โจทย์หิน ‘ผู้ส่งออก-ผู้ผลิต’ หาทางรอดประคองธุรกิจ เมื่อเผชิญบาทแข็ง-ขึ้นค่าแรง-การเมืองกระเพื่อม

จากเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าแตะระดับ 30.16 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือว่าแข็งค่ามากที่สุดทำสถิติใหม่ในรอบกว่า 6 ปีที่ผ่านมาและยังคงแข็งค่าขึ้นๆ ลงๆ ใกล้เคียงระดับนี้มาถึงปัจจุบัน เฉพาะกว่า 11 เดือนปีนี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่า 7% เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน หากเทียบกับประเทศนอกอาเซียนแต่ค้าขายกับไทย พบว่า ช่องว่างค่าเงินอ่อนค่ากว่าไทยกว่า 10% เช่น เทียบกับเงินหยวนของจีน โดยที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งเป็นปัจจัยสำคัญต่อภาคธุรกิจมาก โดยเฉพาะกระทบต่อภาคการส่งออกที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาลดลง ยืนยันได้จากมุมมองของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ประเมินว่าค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่าเพิ่มมากขึ้นส่งผลกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยมากขึ้น แม้การอ่อนค่าลงตามการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่หลังจากนั้นค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นตามค่าเงินเยนและราคาทองคำ ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงต่ำ รวมถึงยังเริ่มเห็นสัญญาณผลกระทบต่อกำไรและสภาพคล่องของธุรกิจ ความสามารถในการชำระหนี้ การปรับลดอัตราจ้างงานล่วงเวลา หากเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานๆ อาจส่งผลต่อกำลังซื้อของครัวเรือนที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการส่งออก และส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้

ยิ่งทำกดดันมากขึ้น เมื่อคณะกรรมการค่าจ้าง มีมติปรับขึ้นค่าจ้างทั่วประเทศ 5-6 บาทและมีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 แม้ฝ่ายลูกจ้างมองว่าตัวเลขไม่ได้สูงมากนัก แต่ในภาคประกอบการยังมองว่าเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจที่ใช้แรงงานจำนวนมาก

ณ หลายฝ่ายในวันนี้ ก็ยังมีความเห็นแตกต่างกันว่าผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า ที่มองว่าอาจหลุด 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ กับการปรับขึ้นค่าแรงเป็น 313-336 บาทต่อวัน อะไรน่าห่วงกว่ากัน และน้ำหนักของ 2 ปัจจัยนี้ ส่งผลกระทบกับภาคผลิต ภาคการค้า และเศรษฐกิจประเทศในปี 2563 มากกว่ากัน ซึ่งคงไม่มีใครให้คำตอบได้ดีเท่าผู้ที่อยู่ในแวดวงธุรกิจจริงๆ

⦁ผู้ส่งออกชี้บาทแข็ง-ค่าแรงขึ้น หนักอกพอกัน
วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ในส่วนของการส่งออกให้น้ำหนักไปที่ค่าเงินบาทมากกว่า เพราะในช่วงสองปีที่ผ่านมาแข็งค่าแล้วมากกว่า 17% แต่เรื่องการปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะเป็นเรื่องในระยะยาว ทั้งสองเรื่องสำคัญหมด เพียงแต่ว่ามองต่างมุมกันเท่านั้นเอง เพราะเรื่องค่าแรงหากมีการขยับขึ้นแล้ว ก็จะขยับในทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับค่าแรงขึ้นไปด้วย โดยความแตกต่างอยู่ตรงที่ค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งและมีโอกาสอ่อน ทำให้อยู่ที่ว่าสถานการณ์จะเป็นไปอย่างไรต่อไป แต่แน่นอนสัดส่วนของค่าเงินบาทจะมีน้ำหนักมากสุด ในส่วนของค่าแรงเป็นเรื่องความสามารถในการแข่งขัน ที่ต้องเปรียบเทียบกับประเทศผู้ผลิตที่เป็นคู่แข่งกับประเทศไทยในสินค้าที่มีคล้ายๆ กัน อาทิ ประเทศเพื่อนบ้านที่จะเห็นได้ว่าค่อนข้างจะมาแรงในเรื่องของความสามารถในการแข่งขันที่มีมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นในด้านจำนวนประชากรที่มีวัยแรงงานมากกว่า ทำให้มีทางเลือกกว่า รวมถึงค่าแรงก็ถูกกว่าไทยเยอะมาก

