ดิจิทัลฝ่าวิกฤตโควิด-19 พลิกโฉมธุรกิจ- “5G” วิถีชีวิตเปลี่ยน!

ดิจิทัลฝ่าวิกฤตโควิด-19 พลิกโฉมธุรกิจ- “5G” วิถีชีวิตเปลี่ยน!

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ถือเป็นสนามจริงที่ใช้ในการทดสอบนวัตกรรมของแต่ละประเทศ อย่าง “ประเทศจีน” ที่นำเอานวัตกรรมจำนวนมากที่เคยอยู่ในขั้นทดลองไปเริ่มใช้งานจริง จนถือว่าเป็นการใช้ระบบ 5G ในอาณาเขตที่ใหญ่ที่สุดในโลก

สนามจริงทดสอบ”5G”

ด้านสุขอนามัย จีนได้นำนวัตกรรมมาใช้ในการตรวจเชื้อไวรัสและรักษาทางไกลในหลายพื้นที่ แถมระบบการวินิจฉัยโรคยังถูกต่อยอดด้วยปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) สามารถวิเคราะห์การติดเชื้อไวรัสที่มีความแม่นยำสูงถึง 96% ทั้งยังมีเครื่องมือเจาะเลือดที่มีระบบอินฟาเรด ซึ่งเมื่อทำปฏิกิริยากับฮีโมโกลบินในเส้นเลือด ทำให้หาเส้นเลือดได้ง่าย ช่วยลดเวลาและความผิดพลาดในการเจาะเลือด นอกจากนี้ ยังนำเอาหุ่นยนต์มาช่วยงานต้มสมุนไพร 24 ชั่วโมง และใช้รังสียูวีช่วยฆ่าเชื้อไวรัสในระบบขนส่งสาธารณะ

ขณะที่ “อาลีบาบา” และ “วีแชต” ได้สร้างคิวอาร์โค้ดต่อต้านไวรัส ที่ใช้แสดงค่าความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเวลาไปพื้นที่สาธารณะ โดยสีของคิวอาร์โค้ดจะเปลี่ยนไปตามระดับความเสี่ยง ได้แก่ สีเขียว (ผ่าน) สีเหลือง (สังเกตการณ์) และสีแดง (กักบริเวณ) ทั้งนี้ ระบบ 5G ยังทำให้การประเมินสถานะดังกล่าวสามารถตรวจจับและปรับเปลี่ยนเชิงลึกถึงระดับห้องและชั้นของอาคารได้เลยทีเดียว นอกจากนี้เพื่อลดการตื่นตระหนกจากข่าวปลอม ประชาชนสามารถถามตอบหรือค้นหาข้อมูล ผ่านผู้ช่วยของทั้งสองค่ายได้อีกด้วย

Advertisement

แว่นตาของตำรวจจีนก็ได้รับการติดตั้งเครื่องสแกนอุณหภูมิด้วยระบบอินฟาเรดที่สามารถตรวจวัดอุณหภูมิฝูงชนได้คราวละ 100 คน ในระยะห่าง 5 เมตร มีระบบการจดจำใบหน้า สามารถสแกนคิวอาร์โค้ดได้เสร็จสรรพ และยังยกระดับการใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ในเชิงรุก เพื่อลดการสัมผัสธนบัตรและความเสี่ยง ทำให้คนจีนเสพติดการชำระเงินผ่านอาลีเพย์และวีแชตเพย์กันอย่างกว้างขวาง

ขณะที่ตู้จำหน่ายอาหารปรุงสุกพร้อมรับประทานโดยหุ่นยนต์ที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ก็ถูกนำมาใช้ทดแทนร้านอาหาร ส่วนตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติก็ถูกใช้เพื่อช่วยกระจายเวชภัณฑ์ อาทิ หน้ากาก N95 และรถยนต์ไร้คนขับก็ถูกใช้เพื่อการส่งอาหาร เวชภัณฑ์ และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นทั้งภายในและภายนอกอาคาร และยังถูกดัดแปลงไปทำความสะอาดถนนและพ่นยาฆ่าเชื้ออาคารบ้านเรือน ขณะที่โดรนก็ถูกใช้อย่างแพร่หลาย เพื่อการส่งเวชภัณฑ์และของใช้จำเป็นเร่งด่วน

