เข็นศก.ไทยฝ่ามรสุมไวรัส รัฐทุ่มสุดตัว 1.7 ล้านล้าน ฟังเสียงเอกชนยังไหวไหม?

ผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษเมื่อวันที่ 3 เมษายน มีมติเห็นชอบมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ระยะ 3 ใช้วงเงินสูงถึง 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หรือคิดเป็นเงินประมาณ 1.6-1.7 ล้านล้านบาท

ฝั่งการเมืองพยายามเร่งรัดมาตรการให้ทันเสนอ ครม.วันที่ 7 เมษายน เพื่อนำมาใช้ทันที เพราะหากการแพร่เชื้อไวรัสยังไม่สงบลงในเร็ววัน จะสร้างปัญหาและผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

การใช้เงินในระดับ 10% ของจีดีพี เป็นระดับการใช้เงินที่ใกล้เคียงกับมาตรการที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกออกมาในช่วงนี้

ทั้งนี้ เม็ดเงินดูแลเศรษฐกิจกว่า 1.6-1.7 ล้านล้านบาทเป็นขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในไทย

Advertisement

แผนใช้เงินช่วยแต่ละกลุ่ม

รายละเอียดมาตรการน่าจะได้เห็นแบบชัดๆ หลังผ่าน ครม.ในวันอังคาร มีกรอบใหญ่ๆ ตามที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์รองนายกรัฐมนตรี แถลงหลังประชุม ครม.นัดพิเศษว่า เน้นช่วยเหลือ 3 กลุ่ม คือ 1.ประชาชน รวมถึงเกษตรกร คนตกงาน 2.ภาคธุรกิจทั้งรายเล็กและรายใหญ่ และ 3.ภาคการเงิน เพื่อดูแลไม่ให้ภาคการเงินมีปัญหาจนกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

เงินที่จะใช้ดำเนินการมาจาก 3 ส่วน คือ 1.เงินงบประมาณ 2.พ.ร.ก.กู้เงินของกระทรวงการคลัง 3.พ.ร.ก.สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ พ.ร.ก.ช่วยเหลือตราสารหนี้เอกชนของ ธปท.

Advertisement

แบ่งสรรปันส่วนวงเงิน เช่น ซอฟต์โลนช่วยธุรกิจขนาดกลางจาก ธปท. 5 แสนล้านบาท, ช่วยตราสารหนี้เอกชนวงเงิน 1-3 แสนล้านบาท, การช่วยเหลือและเยียวยาแรงงานผ่านการลงทะเบียนเราไม่ทิ้งกัน ก่อนหน้านี้มีงบเตรียมไว้ 4.5 หมื่นล้านบาท ช่วยได้แค่ 3 ล้านคน ดังนั้น หากตัวเลขเยียวยาสูงถึง 10 ล้านคน ต้องใช้เงินเพิ่มอีก 1 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ มีโครงการเพื่อให้เกิดการจ้างงานในต่างจังหวัด ให้แบงก์รัฐดำเนินการวงเงินประมาณ 2-3 แสนล้านบาท เงินช่วยเหลือเกษตรกร เพราะขณะนี้กำลังเข้าสู่สถานการณ์ภัยแล้ง ดังนั้น ต้องมีการเตรียมมาตรการไว้ไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท มาตรการเสริมสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจ 2-3 แสนล้านบาท เสริมกับซอฟต์โลนของ ธปท.เพื่อรักษาการจ้างงาน

เงินส่วนหนึ่งราว 1 แสนล้านบาท นำไปช่วยด้านสาธารณสุขแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19

