เกาะติดวิกฤตแล้ง ปี”63 วาระชาติวัดฝีมือ รบ.ตู่ แก้ไม่ได้…สะเทือน ศก.ไทยแน่

จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เริ่มทวีความรุนแรงตั้งแต่ยังไม่สิ้นปี 2562 และมีแนวโน้มขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ศูนย์พยากรณ์หลายสำนัก ออกมาฟันธงว่าฤดูแล้งปี 2563 อาจจะรุนแรงและยาวนานไปถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งจากข้อมูลสถิติภัยแล้ง ที่กรมอุตุนิยมวิทยาบันทึกไว้ พบว่าปี 2562 มีปริมาณฝนน้อยที่สุด และแล้งมากที่สุดในรอบ 40 ปี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2522

งานนี้รัฐบาลจึงตกเป็นจำเลยไปโดยปริยาย จากการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำ ที่เป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต และเป็นหัวใจหลักของภาคอุตสาหกรรมในประเทศ จึงทำให้หลายฝ่ายมองว่ารัฐบาลทำงานแบบผักชีโรยหน้า ไม่มีการแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาว ดูได้จากจำนวนน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ที่พบว่ามีน้ำน้อยกว่า 30% หลายแห่ง นำมาสู่ความกังวลของภาคเอกชน และนักลงทุน ที่เกรงว่าในปีนี้น้ำอาจจะไม่เพียงพอต่อภาคการผลิต โดยเฉพาะภาคการเกษตร

แล้งทำสูญเงินภาค ศก.หมื่นล้านบาท

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้า เป็นศูนย์แรกๆ ที่ออกมาประเมินความเสียหายจากภัยแล้ง โดยคาดว่าจะรุนแรงเทียบเท่ากับปี 2558-2559 ส่งผลให้ประชาชนมีความกังวลไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย คาดว่าในช่วงฤดูแล้ง จะทำให้สูญเสียเม็ดเงินกว่า 8,000-10,000 ล้านบาท หรือกระทบต่อจีดีพี 0.03%

Advertisement

เกษตรกรแบกหนี้ครัวเรือน

ขณะที่มุมมองของ ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรืออีไอซี มองว่า อุปสงค์ในประเทศของภาคเอกชน มีแนวโน้มขยายตัวได้เล็กน้อย แม้ว่าภาคส่งออกจะมีโอกาสฟื้นตัวแต่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังมีทิศทางชะลอตัวต่อเนื่อง จากหลายปัจจัยกดดันไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดต่ำต่อเนื่อง รายได้ของภาคเกษตรที่เริ่มหดตัว คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ส่งผลให้เกิดหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือนโดยเฉพาะในหมวดสินค้าคงทน อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าและเฟอร์นิเจอร์

หากพิจารณาในเรื่องผลกระทบอย่างถี่ถ้วน พบว่าภาคที่เสี่ยงในการขาดแคลนน้ำที่สุด คือ ภาคกลาง จะได้รับผลกระทบจากจำนวนน้ำที่มีใช้อย่างจำกัด ไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำมาก โดยเฉพาะข้าวและอ้อย ส่งผลให้ในระยะต่อไปราคาสินค้าทางการเกษตรจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ตามปริมาณที่ลดลง มีผลต่อการส่งออกฉุดให้ปีนี้มีโอกาสติดลบไม่ต่างจากปีที่ผ่านมา

Advertisement

เรื่องแล้งถือว่าเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม มองว่ารัฐบาลควรต้องดำเนินการช่วยเหลือโดยด่วน

หอการค้าแนะรัฐเร่งดูแล

นอกจากปัจจัยค่าเงินบาท ที่เป็นผลกระทบใหญ่ของเศรษฐกิจในประเทศแล้ว เรื่องที่รองลงมาคงหนีไม่พ้นปัญหาภัยแล้ง เช่นเดียวกับ สนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยว่า ถึงแม้ว่าสถานการณ์ภัยแล้งในขณะนี้ยังไม่รุนแรงมากนัก แต่ทางภาครัฐต้องเร่งแก้ไข แม้ตอนนี้ยังไม่มีการประกาศเพิ่มระดับความรุนแรงของภัยแล้ง แต่ต้องเร่งยับยั้งไม่ให้บานปลายไปมากกว่านี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศไว้ เนื่องจากกังวลว่าหากภัยแล้งยืดเยื้ออาจจะกระทบต่อจำนวนสินค้าทำให้เกษตรกรขาดรายได้จากในประเทศ และส่งออกไปต่างประเทศ