หนุนใช้”5G”สู้โควิด

Advertisement

หันมาฝั่งบ้านเรา ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) ระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ได้ทำให้กระแส 5G ลดน้อยถอยลง ซึ่งขณะนี้ ได้เร่งรัดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ติดตั้งสถานีฐานในพื้นที่โรงพยาบาล เพื่อทำการรักษาทางไกลด้วยระบบ 4G และ 5G ใน 4 โรค ได้แก่ เบาหวาน ความดัน โรคตา และผิวหนัง ให้ประชาชนสามารถรับการวินิจฉัยโรคและขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าเดินทาง ลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการทางการแพทย์

“สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังยืดเยื้อ ทำให้หลายคนที่มีอาการป่วยด้วยโรคต่างๆ ไม่กล้าเดินทางไปโรงพยาบาล ฉะนั้น การเริ่มต้นรักษาทางไกล ใน 4 โรคดังกล่าว จะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล อีกทั้งช่วยป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งในอนาคตเชื่อว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาการรักษาทางไกลขยายวงกว้างไปยังโรคอื่นๆ เพิ่มเติม” ฐากรระบุ

ทั้งนี้ ขอให้โอเปอเรเตอร์เร่งเปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศโดยเร็ว เพราะด้วยศักยภาพของ 5G ที่ให้ความเร็วสูงในระดับกิกะบิตต่อวินาที จะช่วยตอบสนองความต้องการใช้งานเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะช่วยให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะนี้มีการขยายตัวดีขึ้นในบางเซ็กเตอร์ เพื่อชดเชยบางเซ็กเตอร์ที่ชะลอตัวลง

ขณะที่เงื่อนไขการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ที่ใช้ในการรองรับ 5G โดยบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประมูล แบ่งเป็น 7 งวด ได้แก่ งวดที่ 1 จำนวน 10% และงวดที่ 2-7 จำนวนงวดละ 15% (ปีที่ 5-10) โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 50% ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ภายใน 1 ปี และครอบคลุม 50% ของประชากรในเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) ภายใน 4 ปี

“ธุรกิจ”ไม่โกดิจิทัลรอดยาก

ฟาก สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส เผยว่า จากวิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้ทุกภาคส่วนก้าวสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ และเชื่อว่าหลังจากที่วิกฤตผ่านพ้นไปหลายๆ ธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนบิซิเนส โมเดลให้อยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น เพราะหากใครไม่โกดิจิทัล ก็จะอยู่รอดยาก เช่นเดียวกับเอไอเอสที่คงต้องปรับแผนบริษัทให้มีความดิจิทัลมากขึ้นไปอีก ซึ่งแม้เอไอเอสจะพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกค้าให้มาใช้งานผ่านช่องทางดิจิทัลหรือออนไลน์ก็ยังไม่มีผลเท่าที่ควร ซึ่งที่ผ่านมามียอดการใช้งานเพียง 10% แต่จากสถานการณ์นี้ทำให้อุตสาหกรรมและภาพรวมของตลาดก้าวสู่ดิจิทัลไปโดยปริยาย

ขณะที่แผนการขยายโครงข่าย 5G ยังดำเนินไปตามปกติ แต่ขณะเดียวกัน ก็มีการอนุมัติงบประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นแผนเพิ่มเติมเพื่อทำภารกิจที่ชื่อว่า เอไอเอส 5G สู้ภัยโควิด-19 เพื่อคนไทย โดยได้มีการติดตั้งโครงข่าย 5G ในโรงพยาบาล 20 แห่ง ที่รับตรวจและรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมมอบหุ่นยนต์ทางการแพทย์ 5G ในการรักษาทางไกลจำนวน 21 ตัว ให้กับโรงพยาบาลดังกล่าว โดยอยู่ระหว่างดำเนินการส่งมอบ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2563

โดยโรงพยาบาลที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลราชวิถี, โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลวิชัยยุทธ, โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์, โรงพยาบาลแพทย์รังสิต, โรงพยาบาลพญาไท 1, โรงพยาบาลพญาไท 2, โรงพยาบาลพญาไท 3, โรงพยาบาลพญาไทนวมินทร์, โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน, โรงพยาบาลพระราม 9, โรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียลพหลโยธิน (สะพานควาย), โรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียลโชคชัย 4, โรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียลสมุทรปราการ, โรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียลรังสิต, โรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียลเกษตร, กรมแพทย์ทหารเรือ และสถาบันบำราศนราดูร และเตรียมจะขยายให้ครอบคลุมโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลอีก 130 แห่ง และโรงพยาบาลในต่างจังหวัดอีก 8 แห่ง รวมทั้งสิ้น 158 แห่ง ภายในเดือนเมษายน 2563

