรยๆ ก่อนหน้านี้ว่าได้เตรียมพร้อมมาตรการไว้แล้ว พอตัวเลขจีดีพีของ สศช.ออกมาต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ทำให้ต้องเร่งเข็นมาตรการเข้าสู่ที่ประชุม ครม.โดยเร็ว คาดว่าจะเสนอในวันอังคารที่ 26 พฤศจิกายนนี้ทันที โดยมาตรการดังกล่าวกระทรวงการคลังได้นำไปหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว และนายกฯไฟเขียวให้ดำเนินการ

ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการรอบใหม่ทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท เน้นให้ความช่วยเหลือกลุ่มที่กำลังเดือดร้อนทั้งในกลุ่มเกษตรกร กลุ่มประชาชนฐานราก เช่น มาตรการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/2563 โดยมีเป้าหมายเกษตรกรที่ปลูกข้าว 4.31 ล้านครัวเรือน พื้นที่ 3.4 ล้านไร่ หากผ่าน ครม.สามารถจ่ายเงินให้ชาวนาได้ทันที เพื่อให้ทันกับการเก็บเกี่ยว เริ่มในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2562

นอกจากนี้มีมาตรการพักหนี้เงินต้นสำหรับผู้กู้เงินจากแบงก์รัฐเป็นเวลา 1 ปี รวมถึงมีโครงการสินเชื่อสำหรับผู้ที่ต้องการกู้เงินใหม่ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งการออกมาตรการพักหนี้เงินต้นและสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี และทำให้ประชาชนมีเงินในกระเป๋ามาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น รวมถึงรัฐบาลมีแผนที่จัดสรรเงินเพิ่มเติมให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับสมาชิก กทบ.กว่า 7.9 หมื่นหมู่บ้านทั่วประเทศ

สมคิดระบุว่า การออกมาตรการเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดโมเมนตัม (แรงส่ง) ของการเติบโต โดยปีนี้เป็นปีที่สำคัญต้องรักษาระดับการเติบโตของเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอไปมากกว่านี้ แม้เศรษฐกิจโลกจะทำให้จีดีพีไตรมาส 3 ปีนี้เติบโตเพียง 2.4% แต่ถือว่าไทยสามารถรักษาโมเมนตัมให้อยู่ตัวได้แล้ว

สมคิดคาดหวังให้ไตรมาส 4 ต้องทำให้ได้ดีขึ้น เพื่อสร้างโมเมนตัมต่อเนื่องไปยังปีหน้า เพราะตอนนี้คนไม่แน่ใจว่าปีหน้าจะเป็นอย่างไร

หว่านเงินกว่า4.6แสนล.ยังไม่พอ

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะแรกวงเงิน 3.16 แสนล้านบาท ประกอบด้วย ชิมช้อปใช้เฟส 1 ด้วยการแจกเงิน 1 พันให้ผู้ลงทะเบียน 10 ล้านคน, แจกเงินคนจน 14.6 ล้านคน ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, มาตรการช่วยเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง, พักหนี้กองทุนหมู่บ้าน, มาตรการสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอีและมาตรการกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศ

หลังจากนั้นรัฐบาลและกระทรวงการคลังมองว่ายังไม่เพียงพอ จึงอัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ซึ่งประกอบด้วย ชิมช้อปใช้เฟส 2 เพิ่มจำนวนผู้ลงทะเบียนอีก 3 ล้านคน และมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% รวมถึงยังอัดสินเชื่อบ้านดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท

รวมถึงยังมีมาตรการชิมช้อปใช้เฟส 3 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน เพิ่มคนลงทะเบียนอีก 2 ล้านคน รวมแล้วมีคนเข้าร่วมชิมช้อปใช้ทั้ง 3 เฟสถึง 15 ล้านคน นอกจากนี้ยังเร่งรัดการเบิกจ่ายการลงทุนของรัฐวิสาหกิจซึ่งคาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 1 แสนล้านบาท

รวมแล้วมาตรการของรัฐที่ออกไปก่อนหน้านี้เป็นวงเงินรวมถึง 4.6 แสนล้านบาท

ชี้รัฐบาลต้องดูแลไม่ให้ดิ่งเหว

ถ้าดูจากมาตรการของรัฐออกมา ทำให้เห็นว่าปีนี้รัฐบาลไทยทุ่มสุดตัว เรื่องนี้ ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) หนึ่งในมันสมองในการคิดมาตรการรัฐชุดนี้ ระบุว่า มาตรการของรัฐที่ออกไปแค่พยุงเศรษฐกิจไทยไม่ให้ดิ่งเหวไปมากกว่านี้

เศรษฐกิจไทยปีนี้ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ส่งผลให้การส่งออกสินค้าหดตัวลง มาตรการกระตุ้นเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นที่จะเข้าไปดูแล