Advertisement

ซึ่งประเทศไทยก็เป็นประเทศที่มีอัตราค่าแรงสูงมากเป็นอันดับต้นๆ ในอาเซียน หากไม่เทียบกับประเทศสิงคโปร์คือ ต้องบอกว่าค่าแรงสูงก็ถือว่าดี แต่มันต้องดีในแง่ของการที่ประเทศไปพร้อมกันได้ ธุรกิจสามารถไปพร้อมกันได้ และเป็นการอัดเกรดทั้งประเทศไปสู่ยุค 4.0 อย่างแท้จริง แต่การเปลี่ยนผ่านตรงนี้ไม่ใช่ว่าจะสามารถทำได้ภายในปีหรือสองปีเพราะการเปลี่ยนผ่านนี้จะต้องใช้ความร่วมมือของคนทั้งประเทศที่มาพร้อมกันทุกด้าน เช่น หากจะมีการปรับค่าแรงก็ต้องดูภาวะเศรษฐกิจ ขีดความสามารถในการแข่งขัน และที่สำคัญต้องดูว่าทุกครั้งที่มีการปรับค่าแรงขึ้น มีการเพิ่มผลผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรมด้วยหรือไม่ เพราะ ความสำคัญอยู่ที่ว่าจะต้องไม่มีใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับภาระอยู่ฝ่ายเดียว เนื่องจากหากไปไม่รอดสุดท้ายก็ต้องเลิกกิจการไป ซึ่งหากสมมุติว่าทุกอย่างถูกพัฒนาขึ้นไปพร้อมพร้อมกันทั้งประเทศก็จะเดินหน้าต่อสามารถไปได้

“ความสำคัญอยู่ที่การเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยกันทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคแรงงาน เกษตรกรรมและเกษตรกร ซึ่งหากทุกอันสามารถมุ่งไปในทิศทางเดียวกันได้ โดยต่างฝ่ายต่างก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องกัน ก็จะเป็นการก้าวข้ามจุดเปลี่ยนผ่านไปได้โดยที่ไม่มีใครเจ็บตัว”

⦁แนะทางรอด3ระยะวอนรัฐต้องชัดเจน
รองประธาน สรท.ระบุต่อว่า การเอาตัวรอดของผู้ประกอบการภายใต้ภาวะเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เบื้องต้นมี 3 ระยะ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยระยะสั้นแน่นอนว่าผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวให้ได้เร็วที่สุด ในเรื่องของการพัฒนาแรงงานที่ตัวเองมี ให้สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้น ภายใต้ต้นทุนที่ไม่ได้สูงกว่าเดิมมากเกินไป ส่วนระยะกลางคือ การจะต้องจัดอบรบ หรือฝึกฝนให้มีการเพิ่มทักษะของแรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการในยุคปัจจุบัน ซึ่งถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปสู่การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สูงขึ้น ส่วนระยะยาวเป็นเรื่องของภาครัฐเต็มๆ โดยภาครัฐจะต้องมีวิสัยทัศน์อย่างชัดเจนว่า จากนี้ไปประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านไปสู่การพัฒนาให้เป็นประเทศผู้มีรายได้สูง จะต้องทำอย่างไรบ้าง ไม่ใช่แค่การที่เชิญชวนให้เกิดการลงทุนจากต่างชาติเพียงอย่างเดียว แต่คนในประเทศไทยเองจะต้องพัฒนาและขยับขึ้นมาให้ได้ทุกส่วน และทุกด้านพร้อมกัน ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการอย่างเดียว เพราะแรงงานเองก็จะต้องมีการเพิ่มทักษะ และพร้อมเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้หากมีการปรับเปลี่ยนนำเข้าเครื่องจักรหรือระบบในเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา แรงงานก็จะต้องสามารถเข้าไปแทนที่ตรงนั้นได้ในทันที