รวมทั้งยังได้ระดมบุคลากรนักวิจัยและนักพัฒนาที่เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล ทั้งคนเอไอเอสและพันธมิตร ตั้งศูนย์เอไอเอส โรโบติกส์แล็บ บาย เอไอเอสเน็กช์ ร่วมคิดค้นพัฒนาหุ่นยนต์ และโซลูชั่นส์เกี่ยวกับ 5G ในการรักษาทางไกล ด้วยเล็งเห็นถึงประโยชน์ของหุ่นยนต์จะเข้ามาช่วยลดเสี่ยงในการสัมผัสใกล้ชิดกับคนไข้โดยตรง เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทางการแพทย์ ช่วยลดงาน ทำให้สามารถดูแลคนไข้ได้มากยิ่งขึ้น ผลงานแรกที่พัฒนาได้สำเร็จ คือ หุ่นยนต์ทางการแพทย์ 5G ในชื่อ โรบอตฟอร์แคร์ จำนวน 21 ตัว เตรียมส่งมอบให้กับโรงพยาบาล 20 แห่งข้างต้น

นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนอื่นๆ ตั้งแต่การมอบหน้ากากที่กำลังขาดแคลนอย่างมาก, การมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงสนับสนุนช่องทางสื่อสารเพื่อให้คนไทยได้ส่งกำลังใจ และมีความตระหนักรู้ในการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้

เล็งพยุงเอสเอ็มอีฝ่าวิกฤต

ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ระบุว่า หลังจากผ่านพ้นวิกฤตไวรัสโควิด-19 เชื่อว่า ประชาชนจะมีความตื่นตัวด้านดิจิทัลของคนไทยเพิ่มขึ้น ทั้งจากในภาวะวิกฤตที่ประสบอยู่ขณะนี้ กระทรวงดีอีเอส ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น จำนวน 3 แอพพลิเคชั่น เพื่อช่วยสนับสนุนมาตรการเวิร์ก ฟรอม โฮม ของรัฐบาล โดยให้บุคลากร หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ให้สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนแล้ว จำนวน 300,000-400,000 ราย

บุคลาการภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เดิมไม่ค่อยมีโอกาสได้เรียนรู้ระบบดิจิทัลมากนัก ดังนั้นในภาวะวิกฤตนี้ ถือเป็นการปรับพฤติกรรม ปรับความคุ้นชินในการทำงาน เพื่อช่วยยกระดับทำงานของรัฐบาลให้เป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-กอฟเวอร์เมนต์

ทั้งนี้ จะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การพิจารณา การช่วยสนับสนุน หรือให้ความช่วยเหลือจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) เพื่อให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูธุรกิจ หรือฟื้นฟูนวัตกรรมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 เนื่องจากมองว่า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านนวัตกรรม สตาร์ตอัพ ซึ่งมีแนวคิดดีๆ ควรได้รับโอกาสได้รับทุนสนับสนุน เพื่อนำไปต่อยอดโครงการต่างๆ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากโครงการเดิมที่ได้รับการอนุมัติไปก่อนหน้า เพื่อเป็นการขยายความช่วยเหลือ ไม่ใช่จะหลับหูหลับตาทำเหมือนเดิม ทั้งนี้ ก็เพื่อช่วยเหลือเยียวยาให้ธุรกิจเล็กๆ ที่ได้รับผลกระทบได้ลืมตาอ้าปากได้

อัพสกิลดิจิทัล รับพิษ ศก.ทำตกงาน

ขณะที่ ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เผยว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจซึ่งมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส ได้สั่งการให้ดีป้าปรับแผนการดำเนินงานและงบประมาณ ประจำปี 2563 พร้อมส่งมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการพัฒนาศักยภาพกำลังคนและบุคลากรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล

ซึ่งมาตรการดังกล่าวถือเป็นมาตรการช่วยเหลือ ถัดจากมาตรการส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น และมาตรการช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โรงงาน โรงแรม ธุรกิจบริการ ธุรกิจขนาดเล็กร้านค้า หาบเร่ แผงลอย เกษตรกร และชุมชน ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาคนทำให้เกิดการเรียนรู้งานใหม่ โดยการส่งเสริมและพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล เป็นส่วนช่วยในการเปลี่ยนงาน หรือหางานใหม่ อีกทั้งสร้างงาน และเยียวยาเศรษฐกิจหลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผ่านการเรียนการสอนบนแพลตฟอร์มออนไลน์

“การส่งเสริมกำลังคนและบุคลากรดิจิทัล ตั้งเป้าพัฒนากำลังคนและบุคลากรดิจิทัลไม่น้อยกว่า 700 รายทั่วประเทศ โดยมีกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่บุคลากรทางการศึกษา อาทิ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา รวมถึงพนักงาน แรงงาน ลูกจ้างในอุตสาหกรรม และกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งประกาศรับข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการพัฒนาศักยภาพกำลังคนและบุคลากรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลจำนวน 5 โครงการ ภายใต้หลักสูตรห้องเรียนโค้ดดิ้ง การเขียนโปรแกรมบริการคลาวด์ และเนื้อหาด้านดิจิทัล โดยเปิดรับข้อเสนอโครงการแล้วตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 24 เมษายน 2563” ผอ.ดีป้าระบุ

ส่วนการส่งเสริมทักษะด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์แก่เอสเอ็มอี และคนรุ่นใหม่ ได้ประกาศรับข้อเสนอโครงการเสริมทักษะด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ จำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย นักเรียน นักศึกษา เรียนรู้ป้องกันรับมือภัยออนไลน์เกมเมอร์ หล่อหลอมเกมเมอร์น้ำดี ต่อยอดทักษะเข้าสู่สายที่มีความสามารถด้านคอมพิวเตอร์ และพัฒนาทักษะเอสเอ็มอี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบอาชีพ โดยตั้งเป้าพัฒนาทักษะแก่กลุ่มเป้าหมายไม่น้อยกว่า 1,250 ราย ซึ่งเปิดรับข้อเสนอโครงการแล้วตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 2563

ขณะที่การส่งเสริมพัฒนาทักษะด้านการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อสร้างกำลังคนดิจิทัลต่อยอดการใช้ข้อมูลจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มคนทำงานนักศึกษาที่กำลังจะจบ-จบใหม่ไม่น้อยกว่า 400 คน จากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันเฉพาะทางของรัฐ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชน และองค์การเอกชนโดยลักษณะโครงการจะให้ความสำคัญกับการสร้างบุคลากรดิจิทัล รองรับความต้องการของประเทศในหลักสูตรระดับมืออาชีพด้านดิจิทัล สาขาการวิเคราะห์ข้อมูล และพัฒนาทักษะด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งเปิดรับข้อเสนอโครงการแล้วตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 15 เมษายน 2563

“มาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการพัฒนาศักยภาพกำลังคนและบุคลากรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลจะช่วยเสริมศักยภาพและยกระดับทักษะด้านดิจิทัลในมิติต่างๆ ผ่านการพัฒนาหลักสูตรตามสาขาที่ประเทศกำลังขาดแคลนรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล และเป็นส่วนช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งดีป้าพร้อมส่งเสริมและสนับสนุนด้านดิจิทัลในทุกมิติ เพื่อให้ประเทศไทยพร้อมเดินหน้าต่อทันทีหลังผ่านพ้นวิกฤติต่างๆ” ณัฐพลเผย

ผุดธุรกิจใหม่หลังโควิด

ขณะที่หน่วยงานด้านการลงทุนของประเทศอย่าง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการบีโอไอ แสดงความเห็นว่า สถานการณ์ปัจจุบันบีโอไอประเมินว่ามาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและอุปกรณ์อัตโนมัติ น่าจะเป็นคำขอที่มาแรงที่สุด เพราะผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ทำให้รูปแบบการทำงาน ประกอบธุรกิจ ทุกอุตสาหกรรมเปลี่ยนไป อาจมีความต้องการนำเทคโนโลยี หุ่นยนต์ เข้ามาช่วยในการทำงาน หรือปรับปรุงระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ อีกอุตสาหกรรมที่มาแรง คือ การยื่นขอลงทุนในกิจการดิจิทัลเพื่อรองรับการประชุม การปฏิบัติงานออนไลน์มากขึ้น ของผู้ประกอบการที่คิดค้นเทคโนโลยี แพลตฟอร์ม บวกกับไทยเพิ่งมีการประมูลเทคโนโลยี 5G จะเป็นตัวเสริมให้กิจการดิจิทัลมีบทบาทมากขึ้น