ไวรัสหยุดเร็ว ศก.ฟื้น

มาตรการทั้งหมดจะดูแลเศรษฐกิจในช่วงเวลา 6 เดือนนับจากนี้ส่วนจะช่วยได้แค่ไหนคงต้องขึ้นอยู่กับว่าไทยจะหยุดไวรัสโควิด-19 ได้เมื่อไหร่ ขณะนี้ผ่านมากว่า 2 เดือน ยังมีผู้ติดเชื้อทุกวัน ล่าสุดยอดผู้ติดเชื้อสูงกว่า 2 พันคน ถ้าไทยสามารถคุมเชื้อโควิด-19 ได้ และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาก่อนเดือนกรกฎาคม 2563 เศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวเต็มที่ได้ในช่วงปลายปี และลุ้นกันว่าในปีหน้า 2564 เศรษฐกิจไทยอาจบวก 2-3% จากปีนี้ 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักพยากรณ์เอกชนประเมินไว้ลบ 5% ถึงลบ 6%

อย่างไรก็ตาม มาตรการระยะ 3 มีการพูดถึงการดูแลเศรษฐกิจในระยะปานกลาง คือ การจัดสรรเม็ดเงินบางส่วนไปดูแลเศรษฐกิจท้องถิ่น รองรับแรงงานใน กทม.เดินทางกลับไปต่างจังหวัด ดังนั้น หากทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็งจะช่วยทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศแข็งแรง สามารถรับมือผลกระทบเศรษฐกิจโลกและโรคระบาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จีดีพีไทยติดลบแทบทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ สงครามการค้า สงครามน้ำมัน ล้วนกระทบไทย เพราะไทยยังพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวมีสัดส่วนกว่า 70% ของจีดีพี

หนี้รัฐพุ่งลงทุนสะดุด

หลังจากนี้คงต้องตามดูแผนด้านเศรษฐกิจระยะปานกลางและยาว เช่น ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน ซึ่งหยุดชะงักไปตามการระบาดของโควิด-19

มีความเป็นห่วงว่าเมื่อรัฐต้องกู้เงินมาดูแลโควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท จากแผนทั้งหมด 1.6-1.7 ล้านล้านบาท จะทำให้หนี้สาธารณะไทยเพิ่มขึ้นเป็น 8.6-8.7 ล้านล้านบาท หรือแตะ 50% ต่อจีดีพี จากขณะนี้อยู่ที่ 7 ล้านล้านบาท หรือ 41.44% ต่อจีดีพี เมื่อหนี้ประเทศสูงขึ้นอาจกระทบต่อการกู้เงินมาลงทุนของภาครัฐในอนาคต

เดิมทีก่อนไวรัสระบาดรัฐบาลตั้งเป้าหมายให้ปี 2563 เป็นปีแห่งการลงทุน เพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจในระยะปานกลางและระยะยาวให้เติบโตได้ในระดับ 4-5% เป็นระดับจีดีพีตามศักยภาพที่ควรจะเป็น

แต่จากนี้คงต้องกลับมาดูกันใหม่ หนี้ประเทศที่สูงขึ้น การทำงบประมาณแบบขาดดุลเพื่อมาลงทุนปีละ 20% ของงบประมาณรายจ่าย หรือปีละกว่า 5-6 แสนล้านบาท นั้นยังทำได้หรือไม่

ส่วนภาคเอกชนปรับแผนการลงทุน นำเงินเตรียมไว้ขยายธุรกิจมาพยุงตัวเพื่อไม่ให้ล้มจากโควิด-19

ผลกระทบจากไวรัสที่ระบาดทั่วโลกอาจส่งผลให้การส่งออกของไทยเติบโตได้ไม่ดีนัก

ดังนั้น การลงทุนภาคเอกชนอาจจะชะลอในช่วง 1-2 ปีข้างหน้านี้

ประคองธุรกิจฝ่ามรสุม

ส่วนหนึ่งจะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็ว คือการดูแลบริษัทเอกชนไม่ให้ล้มครืน

ที่ผ่านมามีมาตรการดูแลภาคธุรกิจ ในมาตรการชุดที่ 1 เช่น ซอฟต์โลน 1.5 แสนล้านบาท ให้กู้สูงสุด 20 ล้านบาท ดอกเบี้ยแค่ 2% นาน 2 ปี การพักต้นเงินและดอกเบี้ยและขยายเวลาชำระหนี้ของแบงก์รัฐ หรือ ธปท.ผ่อนเกณฑ์ปรับโครงสร้างหนี้ หรือสินเชื่อส่งเสริมจ้างงานจากประกันสังคม 3 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ย 3% นาน 3 ปี หรือลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายจาก 3% เหลือ 1.5% เป็นเวลา 6 เดือน