Advertisement

⦁เหตุ‘ศก.ซบ-ขายได้น้อย’ ลังเลเพิ่มลงทุน
ขณะนี้ยอมรับว่ามีปัญหาในส่วนของภาคเอกชนที่ไม่มีการลงทุนเพิ่มเติม ในเรื่องของเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีต่างๆ เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจในตอนนี้ที่ยังไม่เอื้ออำนวย เพราะยังมีปัญหาในหลายปัจจัย เกิดวิกฤตขึ้นในหลายประเทศ รวมทั้งอนาคตก็ยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่ๆ ที่สร้างความหวังให้กับภาคเอกชนได้ ทำให้หากภาคเอกชนลงทุนนำเข้าเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ในภาคการผลิตเพิ่มเติม เราก็จะมีปัญหาตรงการขายหรือการทำการตลาด เพราะไม่รู้ว่าจะนำสินค้าไปขายให้ใคร ในเมื่อของขายไม่ดีแต่เราสามารถผลิตสินค้าได้มากชิ้นเพิ่มขึ้น ซึ่งก็เป็นจุดที่ผู้ประกอบการจะต้องตัดสินใจว่า จะลงทุนเพิ่มหรือไม่ในภาวะที่ค่าเงินบาทแข็งค่า ทำให้สามารถซื้อของได้มีคุณภาพดีและราคาที่ถูกลงกว่าในอดีตมาก โดยจะทำอะไรก็ต้องตัดสินใจ เพราะหากมัวแต่ยื้อเพื่อประเมินสถานการณ์ไปเรื่อยๆ หากสถานการณ์เลวร้ายลงมากกว่านี้ อาจจะทำให้ผู้ประกอบได้รับผลกระทบมากกว่าเดิม จนถึงขั้นต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจ หรือปิดกิจการเลยก็ได้

⦁กังวลทำเงินไหลดันบาทแข็งหนัก
“การประมาณการทิศทางค่าเงินบาท ต้องบอกว่าคาดเดาได้ยากมาก เพราะสามารถปรับเปลี่ยนได้ทั้งแข็งค่าขึ้นหรืออ่อนค่าลง แต่อย่างไรก็ตาม ในภาพของนโยบายการเงินระหว่างประเทศของประเทศมหาอำนาจทั้งหลาย เริ่มมีแนวโน้มที่จะกลับมาใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ผ่านมาได้ใช้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว ทำให้มีโอกาสที่จะทำมาตรการคิวอีอีกครั้ง ซึ่งก็มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ ผ่านนโยบายทางการเงินรูปแบบหนึ่ง โดยหลักการคือ จะเป็นการนำเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ด้วยการที่รัฐบาลจะเข้าไปซื้อสินทรัพย์ของสถาบันการเงิน และจะให้สถาบันทางการเงินปล่อยกู้ให้กับภาคเอกชนต่อไป เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนในประเทศมีการใช้จ่ายมากขึ้น แต่เมื่อประเทศเหล่านั้นมีนโยบายในลักษณะนี้ ก็อาจจะส่งผลทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากขึ้น เพราะมีโอกาสที่เงินทุนจากต่างชาติจะไหลเข้ามาในตลาดทุนไทยมากขึ้นซึ่งมาตรการคิวอีหากเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่เป็นประเทศมหาอำนาจก็สามารถใช้มาตรการนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ในประเทศเล็กๆ ที่ค่าเงินไม่ได้เป็นที่นิยมมากนัก หากจะทำมาตรการคิวอีอาจจะไม่ได้ผล ทำให้ต้องหาสินทรัพย์ พันธบัตรหรือหลักทรัพย์ต่างๆ มาวางเป็นหลักประกัน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือแทน แต่ในความเป็นมหาอำนาจแล้วไม่จำเป็นต้องใช้ ซึ่งข้อแตกต่างของประเทศใหญ่ในประเทศเล็กอยู่ตรงส่วนนี้ ทำให้โอกาสที่ประเทศไทยจะใช้มาตรการคิวอีเป็นไปได้ยาก” คุณวิศิษฐ์ระบุในตอนท้ายว่า

⦁ผู้ผลิตวิตก‘ไม่ใช่เวลาขึ้นค่าแรง’
ด้านภาคผลิต เกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า น้ำหนักที่ 1 คือ ค่าเงิน เพราะค่าเงินบาทขึ้นมาตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจับ 7% กว่าแล้ว ทำให้มูลค่าการส่งออกลดลง ทั้งที่ไทยพึ่งพารายได้ส่วนใหญ่มาจากภาคการส่งออก ซึ่งการแข็งค่าของค่าเงินที่ปรับขึ้นมาเยอะ ก็ทำให้สินค้าของไทยแพงขึ้น แข่งขันได้ยากขึ้น และมีกำไรลดลง โดยการปรับขึ้นค่าแรงที่จะเริ่มมีผลในช่วงเดือนมกราคม 2563 ก็มีผลกระทบต่อภาคผลิตเหมือนกัน เพราะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะสินค้าหรืออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น อาทิ สินค้าเกษตรแปรรูป อาหารแช่แข็ง สิ่งทอ งานฝีมือต่างๆ ส่วนอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ใช้แรงงานเข้มข้นอาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์ ปิโตรเคมี โทรคมนาคม ก็ถือว่ายังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก จึงยังมีโอกาสอยู่ได้สูง แต่หากบังเอิญว่าอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ใช้แรงงานเข้มข้น ได้รับผลกระทบจากเรื่องค่าเงินบาทแข็งอยู่แล้ว ก็จะถือว่ามีผลกระทบเพิ่มในด้านการขึ้นค่าแรง ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ประกอบการจริงๆ