โบรกเล็งจับตาสถานการณ์ใกล้ชิด

มุมของนักลงทุนอย่าง บริษัท หลักทรัพย์ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า สถานการณ์ภัยแล้งเป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตามอง ถึงแม้จะเป็นความเสี่ยงในช่วงสั้นๆ แต่ค่อนข้างน่ากังวล คาดร้ายแรงในระดับเดียวกับปี 2558 หรืออาจแย่เทียบเท่าปี 2548 ผลกระทบสำคัญได้แก่ ที่มีต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ในทางตรงไม่มาก เพราะจีดีพีภาคเกษตรคิดเป็นสัดส่วนเพียง 6% ของจีดีพีรวม แต่พื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตที่ลดลงกระทบต่อกำลังซื้อ ขณะเดียวกันจะกระทบต่อปริมาณสำรองน้ำภาคตะวันออกในระดับวิกฤต ล่าสุดการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ขอความร่วมมือลดการใช้น้ำลง 10%

ยันภาคอุตฯยังไม่กระทบ

ด้านภาคอุตสาหกรรม ถือเป็นอีกภาคที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ ล่าสุด กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้สำรวจปริมาณน้ำทิ้งโรงงาน และแหล่งน้ำในขุมเหมืองที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในภาคเกษตรกรรมในช่วงวิกฤตภัยแล้งปี 2563 ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมได้มีส่วนช่วยเหลือเกษตรกร และภาคส่วนอื่นๆ ในการช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในหลายพื้นที่ จากการสำรวจล่าสุดมีปริมาณน้ำรวม 169 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ที่พร้อมผันน้ำให้ภาคส่วนต่างๆ ได้ใช้ประโยชน์ และกระทรวงจะจัดส่งข้อมูลไปยังศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤตน้ำ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการศูนย์ฯ เพื่อบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดึงน้ำข้างต้นเพื่อใช้แก้วิกฤตภัยแล้งให้ผ่านพ้นไป

โดยปีนี้มีแหล่งน้ำในกลุ่มเหมืองแร่ จำนวน 36 แห่ง รวม 105 บ่อเหมือง มีปริมาณน้ำทั้งสิ้น 166,019,100 ลบ.ม. สามารถนำน้ำไปใช้ประโยชน์ได้และปัจจุบันได้นำน้ำไปใช้ประโยชน์แล้วถึง 50 บ่อเหมืองคิดเป็นปริมาณน้ำรวมกว่า 65,392,000 ลบ.ม. กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ตรวจสอบวิเคราะห์คุณภาพน้ำในแหล่งน้ำขุมเหมือง และได้ประสานจัดส่งข้อมูลปริมาณน้ำขุมเหมืองในเขตพื้นที่ต่างๆ ให้กับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณานำน้ำไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งจัดสรรให้ทั่วถึงซึ่งจะเน้นในพื้นที่ประสบภัยแล้งอย่างหนักก่อน

ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมยังไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งอย่างชัดเจน เนื่องจากโรงงานที่ใช้น้ำในการผลิตในปริมาณมาก ส่วนใหญ่จะมีบ่อกักเก็บน้ำทิ้งไว้ใช้ประโยชน์ และมีการนำน้ำกลับมาใช้ในการผลิตอีกครั้ง ส่วนโรงงานที่อยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ทาง กนอ.ได้เตรียมแหล่งน้ำสำรองเพียงพอที่จะรับมือกับภัยแล้ง จึงมั่นใจว่าโรงงานจะไม่ได้รับผลกระทบและเกิดปัญหาการแย่งน้ำกับภาคส่วนอื่น แต่หากพบผู้ประกอบการรายใดที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบ หรือน้ำต้นทุนไม่เพียงพอ กระทรวงจะออกมาตรการช่วยเหลือให้ต่อไป

รัฐพร้อมช่วยเหลือแล้ง20จว.

สำหรับการสำรวจของศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าผลกระทบด้านการเกษตร ภัยแล้งช่วงเดือนกันยายน 2562 ถึงปัจจุบัน มีจังหวัดที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินแล้ว 20 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน เพชรบูรณ์ อุทัยธานี อุตรดิตถ์ พะเยา สุโขทัย นครพนม มหาสารคาม บึงกาฬ สุพรรณบุรี หนองคาย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ นครราชสีมา กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยนาท นครนายก และสกลนคร

