ส่องเฟืองขับเคลื่อน ศก.ปีหนู ท่ามกลางปัจจัยรุมเร้าใน-นอก ช่วยจีดีพีโต หรือ ได้เวลาเผาจริง!

ผ่านปีหมูทองมาแบบไม่ผ่องใสเท่าที่ควร เข้าสู่ปีหนู ที่ประเมินว่าจะเป็นหนูไฟ เพราะมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่ตามมาจากปี 2562 โดยเฉพาะเศรษฐกิจชะลอตัว ค่าเงินบาทแข็ง สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยังไม่คลี่คลาย รวมถึงปัจจัยการเมืองไทย ที่คาดว่าจะเริ่มร้อนแรงมากขึ้นรวมทั้งเหตุการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับอิหร่านก็ตามมาอีก หลังจากที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ มีคำสั่งฆ่า นายพลคาเซม โซไลมานี ผู้บัญชาการกองทัพพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่านที่ดูแลกิจการทหารในต่างประเทศ ส่งผลให้ทั้งภูมิภาคตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามตามมา

จากปัจจัยเหล่านี้ทำให้มีความกังวลว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปีนี้จะเป็นไปในทิศทางใด แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา 3 หน่วยงานภาครัฐ ได้คาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไว้ ซึ่งดูเหมือนจะต่ำกว่าศักยภาพของระบบเศรษฐกิจที่ควรจะเป็น

⦁คาดแนวโน้มปีนี้โตต่ำสุดในรอบ5-6ปี
โดยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่าจีดีพีปีนี้น่าจะอยู่ที่ 2.8% ส่วนปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 2.5% ขณะที่สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์จีดีพีไว้ว่าปีนี้จะโต 3.2% ปีที่ผ่านมา 2.6% ส่วนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินจีดีพีปีนี้ไว้ที่ 3.3% ปีที่ผ่านมา 2.8% โดย สศค.ประเมินสูงกว่าหน่วยงานอื่นเพราะเป็นตัวเลขเมื่อเดือนตุลาคม แต่เชื่อว่าในเดือนมกราคมซึ่งเป็นรอบของการปรับใหม่ของ สศค. คาดว่าจะปรับลดตัวเลขคาดการณ์ลงเหลือไม่เกิน 3% สอดคล้องกับ ธปท.และ สศช.

และในส่วนของภาคเอกชนในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประเมินจีดีพีเมื่อเดือนธันวาคมว่าในปี 2562 อยู่ในกรอบ 2.7-3.0% และในวันที่ 8 มกราคมนี้ คณะกรรมการ กกร.นัดประชุมเพื่อประเมินตัวเลขภาพรวมของปีนี้และปีที่ผ่านมาใหม่ เนื่องจากเห็นว่ามีความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าที่ยืดเยื้อ เงินบาทที่แข็งค่า ความตึงเครียดระหว่างอิหร่านและสหรัฐ ดังนั้นเชื่อว่าตัวเลขใหม่น่าจะต่ำกว่าเดิม

Advertisement

ส่วนตัวเลขจีดีพีของปี 2562 คงต้องรอให้ สศช.ประกาศอย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งหลายฝ่ายมองตรงกันว่าอาจจะไม่เกิน 2.5% ลดลงจากปี 2561 ที่โต 4.1%

และจากตัวเลขคาดการณ์ที่ออกมาล่าสุดมีแนวโน้มจีดีพีปี 2563 และปี 2562 โตต่ำสุดในรอบ 5-6 ปี!

⦁คาดบาทอาจหลุดกรอบ29บาท/ดอลล์
สำหรับทิศทางค่าเงินบาทในปี 2563 ธปท.และสำนักวิเคราะห์ต่างๆ ประเมินว่าค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวสองทิศทาง คือทั้งแข็งค่าหรืออ่อนค่าก็ได้เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐจากกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย หลังจากที่ปิดสิ้นปี 2562 ที่ระดับ 29.92 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นถึง 8.61% จากช่วงต้นปี เป็นการแข็งค่ามากที่สุดในรอบปีและรอบ 6 ปี 9 เดือน และแข็งค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับสกุลอื่นในเอเชียและแข็งค่ามากที่สุดเป็นที่ 4 โลก โดยปีนี้มีปัจจัยที่ต้องติดตามตลอดทั้งปี ได้แก่ สถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐและจีน ความคืบหน้าการเจรจาการค้า ความชัดเจนเบร็กซิท การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เงินดอลลาร์สหรัฐที่มีทิศทางอ่อนค่าลงจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และการทำนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ ขณะที่ในประเทศ ต้องติดตามการผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ออกมาบังคับ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่อยู่ในระดับสูง การสรรหาผู้ว่าการ ธปท. เป็นต้น