การแข็งค่าของค่าเงินบาท มีผลกระทบกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้กว่า 77% ของจีดีพีรวม จึงเป็นรายได้ที่สำคัญของประเทศไทย และพึ่งพาหรือเกี่ยวข้องกับตลาดต่างประเทศทั้งสิ้น ทำให้การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในทุกๆ สตางค์ จะส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง หมายความว่าราคาสินค้าของไทยจะแพงเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่ผลิตสินค้าขายในประเภทเดียวกัน รวมถึงในบางอุตสาหกรรมก็จะทำให้ผู้ประกอบการขาดทุน เพราะไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้ ทั้งที่ต้นทุนพุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการเหล่านั้นต้องลดกำลังการผลิต รวมถึงการเลิกจ้างแรงงาน เพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ ในส่วนของภาคการท่องเที่ยว ที่จะเห็นได้ว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับค่าเงินของต่างประเทศที่ปรับตัวอ่อนค่าลง โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวหลักของประเทศไทยที่หากเทียบค่าเงินบาทกับสกุลดอลลาร์สหรัฐ บาทจะแข็งกว่า 7% บวกลบเล็กน้อย แต่หากเทียบบาทกับสกุลเงินหยวน บาทจะแข็งกว่าเกือบ 10% ในขณะเดียวกันตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 ประเทศจีนเจอปัญหา สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน (เทรดวอร์) ทำให้คนจีนระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น เมื่อนำมารวมกับการที่ค่าเงินบาทแข็งมาก ก็เกิดการที่คนจีนหันไปท่องเที่ยวในประเทศอื่นๆ ที่ค่าเงินไม่ได้แพงมากเท่าไทยแทน

“ค่าแรงที่ปรับขึ้น ความเป็นจริงแล้วผู้ประกอบการก็เห็นใจแรงงาน ที่มีความต้องการและจำเป็นต้องมีค่าแรงเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น แต่ดูจะยังมาไม่ถูกเวลา เพราะแม้ตัวเลขการขึ้นค่าแรง 5-6 บาทดูจะไม่ได้เพิ่มมากนัก แต่ในบางอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานในปริมาณมากๆ อาทิ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อาหารแช่แข็ง รวมถึงค้าปลีก และภาคบริการต่างๆจะได้รับผลกระทบหนักตามๆ กันไป แต่ในอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ใช้แรงงานเข้มข้น แต่ใช้เครื่องจักรหรือเทคโนโลยีในภาคการผลิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่มีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์ ปิโตรเคมี ก็ได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างน้อย ซึ่งแม้จะมีผลกระทบบ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายมากนัก”

⦁แนะรัฐเร่งหาตลาดใหม่-เพิ่มยอดเที่ยว
ในเรื่องค่าเงินบาท ภาคเอกชนเองคงต้องเตรียมรับมือได้อย่างเดียว เพราะคงไม่สามารถเข้าไปทำอะไรได้มาก โดยระยะสั้นจะต้องเร่งหาตลาดใหม่ เพื่อทดแทนตลาดเดิมที่มียอดส่งออกลดลง รวมถึงภาครัฐเองก็จะต้องช่วยในการเร่งเจรจาการค้าในกรอบต่างๆ ให้แล้วเสร็จเร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอียู อังกฤษ หรือในประเทศที่คั่งค้างอยู่ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการส่งออกให้กับผู้ประกอบการไทย นอกจากนี้ ยังได้เสนอให้ภาครัฐใช้นโยบายเมดอินไทยแลนด์ เพื่อลดสัดส่วนในการพึ่งพาการส่งออก จากเดิมที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกและท่องเที่ยว 77% ก็ปรับเปลี่ยนเหลือ 50% ในอีก 10 หรือ 20 ปีในอนาคต โดยภาครัฐจะต้องสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้สินค้าและวัตถุดิบที่มาจากโรงงานในกระเทศแทน เพื่อลดผลกระทบในเวลาที่ตัวเลขการส่งออกลดลง ปัญหาอีกเรื่องคือ การที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในประเทศไทย เป็นผู้รับจ้างผลิตสินค้าให้กับบริษัทที่จะไปขายในแบรนด์ของตัวเอง ทำให้ผู้ประกอบการไทยส่วนมากไม่มีแบรนด์เป็นของตัวเอง เหมือนกับประเทศใหญ่ อาทิ เกาหลี จีน ญี่ปุ่น ซึ่งเรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ก็คือเมื่อมีการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เข้มแข็ง เหมือนกับประเทศอื่นๆ ที่เริ่มต้นก่อนเราไปมากแล้ว เพื่อให้ในระยะยาว ไทยสามารถพึ่งพาการส่งออกสินค้าในแบรนด์ของตัวเองมากขึ้น