ทั้งหมดนี้จะทำให้มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ และกิจการกลุ่มธุรกิจบริการ จะเป็นธุรกิจที่มีแรง มีจำนวนคำขอ และมูลค่าลงทุนที่สูง สัดส่วนคำขอลงทุนธุรกิจบริการมีโอกาสเพิ่มขึ้นเป็น 50-60% จากการลงทุนทั้งหมด ใน 1-2 ปีข้างหน้า

รองเลขาธิการบีโอไอยอมรับว่า ปีนี้ถือเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับการลงทุน เพราะไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การลงทุนหยุดชะงัก ขณะนี้บีโอไอจึงเน้นการชักจูงการลงทุน (โรดโชว์) ผ่านเทคโนโลยีด้านดิจิทัล อาทิ การหารือกับผู้ประกอบการประเทศต่างๆ ผ่านการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จากปกติจะใช้วิธีเคาะประตูบ้านส่งเจ้าหน้าที่ไปพบปะเอง นอกจากนี้ ในกระบวนการด้านเอกสาร การอนุมัติอนุญาตต่างๆ ก็ใช้แนวทางออนไลน์ทั้งหมด เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประกอบการให้มากที่สุด คาดหวังว่าสถานการณ์ภาพรวมจะควบคุมได้และจบลงภายในกลางปีนี้หลังจากนั้นบีโอไอจะเริ่มเดินตามแผนการชักจูงการลงทุน (โรดโชว์) อย่างเข้มข้นก่อนหมดปีงบประมาณ 2563

ด้าน ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เชื่อว่า วิกฤตครั้งนี้คาดว่าจะทำให้รูปแบบของหลายธุรกิจเปลี่ยนไป ตามพฤติกรรมของผู้บริโภค ง่ายๆ ที่เห็นตอนนี้สินค้ากลุ่มเครื่องมือแพทย์อย่างหน้ากากอนามัย ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ อาจเป็นสิ่งที่ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ต้องพกติดตัว นับจากนี้อาจกลายเป็นสินค้าจำเป็น หรือผลจากการเวิร์ก ฟรอม โฮม ทำให้ธุรกิจอาหาร ธุรกิจต่างๆ ต้องปรับตัว เน้นบริการส่ง ผู้ให้บริการส่งมีมูลค่าตลาดมากขึ้น ทุกธุรกิจต้องพึ่งพาดิจิทัล ต้องมีร้านออนไลน์

ซึ่งธุรกิจเหล่านี้เป็นโอกาสของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ที่อยากมีธุรกิจของตนเอง

นอกจากนี้ พฤติกรรมของประชาชนในฐานะผู้บริโภค หลังพ้นวิกฤตโควิดอาจคล้ายกับช่วงหลังสงครามโลก ที่ประชาชนจะมีพฤติกรรมการประหยัด การอยู่บ้าน ระมัดระวังการออกไปยังสถานที่ต่างๆ พฤติกรรมเช่นนี้จะส่งผลต่อทิศทางธุรกิจให้ต้องปรับตัว จะมีธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้น เชื่อว่า 2-3 เดือนจากนี้จะเห็นผลชัดเจน โดย กสอ.อยู่ระหว่างศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง

อธิบดี กสอ.ขยายความเรื่องการศึกษาธุรกิจหลังได้รับผลกระทบจากโควิดว่า การวิเคราะห์ของ กสอ. เพื่อประเมินสถานการณ์ในอนาคต หรือฟอร์ไซท์ จากนั้นนำมาจัดทำฐานข้อมูลให้เอสเอ็มอี ตลอดจนแผนส่งเสริมให้เอสเอ็มอีไทยปรับตัว และเติบโต ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปให้ได้

แม้วิกฤตนี้ แต่ละประเทศจะมีวิถีฟันฝ่าที่แตกต่างกัน แต่เชื่อว่าอยู่ภายใต้จุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ นำพาประเทศผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้

ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลังจากนี้โฉมหน้าธุรกิจ รูปแบบการทำงานของคนทั้งโลกจะเปลี่ยนไป ภายใต้การขับเคลื่อนด้วยระบบดิจิทัล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image