ซึ่งผลกระทบการเกษตรในเบื้องต้น ด้านพืช จากการสำรวจทั่วประเทศ พบว่ามีพื้นที่ที่ประสบภัยด้านพืช 21 จังหวัด เกษตรกรได้รับผลกระทบ 252,377 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 2,267,702 ไร่ สำรวจพบความเสียหายแล้ว 19 จังหวัด เกษตรกรได้รับผลกระทบ 100,041 ราย พื้นที่เสียหาย 990,792 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 878,751 ไร่ พืชไร่ 111,546 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 495 ไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 1,106.94 ล้านบาท รัฐบาลได้นำงบประมาณไปช่วยเหลือแล้ว มูลค่า 4.54 ล้านบาท ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในระยะแรก จำนวน 556 ราย คิดเป็นพื้นที่ 4,072 ไร่ ส่วนด้านปศุสัตว์ จากการตรวจสอบ พบว่ายังไม่มีพื้นที่ใดได้รับผลกระทบ

ขยายจัดสรรน้ำถึงก.ค.63

ฟากการช่วยเหลือจากกระทรวงเกษตรฯ มีการสำรวจภาพรวมของอ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออก ขณะนี้มีปริมาณน้ำ 50% ของความจุอ่าง เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีปริมาณน้ำกว่า 89% ทางด้าน เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ สั่งการให้กรมชลประทานทบทวนการบริหารจัดการน้ำจากแนวทางเดิม 6 บวก 2 กล่าวคือ จากเดิมช่วง 6 เดือนแรก ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 ถึงเมษายน 2563 ช่วง 2 เดือนหลังจากพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2563 เป็น 6 บวก 3 คือเพิ่มการจัดการน้ำไปถึงเดือนกรกฎาคม หรือเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเดือน เพื่อลดความเสี่ยงจากฝนทิ้งช่วง ตามคาดการของกรมอุตุฯ หากบริหารจัดการน้ำได้สอดคล้องตามแผนจะมีน้ำเพียงพอและผ่านหน้าแล้งนี้ไปได้อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ยังพิจารณาเพิ่มเป้าหมายรณรงค์ประหยัดการใช้น้ำจาก 10% เป็น 15% รวมถึงเตรียมแผนหมุนเวียนน้ำจากอ่างข้างเคียง และดึงน้ำจากแม่น้ำลำคลองต่างๆ เข้ามาเก็บที่อ่างฯ รวมถึงเพิ่มการปฏิบัติการฝนหลวงในภาคตะวันออกระหว่างวันที่ 13-25 มกราคมนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่มีความชื้นสัมพัทธ์เพียงพอที่จะทำฝนเทียม

กรมชลฯยันพ้นวิกฤตแน่

ด้านการดำเนินงานของกรมชลประทาน ได้มีการตรวจสอบสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกปัจจุบัน ภาคตะวันออกมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 7 แห่ง ปริมาณน้ำรวมประมาณ 671 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 42% ของความจุอ่างฯ อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 55 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมประมาณ 542 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 57% ของความจุอ่างฯ ส่วนปริมาณน้ำในแม่น้ำสายต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ 30-50% ของลำน้ำ

ส่วนมาตรการรองรับวิกฤตขาดแคลนน้ำในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นั้น กรมชลประทานมีการประชุมหารือกับทุกภาคส่วนที่จะดึงน้ำระหว่างอ่างเก็บน้ำต่างๆ เพื่อให้หมุนเวียนถ่ายเทกันไป โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท อีสท์วอเตอร์ ดำเนินการเชื่อมท่อจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ลงอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ และอ่างเก็บน้ำประแสร์ไปลงอ่างเก็บน้ำปลาไหลเพื่อลดการสูญเสียน้ำ ส่วนพื้นที่เกษตรกรรมรอบอ่างเก็บน้ำประแสร์นั้น ได้เก็บกักน้ำไว้ให้อย่างเพียงพอและผ่านพ้นหน้าแล้งนี้ได้อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ จะดำเนินการก่อสร้างแหล่งน้ำขนาดใหญ่ขนาดกลาง ขนาดเล็ก และแก้มลิง เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำ โดยจะดำเนินการในปี 2563 รวมทั้งสิ้น 421 โครงการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทั้งโครงการจะเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 1,232,121 ไร่ และปริมาตรเก็บกัก 942.00 ล้าน ลบ.ม. สำหรับในปี 2563 โครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จจะได้พื้นที่ชลประทาน 176,968 ไร่และปริมาตรน้ำเก็บกัก 199.54 ล้าน ลบ.ม.