⦁หวังรัฐดูแลสภาพคล่องธุรกิจ
ในปี 2563 ผู้ประกอบการส่งออกสินค้าไทย จะต้องติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดโดยต้องระมัดระวังในการประกันความเสี่ยงของค่าเงินอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเฝ้าระวังในเรื่องกระแสเงินสด ว่าจะทำอย่างไรให้กระแสเงินสดมีมากเพียงพอที่ธุรกิจจะอยู่ได้ เนื่องจากคาดการณ์ว่าปี 2563 ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจะระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการจะต้องพยายามรักษาสภาพคล่องของตัวเอง รวมถึงจะต้องปรับตัวให้ทันกับยุคของการเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี โดยจะต้องปรับเปลี่ยนให้เข้าถึงการใช้ประโยชน์ของสิ่งใหม่ เพื่อเสริมศักยภาพในขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการ และปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจให้สอดคล้องไปกับยุคเทคโนโลยีดิสรัปชั่น

จะเห็นได้ว่าภาคเอกชนให้น้ำหนักไปที่ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องสูงมาก เพราะส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ส่งผลให้สู้กับคู่แข่งได้ยาก โดยเฉพาะในสินค้าที่มีความคล้ายคลึงกัน อาทิ สินค้าเกษตร อย่างข้าวที่ไทยส่งออกในราคาสูงมาก แต่ไม่ได้มีการรับรองในเรื่องของคุณภาพ เมื่อเทียบกับข้าวของประเทศเพื่อนบ้านที่มีรางวัลการันตีในคุณภาพ แต่ขายในราคาที่ถูกกว่าไทยเกือบเท่าตัว รวมถึงสินค้าอื่นๆ ที่ไทยส่งออกได้น้อยลง เพราะสู้ในเรื่องของราคากับสินค้าประเภทเดียวกันของเพื่อนบ้านไม่ไหว ในขณะที่ไทยขายของได้น้อยลง เพื่อนบ้านก็ขายของได้มากขึ้น เพราะได้เปรียบทั้งราคาและคุณภาพสินค้าในบางประเภท ซึ่งหากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป ไทยก็จะเสียตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้อนาคตการส่งออกจะลดลงมากขึ้น และกระทบกับเศรษฐกิจในประเทศสูงมาก เพราะอย่างที่บอกว่าไทยเป็นประเทศที่พึ่งพารายได้ส่วนใหญ่มาจากภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยวรวมกันในสัดส่วนกว่า 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือจีดีพี

⦁ธุรกิจห่วงติดหล่มการเมือง
แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการค้าปลีก ได้ออกมาแสดงความวิตกต่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง บนถนนกลางเมืองกรุง ใกล้แหล่งธุรกิจและสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม ว่าจะลุกลามกลายเป็นปัจจัยกดดันแรงกว่า และแซงหน้าปัญหาบาทแข็งค่าและปรับค่าแรงในปีหน้า เพราะห่วงวิตกต่ออารมณ์การจับจ่ายใช้สอย เมื่อขายลดลง ก็ต้องลดการผลิต

จากเสียงสะท้อนผู้ประกอบการสายตรงทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออก แม้ให้น้ำหนักไปค่าเงินบาทในวันนี้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าลึกๆ แล้ว การปรับขึ้นค่าแรงจะสร้างภาระในระยะยาวไม่น้อยกว่ากันและการเคลื่อนไหวทางการเมือง ถือเป็น 3 ปัจจัย ที่รัฐบาลต้องเตรียมรับผลกระทบที่จะรุนแรงขึ้นอีกในปี 2563 และเพิ่มความร่วมมือกันเพื่อให้ก้าวผ่านวิกฤตเศรษฐกิจไปให้ได้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image