ลวรณยอมรับว่า ปีนี้เศรษฐกิจจะโตไม่ถึง 2.8% ตามที่ สศค.ประเมินไว้เมื่อปลายเดือนตุลาคม เพราะพบว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมประกาศโดยกระทรวงอุตสาหกรรมล่าสุดติดลบ 4.5% ต่ำกว่า สศค.ประเมินติดลบ 2% ดังนั้นถ้าเอาตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมล่าสุดมาประเมิน ตัวเลขจีดีพีปีนี้จะใกล้เคียงกับที่ สศช.ประเมินไว้ว่าจะโต 2.6%

ในไตรมาส 4 เศรษฐกิจน่าจะดีที่สุดของปี สศค.หวังว่าจะสามารถขยายตัวถึง 3.3% จากไตรมาส 1 ขยายตัว 2.8% ไตรมาส 2 ขยายตัว 2.3% ไตรมาส 3 ขยายตัว 2.4% โดยขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีของไตรมาส 4 จากตัวเลขจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ภายในประเทศขยายตัวถึง 6% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการบริโภคในประเทศดีขึ้น เป็นผลจากมาตรการรัฐที่ออกไปก่อนหน้านี้

สำหรับเศรษฐกิจในปี 2563 คาดว่าจะโต 3.3% ส่งออกขยายตัว 2.6% โดยปัจจัยที่จะเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีหน้ามาจากการบริโภคในประเทศ และการลงทุนจากภาครัฐ

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังหวังว่าหากเอกชนมีการลงทุนเพิ่มเติมหลังจากชะลอการลงทุนมาหลายปี จะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจในปีหน้าโตกว่าที่ประเมินไว้

หวั่นหนี้โลกพุ่งชนวนวิกฤต

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นห่วงว่าในปีหน้าไทยอาจต้องเผชิญภาวะยากลำบากมากขึ้นจากปัญหาของเศรษฐกิจโลก เพราะล่าสุดมีตัวเลขที่น่าสนใจว่าอาจเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกรอบใหม่ เพราะหนี้ทั่วโลกพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ข้อมูลดังกล่าวเปิดเผยโดยสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (The Institute of International Finance: IIF) รายงานหนี้ทั่วโลก พบว่าสูงกว่า 250 ล้านล้านดอลลาร์ โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 หนี้เพิ่มขึ้น 7.5 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่เป็นหนี้ของประเทศยักษ์ใหญ่คือสหรัฐและจีน ซึ่งก่อหนี้ในสัดส่วนมากกว่า 60% ของหนี้ที่เพิ่มขึ้น คาดว่าจนถึงสิ้นปีนี้หนี้ทั่วโลกสูงขึ้นเกินกว่า 255 ล้านล้านดอลลาร์

หนี้เพิ่มขึ้นทั่วโลกทำให้นักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนเกิดความกังวลเป็นอย่างมาก เพราะหนี้ดังกล่าวมาจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ ทำให้บริษัทและภาครัฐประเทศต่างๆ กู้เงินได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีความกังวลว่าหนี้ภาคธุรกิจในประเทศเศรษฐกิจหลัก อาทิ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี อังกฤษ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน มีความเสี่ยงต่อการผิดนัดการชำระหนี้ในกรณีที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องในปีหน้า

นอกจากนี้ประเทศที่มีหนี้สาธารณะสูงมากๆ อาทิ อิตาลี และเลบานอน รวมถึงประเทศก่อหนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาทิ อาร์เจนตินา บราซิล แอฟริกาใต้ และกรีซ อาจทำให้เกิดผลกระทบหากปีหน้าเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น เพราะไม่เหลือเครื่องมือดูแลเศรษฐกิจแล้ว

ตัวเลขหนี้ที่เพิ่มขึ้นเป็นความกังวลของนักเศรษฐศาสตร์ว่าอาจเป็นชนวนให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่

ในฝั่งไทยเองแม้หนี้จะไม่สูง และกระทรวงการคลังย้ำอยู่บ่อยๆ ว่าไทยพร้อมจะกู้เงินมาพยุงเศรษฐกิจหากเกิดวิกฤต เพราะขณะนี้ไทยมีหนี้สาธารณะไทยอยู่ในระดับต่ำเพียง 41-42% ต่อจีดีพีเท่านั้น ถ้าเทียบกับประเทศเจริญแล้วมีหนี้สาธารณะกว่า 100% ต่อจีดีพี ไทยยังมีช่องว่างในการกู้เงินอีกมาก

แต่ปีนี้ไทยใช้มาตรการทั้งการเงินและการคลังในการดูแลเศรษฐกิจเต็มที่ โดยทางการเงินปรับลดดอกเบี้ยมาแล้ว 2 ครั้ง ส่งผลให้ล่าสุดดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.25% ต่ำสุดรอบ 10 ปี ส่วนมาตรการทางการคลังมีทั้งแจกเงินประชาชน เกษตรกร คนจน ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เรียกว่ามีมาตรการออกไปแล้วแทบจะหมดหน้าตัก

หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าการใช้เครื่องมือทางการเงินการคลังของไทยที่ผ่านมานั้นถูกที่ ถูกเวลาหรือไม่ หากปีหน้าเกิดวิกฤตเศรษฐกิจของโลกขึ้นจริงๆ ไทยจะเหลือเครื่องมือในการรับมือได้ดีแค่ไหน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image