อธิบดีกรมทางหลวง เปิดแผนพัฒนา เส้นทางทั่วไทย

โครงสร้างพื้นฐานของประเทศเป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนา เพื่อช่วยให้การดำเนินชีวิตของประชาชนคนไทยสะดวกสบาย และเสียเวลาน้อยที่สุด โดยเฉพาะถนนหนทางต่างๆ

“มติชน” พูดคุยกับคีย์แมนสำคัญในการขับเคลื่อนถนนต่างๆ ของประเทศ “สราวุธ ทรงศิวิไล” อธิบดีกรมทางหลวง ระบุว่า ปี 2563 ปัญหาหลักคือมีเวลาในการทำโครงการใหม่ค่อนข้างน้อย มีเวลาเหลือจริงๆ เพียง 6 เดือนเท่านั้น สำหรับโครงการใหม่ โจทย์ที่กรมทางหลวงหรือหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณลงทุนมากๆ มีปัญหาในเรื่องของการเร่งรัดดำเนินโครงการใหม่ๆ กรมทางหลวงมีความพร้อมในการดำเนินการตามรูปแบบ และงบประมาณที่ได้รับมา โดยโครงการขนาดใหญ่ที่กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ มีประมาณกว่า 200 โครงการ อาทิ การก่อสร้างบนถนนพระราม 2 การก่อสร้างทางเลียบเมืองต่างๆ รวมถึงยังมีโครงการใหม่เพิ่มเติมเข้ามาอีกกว่า 106 โครงการ รวมมูลค่าก่อสร้าง 80,000 ล้านบาท เป็นโครงการที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย
ปีนี้ไม่มีการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ แต่มีโครงการต่อเนื่องที่ทำต่อจากปี 2559-2560 ได้แก่ โครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช, มอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี, มอเตอร์เวย์พัทยา-ท่าเรือมาบตาพุด ทั้ง 3 โครงการ เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากการก่อสร้างระยะเริ่มต้น ล่าสุด โครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช มีความคืบหน้าแล้วกว่า 85% แต่ยังมีโครงสร้างบางส่วนที่ยังไม่แล้วเสร็จ จึงยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ สิ่งที่สำคัญคือ ต้องติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทาง ชั่งน้ำหนัก และระบบที่เกี่ยวเนื่องกับความปลอดภัยต่างๆ คาดว่าจะสามารถเปิดใช้บริการอย่างเป็นรูปธรรมได้ประมาณ 2565

ส่วนโครงการมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี รัฐบาลชุดนี้ได้เข้ามาปลดล็อกในการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน กรอบวงเงินงบประมาณที่ใช้ในส่วนของกรรมสิทธิ์ที่ดินเดิมไม่เพียงพอ จึงเสนอเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) จนได้รับการอนุมัติงบประมาณเพิ่มอีก 12,000 ล้านบาท ทำให้โครงการดังกล่าวเดินหน้าต่อได้ เมื่อมีเงินใช้ในการเวนคืนที่ดินเพิ่ม เอกชนก็เข้าพื้นที่ก่อสร้างต่อได้ ถือเป็นไฮไลต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มีการกระจายรายได้ตามสัดส่วนของเม็ดเงินลงไปยังภาคส่วนต่างๆ

สิ่งที่จะได้ตามมาหลังโครงการเสร็จคือ การกระจายความเจริญจากพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานครไปสู่พื้นที่ภาคตะวันตก เมื่อไปถึงจังหวัดกาญจนบุรีจะต่อเนื่องไปชายแดนบ้านพุน้ำร้อน และอนาคตจะไปเชื่อมต่อกับท่าเรือทวาย โครงการนี้จะเดินหน้าต่อจนแล้วเสร็จ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2566

Advertisement

สำหรับความคืบหน้าของโครงการมอเตอร์เวย์พัทยา-ท่าเรือมาบตาพุด ขณะนี้โครงสร้างงานโยธาเสร็จแล้วกว่า 98% ส่วนงานระบบต่างๆ เดินควบคู่กันไป จะเปิดนำร่องหรือทดลองให้ใช้ก่อนในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ และเปิดใช้จริงเดือนกรกฎาคมนี้ โดยปี 2563 จะเห็นมอเตอร์เวย์ช่วงต่อขยายจากกรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา จนถึงท่าเรือมาบตาพุด ภายในปีนี้แน่นอน จะเป็นเส้นทางหนึ่งในการเข้าถึงพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ส่วนโครงการก่อสร้างใหม่ที่เพิ่มเข้ามากว่า 106 โครงการ จะอยู่ในพื้นที่อีอีซี มีการวางแผนไว้ต่อเนื่องตั้งแต่ 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งการก่อสร้างใหม่ และการปรังปรุงจากพื้นที่เดิมที่มีอยู่ ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการปรับปรุงถนนจากเดิม 4 ช่องจราจร เป็น 6 ช่องทางจราจร หรือจาก 6 ช่องจราจร เป็น 8 ช่องจราจรในบางช่วง ในพื้นที่อีอีซีขณะนี้แทบจะไม่มีถนนที่มีพื้นที่จราจร 2 ช่องจราจรเหลืออยู่เลย ส่วนใหญ่จะปรับเปลี่ยนเป็น 4 ช่องจราจรแทนแทบทั้งหมด ประเมินว่าไม่เกิน 3 ปีข้างหน้า โครงการของกรมทางหลวงทุกโครงการที่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ในพื้นที่อีอีซีจะทำได้ครบทั้งหมด