พร้อมทั้งเตรียมขุดสระน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ขนาด 1,260 ลบ.ม. ให้เกษตรกรที่ขอรับการสนับสนุนทั่วประเทศ จำนวน 40,000 บ่อ กักเก็บน้ำบรรเทาและชะลอความแห้งแล้ง เพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดินในฤดูฝนทิ้งช่วงหรือฤดูแล้งในระดับไร่นา ให้เกษตรกรสามารถมีน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง สำหรับปลูกพืชผักแบบผสมผสานเลี้ยงปลา ตกกล้า ซึ่งเป็นการทำการเกษตรแบบใช้น้ำน้อย

งัดมาตรการดูแลน้ำอุปโภค-บริโภค

ขณะเดียวกัน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ลงพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ติดตามสถานการณ์น้ำเพื่อวางแผนการแก้ไขปัญหาในลุ่มน้ำปราจีนบุรี-บางปะกงอย่างเป็นระบบทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งรัฐบาลได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำระยะสั้น เพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก และได้มอบหมายหน่วยงานเจ้าภาพไปกำหนดจุดพื้นที่ และแผนขุดเจาะน้ำบาดาล การพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ พร้อมเร่งซ่อมแซมระบบประปา ให้สามารถนำน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติมาใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพ สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที รวมถึงจะเร่งดำเนินการช่วยเหลือในพื้นที่ที่มีปัญหาให้ครบถ้วนแน่นอน

สำหรับปริมาณน้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น48,204 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 59% ของความจุอ่างฯ แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 19,664 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 41% เฝ้าระวังน้ำน้อย 14 แห่ง ได้แก่ แม่กวง ภูมิพล สิริกิติ์ แม่มอก ทับเสลากระเสียว จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำพระเพลิง ลำแซะ ลำนางรอง ป่าสักฯ คลองสียัด และหนองปลาไหล แหล่งน้ำขนาดกลาง 354 แห่ง จากทั้งหมด 660 แห่งที่มีระบบติดตามได้ เฝ้าระวังน้ำน้อย 105 แห่ง

ในส่วนของแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวังน้ำใช้การน้อยกว่า 30% อาทิ เขื่อนกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี มีปริมาณน้ำใช้การ 20 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 8% ของความจุอ่างฯ เขื่อนแม่มอก จังหวัดลำปาง มีปริมาณน้ำใช้การ 17 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 18% ของความจุอ่างฯ และลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ มีปริมาณน้ำใช้การ 19 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 16% ของความจุอ่างฯ เป็นต้น ซึ่ง สทนช. ได้ขอความร่วมมือในทุกจังหวัดให้งดปลูกพืชใช้น้ำมากโดยเฉพาะข้าวนาปรัง เพื่อคุมบริมาณน้ำให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคต่อไป

รบ.ยกแล้งเป็นวาระแห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ยาวมาถึงปัจจุบัน พบว่ารัฐบาลเริ่มให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ โดยเมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ ยกระดับการแก้ปัญหาภัยแล้ง ปี 2563 เป็นวาระแห่งชาติ โดยให้ตั้งกรอบศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤตน้ำ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รองรับสถานการณ์น้ำแล้งที่อาจวิกฤต เป็นระดับ 3 หรือสาธารณภัยขนาดใหญ่ คาดว่าวิกฤตน้ำเกิดความรุนแรง ตาม พ.ร.บ.น้ำ ปี 2561 มาตรา 24 มีผลกระทบกับประเทศไทย และมีแนวโน้มความรุนแรงสูงขึ้น ในพื้นที่มากกว่า 60% หรือครอบคลุมประมาณ 43 จังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งอาจก่อให้เกิดผลกระทบจนทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างได้

ปัจจุบันความรุนแรงของภัยแล้งอยู่ในระดับ 2 ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่ง สทนช.ได้วางงบประมาณดำเนินการเพื่อเร่งแก้ปัญหาน้ำแล้งไว้ที่วงเงิน 6,029 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณของหน่วยงาน ปี 2563 ที่ใช้ไปพลางในปี 2562 วงเงิน 2,950 ล้านบาท และ สทนช.ได้เสนอของบกลางอีกจำนวน 3,079 ล้านบาท เพื่อนำมาขุดบ่อบาดาล และดำเนินการก่อสร้างในโครงการที่สำคัญ เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชน และเตรียมพร้อมสำหรับฤดูแล้งในปีหน้าต่อไป

ต้องติดตามต่อไปว่าการปูทางของรัฐบาลในเรื่องของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำครั้งนี้ จะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงไหน หรือจะพาไทยวนกลับลูปเดิม แล้งสลับท่วมแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศ ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image