ส่วนมาตรการโควิดชุดที่ 2 เช่น สินเชื่อจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ช่วยเอสเอ็มอีท่องเที่ยว 1 หมื่นล้านบาท หรือการเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นวันที่ 31 สิงหาคม 2563 การขยายเวลาการชำระภาษีให้แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน การยกเว้นอากรขาเข้าของที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อ

แม้จะมีมาตรการดูแลภาคธุรกิจมาแล้วถึง 2 ชุด แต่ยังเห็นกลุ่มธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว โรงแรม รถทัวร์ ร้านขายของที่ระลึก ต้องหยุดกิจการเป็นรายวัน

ส่วนธุรกิจสายการบินทั้งสายการบินสัญชาติไทย สายการบินต่างชาติ และสายการบินโลว์คอสต์ ประกาศหยุดบินเส้นทางการบินในประเทศและต่างประเทศเป็นเวลา 1-2 เดือน

บริษัทยักษ์ใหญ่ ในกลุ่มรถยนต์ 6 แห่ง ประกาศปิดโรงงานชั่วคราวเป็นเวลา 15-30 วัน ต้องลุ้นหลังจากนี้ว่าปิดต่อหรือไม่ การปิดโรงงานรถยนต์ สร้างความเสียหายต่อเนื่องไปยังเอสเอ็มอีผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

สำหรับห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ผับ บาร์ โรงหนัง ต้องปิดกิจการตามประกาศของภาครัฐเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน ส่งผลให้คนตกงานทันที เมื่อกระทรวงการคลังเปิดให้ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5 พันบาท ตัวเลขล่าสุดถึงวันที่ 5 เมษายน สูงกว่า 24 ล้านคนแล้ว

คาดว่ามาตรการชุดที่ 3 มีแนวทางช่วยภาคธุรกิจอีกหลายด้าน โดยเฉพาะซอฟต์โลนจาก ธปท.จะเน้นรายกลาง และรายใหญ่ เพราะมีการร้องขอมาจากสายการบินว่าต้องการซอฟต์โลนเพื่อนำเงินมาเสริมสภาพคล่องลักษณะเดียวกับเอสเอ็มอีเช่นกัน

ท่องเที่ยวกระทบหนัก

สำหรับข้อเรียกร้องจากภาคเอกชนที่อยากให้รัฐช่วยเหลือ ในกลุ่มสายการบิน ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) ยื่นหนังสือต่อกระทรวงการคลังเพื่อขอซอฟต์โลน 1.6 หมื่นล้านบาท นำมาเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจการบิน

ส่วนธุรกิจโรงแรม ล่าสุดปิดกิจการไปแล้วกว่า 80% ของโรงแรมทั้งประเทศ เพราะไม่มีคนเข้าพัก คาดว่าผลกระทบจะลากถึงปลายปี ซึ่ง ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ระบุว่า ธุรกิจโรงแรมกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก นักท่องเที่ยวไม่มี รายได้เกือบเป็นศูนย์ แต่รายจ่ายยังเท่าเดิม ขอเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือด้วยการออกประกาศปิดโรงแรมทั่วประเทศชั่วคราวเป็นเวลา 1 เดือน เพื่อให้พนักงานใช้สิทธิประกันสังคม

ศุภวรรณกล่าวว่า สำหรับการช่วยเหลือด้านเงินกู้ สิ่งที่อยากให้ ธปท.ช่วย คือให้สามารถนำหลักทรัพย์เดิมที่ค้ำประกันเงินกู้ไว้อยู่แล้ว ขยายวงเงินสินเชื่อ อาทิ เคยกู้ 100 ล้านบาท ผ่อนจ่ายไปแล้วเหลือ 80 ล้านบาท สามารถใช้หลักทรัพย์เดิมค้ำประกันส่วนอีก 20 ล้านบาท ขอให้ธนาคารปล่อยกู้ให้