มุมมองค่าเงินจาก จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า ค่าเงินบาทปี 2563 จะยังแข็งค่าต่อแต่การแข็งค่าลดลงหากเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยในช่วงครึ่งปีแรกอาจจะมีการปรับพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ และรอการลงนามการเจรจาสงครามการค้าเฟสแรก ค่าเงินบาทมีโอกาสที่จะอ่อนค่าขึ้นไปได้ แต่การเลือกตั้งสหรัฐเป็นประเด็นที่อ่อนไหวที่สุด โดยการสรรหาผู้ลงสมัครประธานาธิบดีสหรัฐจะชัดเจนในครึ่งปีแรก ในช่วงครึ่งปีหลังต้องติดตาม เพราะหากพิจารณาการเลือกตั้งในอดีตมักเป็นปีที่เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักราว 3.4% แต่ครั้งนี้จะอาจต่างออกไปขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้ง ซึ่งตั้งแต่ไตรมาสสามไปจนถึงสิ้นปีน่าจะเห็นเงินทุนไหลออกจากสหรัฐอย่างชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงทั้งปี 5-10% เทียบกับสกุลเงินหลักเช่นเยนและยูโร และเงินบาทจะแข็งค่าตามราว 5% ไปที่ระดับ 28.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการผู้บริหารกลุ่มวิจัยและวิเคราะห์ตลาดการเงิน ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ให้ความเห็นว่า กรอบค่าเงินบาทจะค่อนข้างกว้างอยู่ที่ 29.25-31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากการเคลื่อนไหวสองทิศทางและยังมีความผันผวน อย่างไรก็ตาม คาดปิดสิ้นปีที่ 29.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ด้าน กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย คาดว่า ค่าเงินบาทจะยังแข็งค่าจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดลง 2 ครั้ง และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่คาดอยู่ที่ 3.15 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ช่วงครึ่งปีแรกค่าเงินบาทจะแข็งค่าที่ 29.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และสิ้นปีอยู่ที่ 29.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ด้านดอกเบี้ยนโยบายการเงิน ปัจจุบันอยู่ที่ 1.25% ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในประวัติการณ์ โดยในปี 2562 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของ ธปท. ได้ติดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงโดยเสียงไม่เป็นเอกฉันท์ที่ 5 ต่อ 2 เสียง เหมือนกันทั้ง 2 ครั้ง จากระดับ 1.75% ปรับลดลงครั้งละ 0.25% โดยครั้งแรกในการประชุม กนง. ครั้งที่ 5/2562 ในเดือนสิงหาคม และครั้งที่ 2 ในการประชุมครั้งที่ 7/2562 ในเดือนพฤศจิกายน จากการประชุมทั้งปี 8 ครั้ง ซึ่ง กนง.ยอมรับว่าเป็นการลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และหวังผลลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทด้วย

⦁คาดกนง.อาจลดดอกเบี้ยนโยบายอีกรอบ
ปีนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า กนง.มีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.25% หรือหากจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะปรับลดลงเพียงเล็กน้อยเพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำจะไม่ค่อยเห็นประสิทธิภาพมากนัก โดยหาก กนง.จะลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก เชื่อว่าน่าจะลดเพียง 1 ครั้ง ที่ 0.25% ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ต่ำที่สุดในประวัติการณ์อีกครั้งที่ระดับ 1.00%

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.25% ตลอดทั้งปีทาง ธปท.อาจติดตามการส่งผ่านของมาตรการลดดอกเบี้ยสู่ตลาดการเงินก่อนตัดสินใจลดดอกเบี้ยอีกครั้งในอนาคต นอกจากนี้ สภาพคล่องในระบบที่สูงจากสินเชื่อภาคธุรกิจที่ขยายตัวช้า โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ส่วนสินเชื่อเพื่อการบริโภคก็ชะลอลงจากทั้งมาตรการคุมเข้มสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและจากความกังวลของธนาคารพาณิชย์ต่อหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ตลาดการเงินไทยยังไม่ได้ตกอยู่ในภาวะสภาพคล่องตึงตัวจนต้องลดดอกเบี้ยเพิ่ม ในทางตรงข้าม เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความท้าทายด้านเสถียรภาพจากสภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ส่งผลให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงโดยอาจไม่ได้ประเมินความเสี่ยงอย่างรอบคอบ

กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส อีโคโนมิคแอนด์ ไฟแนนเชียล มาร์เก็ต รีเสิร์ช ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องที่ 1.25% เพราะความเสี่ยงด้านต่ำในต่างประเทศที่ปรับลดลงจากการเจรจาสงครามการค้าเฟสแรกที่กำลังจะมีการลงนามและความเสี่ยงโนดีลเบร็กซิทลดลง และ กนง.ต้องการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (โพลิซีสเปซ) เพื่อรองรับความเสี่ยงในระยะต่อไป อย่างไรก็ดี มีโอกาส 40% ที่ กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้งในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 หากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและคุณภาพสินเชื่ออ่อนแอกว่าที่คาด รวมถึงความเสี่ยงการกลับมาแข็งค่าของเงินบาท

ขณะที่ นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารทหารไทย มองว่า กนง.จะรอติดตามตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปี 2562 และทั้งปี 2562 ก่อน รวมทั้งติดตามสถานการณ์ต่างประเทศ คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบแรกของปี 2563 เดือนกุมภาพันธ์ แต่หากตัวเลขเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้นและการส่งออกยังชะลอตัวลงต่อเนื่อง เชื่อว่าจะเห็น กนง.ตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมครั้งที่สองของปีในเดือนมีนาคม ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ 1.00%

⦁หอการค้าคาดส่งออกปีนี้อาจติดลบ3%
ด้าน สนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การส่งออกในปี 2563 คาดว่าจะเติบโตเทียบเท่ากับปี 2562 ที่ติดลบ 3% ส่งผลให้เงินหายไปจากระบบเศรษฐกิจกว่า 10% แต่ในเบื้องต้นรัฐบาลได้ตั้งเป้าการส่งออกปีนี้ไว้ที่ 3% ซึ่งในวันที่29 มกราคม 2563 ภาคเอกชนจะประชุมเพื่อหาข้อสรุปอีกครั้ง ก่อนที่จะหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ถึงความเป็นไปได้ของตัวเลขการคาดการณ์ในปีนี้ พร้อมทั้งจะมีการเสนอแนะให้ทูตพาณิชย์ของแต่ละประเทศ

จากการตั้งเป้าหมายตัวเลขการส่งออกดังกล่าวเชื่อว่าในปีนี้ รัฐบาลสามารถขับเคลื่อนประเทศไปถึงจุดนั้นได้ แต่ต้องฝ่าฟันกับอุปสรรคค่าเงินบาทที่ขณะนี้หลุดมาอยู่ที่ 29.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแล้ว จึงอยากให้รัฐบาลเข้าไปหารือกับ ธปท.อีกครั้ง เพื่อขอให้ดูแลไม่ให้แข็งค่าไปมากกว่านี้ รวมถึงยังมีปัจจัยที่ต้องระวัง อาทิ ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุนยังคงอยู่ในระดับต่ำ, สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ที่มีท่าทีว่าจะคลี่คลายในช่วงนี้ เนื่องจากสหรัฐกำลังจะมีการเลือกตั้งจึงต้องพักเรื่องของการภาษีการนำเข้าจากจีนไว้ก่อน แต่ยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เป็นต้น ส่วนปัจจัยบวกที่จะทำให้การส่งออกฟื้นตัวขึ้น อาทิ ทูน่าและยางพารา เป็นต้น โดยคาดว่าในปีนี้จะมีโรงงานผลิตล้อยางเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย ส่งผลให้มีการใช้ยางพาราในประเทศมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ราคายางพาราฟื้นตัวดีขึ้น นอกจากนี้การท่องเที่ยวจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวกที่สำคัญที่จะผลักดันตัวเลขเศรษฐกิจได้ โดยคาดการณ์วาจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยไม่น้อยกว่า 41-42 ล้านคน

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ แม้จะยังไม่ฟันธงอย่างเป็นทางการถึงเป้าหมายตัวเลขส่งออก แต่ก็จับสัญญาณได้ว่า หากต้องการส่งออกให้ถึง 3% ตาม ครม.เศรษฐกิจกำหนดไว้ให้ส่งออกให้ได้เฉลี่ย 21,800 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน บวกกับแผนการโรดโชว์ ของ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กว่า 18 ประเทศเชื่อว่าการส่งออกในปีนี้น่าจะกลับมาเป็นบวกได้

⦁ตลาดหุ้นไทยดูยังเผชิญปัจจัยเสี่ยง
จากสถานการณ์ต่างที่กล่าวมาข้างต้นทำให้ตลาดหุ้นไทยต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยในเรื่องนี้ วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โกลเบล็ก จำกัด มองว่าปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญคือการเมืองในประเทศ ที่เริ่มกลับมามีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล การพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 การวินิจฉัยคดียุบพรรคอนาคตใหม่ และคะแนนเสียงของฝ่ายรัฐบาล เพราะมีผลต่อทิศทางตลาดหุ้นไทย โดยคาดว่าปีนี้ดัชนีหุ้นไทยจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,599-1,827 จุด โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศไทยปี 2563 ที่ขยายตัวดีขึ้นจากฐานที่ต่ำในปี 2562 รวมถึงสงครามการค้าที่สามารถเจรจากันได้ แม้จะยังไม่คลี่คลายก็ตาม