ที่ผ่านมาโจทย์ของรัฐบาลให้ศึกษาเส้นทางโครงข่ายของพื้นที่อีอีซีเพิ่มเติม เนื่องจากอีอีซีจะเติบโตค่อนข้างเร็ว ต้องดูว่าโครงข่ายของถนนที่กรมทางหลวงรับผิดชอบ ยังขาดส่วนใดที่จะรองรับการสัญจรอีกหรือไม่ ส่วนใหญ่รถที่จะเข้ามายังอีอีซี จะเป็นรถบรรทุกหรือรถขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ ทั้งจากในประเทศไทยส่งออกนอก และจากทางเรือขนส่งเข้ามาเพื่อกระจายสินค้าไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย จะเข้ามาผ่านท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือมาบตาพุด ในระยะต่อไปจะศึกษาการขยายพื้นผิวช่องจราจรเพิ่มเติม

Advertisement

“ขณะนี้ถนนสายหลักที่ยังไม่เป็น 4 ช่องจราจรเหลือไม่ถึง 500 กิโลเมตร คิดว่าไม่เกินปี 2564 ถนนสายหลักที่ยังไม่เป็น 4 ช่องจราจรน่าจะหมดไปแล้ว เพื่อรองรับปริมาณรถที่มากขึ้นต่อไป ส่วนจะมีโครงการ 4 ช่องจราจรสายหลักระยะ 3 หรือไม่ ไม่น่าจะมีแล้ว เพราะถนนบางเส้นที่มองว่าเป็นถนนสายหลัก แต่ก่อนจะชัดเจนว่าถนนสายหลักจะเป็นหมายเลข 2 ตัวหรือ 3 ตัว แต่ปัจจุบันมีบางเส้นทางที่เป็นหมายเลข 4 ตัวเริ่มมีความสำคัญ เพราะการพัฒนาของพื้นที่ในแต่ละจังหวัดแตกต่างกัน จึงจะสำรวจว่าถนนเส้นใดบ้างที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ในเรื่องของการเดินทางสัญจรต่างๆ แต่เป็นหมายเลข 4 ตัว โดยจะเข้าไปพัฒนาเส้นทางถนนสายนั้นๆ ให้เป็น 4 ช่องจราจรต่อไป”

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้แนวคิดดำเนินงาน คือ การขยายเส้นทางเดิมอาจไม่ต้องทำมาก แต่ยังทำอยู่หากจำเป็น อาทิ เมื่อเป็น 6 ช่องจราจรอาจไม่จำเป็นต้องขยายเพิ่มเป็น 8 ช่องจราจรอีก แต่ให้ไปสำรวจเส้นทางแนวใหม่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาในรอบๆ พื้นที่ที่ถนนเกิดขึ้น เป็นแนวคิดที่กรมทางหลวง และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่ง และจราจร (สนข.) รับโจทย์นี้มา ในปี 2563 งบประมาณออกมาแล้ว จะต้องดำเนินการก่อสร้างและเบิกจ่ายให้ทัน แต่ปี 2564-2565 กรมทางหลวงจะศึกษาแนวเส้นทางเส้นใหม่ อาจเป็นแนวเส้นทางที่ขนานกับเส้นทางเดิม แต่ไม่ใช่มอเตอร์เวย์ เพื่อให้เกิดความมั่นคงในการเดินทาง หากถนนเส้นหลักที่ 1 เกิดเหตุไม่คาดฝัน ใช้งานไม่ได้ อาทิ น้ำท่วม ดินถล่ม ยังมีถนนที่ใช้ได้ในแนวเส้นทางเดียวกัน

นอกจากนี้ยังมีงานย่อย คือ การสำรวจทางเลี่ยงเมืองต่างๆ เพราะปัจจุบันมีหลายจังหวัดที่ต้องการถนนเลี่ยงเมือง เพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรติดขัด และอุบัติเหตุที่เกิดจากความหนาแน่นของปริมาณรถบนถนน รวมถึงการซ่อมบำรุงรักษา ในการดูแลพื้นผิวถนน ควบคู่กับความปลอดภัย อาทิ การซ่อมถนนที่เป็นหลุม เป็นบ่อ งบประมาณมีตั้งแต่ 1 ล้านบาท จนถึง 30 ล้านบาท มีโครงการบำรุงเส้นทางและเพิ่มความปลอดภัยในปีนี้ 4,000 โครงการ ถือเป็นความท้าทายในการทำงานมาก เพราะเหลือเวลาดำเนินการไม่เพียง 6 เดือน แต่มีโครงการรออยู่จำนวนมากจริงๆ
“กรมทางหลวงปรับแผนเพื่อเร่งรัดในการเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2563 ให้ได้ที่ 88% วงเงิน 101,000 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งหมดที่มีอยู่ที่ 113,883 ล้านบาท ถือเป็นเรื่องท้าทายและไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่ เพราะในปี 2561-2562 สามารถเบิกจ่ายได้เพียง 70% เท่านั้น ที่ผ่านมาสามารถเบิกจ่ายได้มากสุดในปี 2560 ประมาณ 90% มากที่สุดตั้งแต่ทำงานมา”
จะเห็นว่า การพัฒนาถนนหนทาง นอกจากจะช่วยยกระดับการสัญจรในประเทศแล้ว ยังช่วยกระจายเม็ดเงินที่มาจากงบประมาณในการก่อสร้างหรือซ่อมบำรุง ลงไปยังภาคส่วนต่างๆ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการประคองเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้ ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image