ด้าน ชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ปิดกิจการทั้งกลุ่มเอเยนต์ทัวร์ รถขนส่ง ผู้ประกอบการตามแหล่งท่องเที่ยว ตอนนี้ถึงคิวกลุ่มโรงแรมที่กำลังไล่ปิดกิจการทั่วประเทศ อย่างน้อย 6 เดือน อยากขอให้ภาครัฐช่วยผู้ประกอบการและแรงงานที่ปิดกิจการชั่วคราว ในลักษณะเดียวกับกรณีที่รัฐบาลสั่งปิด เพราะภาคท่องเที่ยวมีแรงงานกว่า 4 ล้านคน กำลังได้รับผลกระทบจากการว่างงาน

ชัยรัตน์กล่าวว่า ได้มีการหารือในกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว ถ้าภาครัฐไม่ช่วย ผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยวทั้งหมดจะหยุดจ่าย ทั้งประกันสังคม, ภาษีทุกประเภท, เงินผ่อน, ดอกเบี้ย, ค่าน้ำ, ค่าไฟ และรายจ่ายต่างๆ ที่เป็นของหน่วยงานรัฐ เนื่องจากผู้ประกอบการไม่มีเงิน เพราะได้รับผลกระทบมาเกือบ 3 เดือนแล้ว

ส่วนที่รัฐบอกว่ามีซอฟต์โลนช่วย ขณะนี้ยังไม่สามารถเข้าถึงเงินดังกล่าวได้

เอสเอ็มอีต้องการสภาพคล่อง

ในความเห็นกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี พิชญะ แย้มมีศรี กรรมการบริหาร บริษัท เซลโลกรีตไทย จำกัด เอสเอ็มอีผู้ผลิตแผ่นเส้นใยไม้ซีเมนต์อัดลดความร้อนในอาคาร กล่าวว่า หากสถานการณ์ยังไม่จบภายใน 5 เดือน น่าจะเริ่มได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ถ้ายอดขายลดลงคงต้องลดการผลิต จะกระทบต่อลูกจ้างรายวัน และพนักงานรายเดือนที่อยู่ในโรงงานราชบุรีและสำนักงานในกทม. อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทยังไม่กระทบมากนักเพราะส่วนใหญ่กว่า 70% เป็นลูกค้ากลุ่มก่อสร้างงานราชการ ช่วงนี้จึงยังไม่มีการปรับลดคนงาน หรือเงินเดือน พนักงาน

พิชญะมีข้อเสนอให้รัฐบาลช่วยในเรื่องภาษีกลุ่มเอสเอ็มอี น่าจะปรับลดลงได้อีกเพื่อช่วยเอสเอ็มอีในช่วงนี้ และอยากแนะนำในเรื่องภาษีการบริจาคช่วยโควิด-19 รัฐบาลควรจูงใจให้นำมาลดหย่อนภาษีให้มากขึ้น เอกชนบางรายพร้อมจะบริจาค แต่เมื่อคำนวณออกมาเป็นเม็ดเงินที่รัฐคืนให้แล้วไม่คุ้ม ทำให้บริจาคน้อยกว่าที่ตั้งใจไว้

ด้าน พรชัย รัตนตรัยภพ ประธานเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ประเมินสถานการณ์โควิด-19 น่าจะทำให้กลุ่มเอสเอ็มอีปิดกิจการไม่น้อยกว่า 50% หรือมียอดปิดตัวระดับ 1 ล้านราย กระทบแรงงาน 3-4 ล้านคน โดยเฉพาะในกลุ่มท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร กลุ่มผลิตสินค้าอุปโภค บริโภค เพราะการปิดจังหวัดทำให้ขนส่งสินค้าไม่ได้ ด้านกลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์ไม่มีออเดอร์ใหม่เข้ามา กลุ่มเกษตรแปรรูปก็หนัก เพราะไม่มีคนซื้อ