ส่วนบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย มองว่า หุ้นไทยปี 2563 ยังมีปัจจัยเชิงบวกอยู่ ได้แก่ 1.ตลาดรับรู้ปัจจัยในด้านลบไปค่อนข้างมากแล้ว 2.อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ระดับพีอีของตลาดสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตได้ และ 3.การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐจะมีส่วนสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ได้ โดยหากสถานการณ์สงครามการค้าคลายตัวได้มากขึ้น มองว่าหุ้นไทยมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นแตะระดับ 1,700 จุดได้ แต่หากสงครามการค้ายังเป็นไปในทิศทางที่แย่ลง หุ้นไทยน่าจะปรับตัวลดระดับลงมาอยู่ที่ระดับ 1,500 จุดได้

วิจิตร อารยะพิศิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) มองว่ากรณีพิพาทระหว่างสหรัฐและอิหร่านมีโอกาสที่จะยืดเยื้อได้สูง โดยจากนี้ต้องจับตาดูท่าทีการตอบโต้ของอิหร่านว่าจะตอบโต้ที่รุนแรงมากน้อยเท่าใด ซึ่งจะส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก

⦁ทองคำยังเป็นทรัพย์สินปลอดภัย
ในช่วงปี 2562 ถือว่าเป็นปีแห่งทอง เนื่องจากราคาทองคำปรับขึ้นแล้วเกือบ 2,000 บาท โดยเฉพาะในช่วงเดือนธันวาคมเพียงเดือนเดียวนั้นราคาทองคำปรับขึ้นกว่า 800 บาท ทำให้ในปี 2563 ทองคำน่าจะเป็นทรัพย์สินปลอดภัย ที่สามารถสร้างผลกำไรได้อยู่ โดยเฉพาะหลังจากที่สหรัฐมีข้อพิพาทกับอิหร่าน ยิ่งสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนทั่วโลก จึงดันให้ราคาทองคำปรับขึ้นต่อ

โดย ศิริลักษณ์ ปโกฏิประภา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทฮั่ว เซ่งเฮง โกลด์ฟิวเจอร์ส มองว่า ราคาทองคำอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยจะมีแรงซื้อทองคำจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตั้งแต่ก่อนปีใหม่ จนกระทั่งเทศกาลตรุษจีน เนื่องจากเป็นฤดูกาลแห่งการมอบของขวัญ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนในเรื่องต่างๆ ทำให้ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สอดคล้องกับบริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่มองว่า ราคาทองคำยังคงปรับตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง แต่อาจมีแรงขายสลับออกมาให้เห็นบ้างเพียงเล็กน้อย แสดงให้เห็นถึงโมเมนตัมเชิงบวกในระยะสั้นที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากปริมาณการซื้อขายมีความเบาบางลง ทำให้มีความผันผวนเพิ่มขึ้นได้บ้าง โดยเบื้องต้นประเมินแนวรับที่ระดับ 1,497-1,500 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,519-1,525 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์

จากปัจจัยต่างๆ ข้างต้น บวกกับรัฐบาลมีความตั้งใจในการขับเคลื่อนประเทศ และหากมีการอัดฉีดงบประมาณเข้าไปในถูกจุดมากขึ้น จะส่งผลให้เศรษฐกิจช่วงครึ่งปีแรกอาจโตได้ 2.6-2.7% ส่วนครึ่งปีหลังจะเติบโต 3% และคาดการณ์ว่าตลอดทั้งปีค่ากลางการเติบโตจะอยู่ที่ 3.1% ซึ่งจะขยายตัวมากกว่าในปี 2562
เมื่อสถานการณ์ต่างๆ เป็นเช่นนี้ ดังนั้นในปีนี้ภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องร่วมมือกันอย่างแข็งขันเพื่อขับเคลื่อนประเทศ และผลักดันให้จีดีพีเติบโตที่ 3-3.5%

อย่ามัวแต่งัดแข้งงัดขา หรือแบ่งแยกกันทำงานแบบตัวใครตัวมันพรรคใครพรรคมัน ไม่เช่นนั้นเราอาจเห็นจีดีพีหลุดกรอบ เป็นปีเผาจริงอย่างที่หลายฝ่ายกังวล!

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image