พรชัยมีข้อเสนอขอให้รัฐช่วยคือ การพักหนี้อย่างเป็นรูปธรรมทั้งดอกเบี้ยและเงินต้น ต้องการให้แบงก์พาณิชย์พักหนี้ 3 เดือน เหมือนกับที่แบงก์รัฐดำเนินการ เพราะถ้าแบงก์ยังไม่ช่วย อีกไม่กี่เดือนน่าจะเกิดปัญหาหนี้เสียในกลุ่มเอสเอ็มอี กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลต้องตามแก้ไขภายหลัง

นอกจากนี้ ยังต้องการสภาพคล่อง แม้รัฐบาลมีซอฟต์โลนให้เอสเอ็มอีกำหนดวงเงินกู้ไม่เกิน 20 ล้านบาท แต่เงินยังไม่ถึงเอสเอ็มอีรายเล็ก เพราะแบงก์กังวลหนี้เสียจึงเลือกปล่อยกู้ให้รายใหญ่ครั้งละ 20 ล้านบาท หรือเอสเอ็มอีในเครือของบริษัทใหญ่ ดังนั้น อยากให้รัฐผ่อนปรนเงินกู้ให้เอสเอ็มอี และกันวงเงินมาช่วยเอสเอ็มอี เช่น กำหนดวงเงินปล่อยกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท เพื่อทำให้เงินถึงมือเอสเอ็มอีรายเล็ก

อมตะแนะวิธีเอาตัวรอด

ในส่วนภาคเอกชนรายใหญ่ วิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) มองว่าปัญหาไวรัสโควิด-19 สร้างความกังวลต่อภาคธุรกิจ เพราะไม่รู้ว่าจุดจบอยู่ตรงไหน

ขณะนี้ มีโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ หยุดการผลิตชั่วคราว 15-30 วัน ไปแล้วหลายราย ซึ่งเหตุการณ์ขณะนี้กลับด้านกับวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ส่งออกยังดี ค่าเงินบาทอ่อน 40 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จาก 25 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทำให้ธุรกิจส่งออกยิ้มออก แต่โควิด-19 แพร่ระบาดทั่วโลกส่งผลกระทบต่อการส่งออก ธุรกิจในประเทศได้รับผลกระทบทั้งหมด ทำให้กำลังซื้อภายในประเทศไม่ดี ถ้านานวันอาจกระทบภาคการผลิต

อย่างไรก็ตาม รู้สึกดีที่รัฐบาลไทยประกาศจะใช้เงิน 10% ของจีดีพี เพื่อนำมาดูแลเศรษฐกิจในช่วงนี้ ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่มีการอัดฉีดงบประมาณ ทั้งจีน สหรัฐ ยุโรป เพื่อดูแลเศรษฐกิจของประเทศตัวเอง

ถือว่าไทยมาถูกทาง ที่อัดเงินมาช่วยดูแลเศรษฐกิจและคนที่กำลังเดือดร้อนในช่วงนี้ สิ่งสำคัญคือ ต้องหยุดการแพร่ระบาดให้ได้ คงต้องติดตามการรับมือของไวรัสทั่วโลก หากไม่สามารถหยุดเชื้อไวรัสได้ภายใน 6 เดือน ถ้ายืดเยื้อเป็นปี ทำให้แย่พอๆ กับสงครามโลก ที่ทำให้มีคนตายสูงขึ้น เศรษฐกิจหยุดชะงัก ใช้เวลาหลายปีกว่าจะฟื้นตัว

ภาคเอกชนต้องปรับตัว นำเทคโนโลยีมาช่วย เช่น เมื่อขายหน้าร้านไม่ได้ ต้องหันไปขายทางออนไลน์ ในส่วนอมตะ ธุรกิจคือขายที่ดิน เมื่อการเดินทางต้องหยุดลง ฝ่ายขายใช้วิธีติดต่อลูกค้าผ่านทางออนไลน์ ใช้ดิจิทัลเป็นประโยชน์ มีพนักงานบางส่วนให้ทำงานที่บ้านหรือ work from home ยังจ่ายเงินเดือนตามปกติ แต่การซื้อขายที่ดิน เหมือนกับการซื้อบ้าน การตัดสินใจสุดท้ายแล้วต้องเดินทางมาดูของจริง ทำให้ช่วงนี้ปิดยอดขายได้เฉพาะลูกค้าที่เคยติดต่อกันไว้ก่อนหน้านี้แล้วเท่านั้น

สิ่งที่เอกชนรายใหญ่อยากให้ดำเนินการหลังจบปัญหาไวรัสคือ เพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน เพื่อดึงเงินลงทุนให้กลับมา

ประเมินเบื้องต้นปลายปีสถานการณ์ไวรัสจะดีขึ้น เมื่อดีขึ้นขอให้การเมืองของไทยอย่ามีปัญหา ถ้าการเมืองมีปัญหาจะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจ

หลังจากนี้เศรษฐกิจไทยมีปัจจัยลบรออยู่อีกมากทั้งราคาน้ำมัน สงครามการค้า ที่ยังไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร

อสังหาฯปรับตัวรับมือ

ด้านเอกชนภาคอสังหาริมทรัพย์ เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) มองว่า การที่รัฐใช้วงเงินสูงถึง 10% ของจีดีพี มาดูแลเศรษฐกิจเป็นเรื่องดี เมื่อเอาเงินมาให้กลุ่มเดือดร้อนจะช่วยลดผลกระทบโดยตรง ทำให้ประชาชนกลุ่มฐานรากประคองตัวอยู่ได้ แต่ต้องดูว่าจะส่งต่อเงินอย่างไรให้เกิดความรวดเร็ว และให้ถึงมือผู้ที่เดือดร้อนโดยตรง

สิ่งสำคัญคือการควบคุมโรคโควิด-19 ไม่ให้ลุกลาม ต้องเร่งดับไฟ เพื่อไม่ให้อดตายกันทั้งประเทศ เพราะถ้าอดตายเป็นวงกว้าง เกิดปัญหาลามไปกลุ่มธนาคาร หรือปัญหาลามไปยังกลุ่มธุรกิจอื่นๆ จะยิ่งทำให้แย่กันไปใหญ่

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพราะคนไม่ออกจากบ้านมาดูโครงการ ทำให้ปิดการขายใหม่ไม่ได้ เพราะการซื้อบ้านคนต้องมาเยี่ยมชมเห็นของจริงก่อนตัดสินใจ น้อยมากที่จะขายแบบออนไลน์

ปีนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์น่าจะแย่กว่าปีที่ผ่านมา ส่วนจะแย่แค่ไหน ขึ้นอยู่กับโควิด-19 ว่าจะจบอย่างไร และดูว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นเร็วแค่ไหน คาดหวังให้รัฐบาลดูแลเศรษฐกิจในภาพรวมให้ดีขึ้นโดยเร็ว ช่วงเศรษฐกิจไม่ดี คนไม่ค่อยอยากซื้ออสังหาฯ เพราะกังวลรายได้ในอนาคตไม่แน่นอน

อยากเห็นมาตรการดูแลกลุ่มอสังหาฯ เช่น ผ่อนคลายเกณฑ์ในการซื้อบ้าน ลดภาษี ลดค่าธรรมเนียม เพื่อให้ต้นทุนในการซื้อของประชาชนถูกลง ถ้าเป็นไปได้ อยากให้ ธปท.ยกเลิกมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (แอลทีวี)

หลากหลายความเห็นจากกลุ่มผู้ประกอบการ และข้อเรียกร้องที่อยากส่งผ่านไปถึงภาครัฐ เพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอดในยุคโควิด-19 ซึ่งภาคธุรกิจมีส่วนสำคัญต่อการจ้างงาน และสำคัญต่อการเติบโตของจีดีพี

จากนี้ไปคงต้องติดตามมาตรการชุดที่ 3 ว่าเม็ดเงินสูงถึง 1.7 ล้านล้านบาท จะช่วยเยียวยาเศรษฐกิจไทยมากน้อยแค่ไหน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image